โบราณสถาน วัดส้ม ลวดลายปูนปั้นวิจิตรศิลป์ปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น… วันนี้ผมจะพาทุกท่านไปชมความงามลวดลายปูนปั้นที่โบราณสถาน วัดส้ม จังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่ยังหลงเหลือความงาม วิจิตรให้ได้ชมแม้กาลเวลาจะผ่านมาแล้วหลายร้อยปี
ข้อมูลจากกรมศิลปากร กล่าวว่า วัดส้มเป็นวัดขนาดเล็กตั้งอยู่ติดกับคลองท่อ (คลองฉะไกรใหญ่) ทางด้านทิศตะวันตก ไม่ปรากฏหลักฐานทางด้านเอกสารเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัด สิ่งก่อสร้างที่สำคัญภายในวัด ได้แก่ ปรางค์ประธาน วิหาร และเจดีย์ราย จากการศึกษาโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่เป็นปรางค์ก่ออิฐและมีการทำทับหลัง รวมทั้งลวดลายปูนปั้นประดับองค์ปรางค์วัดส้ม พบว่ามีวิวัฒนาการมาจากโครงสร้างและลวดลายในสถาปัตยกรรมเขมรซึ่งมีอายุการสร้างอยู่ในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ 18 แสดงให้เห็นว่าปรางค์ประธานวัดส้มนั้นน่าจะได้รับการสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาโดยมีอายุเก่ากว่าปรางค์องค์อื่นๆ ในสมัยอยุธยาตอนต้น เช่น พระปรางค์องค์เล็กที่วัดมหาธาตุ (พ.ศ. 1917) และวัดราชบูรณะ (พ.ศ. 1967) เล็กน้อย
การสำรวจของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ
อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้เดินทางสำรวจวัดส้ม เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2510 และบันทึกไว้ในหนังสือห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา ไว้ว่า
วัดส้มเป็นวัดเล็กๆ ตั้งอยู่หลังศาลากลางจังหวัด(ปัจจุบันเป็นศูนย์การท่องเที่ยวอยุธยา) ติดกับคลองท่อ โบราณสถานอื่นๆพังทลายหมด เหลือเพียงปรางค์ขนาดย่อม รูปทรงกระทัดรัดน่าดู เป็นปรางค์สมัยอยุธยาตอนต้น ลวดลายประดับองค์ปรางค์งามมาก จัดว่าเป็นสองรองจากวัดภูเขาทอง
อย่างไรก็ดี ลายปูนปั้นที่นี่เหลือมากกว่าแห่งอื่นทั้งหมดในอยุธยา ลายซุ้มประตู ลายทับหลัง กลีบขนุน ตลอดจนลายเฟื่องเชิงชายต่างๆ เหลือบริบูรณ์น่าอัศจรรย์ เมื่อส่องกล้องดูลายในที่สูงก็ยิ่งตื่นเต้นด้วยลายละเอียดประณีตอย่างคาดไม่ถึง หน้าบันเป็นภาพเทพพนมนั่งชันเข่าข้างซ้ายเรียงกันเป็นแถว ตรงกลางมีลายคั่น
ก่อนที่ผมจะเดินทางไปชมพื้นที่วัดส้ม ได้ทำการเปิดอ่านเรื่องราวของวัดส้ม พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ รวมถึงหลงเหลือลวดลายปูนปั้นที่สวยงาม จึงเป็นเหตุผลที่ไปเที่ยวชมวัดส้มแห่งนี้
นอกจากนี้ ผมได้สอบถามข้อมูลและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมวัดส้มกับ ดร.ฉันทัส เพียรธรรม ซึ่งอาจารย์ได้ให้ข้อมูลไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้
สถาปัตยกรรม วัดส้ม โดย ดร.ฉันทัส เพียรธรรม
อาจารย์ ดร.ฉันทัส กล่าวว่า วัดส้มมีรูปแบบศิลปกรรมที่น่าสนใจ คล้ายกับพระปรางค์ในวัดมหาธาตุ อยุธยา เชื่อว่าสร้างรุ่นราวคราวเดียวกัน คือต้นหรือกลางพุทธศตวรรษที่ 20 เป็นอย่างน้อย
วัดส้มมีพระปรางค์เป็นประธานของวัด พระปรางค์องค์นี้ มีฐานเตี้ย คล้ายกับพระปรางค์รายทิศตะวันออกวัดมหาธาตุ อยุธยา รวมถึงมีชั้นซ้อน 4 ชั้นคล้ายกันอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ปรางค์นี้มีการประดับซุ้มบันแถลงหลอก บริเวณยอด เพิ่มไปอีก 1 ชั้น ทำให้ นับรวมได้ 5 ชั้น
หากพิจารณาประเด็นเรื่องชั้นซ้อนนี้ ก็จะพบว่า มีลักษณะคล้ายกับพระปรางค์รายทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดมหาธาตุ ที่พยายามทำชั้นซ้อน ให้มี 5 ชั้นเช่นกัน
ดังนั้น พระปรางค์ประธานวัดส้ม จึงสะท้อนความพยายามของช่างอยุธยาที่ปรับรูปแบบศิลปกรรม จากเดิม 4 ชั้นให้กลายเป็น 5 ชั้น ซึ่งต่อมาก็จะเพิ่มเป็น 6 ชั้น สอดรับกับคติสวรรค์ในทางพระพุทธศาสนาที่มีสวรรค์ทั้งสิ้น 6 ชั้น
นอกจากนี้ ลวดลายปูนปั้นของพระปรางค์ ยังสะท้อนถึงงานช่างละโว้ซึ่งรับอิทธิพลจากเขมร ได้เป็นอย่างดี ลวดลายเหล่านี้ มีลักษณะคล้าย กับพระปรางค์ประธานวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี ปรางค์วัดส้มยังปั้นทับหลังหลอกคล้ายกันอีกด้วย ลวดลายปูนปั้นวัดนี้จึงสะท้อน ถึงความสัมพันธ์กับงานช่างในเมืองละโว้หรือลพบุรี
วัดส้ม(รวมถึงวัดมหาธาตุ) จ.อยุธยา จึงนับเป็นงานศิลปกรรมที่สร้างภายใต้กษัตริย์ในราชวงศ์ละโว้ หรือราชวงศ์อู่ทองที่เรารู้จักกันดี มีสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระราเมศวร สมเด็จพระราม เป็นต้น
กษัตริย์ในราชวงศ์ละโว้หรืออู่ทองนี้ อาจสร้างพระนครศรีอยุธยาขึ้น โดยเริ่มต้น จากสร้าง วัดพุทไธศวรรย์ วัดมหาธาตุ วัดส้ม เป็นสำคัญ
ดังนั้น หากเราอยากตามรอยงานศิลปกรรมในราชวงศ์ละโว้แล้ว ก็จะเชิญชวนให้มาดูวัดเหล่านี้
ปิดท้าย ณ วัดส้ม อยุธยา
วัดส้ม เป็นวัดที่เก่าแก่และมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะท่านที่สนใจสถาปัตยกรรม ความสวยงามของปูนปั้นที่ยังหลงเหลือ รับรองว่าไม่ผิดหวัง อีกทั้งได้ศึกษาเรื่องราวความสัมพันธ์จากงานศิลปกรรมให้เห็นถึงความสอดคล้อง คติความเชื่อในอดีตได้เป็นอย่างดี
ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ / แอดมินตั้ม
ช่องทางการติดตาม
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด