Faiththaistory.com

เที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี(ตอน 3)

เที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี ตอนนี้ก็มาถึงตอนที่ 3 แล้วครับ ตอนนี้ผมจะเขียนให้จบในฝั่งด้านอุโบสถเก่าเลยนะครับ ต่อไปผมจะพาไปชมสถานที่สำคัญอีกแห่งคือ วิหารพระองค์ที่ 10 และ 11

>>>บทความเที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี ตอนที่ 2 <<<

วิหารพระองค์ที่ 10 และ 11 จะอยู่บริเวณพระอุโบสถเก่านะครับ โดยเดินย้อนกลับมาทางเข้าไปตึกรับแขก จะมองเห็นป้ายชัดเจน ช่วงที่ผมมาวัดท่าซุงล่าสุดคือวันที่ 19 เมษายน 2557 ยังมีการปรับปรุงก่อสร้างพระอุโบสถเก่าอยู่นะครับ ผมเลยไม่สามารถเข้าไปพระอุโบสถเก่าได้

ทางไปพระอุโบสถเก่า วัดท่าซุง (วัดจันทาราม)

ทางเข้าบริเวณของพระอุโบสถเก่า วัดท่าซุง

เมื่อเราเดินตรงไปจากทางเข้าไปสักนิด เราจะพบกับศาลาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้นะครับ ซุ่งอัญเชิญมาจากวัดหนองดุด อำภอนาหว้า จังหวัดนครพนม  ถัดไปจากศาลาพระพุทธบาท ก็จะถึงวิหารพระองค์ที่ 10 และ 11 แล้วครับ

ซุ้มวิหารพระองค์ที่ 11 และ 11 วัดท่าซุง

ก่อนที่จะเข้าไปด้านในหลายๆคนก็ยัง งงๆ ว่าใครคือพระองค์ที่ 10 องค์ 11  สำหรับผมบอกเลยครับ ก็ งงเหมือนกัน  แต่จะหายข้องใจเพราะมีประวัติเป็นแผ่นสแตนเลสติดให้อ่านด้านหน้าวิหารเลยครับ  นอกจากจะมีประวัติพระองค์ที่ 10 – 11 แล้ว ด้านขวามือก็จะเป็นป้ายขนาดใหญ่เช่นกันมีเรื่องราวประวัติการชำระหนี้สงฆ์ให้อ่านด้วย

การมาวัดท่าซุง อุทัยธานี เป็นวัดหนึ่งที่ผมประทับใจมาก เพราะนอกจากเป็นสถานที่ทำบุญแบบวัดโดยทั่วไปแล้ว แต่เรายังจะได้ความรู้ ได้ธรรมะ ได้ปัญญากันกลับไปด้วย เนื่องจากแต่ละสถานที่ก็มีประวัติมีความรู้ให้อ่านมากมายเลยครับ

ป้ายประวัติพระองค์ที่ 10 – 11 วัดท่าซุง อุทัยธานี

ผมเชื่อว่าหลายๆคนเมื่อได้ยืนอ่านก็คงต้องใช้ความคิด สมาธิในการอ่านประวัติพอสมควร จึงจะเข้าใจ และผมเองก็เป็นเช่นนั้น เอาเป็นว่าผมจะขอสรุปเนื้อหาบนป้ายประวัติพระองค์ที่ 10 – 11 ด้วยสำนวนของผมเอง เพื่อให้ง่ายในการอ่านและจับใจความนะครับ

ประวัติพระองค์ที่ 10 – 11

เมื่อปี พ.ศ. 2487 หลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้รับกิจนิมนต์ไปงานขึ้นบ้านใหม่ ของนายเสรี เปาเล้ง ซึ่งปลูกสร้างอยู่กลางทุ่งนา ที่จังหวัดราชบุรี โดยมีเจ้าคณะจังหวัดราชบุรีเป็นหัวหน้าคณะ รวม 9 รูป ได้รับการนิมนต์สวดมนต์เย็นและฉันเช้า

ในเย็นวันนั้น พอไปถึงบ้านที่นิมนต์ ก็พบว่า ที่หัวอาสนะสงฆ์ มีพระหนุ่มนั่งอยู่แล้ว 1 รูป ซึ่งประมาณดูแล้วจะอายุน้อยกว่าหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ตอนนั้นหลวงพ่อมีอายุไม่ถึง 30 ปี พระหนุ่มรูปนั้นดูจริยาน่าเลื่อมใสมาก ในขณะนั้นเจ้าคณะจังหวัดขึ้นไป แต่พระหนุ่มก็ไม่ลุกจากหัวอาสนะ ทำให้เจ้าคณะต้องนั่งถัดมาเป็นรูปที่ 2 ส่วนหลวงพ่อฤาษีลิงดำนั่งเป็นรูปที่ 3  รวมแล้วก็เลยมีเป็น 10 รูป  พระหนุ่มจึงเป็นพระรูปที่ 10 จากเหตุผลนี้

เมื่อถึงเวลาสวดมนต์ พระหนุ่มก็สวดเสียงดังกังวาล ไพเราะจับใจ เมื่อสวดมนต์เย็นเสร็จท่านก็กลับ หลังจากนั้นรุ่งเช้า พระหนุ่มก็มาก่อนอีกครั้ง ด้วยความสงสัยขณะฉันเช้า ท่านเจ้าคณะเลยสอบถามว่า “ท่านบวชมากี่พรรษาแล้ว” ท่านก็ได้ล้วงย่ามหยิบเอาใบสุทธิออกมาให้ดู เมื่อมองดู พ.ศ. เป็นเวลาล่วงเลยมากว่า 300 ปี แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีใบสุทธิมีแต่ใบฉายา

หลังฉันเช้า ให้พรเสร็จแล้ว ท่านก็ลากลับ ด้วยความสงสัยท่านเจ้าคณะจึงสอบถามเจ้าของบ้านว่า “รู้จักพระรูปนี้มั้ย และนิมนต์มาจากไหน” เจ้าของบ้านบอกว่า “ไม่ได้นิมนต์มา” เลยรีบส่งคนลงไปดูว่าท่านเดินไปทางไหน แต่ปรากฏว่า ไม่เห็นพระหนุ่มรูปนั้นแล้ว

หลังจากเหตุการณ์นั้น วันที่ 23 -24 มีนาคม 2528 หลวงพ่อฤาษีลิงดำจะจัดงานบุญประจำปี  ในเช้าวันที่ 24 มีนาคม หลวงพ่อได้ลงรับแขกตั้งแต่เช้า และมีคนมารายงานว่า มีพระรูปหนึ่งมานั่งบริเวณโคนต้นโพธิ์หน้าพระอุโบสถเก่า ใกล้ศาลาการเปรียญที่ชายน้ำ ชาวบ้านคิดว่าเป็นพระไม่ดีจึงรีบมาบอกหลวงพ่อฤาษีลิงดำ แต่หลวงพ่อไม่รู้สึกเช่นนั้น โดยรู้สึกว่าเป็นพระองค์ที่ 10 จึงให้นายทหารคนหนึ่งลงไปดู หลังจากนั้น นายทหารคนนั้นก็มารายงานว่าไม่เห็นอะไรเลย

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว มีนายดาบตำรวจคนหนึ่ง มาเล่าให้หลวงพ่อฟังว่า

“ผมยืนอยู่บริเวณนี้ และพระรูปนั้นก็นั่งอยู่ตรงนี้ มีคนนั่งล้อมท่านราวๆ 100 คนเศษ แต่นายทหารที่หลวงพ่อส่งมานั้นได้ขับมอเตอร์ไซด์เฉียดเลยผมไป เหมือนมองไม่เห็นอะไรเลย” แต่นายทหารคนนั้นก็แย้งว่า “ไม่เห็นใครจริงๆ เห็นแต่ที่โล่งๆ”

การที่หลวงพ่อได้ส่งนายทหารลงไปดูนั้น ก็เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นองค์พระสำคัญ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ย่อมต้องแสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นแน่ๆ และท่านก็ได้แสดงให้เห็นเช่นนั้นจริงๆ

และนี่ก็เป็นประวัติและที่มาที่ไปของพระองค์ที่ 10 ดังกล่าว

ส่วนพระองค์ที่ 11 นั้น ความเป็นมาคือ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ กลับจากตรวจงานหรือสึกเหนื่อเพลีย และก็นอนลงทำอานาปานสติ จนเกิดนิมิตว่า

“พระองค์ที่ 11 ท่านจะมางานเป่ายันต์เกราะเพชร ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2528 และ ปี พ.ศ. 2529 พระองค์ที่ 11 จะมาช่วยงาน”

ในนิมิต พระองค์ที่ 11 ได้บอกว่า ” เราจะเอากำลังเป็นออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนที่ 1 เราจะเอาไปคลุมร่างเธอ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) เพื่อให้มีแรงทำงาน อีกส่วนหนึ่งเราจะไปนั่งอยู่ที่พระองค์ที่ 10 ท่านนั่ง (หมายถึงบริเวณต้นโพธิ์ ที่มีพระองค์ที่ 10 เคยนั่ง) ถ้าเห็นสมควรเราก็จะแสดงตัวให้เห็นเอง แต่ให้เธอ (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ) จงรู้ไว้เสมอว่าเรานั่งอยู่ตรงนั้น

หลวงพ่อได้หล่อรูปพระองค์ที่ 10 ในวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2529 เมื่อหล่อพระแล้วเสร็จ ก็ได้สร้างวิหารพระองค์ที่ 10 – 11 ขึ้นเพื่อประดิษฐานพระรูปนี้ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ให้คนรุ่นหลังได้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่อุดมมงคล

บริเวณพื้นที่ด้านในวิหารพระองค์ที่ 10 – 11 (#1)

บริเวณพื้นที่ด้านในวิหารพระองค์ที่ 10 – 11 (#2)

เมื่อเราเดินออกมาด้านนอกวิหารพระองค์ที่ 10 – 11 แล้วเดินย้อนขึ้นมา เราก็จะได้พบกับศาลาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทไว้ โดยมีองค์พระพุทธบาทจำลองที่เราสามารถจะปิดทองกันได้  ส่วนองค์จริงห้ามปิดทองกันนะครับ

ศาลาประดิษฐานพระพุทธบาท วัดท่าซุง อุทัยธานี

พระพุทธบาทจำลองที่สามารถบูชาปิดทองกันได้ครับ อยู่ด้านในศาลา

รอยพระพุทธบาท วัดท่าซุง อุทัยธานี (#1)

รอยพระพุทธบาท วัดท่าซุง อุทัยธานี (#2)

ประวัติของรอยพระพุทธบาทองค์นี้เป็นมาอย่างไรให้อ่านต่อได้ที่ Link นี้เลยครับ ====> ประวัติรอยพระพุทธบาท วัดท่าซุง

เมื่อทำการบูชารอยพระพุทธบาทกันแล้ว ผมก็เดินทางไปด้านล่าง ซึ่งมีทางเดินติดกับวิหารพระองค์ที่ 10 – 11 ก็จะมองเห็นแพให้อาหารปลา มีปลาเยอะมากเลยครับ ตรงนี้เด็กๆชอบกัน เพราะสนุกสนานกับการให้อาหารปลา ส่วนตัวผมนั่งพักผ่อนเย็นๆในบริเวณนี้สักครู่

บริเวณที่นั่งพักด้านล่างของวิหารพระองค์ที่ 10 -11 จะมองเห็นแพให้อาหารปลา ผมมานั่งพักผ่อนบริเวณนี้ครับ

นั่งพักสักครู่เพื่อรอเวลา มณฑปแก้ว เปิดให้เข้าเวลา 12.30 น. พอใกล้เวลาเปิดให้เข้าผมก็เดินย้อนกลับไปพื้นที่ของตึกรับแขกอีกครั้ง แต่ก่อนขึ้นไปมณฑปแก้ว ผมก็จะเข้าไปกราบไหว้บูชา องค์พระมหาประชาบดีโคตมีเถรี เสียก่อนซึ่งเป็นศาลาใกล้ๆกับมณฑปแก้ว

ผมมองเข้าไปแว๊บแรก ตอนแรกเลยผมไม่รู้ว่าเป็นพระรูปเหมือนพระมหาประชาบดีโคตมีเถรี แต่มองไปพิจารณา แตกต่างจากพระสงฆ์โดยทั่วไป มีความสวยงามและสง่าอย่างมาก ผมเลยต้องเดินเปิดประตูกระจกเข้าไปด้านในศาลาวิหารองค์นี้เพื่อมองเห็นให้ชัดเจนขึ้น และก็ได้รู้ว่า รูปเหมือนนี้เป็นของพระภิกษุณีหญิง คือ พระมหาประชาบดีโคตมีเถรี นั่นเอง

ศาลาพระรูปเหมือนพระมหาประชาบดีโคตมีเถรี เป็นกระจกแก้วใส

พระรูปเหมือน พระมหาประชาบดีโคตมีเถรี ด้านในศาลากระจกแก้วใส

พิธีการหล่อพระรูปเหมือน พระมหาประชาบดีโคตมีเถรี ตรงกับวันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม 2547 เวลา 15.39 น. และได้วางแผ่นจารึกสร้างศาลวิหารเพื่อประดิษฐานในวันเดียวกัน เวลา 09.39 น. ซึ่งการสร้างครั้งนี้เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในวาระการเจริญพระชนม์พรรษา 7 รอบ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

การสร้างพระหล่อองค์พระมหาประชาบดีโคตมีเถรีขึ้นมานั้น มีจุดประสงค์คือ เพื่อรำลึกถึงคุณพระสงฆ์ (สังฆานุสติ) และบูชาคุณงามความดี แสดงถึงความกตัญญูกตเวทิตา ต่อคุณงามความดีของพระมหาประชาบดีโคตมีเถรี โดยพระมหาประชาบดีโคตมีเถรีนั้น เป็นพระภิกษุหญิงรูปแรกในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า ภิกษุณี ซึ่งได้รับคุณธรรม 8 ประการจากพระพุทธองค์ และได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็นเอตทัคคะทางรัตตัญญูรู้ราตรีนาน ซึ่งหมายถึง บวชก่อนผู้อื่น รู้เห็นเหตุการณ์และมีประสบการณ์มาก ถือเป็นสตรีที่ออกผนวชและมีวิริยะพากเพียรในการปฏิบัติธรรม จนบรรลุอรหันตผลในที่สุด

หลังจากได้กราบ ขอพรพระมหาประชาบดีโคตมีเถรีแล้ว ผมก็เดินออกมาเพื่อขึ้นมณฑปแก้วต่อไป และก็ได้เวลาเปิดให้ขึ้นไปพอดี

เวลาเปิดให้ขึ้นของมณฑปแก้วนั้น จะมี 2 ช่วงเวลาคือ ช่วงเช้า เวลา 09.00 – 10.30 น. และช่วงบ่าย เวลา 12.30 – 16.00 น. แต่ละสถานที่มีเวลาให้เข้าชมและทำบุญนะครับ ยังไงก็ศึกษาข้อมูลและเวลากันให้ดี และที่สำคัญถ้าใครได้มาแล้ว อย่าใจร้อนนะครับ ค่อยๆแวะสถานที่ต่างๆ แล้วอ่านบทความรู้ในทุกๆสถานที่ แล้วจะรู้ว่าไม่เสียเที่ยวเลยจริงๆ

มณฑปแก้ว วัดท่าซุงเมื่อมองจากด้านนอก ดูสวยงามมากครับ

ด้านในมณฑปแก้ว วัดท่าซุง (#1)

ด้านในมณฑปแก้ว วัดท่าซุง (#2)

ด้านในมณฑปก็จะประดิษฐานรูปพระองค์ที่ 10 – 11 ไว้นะครับ ส่วนประวัติเรื่องพระที่ 10 – 11 เป็นมาอย่างไร ก็ให้ท่านเลื่อนอ่านขึ้นด้านบนนะครับ  ในส่วนตอนที่ 3 ของการเที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี ก็มีรายละเอียดอยู่ประมาณนี้นะครับ แล้วตอนต่อไป ผมจะพาไปเที่ยวทำบุญกันต่อในอีกฝั่งถนน ก็คือฝั่งขวาของถนน (ถ้าท่านมาจากเมืองอุทัยธานี)

ขอเน้นย้ำอีกรอบนะครับ สำหรับท่านที่จะเดินทางมาวัดท่าซุง และถ้าอยู่ต่างจังหวัดไกลๆ ขอให้ท่านใจเย็นๆ เพราะแต่ละสถานที่มีเวลาเปิดปิด ขอให้ท่านได้ศึกษาเวลากันดีๆ ถ้าไปตอนที่ปิดอยู่ก็ให้รอเวลาก่อน ให้หาที่นั่งพักผ่อน กินข้าวกินปลากัน ขอให้ใช้เวลาที่มากันแล้ว 1 วันต็มๆ ได้ประโยชน์กันกลับไปอย่างสูงสุดนะครับ ในส่วนตัวผมแล้ว ผมรู้สึกคุ้มค่าทุกครั้งที่ได้เดินทางมาวัดท่าซุง และผมก็มาอยู่บ่อยๆ และก็ไม่ได้เบื่อหน่ายในการขับรถมาไกลๆซะด้วยครับ มาแต่ละครั้งผมก็ได้ทำบุญ ได้อ่านหนังสือ ได้ทบทวนข้อธรรมะ และความรู้ต่างๆ ที่ติดให้อ่านกันทั่วไป

สำหรับตอนต่อไปผมจะพาไปอีกฝั่งถนนนะครับ ซึ่งมีสถานที่สำคัญมากมายเช่นกันดังนี้

1. พระวิหารแก้วร้อยเมตร ซึ่งเป็นที่เก็บพระศพองค์หลวงพ่อฤาษีลิงดำไว้จนปัจจุบันนี้ ไม่เน่าเปื่อยครับ

2. พระวิหารองค์สมเด็จองค์ปฐม

3. พระวิหารองค์พระศรีอริยเมตไตรย

4. ปราสาททองคำ

5. หลวงพ่อเงินไหลมาเทมา เป็นพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตรสูง 30 ศอก

 

อ่านต่อใน เที่ยวทำบุญวัดท่าซุง หลวงพ่อฤาษีลิงดำ อุทัยธานี ตอนที่ 4 นะครับ  ขอบคุณครับ

คลิปสถานที่ในวัดท่าซุง วิหารหลวงปู่ใหญ่, วิหารพระองค์ที่ 10 – 11 และพระอุโบสถหลังเดิม

Exit mobile version