เที่ยว ทำบุญ ไหว้พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร อ่างทอง
อีกครั้งหนึ่งที่ผมได้เดินทางมาที่จังหวัดอ่างทอง โดยมีจุดประสงค์เพื่อเดินทางมากราบไหว้สักการะพระพุทธไสยาสน์ ที่วัดป่าโมกวรวิหาร ซึ่งเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่สำคัญอีกองค์หนึ่งของจังหวัดอ่างทอง โดยก่อนหน้านี้ผมได้เดินทางไปกราบสักการะพระพุทธไสยาสน์ที่มีความยาวอันดับที่ 2 ของประเทศไทยมาแล้วที่ วัดขุนอินทประมูล
พระพุทธไสยาสน์ที่วัดป่าโมกวรวิหาร ได้กล่าวกันว่า เป็นพระนอนที่สวยที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งมีตำนานเรื่องเล่ากล่าวขานกันมาแต่โบราณว่า พระพุทธไสยาสน์องค์นี้เคยแสดงปาฏิหาริย์พูดได้มาอีกด้วย
ความเป็นมาของพระพุทธรูปปางไสยาสน์
พระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้ หรือปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปอยู่ในอิริยาบถ นอนตะแคงขวา พระบาททั้งสองข้างซ้อนทับเสมอกัน พระหัตถ์ซ้ายทาบไปตามพระวรกาย พระหัตถ์ขวาตั้งขึ้นรับพระเศียรและมีพระเขนย (หมอน) รองรับ บางแบบพระเขนยวางอยู่ใต้พระกัจฉะ (รักแร้) ลักษณะเดียวกับปางปรินิพพานและปางทรงพระสุบิน หรือเรียกโดยทั่วไปว่าพระปางไสยาสน์
พระพุทธรูปปางไสยาสน์นี้ เรียกกันอีกชื่อคือ “ปางโปรดอสุรินทราหู” (พระราหู) ซึ่งมีเรื่องราวเมื่อครั้งสมัยพุทธกาลที่พระพุทธองค์แสดงปาฏิหาริย์ปราบ ทิฏฐิขององค์พระราหู ผู้เป็นราชาครองอสูร เนื่องจากพระราหูได้ทราบว่าเหล่าเทวดาให้ความเคาระพนับถือพระพุทธเจ้า จึงอยากที่จะฟังธรรม แต่ด้วยทิฏฐิคิดว่าพระพุทธเจ้าเป็นเพียงมนุษย์มีร่างกายเล็ก จึงไม่มีความอ่อนน้อมต่อพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์จึงได้แสดงปาฏิหาริย์เนรมิต ร่างของพระพุทธองค์ให้มีขนาดองค์ใหญ่ในลักษณะอริยาบถนอนตะแคง พระบาทซ้อนทับสูงใหญ่กว่าพระราหู จนพระราหูต้องแหงนหน้าเพื่อชมพุทธลักษณะ
พระราหูเกิดความกลัวต้องหลบอยู่ข้างหลังพระพุทธองค์ นับแต่นั้นมาก็ลดทิฐิมานะ อ่อนน้อมต่อพระพุทธองค์ และเมื่อได้สดับฟังพระธรรมเทศนาจึงเกิดความเลื่อมใส ขอถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะที่พึ่งสูงสุดแห่งชีวิต
แผนที่และการเดินทางไปวัดป่าโมกวรวิหาร อ่างทอง
การเดินทาง ให้เดินทางมาถนนสายเอเชีย ทางหลวงหมายเลข 32 ให้ขับรถไปเรื่อยๆ จะเห็นป้ายขนาดใหญ่กลางถนนบอกทางไป อำเภอปากโมก แล้วให้เลี่ยวซ้ายไปตามทางเลยครับ จากนั้นขับไปสักประมาณ 10 กิโลเมตร จะข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วให้ชิตซ้ายเลี้ยวไปที่อำเภอป่าโมก จากนั้นก็จะเห็นป้ายบอกทางไปวัดป่าโมกไปตลดทาง ประมาณ 2 – 3 กิโลเมตรก็ถึงแล้วหล่ะครับ ให้ดูแผนที่ประกอบ
วัดจะติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จิดรถค่อนข้างกว้างขวาง อีกทั้งบริเวณหน้าวัด มีสินค้าจากชาวบ้านละแวกนี้มาจัดจำหน่าย เช่น พืชผักที่ชาวบ้านได้ปลูกเอง
พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร อ่างทอง
พระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสุโขทัย มีประวัติเล่าขานกันว่าพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัด จึงมีการบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาประดิษฐานไว้ริมฝั่งแม่น้ำ ความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาทประมาณ 22.58 เมตร เป็นพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน พระพักตร์ยาวรีเป็นรูปไข่ พระเศียรหนุนพระเขนยทรงกระบอกที่เขียนลายรดน้ำเป็นลายกนกคลุมด้วยผ้าทิพย์ลวดลายวิจิตร ภายในองค์พระพุทธไสยาสน์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 36 องค์ เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะทรงยกทัพไปกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชในปี พ.ศ. 2135 ได้เสด็จชุมนุมพลและถวายสักการะพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ก่อน
วัดป่าโมกวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง วัดนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วัดใต้ท้ายตลาดหรือวัดชีปะขาว ตามที่สันนิษฐานว่า วัดป่าโมกเดิมนั้นจมลงไปในแม่น้ำทั้งหมด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขุนหลวงท้ายสระได้โปรดเกล้าให้พระยาราชสงครามดำเนินการอัญเชิญพระพุทธไสยาสน์มาประดิษฐานที่วัดใต้ท้ายตลาด โดยทำการรื้อวิหารเก่าออกแล้วสร้างพระวิหารใหม่แทนและเปลี่ยนชื่อจากวัดใต้ท้ายตลาดเป็นวัดป่าโมก พร้อมทั้งรวมเอาวัดชีปะขาวซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันเป็นวัดเดียวกัน
เนื่องจากแต่เดิมนั้น พระพุทธไสยาสน์ได้ประดิษฐานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จนถูกแม่น้ำเจ้าพระยากัดเซาะเข้าใกล้วิหาร สมเด็จพระสรรเพชญที่ 3 (พระเจ้าท้ายสระ) ได้โปรดเกล้าให้พระยาราชสงครามเป็นแม่กองงาน จัดการชะลอลากเลื่อนขึ้นมาให้ห่างจากริมแม่น้ำเดิม
พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชคุปต์) อุปราชมณฑล กรุงเก่า ได้พบหนังสือคำโคลงกล่าวถึงการชะลอ พระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก จำนวน 69 บท และในบทที่ 69 ระบุว่า ผู้แต่งคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ขณะดำรงพระยศเป็นพระราชวังบวร จึงนำขึ้นถวายสมเด็จในกรมเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพ.ศ. 2449 ในการเสด็จประพาสต้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้สด็จฯ วัดป่าโมก ทรงฉายพระบรมรูปและนมัสการพระพุทธไสยาสน์พ.ศ. 2460 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงนำศิลาจารึกโครงชลอพระพุทธไสยาสน์ จำนวน 69 บท ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ขณะะดำรงพระยศเป็นเจ้ากรมพระราชวังบวร ไปประดิษฐานไว้ ณ เบื้องหลังพระพุทธไสยาสน์ วัดป่าโมกวรวิหาร จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
ตำนานพระพุทธไสยาสน์พูดได้
เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเกิดเหตุการณ์โรคห่า (อหิวาตกโรค) ระบาดในบ้านป่าโมก ตามลิขิตของพระครูป่าโมกขมุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหารในสมัยนั้นได้บันทึกไว้ พอสรุปได้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2448 พระโต พระในวัดป่าโมกป่วยหนักด้วยโรคอหิวาต์ หมอที่ไหนก็รักษาไม่หาย ขณะนั้นอุบาสิกาเหลียน หลานสาวของพระโตซึ่งอยู่ที่บ้านเอกราช แขวงป่าโมก ก็จนปัญญาจะไปหาหมอยามารักษาพระโต ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของสีกาเหลียน สีกาเหลียนจึงมาตั้งสัตยาธิษฐานต่อพระพุทธไสยาสน์ และมีเสียงออกมาจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์บอกตำรายาแก่สีกาเหลียน แล้วจึงนำใบไม้ต่าง ๆ ที่ว่าเป็นยามาต้มให้พระโตที่อาพาธฉัน พระโตก็หายเป็นปกติ
จากนั้นสีกาเหลียนจึงนำเหตุอัศจรรย์มาแจ้งต่อพระ ครูปาโมกขมุนีและพระที่วัดป่าโมก แต่พระครูป่าโมกขมุนียังไม่เชื่อ จึงได้ให้พระสงฆ์ โยมวัด และศิษย์วัดรวม 30 คน โดยมีสีกาเหลียนไปด้วย พระครูป่าโมกขมุนีให้จุดไฟรอบวิหารพระนอนเพื่อดูว่ามีใครมาทำโพรงหลังพระนอน แล้วแอบซ่อนมาพูดกับสีกาเหลียนหรือไม่ แต่พระสงฆ์และโยมวัดก็ไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ ทั้งสิ้น
วันต่อมา สีกาเหลียน พระครูปาโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัดรวม 30 คน มากันเข้ามาในวิหารพระนอน สีกาเหลียนจุดธูปเทียน และถวายหมากพลูแก่พระพุทธไสยาสน์ ก็เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ หมากพลูที่สีกาเหลียนถวายหายไปในเวลา 2 นาที พระครูปาโมกขมุนีและพยานทั้งหลายประสบกับเหตุอัศจรรย์ แต่ก็ยังไม่เชื่อ สีกาเหลียนจึงได้อาราธนาพระพุทธไสยาสน์ให้พูดคุยกับพระครูปาโมกขมุนี ปรากฏว่า ก็เกิดเสียงจากพระอุระของพระพุทธไสยาสน์อีก โดยในวันนั้น พระครูปาโมกขมุนีได้ไต่ถามพระพุทธไสยาสน์เกี่ยวกับสารทุกข์สุกดิบ และเครื่องยาที่รักษาผู้ป่วยโรคอหิวาตกโรค พระพุทธไสยาสน์ก็ตอบคำถามที่พระครูปาโมกขมุนีถามทุกประการ
ต่อมาใน วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2448 เมื่อเวลา 4 ทุ่ม สีกาเหลียน พระครูป่าโมกขมุนี พระสงฆ์และโยมวัด รวมแล้วมีทั้งหมด 35 คน ได้เข้าไปตรวจดูในวิหารพระนอนอีกครั้ง ก็ไม่พบพิรุธใด ๆ ทั้งสิ้น สีกาเหลียนจึงบอกกล่าวกับพระพุทธไสยาสน์ว่า พระครูป่าโมกขมุนีอยากคุยด้วยอีก ก็เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ขึ้นอีกครั้ง คราวนี้พระครูปาโมกขมุนีได้ได้ถามพระพุทธไสยาสน์ว่า จะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระ และวิหารขึ้นใหม่ ก็บังเกิดเสียงตอบรับมาจากพระอุระของพระนอนอีก โดยพระพุทธไสยาสน์เกิดความยินดีที่พระครูป่าโมกขมุนีจะบูรณะปฏิสังขรณ์องค์
เนื้อหาตำนาน จาก http://tinyzone.tv
พระพุทธบาทสี่รอย จำลองในวิหารเขียน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวิหารพระพุทธไสยาสน์
ในวิหารเขียน จะมีให้เช่าวัตถุมงคล โดยมีป้าคนนี้ทำหน้าที่ดูแลที่วิหารแห่งนี้ ป้ามีความรู้เรื่องหมอดูด้วยนะครับ แถมดูชะตาชีวิตให้ผมฟรีๆซะด้วย ใครอยากไปดูดวงหรือสนทนาก็เชิญเลยนะครับ ป้าใจดีมากๆ
ลักษณะเด่นของพระอุโบสถวัดป่าโมกวรวิหารจะเป็นโบสถ์มหาอุตม์
โบสถ์มหาอุตม์ ที่เรียกกันว่าโบสถ์มหาอุตม์ นั้นหมายถึงอุโบสถที่สร้างในลักษณะพิเศษคือมีช่องทางเข้าออกได้ช่องเดียวคือ ประตูหน้า การสร้างโบสถ์มหาอุตม์นั้นมีความเชื่อหลายกระแสบ้างก็ว่าเป็นเพราะช่างต้อง การเขียนภาพจิตรกรรมที่สวยงามขนาดใหญ่บนผนังโดยเป็นภาพเดียวต่อกันตลอดจึง ไม่มีช่องหน้าต่าง บ้างก็ว่าเป็นการสร้างเพื่อเป็นสถานที่ถ่ายทอดหรือกระทำการด้านมนต์คาถา และไม่ต้องการให้วิชารั่วไหล แต่โบสถ์มหาอุตม์ก็เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนศรัทธากันมากมาแต่โบราณ
ผมได้สนทนากับหลวงพี่ในพระอุโบสถในเรื่องต่างๆ ก่อนลากลับผมก็ได้รับสิ่งล้ำค่าจากหลวงพี่คือ เศษปูนจากองค์พระศรีสรรเพชญ์จากการบูรณะใหม่
เจ้าแม่ช่อมะขาม
สมัยอยุธยาเป็นราชธานี เกียรติประวัติของ “แม่ช่อมะขาม” ที่ร่วมกับชาวป่าโมก ออกสู้ศึกกับพม่า สละชีพเพื่อรักษาแผ่นดินไทย สมกับเป็นวีรสตรีไทยใจกล้าหาญ แห่งบ้านป่าโมก เป็นคู่ใจกับนายขนมต้ม ผู้สร้างตำนานมวยไทย เมื่อครั้งพม่าได้ยกทัพผ่านป่าโมกเข้าตีกรุงศรีอยุธยา แม่ช่อมะขามและนายขนมต้มเป็นผู้นำประชาชนสู้กับพม่าจนตัวตาย สละชีพเพื่อรักษาชาติ และเป็นตำนานเล่าขานมาจนวันนี้
พระป่าโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมกวรวิหาร เป็นผู้นำหล่อเจ้าแม่ช่อมะขาม เมื่อวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2541 เป็นอนุสรณ์ของชาวป่าโมก
ตำนานการชะลอพระพุทธไสยาสน์วัดป่าโมก
ทุกๆครั้งที่เดินทางมาท่องเที่ยววัด ผมมักจะได้รับความสงบ เป็นการพักผ่อนได้อยู่กับตัวเองในบางช่วงเวลา ทำให้จิตสงบขึ้นมาก แม้จะเหนื่อยกับการทำงานมาตลอดทั้งสัปดาห์ จึงขอเชิญชวนมาท่องเที่ยววัดวาอารามกันนะครับ อีกทั้งเป็นโอกาสได้ทำบุญ ทำนุบำรุงพระพุทธศานาอีกด้วย
แล้วเจอกันในวัดอื่นๆต่อไปครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุข ^^