ผมได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง ซึ่งเป็นหนังสือที่ดีมากๆ ชื่อ “อยุธยา ที่ไม่คุ้นเคย” ของปวัตร์ นวะมะรัตน ได้กล่าวถึงวัดที่หายสาบสูญไปแล้ว คือ วัดโค วัดกระบือ และวัดเผาข้าว ซึ่งจะตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน
วัดโคและวัดกระบือ จะตั้งอยู่ในเกาะเมืองโดยจะอยู่ตรงข้ามกัน โดยมีถนนโรจนะกั้นกลาง (ในอดีตเรียกว่า ถนนอิฐ) วัดเผาข้าวจะอยู่ถัดไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งจะตั้งริมคลองมะขามเรียง
จากหนังสืออยุธยาที่ไม่คุ้นเคย ได้กล่าวว่า ทั้ง 3 วัดนี้ปรากฏชื่ออยู่ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งสงครามเสียกรุงครั้งที่ 1 ในปี พ.ศ. 2112 พระมหาเทพตั้งค่ายกันข้าศึกอยู่นอกกรุง ถูกกองทัพของพระมหาธรรมราชาและพระมหาอุปราชตีแตก จนถอยร่นมาตั้งรับที่หน้าวัดโคและวัดกระบือ แต่เมื่อข้าศึกตามมาก็ตีแตกจนถอยไปตั้งรับที่วัดเผาข้าวแต่ก็ไม่สามารถต้านได้อยู่จนแตกทัพไป
จากรูปแผนที่จะมีถนนอิฐคั้นกลางระหว่างวัดโคและวัดกระบือ ปัจจุบันถนนอิฐถูกเรียกชื่อเป็นถนนโรจนะ
แผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ พ.ศ. 2469 ได้ระบุตำแหน่งวัดโค วัดกระบือ และวัดเผาข้าวไว้อย่างชัดเจน และ น. ณ ปากน้ำ ก็เคยมาสำรวจที่บริเวณนี้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 บันทึกไว้ว่า “วัดโค วัดกระบือ เหลือแต่โคกอิฐ”
และในพงศาวดารภาคที่ 63 เรื่องกรุงเก่าได้เขียนไว้ว่า ถนนย่านป่าทุ่ง วัดโค วัดกระบือต่อกัน แต่ก่อนโบราณมีพวกมอญ แลพม่า แขก ฆ่าเป็ดไก่ขายในตลาดนั้นชุกชุม
ปัจจุบันวัดทั้ง 3 ได้หายสาบสูญไปจากแผนที่แล้ว มีสิ่งปลูกสร้างอื่นๆสร้างขึ้นแทนทั้งหมด โดยวัดโคจะเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา วัดกระบือเป็นที่ตั้งของตึกพาณิชย์และโรงแรม และวัดเผาข้าวเป็นที่ตั้งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1
ถ้าจะลองเดินทางไปสถานที่จริงก็ไม่ยากครับ ถ้ามาจากกรุงเทพฯ ลงสะพานปรีดี-ธำรง ก่อนถึงแยกไฟแดงแรก ด้านขวาจะเป็นที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยาซึ่งในอดีตเป็นวัดโคหรือวัดวัว
ฝั่งซ้ายของถนนที่เป็นตึกแถวนี้ แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัดกระบือ ตามแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ ปี พ.ศ. 2469
ฝั่งขวาของถนนที่เป็นตึกเป็นที่ตั้งของที่ว่าการอำเภอพระนครศรีอยุธยา แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัดโค แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัดกระบือ ตามแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์ ปี พ.ศ. 2469
หลังจากเลี้ยวขวาเข้าถนนเลียบคลองมะขามเรียงอีกประมาณ 50 เมตร จะพบวัดหอระฆังอยู่ฝั่งซ้าย ส่วนฝั่งตรงข้ามจะเป็นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 1 ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้งของวัดเผาข้าว
อ่านบทความวัดหอระฆังได้ที่นี่ ====> วัดหอระฆัง พระนครศรีอยุธยา
การเดินทางสำรวจตามแผนที่โบราณของพระยาโบราณราชธานินทร์ ปี พ.ศ. 2469 ก็เป็นอันเสร็จสิ้นในบริเวณนี้ ถ้าจะถามว่ารู้สึกเสียดายรอยอดีตต่างๆที่ได้ถูกแทนที่ด้วยตึกและสถานที่ราชการต่างหรือไม่นั้น ผมก็ต้องบอกว่าเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะความเจริญได้เข้ามาแทนที่ และพื้นที่ต่างๆก็มีอยู่จำกัด การจะอนุรักษ์พื้นที่ไว้ทั้งหมดนั้นก็เป็นสิ่งที่ลำบาก ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นสถานที่โบราณน้อยลงเรื่อยๆตามความเจริญที่เข้ามา
แต่ก็หวังแค่เพียงให้มีการอนุรักษ์สถานที่โบราณที่เหลืออยู่ไว้ให้นานที่สุด อย่างน้อยจะได้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นถึงความเจริญในอดีต ใช้เป็นที่ศึกษาของคนรุ่นหลัง และเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่อไป
จบการบันทึกอีก 1 บท การตามรอยกรุงเก่า
สั่งซื้อหนังสือผ่านร้านซีเอ็ด ออนไลน์ได้ที่ลิ้งก์นี้ครับ >>> อยุธยาที่ไม่คุ้นเคย
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com