พาชมต้นโพธิ์สีขาว เจดีย์โบราณอายุกว่า 100 ปี ที่วัดเตาอิฐ ฉะเชิงเทรา

By | July 19, 2015

https://youtu.be/M3oDpxqTMNo

สวัสดีครับ กลับมาพบกับการเดินทางท่องเที่ยววัดอีกครั้งของผม สำหรับครั้งนี้ผมเดินทางไปไกลถึงจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะพอดีที่ผมจะเดินทางไปทำธุระที่นั่น … จึงได้ใช้โอกาสนี้เดินทางไปท่องเที่ยววัดต่างๆในจังหวัดฉะเชิงเทราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

วัดแห่งแรกที่อยู่ในแผนงานครั้งนี้ คือ “วัดเตาอิฐ” หลายๆท่านอาจจะไม่คุ้นชื่อเท่าไหร่นัก และไม่รู้ว่ามีความสำคัญอย่างไร … เนื่องจากว่าผมได้ทราบข่าวว่า ที่วัดเตาอิฐแห่งนี้ มีสิ่งแปลกๆ ที่ไม่ค่อยจะได้เห็นกันนัก นั่นก็คือ “ต้นโพธิ์สีขาว”

ต้นโพธิ์สีขาว ทำให้วัดเตาอิฐ มีชื่อเสียงขึ้นมา รวมถึงตัวผมเองด้วยครับ… ถ้าไม่มีข่าวนี้ ผมคงไม่ได้เดินทางมาที่นี่แน่นอน

นอกจากต้นโพธิ์สีขาวที่เป็นจุดเด่นของวัดเตาอิฐแล้ว ก็ยังมีเจดีย์โบราณ ซึ่งสันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 100 ปี เพราะวัดแห่งนี้สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 ซึ่งก็ล่วงเลยเวลามานานนับร้อยปี สำหรับลักษณะของเจดีย์ ก็แปลกตาสำหรับผมซะจริงๆ เพราะไม่เคยเห็นเจดีย์ลักษณะนี้ โดยมีลักษณะ ปล้องไฉนเป็นบัว องค์บัลลังค์เพรียว… ฐานทรงกลมเป็นชั้น…

เราเริ่มออกเดินทางไปยังวัดเตาอิฐกันเลยครับ

การเดินทางมายังวัดเตาอิฐ

วัดเตาอิฐ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ตำบลบางคา อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ผมเดินทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วเลี้ยวขวาไปที่อำเภอพนมสารคาม จนกระทั่งถึงสี่แยกอำเภอบางคล้า แล้วผมก็เลี้ยวซ้ายเข้าไปที่อำเภอบางคล้า แล้วขับตามเส้นทางไปตลาดน้ำบางคล้า ผ่านหน้าตลาดน้ำเจอกับสามแยกแรกผมก็ขับรถไปตามถนนหลายเลข 3378 ไปยังอำเภอราชสาส์นและอำเภอพนมสารคาม

สำหรับท่านที่ไม่เคยเดินทางมา ก็อาจจะไม่คุ้นเคยเส้นทาง อาจจะต้องเปิดแผนที่การเดินทางไปยังอำเภอราชสาสน์ นะครับ หรือดูคลิปวีดีโอการเดินทางบน Youtube ที่ผมได้โพสไว้ด้านบนบทความนี้

 

ผ่านหน้าโรงเรียนประชานุกูล

ผ่านหน้าโรงเรียนประชานุกูล

ผมขับรถผ่านโรงเรียนไพบูลย์ประชานุกูล อีกเล็กน้อยก็จะเจอป้ายเลี้ยวซ้ายไป อำเภอราชสาส์น แล้วครับ หลังจากนั้นอีกประมาณ 1-2 กิโลเมตร ก็จะมีป้ายวัดเตาอิฐทางซ้าย ระหว่างทางจะเต็มไปด้วยต้นไม้ร่มรื่น แม้จะเป็นช่วงที่น้ำค่อนข้างแล้งแต่ก็เริ่มมีฝนตกลงมาบ้างแล้ว จึงได้เห็นพื้นที่นาของชาวบ้านเขียวเต็มทุ่ง สบายตา และสบายใจมากเลยครับ

ภาพพื้นที่นา ก่อนถึงวัดเตาอิฐ

ภาพพื้นที่นา ก่อนถึงวัดเตาอิฐ

ซุ้มประตูวัดเตาอิฐ

ซุ้มประตูวัดเตาอิฐ

เมื่อเข้ามาจนถึงพื้นที่วัด ต้องบอกเลยว่าร่มรื่นมากๆ สภาพยังมีต้นไม้มากมาย เป็นวัดป่าที่น่ามาปฏิบัติธรรมซะจริงๆ ท่านใดที่ชอบความสงบ เรียนเชิญมาทำบุญกันนะครับ

