เที่ยวทำบุญ นมัสการหลวงพ่อใหญ่ วัดโตนดเตี้ย อยุธยา

By | May 4, 2014


https://youtu.be/CHjGfv4JgDY

หลวงพ่อใหญ่ วัดโตนดเตี้ย

เที่ยวทำบุญ นมัสการหลวงพ่อใหญ่ วัดโตนดเตี้ย พระนครศรีอยุธยา ผมได้มีโอกาสมาทำบุญและกราบนมัสการหลวงพ่อใหญ่ที่วัดโตนดเตี้ยบ่อยครั้ง แต่ยังไม่มีโอกาสได้นำรายละเอียดมาเขียนไว้ วันนี้ก็ได้โอกาสมากล่าวถึงรายละเอียดของวัดโตนดเตี้ยกันนะครับ ซึ่งเป็นวัดแรกที่ผมจะกล่าวถึงในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดโตนดเตี้ย คงไม่ค่อยจะคุ้นหูสำหรับผู้คนโดยทั่วไปนักเพราะตั้งอยู่ห่างจากเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ทำให้นักท่องเที่ยวและผู้นิยมเดินทางไหว้พระไม่ค่อยได้มาถึงวัดนี้กันสักเท่าไหร่นัก จะมีเพียงคนในพื้นที่ ที่จะรู้จักดี

วัดโตนดเตี้ยได้เริ่มคุ้นหูผู้คนโดยทั่วไปจากกรณีเมื่อปี พ.ศ. 2556 ที่ กระบือพระราชทานจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ที่มีชื่อ เจ้าคล้าว กับ ทองกวาว ได้ถูกขโมยไปทั้ง 2 ตัว และเจ้าหน้าตำรวจได้เร่งออกติดตามหาจนกระทั่งสามารถนำตัวผู้ต้องหามาดำเนินคดี และ ได้นำกระบือทองกวาวกลับมาได้ แต่เป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งที่กระบือเจ้าคล้าวได้ถูกส่งไปที่โรงฆ่าสัตว์และได้ถูกฆ่าไปก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเดินทางไปถึง

การเดินทางมาวัดโตนดเตี้ยนั้น ถ้ามาจากทางกรุงเทพฯ ให้ตรงมาจนถึงอำเภอวังน้อย แล้วเลี้ยวซ้ายจากถนนพหลโยธิน ตรงมาเพื่อไปตามเส้นทางที่จะไปสวนอุตสาหกรรมโรจนะ  จนขับมาถึงสี่แยกไฟแดงใหญ่ และมีถนนยกระดับ ให้เลี้ยวขวาเพื่อไปทางอำเภออุทัย ขับรถไปประมาณ 4  กิโลเมตร จะเห็นป้ายบอกทางฝั่งซ้ายมือบอกทางไปวัดนะครับ โดยจะมีซอยเล็กๆ ให้เลี้ยวขวา ถ้าเกรงจะไปไม่ถูกกันก็จอดถามคนแถวนั้นได้เลยครับ ผมมั่นใจว่ารู้จักกันทุกคน แล้วขับเข้าซอยไปเรื่อยๆ จะเห็นวัดอยู่ฝั่งซ้ายมือติดกับโรงเรียนวัดโตนดเตี้ย

ป้ายชื่อวัดโตนดเตี้ย

ป้ายชื่อวัดโตนดเตี้ย จะอยู่บริเวณพื้นที่จอดรถ

เมื่อมาถึงในพื้นที่วัดแล้ว ก็ให้หาที่จอดรถได้เลยครับมีลานจอดรถกว้างระดับหนึ่ง พื้นที่วัดไม่ได้กว้างขวางมากครับ แต่การจัดสถานที่ และสวนหย่อมก็ดูดีสะอาดตา ร่มรื่นด้วยครับ

ศาลาพระพิฆเนศ ตั้งอยู่บริเวณสวนหย่อมติดกับลานจอดรถ

ศาลาพระพิฆเนศ ตั้งอยู่บริเวณสวนหย่อมติดกับลานจอดรถ

ก่อนที่จะเข้าไปในบริเวณวัดเราก็จะได้พบกับศาลาพระพิฆเนศ ซึ่งมีความเชื่อว่าท่านเป็นเทวดาแห่งความสำเร็จ ยังไงผู้ที่ศรัทธาก็แวะกราบขอพรได้นะครับ

