เที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี ก็ได้ดำเนินมาถึงตอนที่ 4 แล้วครับ มีหลายตอนก็เนื่องจากเนื้อหาเกี่ยวกับวัดท่าซุงมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ที่ผมได้เขียนบทความก่อนหน้านี้เกี่ยวกับวัดท่าซุงก็เป็นเพียงข้อมูลที่พยายามเขียนให้รวบรัดและเข้าใจง่ายที่สุดแล้วครับ เกรงจะเบื่ออ่านกันซะก่อนถ้าเขียนยาวเกินไป แม้จะเขียนให้น้อยที่สุดแล้วแต่ก็ยังดำเนินมาถึงตอนที่ 4 จนได้ อ่าน เที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี ตอนที่ 3 ที่นี่!! ในตอนที่ 4 ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปท่องเที่ยวและทำบุญในอีกฝั่งถนนนะครับ ฝั่งนี้จะมีสถานที่สำคัญหลักๆได้แก่ 1. พระวิหารแก้วร้อยเมตร ซึ่งเป็นที่เก็บพระศพองค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำไว้จนปัจจุบันนี้ ไม่เน่าเปื่อยครับ 2. พระวิหารองค์สมเด็จองค์ปฐม 3. พระวิหารองค์พระศรีอริยเมตไตรย 4. ปราสาททองคำ 5. หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรสูง 30 ศอก
วิหารแก้วร้อยเมตร

บริเวณด้านหน้าพระวิหารแก้วร้อยเมตร จะติดประกาศชัดเจนถึงช่วงเวลาเปิดให้เข้าชม ช่วงเช้า 09.00 – 11.45 น. ช่วงบ่าย 14.00 – 16.00 น.
ก่อนถึงประตูเข้าวิหารแก้วร้อยเมตรเมตร จะมีพระบรมรูปรัชกาลที่ 1, รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6 และ รัชกาลที่ 7 ปั้นด้วยปูน ปิดทองคำเปลวทั้งองค์

อนุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ไทยด้านหน้าพระวิหารแก้วร้อยเมตร
ภายในวิหารแก้วร้อยเมตร จะปิดด้วยแก้วกระจกใสทั่วบริเวณทั้งหมด เราจึงจะได้เห็นความสวยงามอลังการ และเป็นที่ไว้พระศพขององค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ และมีพระพุทธชินราชเป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ด้านในครับ

ด้านในพระวิหารแก้วร้อยเมตร มีความสวยงามจากการะสะท้อนแสงของแก้วใส
ผมขอแนะนำอย่าพลาดกันเลยนะครับ ถ้ามาถึงวัดท่าซุงกันแล้ว แต่มาถึงจังหวะที่ปิดให้เข้า ก็ขอให้รอเวลากันสักนิด เพราะด้านในวิหารแก้วร้อยเมตรสวยงามมาก และที่สำคัญคือเราจะได้กราบพระศพขององค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำกันด้วย การสร้างพระวิหาแก้วร้อยเมตร แต่เดิมนั้นไม่ได้มีความตั้งใจจะสร้างให้ใหญ่โตขนาดนี้ เริ่มต้นในปี พ.ศ.2529 หลวงพ่อฤาษีลิงดำท่านมีประสงส์จะสร้างพระพุทธรูปยืนขนาดความสูง 30 ศอก และพระพุทธรูปนั่งขนาดหน้าตัก 8 ศอก ซึ่งในปี พ.ศ.2529 ได้ทำการสร้างพระพุทธรูปยืนขนาด 30 ศอกได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี เหลือแต่เพียงพระพุทธรูปนั่งขนาดหน้าตัก 8 ศอกที่ยังไม่ได้สร้าง คุณจันทนา วีระผล ได้นำเงินมาถวายหลวงพ่อรวมทั้งสิ้น 300,000 บาท เพื่อให้หลวงพ่อใช้ในกิจตามอัธยาศัย พลวงพ่อเลยได้เริ่มต้นในการจะสร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 8 ศอก ในนิมิตของหลวงพ่อ บอกต้องสร้างบริเวณพื้นที่หลังโรงพยาบาล (พื้นที่วิหารแก้วร้อยเมตรปัจจุบัน) หลวงพ่อจึงได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจำนวน 24 ไร่ และได้รับการถวายทำบุญ 3 ไร่จากเจ้าของที่ดิน จึงมีพื้นที่รวม 27 ไร่ ก่อนจะสร้างพระพุทธรูปในตำแหน่งปัจจุบันก็เกิดจากนิมิตของหลวงพ่อ ที่ได้รู้ว่าบริเวณพื้นที่ปัจจุบัน มีพระบรมสารีริกธาตุอยู่เมื่อสร้างพระพุทธรูปแล้ว คนก็จะไม่เดินข้ามไปมา โดยได้สร้างวิหารขนาดกว้าง 28 เมตร ยาว 100 เมตร ทิศทางการสร้างยาวในแนวทิศตะวันตก ไปทิศตะวันออก การสร้างพระพุทธรูปก็เป็นแบบพระพุทธชินราช และเรื่องราวการสร้างก็ได้ขยายข่าวกันออกไป จนมีผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้างมากมาย และก็ได้นำปัจจัยดังกล่าวมาปรับปรุงจนเกิดความสวยงามตามสภาพปัจจุบันนี้ ในบริเวณพื้นที่รั้วของพระวิหารแก้วร้อยเมตรก็จะมีมณฑปพระปัจเจกพระพุทธเจ้าตั้งอยู่ด้านขวาของพระวิหารแก้ว ส่วนด้านซ้ายของพระวิหารแก้วจะเป็นที่ตั้งของมณฑปหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ เมื่อเดินออกมาจากพื้นที่ของพระวิหารแก้วร้อยเมตรแล้ว เราก็จะเห็นโดยรอบพื้นที่ของวัดท่าซุง จะประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 4 ศอก รอบบริเวณวัดเลยครับ ดูสวยงามอลังการอย่างยิ่ง เท่าที่พอทราบเรื่องมาเนื่องจากมีผู้ที่มีจิตศรัทธาได้สร้างถวายเพื่อเป็นการชำระหนี้สงฆ์

พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 4 ศอก ประดิษฐานรอบบริเวณวัดท่าซุง #1

พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 4 ศอก ประดิษฐานรอบบริเวณวัดท่าซุง #2
ต่อไปเราจะเดินทางไปที่วิหารองค์สมเด็จพระปฐมกันต่อนะครับ จะอยู่ในพื้นที่ของสวนสมเด็จองค์ปฐม ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้ จะมีสถานที่หลักๆ 3 แห่งคือ วิหารสมเด็จองค์ปฐม, หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา (พระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตรสูง 30 ศอก) และวิหารพระศรีอาริยเมตไตรย

พื้นที่สวนสมเด็จองค์ปฐม ส้รางถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
เมื่อเราขับรถวนไปตามถนน ก็จะพบว่ามีพระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 4 ศอกประดิษฐานรายล้อมยาวไปทั่วบริเวณเลยครับ ตรงกลางสวนสมเด็จองค์ปฐมก็จะมีสระน้ำตรงกลาง ถ้าไม่ใช่หน้าแล้ง ก็จะดูร่มรื่นดีครับ

พระพุทธรูปขนาดหน้าตัก 4 ศอก ประดิษฐานรอบพื้นที่สวนสมเด็จองค์ปฐม
สวนสมเด็จฯ วัดท่าซุง อุทัยธานี
เรื่องราวเกี่ยวกับการชำระหนี้สงฆ์ จากหนังสือหลวงพ่อตอบปัญหา ฉบับพิเศษ เล่มที่ 1 ได้เขียนไว้ผมจะขอสรุปดังนี้ครับ
เนื่องจากมีผู้ถามได้ถามหลวงหลวงพ่อว่า “ประวัติการชำระหนี้วงฆ์เป็นมาอย่างไร” เนื่องจากว่าเราได้เกิดมาหลายภพหลายชาติ ต่างก็ได้ใช้ของสงฆ์ไปทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว ท้งเจตนาหรือไม่เจตนามากมาย เช่น ใช้ห้องน้ำวัด ก็ต้องเปิดไฟใช้ไฟฟ้าวัด ใช้น้ำของวัด เป็นต้น หลวงพ่อได้ตอบว่า “ถ้าจะชำระให้ครบถ้วน เป็นเงินเท่าไรก็ไม่พอ ให้สร้างพระพุทธรูปหน้าตัก 4 ศอก” พระหน้าตัก 4 ศอก ถือว่าเป็นพระประธานมาตรฐาน ท่านบอกว่า “พระพุทธรูปนี่ไม่มีใครตีราคาได้ ใช้ในการชำระหนี้สงฆ์ หนี้สงฆ์ที่แล้วๆ มาถือเป็นการหมดกันไป” “ถ้าไม่ปิดทองจะได้คนเดียว ถ้าปิดทองครบถ้วนได้ทั้งคณะ” หมายความว่าบุคคลหลายคนก็ได้ ตัดบาปเก่า แต่ถ้าหลังจากนั้นได้สร้างหนี้สงฆ์ใหม่ก็เป็นหนี้ใหม่ต่อไป หลวงพ่อก็แนะนำต่อว่า มีทุนน้อยก็ให้ใส่ซองทำบุญอธิษฐานชำระหนี้สงฆ์ไปตามกำลัง ซึ่งหลวงพ่อปานท่านก็ได้ทำแบบนี้ ถ้าเราไปคิดแต่สร้างพระแล้วไม่มีทุนก็จะลำบากเกินไป ส่วนตัวผมเองนั้นจะใช้วิธีร่วมบุญกับคณะต่างๆ ที่ได้ทำบุญสร้างองค์พระ แค่นี้ก็ได้มีโอกาสร่วมบุญชำระหนี้สงฆ์แล้วครับ

บริเวณทางเข้าวิหารสมเด็จองค์ปฐมจะแจ้งเวลาเปิด-ปิดไว้ชัดเจนครับ
ขับรถวนไปเรื่อยๆในพื้นที่สวนสมเด็จองค์ปฐมเลยครับ เราก็จะไปถึงวิหารสมเด็จองค์ปฐม และอีกเช่นเคย แต่ละวิหารก็จะมีเวลาเปิดให้เข้าเป็นเวลานะครับ ในส่วนของวิหารสมเด็จองค์ปฐมจะเปิด 2 ช่วงคือ ช่วงเช้า 09.00 – 10.30 น. ช่วงบ่าย 13.00 – 16.00 น. แต่ที่วิหารสมเด็จองค์ปฐมจะพิเศษคือสำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดราชการ สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่ 09.00 – 16.00 น.

วิหารสมเด็จองค์ปฐม, หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา, และวิหารพระศรีอาริยเมตไตรย จะตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน

วิหารสมเด็จองค์ปฐม

ภายในวิหารสมเด็จองค์ปฐม
ในวิหารสมเด็จองค์ปฐมจะประดิษฐานสมเด็จองค์ปฐม ด้านในวิหารจะมีความสวยงามเหมือนวิหารแก้วครับ
วิหารสมเด็จองค์ปฐม
เกี่ยวกับประวัติการสร้างสมเด็จองค์ปฐม วัดท่าซุง
ผมได้อ่านหนังสือประวัติการสร้างสมเด็จองค์ปฐม ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ และผมจะขอนำบทความมาสรุปคร่าวๆให้ได้อ่านกันดังนี้ครับ สมเด็จองค์ปฐม หมายถึงพระพุทธเจ้าพระองค์แรก ในปี พ.ศ. 2511 หลวงพ่อได้ทำสมาธิกรรมฐาน และก็ได้เกิดเหตุการณ์ ปาฏิหาริย์ขึ้นคือ ปรากฎองค์พระพุทธเจ้ายืนพนมมือ หันหน้าเข้าหากันทั้ง 2 ด้านเว้นตรงกลางไว้ หลวงพ่อได้คิดในใจนี่คงเป็นอุปทานแน่ๆ เพราะพระพุทธเจ้าไม่เคยก้มศรีษะให้ใคร และในนิมิตก็ปรากฎหลวงพ่อปานขึ้น หลวงพ่อปานบอกว่าไม่ใช่อุปทานแต่เป็นเรื่องจริง หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที ได้มีพระพุทธเจ้าองค์ปฐม เดินมาตรงกลาง ในบรรดาพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆทั้งหลายก็ก้มศรีษะพนมมือ จนท่านเดินมาถึงหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านก็ได้กล่าวว่า “ต่อไปนี้ ถ้าจะสอนธรรมะ หรือสอนกรรมฐาน ให้บอกฉันก่อน แล้วฉันจะให้สอนตามที่ฉันต้องการ” หลังจากนั้นในใจก็เลยคิดจะสร้างรูปท่าน เพื่อเป็นการสำนึกในพระคุณของสมเด็จองค์ปฐม วันหนึ่งหลวงพ่อได้เจริญกรรมฐานและขออาราธนาเพื่อขอพบสมเด็จองค์ปฐม ท่านก็มาปรากฏกายให้เห็น รูปร่างสวยงามมาก หน้าของท่านอิ่มเหมือนรูปไข่ แก้มอิ่ม ยิ้มน้อยๆ ริมฝีปากไม่บุ๋ม และท่านบอกว่า ให้ปั้นอย่างนี้ก็แล้วกัน แล้วท่านก็นั่งทำภาพให้ดู เป็นเหมือนพระพุทธรูปปั้น แล้วก็มีเรือนแก้วเป็นพระพุทธชินราช รูปจริงๆ ที่ให้ปั้นไม่เหมือนกับรูปจริง คือไม่เหมือนกับรูปที่เป็นมนุษย์ และก็ไม่เหมือนกับรูปที่นิพพาน แต่ว่าเป็นรูปที่ท่านต้องการ ท่านมาแสดงแบบนั้นอยู่ถึง 3 วันติดๆกัน มานั่งให้เห็น วันหนึ่งประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ดูจนละเอียด ตอนนั้นหลวงพ่อในใจก็คิดว่าเราเป็นคนเห็น แต่ช่างเขาไม่ได้เห็นกับเรา เขาอาจจะปั้นได้ไม่เหมือนก็ได้ จึงขอบารมีของท่านบอกว่า เวลาที่ช่างเขาปั้น ขอได้โปรดดลใจให้เป็นไปตามพระพุทธประสงค์ ท่านก็ยอมรับ จึงได้สั่งให้ นายประเสริฐ แก้วมณี ปั้นรูปขี้ผึ้งขึ้น บอกลักษณะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ในที่สุดเมื่อเขาปั้นเสร็จ เขาเอามาให้ดูเหมือนกับ รูปที่ท่านแสดงจริงๆ ก่อนสร้างหลวงพ่อก็คิดอีกว่า ปกติเวลาจะสร้างพระพุทธรูปองค์สำคัญ จะมีการบรรจุพระบรมสารีริกฐานไว้ด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ก็มีแต่พระบรมสารีริกธาตุขององค์ปัจจุบัน คงจะหาของสมเด็จองค์ปฐมไม่ได้ วันหนึ่งหลวงพ่อกำลังจะเคลิ้มหลับ ได้ยินเสียงว่า “พระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จองค์ปฐม เอามาให้แล้วนะ วางไว้ที่ตลับบนเตียงข้าง ๆ หัวนอน” ได้ยินเสียงชัดเจนแจ่มใสมาก เหมือนเสียงขององค์ปัจจุบัน จึงลุกขึ้นมาเปิดไฟฟ้า ปรากฏว่าที่ตรงนั้นไม่เคยวางตลับ มีแต่วางหนังสือสำหรับดูก่อนหลับ ก็มีตลับพลาสติก แบบปัจจุบันอยู่ลูกหนึ่ง ไปเปิดดูเห็น พระบรมสารีริกธาตุองค์โต 2 องค์ ก็ดีใจว่าเป็นขององค์ปฐมแน่ๆ เพราะเราไม่เคยวางไว้ ก็เก็บไว้ในที่สักการบูชาเอาไว้บรรจุท่านต่อไป ในส่วนของสถานที่สร้างองค์มณฑปสมเด็จองค์ปฐม ก็ได้นิมิตจากสมเด็จองค์ปฐมให้สร้างในสถานที่ปรากฏในปัจจุบันนี้เพราะพื้นที่แห่งนี้มีพระบรมสารีริกธาตุสำคัญอยู่ และได้มีพิธีหล่อสมเด็จองค์ปฐมในวันที่ 15 มีนาคม 2535 โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดสามพระยา เป็นประธานจับสายสิญจน์ในการหล่อ

วิหารพระศรีอาริยเมตไตรย
ฝั่งตรงข้ามกับวิหารสมเด็จองค์ปฐม ก็จะเป็นวิหารสมเด็จพระศรีอาริยเมตไตรย
วิหารพระศรีอาริยเมตไตรย
ประวัติการสร้างพระศรีอาริยเมตไตรย
ผมได้อ่านหนังสือประวัติการสร้างพระศรีอาริยเมตไตรย โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ผมจะสรุปเอาแต่เนื้อหาและเรียบเรียงดังนี้ ในวันที่ 16 มีนาคม 2535 ในคืนนั้นหลวงพ่อได้ทำภาวนาจนได้พบกับสมเด็จองค์ปฐมอีกครั้ง ท่านบอกว่างานเธอยังไม่เสร็จ ฉันต้องการให้หล่อพระศรีอาริย์ หลวงพ่อเลยถามต่อว่าหล่อเพื่ออะไรครับ สมเด็จองค์ปฐมท่านก็กล่าวว่า ต้องหล่อ เพราะเงินที่ญาติโยมนำมาทำบุญสร้างสมเด็จองค์ปฐมยังมีเหลือยู่มาก และได้บอกสถานที่สร้างมณฑปไว้ด้วย เพื่อให้ผู้คนระลึกถึงในการทำดีเพื่อให้พ้นทุกข์หรือได้เกิดทันยุคพระศรีอาริย์ สมเด็จองค์ปฐมได้เรียกพระศรีอาริย์มา ซึ่งท่านเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ชั้นดุสิต และพระศรีอาริย์ได้บอกว่าให้หล่อเป็นรูปยืนนะครับ เครื่องประดับไม่ต้องมีสี ต้องการเป็นแก้วใส ส่วนเนื้อให้เป็นสีขาวและพระศรีอาริย์ได้แสดงท่ายืนมือขวาถือจักร มือซ้ายถือพระขรรค์ ในลักษณะห้อยลงทั้งสองข้าง จักร หมายถึง ธรรมจักร สำหรับผู้ที่มีกิเลสหนา มีทิฏฐิมากจะใช้จักรในการปราบ ส่วนผู้ที่มีกิเลสน้อยจะใช้พระขรรค์ในการปราบ และให้หล่อเป็นรูปเทวดาเพราะปัจจุบันเป็นเทวดาไม่ใช่พระ และพระศรีอาริย์ได้บอกเรื่องราวฝากหลวงพ่อฤาษีลิงดำไว้ว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะเกิดทันยุคพระศรีอาริย์และบรรลุธรรม ท่านได้บอกว่า ให้คนที่ต้องการเกิดในสมัยผม รักษาศีล 5 เป็นปกติ มีกรรมบถ 10 เป็นปกติทุกวัน แบบนี้เราจะเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู เมื่อเกิดในสมัยผมแค่ได้ฟังเทศน์หัวข้อเล็กๆ ก็สามารถบรรลุธรรมได้เลย ถ้าคนที่ปฏิบัติหย่อนกว่านี้ คือมีเผลอในศีล 5 และ กรรมบท 10 บ้างเล็กน้อย เราเรียกว่า วิปจิตัญญู เมื่อเกิดในสมัยผมจะต้องอธิบายเล็กน้อยจึงจะบรรลุธรรม บางคนวันธรรมดาบกพร่องบ้าง แต่ในวันพระถือศีล 5 ไม่ขาด กรรมบถ 10 ไม่ขาด เนื่องจากวันธรรมดาต้องทำมาหากิน เราเรียกพวกนี้ว่า เนยยะ จะต้องเทศน์หลายครั้งจึงจะบรรลุธรรม ในบริเวณใกล้เคียงกันก็จะเป็นองค์พระเงินไหลมาเทมา เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรสูง 30 ศอก

หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา วัดท่าซุง
ที่มาของชื่อหลวงพ่อเงินไหลมาเทมา ก็มาจากพลังศรัทธาของญาติโยมทั้งหลายที่ช่วยบริจาคในการสร้างพระยืนขนาด 30 ศอก อย่างมากมาย เหมือนกับคำว่าไหลมาเทมา ส่วนการอธิษฐานขอก็เป็นแรงอธิษฐานที่ดี ใครจะขออะไร ส่วนตัวผมแล้วก็ขึ้นกับพลังบุญของผู้ขอด้วยเช่นกัน ถ้าไม่มีบุญไม่มีวาสนา ก็คงจะลำบากอยู่ สำหรับความเชื่อขององค์หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา ก็มีการเล่าต่อๆกันมามากมายถึงเรื่องมีผู้ที่มาอธิษฐานขอให้ตัวเองรวยเนื่องจากมีหนี้สิน พอกลับไปก็ได้รับเงินมาหลายล้าน เรื่องนี้เขาก็เล่าต่อๆกันมานะครับ แต่ถ้าใครศรัทธาผมก็คิดว่าก็น่าจะตั้งใจอธิษฐานดูนะครับ
หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา

ปราสาททองคำ วัดท่าซุง
ปราสาททองคำ (กาญจนาภิเษก) เริ่มสร้าง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2536 มีซุ้มพระยืน 8 ศอก ประดิษฐานบนยอดของปราสาท ที่มาของคำว่า ปราสาททองคำ (กาญจนาภิเษก) เนื่องจาก ปีพ.ศ. 2539 เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์ครบ 50 ปี ท่านเจ้าอาวาสจึงนำการสร้าง “ปราสาททองคำ” ขึ้นถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระที่ทรงเสวยราชย์เป็นปีที่ 50 และทางสำนักพระราชวังได้ให้ชื่อปราสาททองคำใหม่ว่า “ปราสาททองกาญจนาภิเษก” ปราสาททองคำ ก่อสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน ประดับลวดลายไทยปิดทองคำเปลวติดกระจก ใช้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ญาติโยมถวาย รอบนอกปราสาทใช้ทองคำเปลวปิดรอบปราสาท ภายในปราสาทเป็นที่ประดิษฐานสิ่งของสำคัญ คือ 1. ชั้นแรก เป็นพิพิธภัณฑ์ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ โดยจะนำสิ่งของต่างๆที่ท่านเคยใช้ก็ดี หรือของส่วนตัวท่านก็ดีมาประดิษฐานไว้ หรือสร้างจำลองสถานที่พักที่ท่านเคยอยู่อาศัย เป็นต้น (ปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปเป็นที่สร้างใหม่ “อาคารสมบัติพ่อให้” ใกล้ลานธรรม 2. ชั้นที่สองและชั้นที่สาม จะเป็นสถานที่เก็บพระพุทธรูปขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่างๆ ที่ญาติโยมนำมาถวาย สถานที่หลักๆสำคัญของวัดท่าซุงก็มีประมาณนี้นะครับ ที่จริงก็มีสถานที่อื่นๆอยู่อีก แต่เป็นเกร็ดเล็กๆน้อยๆ ที่นักท่องเที่ยวจะมาท่องเที่ยวกันได้ แต่โดยเนื้อหาประวัติความเป็นมาเรื่องราว สำคัญหลักๆ ผมได้เรียบเรียงเอาไว้ให้พอสมควรแล้ว เรื่องราวของวัดท่าซุง และสิ่งปลูกสร้างทั้งหลายภายในวัด ได้เจริญขึ้นมากเพราะความศรัทธาต่อองค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ถ้าท่านใดมีความศรัทธาในตัวหลวงพ่อ จะไม่ผิดหวังเลยที่ได้มาที่วัดท่าซุงนอกจากจะได้ทำบุญแล้ว เรายังได้ความรู้กลับไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประวัติความเป็นมาของสถานที่ต่างๆ มูลเหตุที่ทำให้ต้องก่อสร้าง ทุกสถานที่ในวัดล้วนมีมูลเหตุที่ต้องจัดสร้าง การจัดสร้างแต่ละสิ่งล้วนมีคุณประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังทั้งสิ้น เป็นอีกหนึ่งวัดที่ผมขอแนะนำว่าต้องมากันสักครั้งให้ได้นะครับ เที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี (ตอนที่ 4) จึงเป็นตอนสุดท้ายแล้วครับสำหรับบทความเรื่องการท่องเที่ยววัดท่าซุง ส่วนกรณีมีเนื้อหาอัพเดท ผมจะทยอยมาอัพเดทให้อ่านเรื่อยๆนะครับ ขอบคุณมากครับที่ติดตามอ่าน