พระอุโบสถวัดเตาอิฐ

พระอุโบสถวัดเตาอิฐ

พระอุโบสถ สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2415 และได้รับการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ. 2473 ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้า สภาพที่ผมเดินทางไปถึงจะปิดอยู่นะครับ จึงไม่ได้เข้าไปกราบพระพุทธรูปด้านใน แต่เราสามารถเดินเข้าไปชมพื้นที่โดยรอบพระอุโบสถได้

พระอุโบสถวัดเตาอิฐ

พระอุโบสถวัดเตาอิฐ

พระเจดีย์โบราณ วัดเตาอิฐ

พระเจดีย์โบราณ วัดเตาอิฐ

ผมเดินชมพื้นที่วัด จนไปสะดุดตากับพระเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่หลังพระอุโบสถ มีลักษณะเก่าแก่…ซึ่งน่าจะเป็นพระเจดีย์เก่าที่สร้างมาพร้อมกับวัดเตาอิฐ จึงจะมีอายุมากกว่า 100 ปีแน่นอน…

สำหรับลักษณะของพระเจดีย์องค์นี้ มีลักษณะแปลกตาสำหรับผมมาก โดยมีลักษณะปล้องไฉนเป็นบัว องค์บัลลังค์เพรียว… ฐานทรงกลมเป็นชั้น…

พี่โชติอนันต์ ผู้ที่คอยอุปัฏฐากพระสงฆ์ และช่วยดูแลวัดแห่งนี้ ได้เล่าให้ฟังว่า เจดีย์องค์นี้เก่าแก่มาก เห็นมานานมากแล้ว แต่เดิมจะมีร่องรอยการขุดเจาะเพื่อหาสมบัติในพระเจดีย์ โดยการเจาะทะลุพื้นเข้าไปใต้ฐานเจดีย์ ทะลุเข้ากลางองค์เจดีย์ด้านใน ซึ่งคนสามารถยืนได้ … แต่ปัจจุบันพี่โชติอนันต์ ทีมชาวบ้านและเจ้าอาวาสองค์เดิม ได้ช่วยกันปิดหลุมนี้ไว้หมดแล้ว และรอวันบูรณะอีกครั้ง… โดยตั้งใจจะพยายามให้คงสภาพเก่าแก่ ให้มากที่สุด

พี่โชติอนันต์ ผู้ที่คอยอุปัฏฐากพระสงฆ์และดูแลวัด

พี่โชติอนันต์ ผู้ที่คอยอุปัฏฐากพระสงฆ์และดูแลวัด

ทั้งนี้เจดีย์องค์สีขาว ภายในพื้นที่พระอุโบสถ ก็เป็นเจดีย์องค์เก่า ที่ได้รับการบูรณะไปแล้ว และทาสีใหม่ (แต่ดูสภาพแล้ว เหมือนใหม่เลยครับ รู้สึกเสียดายนิดๆ เลยครับ)

เจดีย์ในพื้นที่อุโบสถ

เจดีย์ในพื้นที่อุโบสถ

ปล้องไฉนลักษณะเพรียว

องค์ระฆังมีลักษณะเพรียว

ปล้องไฉนเป็นกลีบบัว

บัวชั้นบนเป็นกลีบบัว

ฐานทรงกลมเป็นชั้นขึ้นไป

ฐานบัวทรงกลมเป็นชั้นขึ้นไป

พระเจดีย์โบราณ องค์นี้ น่าจะกลายเป็นจุดเด่นของวัดแห่งนี้อีกจุดหนึ่ง นอกจากต้นโพธิ์สีขาว

พอผมเห็นองค์เจดีย์องค์นี้ ก็รู้สึกรักวัดแห่งนี้ขึ้นมาจับใจเลยครับ … ผมเดินวนเวียนที่บริเวณนี้นานพอสมควร

ต้นโพธิ์สีขาว จุดเด่นของวัด

ต้นโพธิ์สีขาว จุดเด่นของวัด

ต้นโพธิ์สีขาว

ต้นโพธิ์สีขาว

มาพบกับต้นโพธิ์สีขาว แปลกตาจุดเด่น ที่เป็นข่าวของวัดเตาอิฐ … ต้นโพธิ์สีขาวต้นนี้ จะอยู่ห่างจากต้นโพธิ์ต้นใหญ่ในวัดประมาณ 3 เมตร … จากคำบอกเล่าจากพี่โชติอนันต์ ได้กล่าวว่า แต่เดิมจะมีต้นโพธิ์สีขาวจำนวน 3 ต้น แต่ได้เฉาตายไปแล้ว 2 ต้น … ปัจจุบันจึงเหลือเพียงต้นเดียว จึงต้องล้อมรั้วไว้เพื่อป้องกันและดูแลไม่ให้ผู้คนเข้าไปสัมผัส เกรงจะเฉาตายไปซะก่อน