บริเวณบันไดด้านหน้าก็ขึ้นไปยังพระอุโบสถ

บริเวณบันไดด้านหน้าก็ขึ้นไปยังพระอุโบสถ

บริเวณบันไดทางขึ้นไปสู่พระวิหารไม้ทรงไทย เราก็จะมองเห็นพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ผมคิดว่าวัดโตนดเตี้ยคงจะได้รับการอุปถัมภ์จากท่านแน่นอน เพราะได้ข่าวคราวว่าท่านได้เสด็จมาที่วัดบ่อยครั้ง

พระอุโบสถไม้ ประดิษฐานองค์หลวงพ่อใหญ่

วิหารไม้ทรงไทย ประดิษฐานองค์หลวงพ่อใหญ่

เมื่อเดินขึ้นมาเราก็จะพบกับพระวิหารไม้ ที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อใหญ่ด้านใน ส่วนด้านหน้าเป็นพระประธานที่ให้นมัสการปิดทองได้นะครับ

องค์พระพุทธรูปหน้าวิหารหลวงพ่อใหญ่

องค์พระพุทธรูปหน้าวิหารหลวงพ่อใหญ่

หลวงพ่อใหญ่ในวิหารไม้ทรงไทย

หลวงพ่อใหญ่ในวิหารไม้ทรงไทย

วัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณพระวิหาร #1

วัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณพระวิหาร #1

วัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณพระวิหาร #2

วัตถุโบราณที่ขุดค้นพบในบริเวณพระวิหาร #2

พื้นที่ด้านในพระวิหารนอกจากจะประดิษฐานองค์หลวงพ่อใหญ่แล้ว ยังได้มีการจัดแสดงวัตถุโบราณที่ได้ถูกค้นพบในบริเวณพระวิหารแห่งนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นก่อนจะสร้างพระวิหารเป็นศาลาทรงไทย วิหารเดิมจะเป็นสังกะสีรอบวิหาร และหลังคา และจากข้อมูลของวัดได้กล่าวถึงการดำเนินการทางโบราณคดีไว้ดังนี้

การดำเนินงานทางโบราณคดีได้เริ่มต้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2551 จนถึง เดือนมีนาคม 2552 ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้ทำการขุดค้นหาทางโบราณคดีบรเวณข้างฐานวิหารทั้งสี่ด้าน ด้านหน้าพาไลวิหาร ภายในพื้นที่วิหาร และบริเวณด้านหน้าฐานชุกชี

ผลการดำเนินงานทางโบราณคดีมีดังนี้

  1. พบแนวอิฐฐานวิหารเดิม สันนิษฐานว่าวิหารเดิมมีขนาดโดยประมาณ 11.80 x 7.40 เมตร เฉียงจากตัววิหารเดิม และแต่เดิมมีการปูพื้นด้วยกระเบื้องดินเผา ข้างใต้รองด้วยแผ่นอิฐและชั้นทราย
  2. ผนังของวิหารเดิม พบแนวผนังอิฐล้มตะแคงข้างแนวฐานวิหาร สันนิษฐานว่าผนังวิหารอาจจะพังทลายลงมาหลังวิหารนี้จะถูกทิ้งร้าง
  3. ฐานเจดีย์หน้าวิหาร พบฐานเจดีย์สี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 2×2 เมตร จำนวน 2 องค์ บริเวณด้านหน้าพาไลวิหาร สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 5 -6
  4. ฐานเสมา พบฐานเสมาเดิมรอบวิหาร จำนวน 5 จุด และภายในวิหาร 1 จุด ฐานเสมามีการก่ออิฐสอปูนซึ่งยืนยันได้ว่า แต่เดิมเป็นอุโบสถมาก่อน
  5. หลุมเสาไม้ ได้พบหลุมเสาไม้ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 18 เซนติเมตร

โบราณวัตถุที่ค้นพบ

ได้แก่ กระเบื้องมุงหลังคาดินเผาแบบเกล็ดเต่าและกาบกล้วย กระเบื้องเชิงชายลายเทพนม ชิ้นส่วนภาชนะดินเผาพื้นเมือง ชิ้นส่วนเครื่องถ้วยจีน พระพุทธรูปสำริด และเหรียญโสฬส เป็นต้น

สรุปผลการดำเนินงานด้านโบราณคดี

สรุปว่าแต่เดิมวิหารนี้เป็นอุโบสถก่ออิฐถือปูน โดยพบหลักฐานการใช้งานตั้งแต่ราวสมัยอยุธยาตอนปลายหรือราวรัตนโกสินทร์ตอนต้น ต่อมามีการบูรณะขึ้นมาใหม่ในรักาลที่ 5 และต่อมาราวรัชกาลที่ 6-7 ได้ปรับอุโบสถเป็นโครงสร้างไม้ ฐานก่ออิฐถือปูน และปรับตำแหน่งวางผังอุโบสถใหม่ และมีการซ่อมบำรุงเรื่อยมา จนมีการมุงและบุผนังอุโบสถด้วยสังกะสี จนปี พ.ศ. 2535 ได้ถอนอุโบสถหลังนี้เป็นวิหาร และในปี พ.ศ. 2552 ได้บูรณะปฏิสังขรณ์เป็นรูปแบบอาคารไม้เรือนไทยในปัจจุบันนี้

พื้นวัดโตนดเตี้ยรอบวิหารไม้ทรงไทย

พื้นวัดโตนดเตี้ยรอบวิหารไม้ทรงไทย

การจัดสถานที่และสวนหย่อมภายในวัดโตนดเตี้ย #1

การจัดสถานที่และสวนหย่อมภายในวัดโตนดเตี้ย #1

การจัดสถานที่และสวนหย่อมภายในวัดโตนดเตี้ย #2

การจัดสถานที่และสวนหย่อมภายในวัดโตนดเตี้ย #2

การจัดสถานที่และสวนหย่อมภายในวัดโตนดเตี้ย #3

การจัดสถานที่และสวนหย่อมภายในวัดโตนดเตี้ย #3

ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผมได้เดินทางมาที่วัดโตนดเตี้ย ผมได้รู้สึกประทับใจเสมอมาเพราะภายในบริเวณวัดจัดสรรพื้นที่ได้สวยงามเลยทีเดียว มีความสะอาด บ่งบอกว่ามีการจัดผู้ดูแลสถานที่ไว้ด้วย และอีกอย่งที่ผมชอบคือ ได้ยินเสียงบรรเลงของดนตรีไทยด้วยครับ ผมก็นั่งพักและฟังดนตรีบรรเลงรู้สึกเพลิดเพลินดีจริงๆครับ ส่วนถ้าวันไหนมีงานบุญก็จะมีผู้คอยบรรยายเสียงตามสาย ได้ทั้งความรู้กลับไปอีกด้วย

เรือโบราณที่ทางวัดได้จัดแสดงไว้

เรือโบราณที่ทางวัดได้จัดแสดงไว้

เมื่อผมได้เดินไปรอบๆบริเวณพื้นที่วัด ก็จะเห็นเรือโบราณที่จัดแสดงไว้ในพื้นที่ด้วยครับ ผมจำไม่ได้ว่ามีเท่าไหร่ แต่คร่าวๆก็ประมาณ 2-3 ลำ

ป้ายบอกสถานที่ต่างๆในวัด

ป้ายบอกสถานที่ต่างๆในวัด

พระราหูภายในวัด

พระราหูภายในวัด

นอกจากพระพิฆเนศแล้ว ภายในวัดก็จัดสถานที่สำหรับบูชาพระราหูไว้ด้วย ตามความเชื่อของคนไทยคือ เมื่อใครที่คิดว่าตัวเองมีเคราะห์มักจะมาทำการบูชาพระราหูกันครับ

ด้านหน้าวิหารหลวงพ่อขาว

ด้านหน้าหอสวดมนต์หลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาว

 

สิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกองค์คือหลวงพ่อขาวซึ่งจะประดิษฐานด้านในหอสวดมนต์ ด้านหลังวิหารไม้ เยื้องมาเล็กน้อยครับ

ก๋วยเตี๋ยวโอ่งอันโด่งดังในวัด

ก๋วยเตี๋ยวโอ่งอันโด่งดังในวัด

ร้านก๋วบเตี๋ยวโอ่ง ในวัด

ร้านก๋วบเตี๋ยวโอ่ง ในวัด

ก๋วยเตี๋ยวโอ่ง ชามนี้ 30 บาทครับ

ก๋วยเตี๋ยวโอ่ง ชามนี้ 30 บาทครับ

คลิปวีดีโอร้านก๋วยเตี๋ยวโอ่งป้าแจ๊ว วัดโตนดเตี้ย อยุธยา

เมื่อเดินรอบสถานที่ของวัดเรียบร้อยแล้ว ผมก็ไม่พลาดที่ลิ้มชิมรสของก๋วยเตี๋ยวโอ่ง เมนูก๋วยเตี๋ยวมีทั้งเนื้อ และหมู มีทั้งน้ำตกและน้ำใส ส่วนตัวผมเลือกเส้นเล็กหมูน้ำใสครับ ชิมแล้วรสชาติก็โอเค สำหรับผมก็ให้ผ่าน ชามนี้ราคา 30 บาท ก็ถือว่าไม่แพงเกินไป อิ่มพอดีๆ ระหว่างนั่งรับประทานก๋วยเตี๋ยวเราก็จะมองเห็นอุทยานปลา ซึ่งมีปลาสวายจำนวนมาก ตัวใหญ่ๆทั้งนั้น และหลังรับประทานก๋วยเตี๋ยวเรียบร้อยแล้วผมก็จะไปให้อาหารปลาตอครับ

อุทยานปลาในพื้นที่วัด

อุทยานปลาในพื้นที่วัด

หลังจากรับประทานอาหารเรียบร้อยแล้ว ผมก็เดินลงไปด้านล่างเพื่อไปให้อาหารปลาครับ ก่อนลงไปที่แพให้อาหารปลาจะมีตู้บริการให้หยอดเหรียญเพื่อซื้ออาหารปลา ราคา 10 บาทได้มา 1 ถัง

บนแพให้อาหารปลา

บนแพให้อาหารปลา

บนแพให้อาหารปลา

บนแพให้อาหารปลา

 

จุดให้อาหารปลานี่แหละครับ ที่เด็กๆชอบกันมาก สนุกสนานให้อาหารปลากันเลยครับ

ผมจะขอสรุปจุดสำคัญหลักๆเมื่อได้มาถึงวัดโตนดเตี้ยแล้วควรไปจุดไหนกันบ้าง

 

1. พระพิฆเนศบริเวณด้านหน้าลานจอดรถ
2. วิหารไม้ทรงไทย กราบนมัสการหลวงพ่อใหญ่ หลวงพ่อใหญ่สันนิษฐานว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 300 ปี ขนาดหน้าตัก 180 เซนติเมตร
3. กราบนมัสการหลวงพ่อขาว
4 บูชาพระราหู
5. อุดหนุนทานก๋วยเตี๋ยวโอ่งสักชาม
6. ให้อาหารปลา

วัตถุมงคลของทางวัด

วัตถุมงคลของทางวัด

ก่อนเดินทางกลับกัน ก็ลองเช่าบูชาวัตถุมงคลจากทางวัดไปด้วยก็ดีนะครับ ที่เห็นในรูปจะเป็นพระเครื่องที่สร้างจากสังกะสีวิหารเดิมซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ถือว่าเก่ามาก ที่เหลือจะเป็นเหรียญเจ้าสัว กับพระมเหศวร ถ้าจะกล่าวถึงวัตถุมงคลของทางวัด ที่ขึ้นชื่อเลยก็คือเหรียญหลวงพ่อใหญ่ที่สร้างจากสังกะสีจากวิหารเดิมซึ่งมีอายุกว่า 100 ปี ปัจจุบันได้นำมาสร้างเป็นวัตถุมงคลทั้งสิ้น 3 รุ่น ดังนี้ 1. รุ่นแรกเป็นเหรียญเสมา 2. รุ่นที่สอง เป็นเหรียญเจ้าสัว 3. รุ่นที่สาม เป็นเหรียญพระมเหศวร

เหรียญเสมา สังกะสีร้อยปี รุ่นแรก

เหรียญเสมา สังกะสีร้อยปี รุ่นแรก

เหรียญรุ่นสอง สังกะสีร้อยปี พระเจ้าสัว

เหรียญรุ่นสอง สังกะสีร้อยปี พระเจ้าสัว

เหรียญรุ่นสาม สังกะสีร้อยปี พระมเหศวร

เหรียญรุ่นสาม สังกะสีร้อยปี พระมเหศวร

ส่วนตัวผมเองก็มีทั้งสามรุ่นเลยครับ และผมจะขอกล่าวถึงการสร้างเหรียญเสมา สังกะสีร้อยปี รุ่นแรกไว้คร่าวๆดังนี้

ประวัติการสร้างเหรียญสังกะสี 100 ปี หลวงพ่อใหญ่ พิมพ์ใบเสมา รุ่นแรก

แต่เดิมวัดได้ล้อมรั้วและมุงหลังคาด้วยสังกะสี การบูรณะได้รื้อสังกะสีออกแล้วก่อสร้างใหม่ด้วยไม้สักทอง เป็นอาคารทรงไทยโบราณตามรูปกรมศิลปากร และทรงพระดำริให้เคลื่อนย้ายโบสถ์ที่อยู่ชิดกับพระวิหาร เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการประกอบพิธีทางศาสนา ทางวัดได้นำสังกะสีเก่าแก่ของหลังคาและรอบวิหารเก่า ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งสังกะสีเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร สันนิษฐานว่านำมาจากประเทศฮอลแลนด์ เพื่อมุงหลังคาและล้อมตัววิหารที่มีอายุนับร้อยปี จัดสร้างเป็นเหรียญหลวงพ่อใหญ่ รุ่นสังกะสี ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงพ่อใหญ่ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี ใต้ฐานเขียนคำว่า “หลวงพ่อใหญ่” ด้านหลังเหรียญ มีลักษณะเรียบไม่มีขอบ เป็นยันต์พุดซ้อน ใต้ยันต์เขียนคำว่า “วัดโตนดเตี้ย อ.อุทัย จ.อยุธยา” ที่แกะสลักอยู่บริเวณอกเลาประตูทางเสด็จของวิหาร เหรียญหลวงพ่อใหญ่ รุ่นสังกะสี นับเป็นเหรียญรุ่นแรกของประเทศไทย ที่ทำจากสังกะสี จัดสร้างจำนวน 9,999 เหรียญ ลักษณะเหรียญเป็นแบบใบเสมา เพื่อนำรายได้ในการ บูรณะอุโบสถ รวมทั้งปรับภูมิทัศน์ของวัดให้สวยงาม วัตถุมงคลที่จัดสร้างทุกชิ้น เป็นเนื้อสังกะสีเก่าที่ทำปลอมได้ยาก สำหรับเหรียญหลวงพ่อใหญ่รุ่นนี้ วัดโตนดเตี้ย ได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก อย่างเข้มขลัง โดยมีพระเกจิคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงเมืองกรุงเก่า อาทิ หลวงพ่อหวล วัดพุทไธศวรรย์ เป็นประธานจุดเทียนชัย หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว, หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน, หลวงพ่อเฉลิม วัดพระญาติ, หลวงพ่อแม้น วัดหน้าต่างนอก และ หลวงพ่อรวย วัดตะโก นั่งอธิษฐานจิตปลุกเสก เมื่อวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2553 เชื่อว่าเหรียญรุ่นนี้จะได้รับความนิยมในอนาคตเพราะเป็นเหรียญรุ่นแรกในประเทศไทยที่สร้างจากเนื้อสังกะสี

ข้อมูลอ้างอิง : www.khaosod.co.th

และผมได้รับทราบข้อมูลจากทางวัดได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ในสมัยอยุธยา ไว้ดังนี้

ความสัมพันธ์ด้านประวัติศาสตร์ของวัดโตนดเตี้ย ในสมัยอยุธยา

ชื่อวัดโตนดเตี้ย มีที่มาจาก ในอดีตหมู่บ้านนี้มีต้นตาลโตนดอยู่เป็นจำนวนมาก และตั้งอยู่ริมคลองช่องสะเดา สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยา เพราะว่าได้พบหลักฐานของการมีชุมชนโบราณในสมัยอยุธยาในบริเวณใกล้เคียงวัด ตั้งแต่คลองหันตรา คลองอุทัย คลองชนะ จนถึงคลองสะเดา คลองหนองน้ำส้ม หลักฐานพงศาวดารฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวถึงในสมัยพระธรรมราชา หลังจากเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 1 ไว้ว่า พญาละแวกแห่งกัมพูชา ได้ยกทัพเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทางลัดเลาะตามแม่น้ำเข้ามา และได้ผ่านชุมชนตามแม่น้ำลำคลอง โดยฝ่ายกัมพูชายกทัพตีกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้งแต่ก็ไม่สามารถตีให้แตกได้ จึงยกทัพกลับทางเดิม และได้กวาดต้อนชาวบ้านไปยังกัมพูชาด้วย และในพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ไว้ว่า พระยาวชิรปราการ หรือพระยาตาก ได้ใช้เส้นทางเดินทัพบริเวณคลองแม่น้ำนี้ ตีฝ่าวงล้อมพม่าไปยังนครนายก ไปจนถึงจันทบุรี เพื่อรวบรวมไพร่พลกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ทั้งนี้ได้พบร่องรอยหลักฐานจากวัดและชุมชนต่างๆ เช่น พระพุทธรูปหินทราย ฐานของโบราณสถาน และชิ้นส่วนภาชนะดินเผา บ่งบอกถึงการมีชุมชนในอดีต และวัดโตนดเตี้ยก็น่าจะมีส่วนสัมพันธ์ในเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะวัดตั้งอยู่ริมคลองช่องสะเดา ซึ่งห่างจากคลองหันตรา คลองอุทัย คลองชนะ ประมาณ 2.5 กิโลเมตร วัดโตนดเตี้ยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2445 และได้รับพระกรุณาธิคุณในพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงดำริให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารศักดิ์สิทธิ์และดำเนินการทางโบราณคดี

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com