ศาลเจ้าแม่มาลัยทอง ข้างต้นโพธิ์

ศาลเจ้าแม่มาลัยทอง ข้างต้นโพธิ์

พระสีวลี

พระสีวลี

บริเวณพื้นที่ด้านข้างกับต้นโพธิ์ จะตั้งศาลเจ้าแม่มาลัยทอง และถัดไปด้านหลัง จะประดิษฐานพระสีวลี เป็นเอตทัคคะด้านผู้มีลาภมาก ในสมัยพุทธกาล ให้สาธุชนสักการะบูชา

พื้นที่ใช้สอยของวัด

พื้นที่ใช้สอยของวัด

หอระฆัง

หอระฆัง

เรือโบราณ ที่วัดเก็บรักษาไว้

เรือโบราณ ที่วัดเก็บรักษาไว้

ผมเดินชมพื้นที่ในวัดได้อย่างสบายอารมณ์มากๆเลยครับ เพราะอากาศไม่ร้อน อีกทั้งบรรยากาศมีลมเย็นๆพัดมาเป็นระยะ มีเสียงนกร้องตลอดเวลา อยู่นานแค่ไหนก็สบายใจซะจริงๆ ผู้คนไม่พลุกพล่าน เหมาะแก่การเป็นที่สงบจิตใจได้มากเลยทีเดียว

บรรยากศในวัด

บรรยากาศในวัด

บรรยากาศในวัด

บรรยากาศในวัด

บรรยากาศในวัด

บรรยากาศในวัด

นอกจากบรรยากาศในวัดที่ร่มรื่นที่ทำให้ให้ผมสบายใจ นั่นก็คือ เหล่าสุนัขสี่ขาทั้งหลายในวัด ก็ล้วนเป็นมิตรกับผู้ที่เดินทางมาเยี่ยมเยียน ไม่มีเห่าหอนให้ต้องคอยกังวลใจเลยครับ… ซึ่งโดยปกติแล้ว วัดที่เงียบสงบแบบนี้ ถ้ามีสุนัขอยู่มักจะเห่าหอนคนแปลกหน้าอยู่เรื่อยๆ แต่สำหรับที่นี่ไม่ใช่ครับ … สุนัขมีมารยาทมากๆ ฮ่าๆ

สุนัขในวัด

สุนัขในวัด

ผมเดินวนเวียนอยู่ในวัดเตาอิฐ นานพอสมควร อีกทั้งได้สนทนากับพี่โชติอนันต์ซึ่งมีอัธยาศัยที่ดีมากๆ เลยคุยกันได้ยาว … ได้รับทราบข้อมูลของวัดเตาอิฐเพิ่มเติมอีกมากเลยหล่ะครับ จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้…

ขอแนะนำว่าเป็นอีกวัดหนึ่ง ที่มีความสงบ เป็นวัดป่า มีความร่มรื่น น่าเดินทางมาทำบุญ อีกทั้งได้ชมความแปลกของต้นโพธิ์สีขาว และชมความงามของพระเจดีย์โบราณ ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี อีกด้วย…

ก่อนจบบทความท่องเที่ยว ผมจึงขอนำประวัติพอสังเขปของวัดเตาอิฐมาโพสไว้ด้วย ดังนี้…

ประวัติวัดเตาอิฐ ฉะเชิงเทรา (พอสังเขป)

วัดญาณรังสี (เตาอิฐ) สันนิษฐานกันว่าเริ่มสร้างเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2378 ผู้ที่เริ่มสร้างวัดเตาอิฐญาณรังสีคือ “เจ้าวัฒฐา” แต่บางแห่งกล่าวว่าเริ่มสร้างเมื่อ ปี พ.ศ. 2415 โดยมี “ขุนรักษาผลาผล” (ยิ้ม) กำนันตำบลบางคา อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้มอบที่ดินถวายเพื่อสร้างวัดจำนวน 14 ไร่ 2 งาน 84 ตารางวา และพระครูญาณรังษีมุนีวงศ์ (แทน) เจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นผู้ดำเนินการสร้างวัดแห่งนี้จนเสร็จสมบูรณ์ จึงตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตามสมณะศักดิ์ของท่านว่า “วัดญาณรังษี” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดเตาอิฐ”

https://youtu.be/hx-F8PxhsZ8

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด