Faiththaistory.com

เที่ยววัดสะแก อยุธยา – กราบหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

YouTube Poster

https://youtu.be/oTIO5eS0QyQ

สวัสดีครับ มาพบกับการท่องเที่ยวในภาระกิจเที่ยววัดกันต่อ วันหยุดทีไร ผมก็อยู่นิ่งไม่ค่อยได้หาข้อมูลเดินทางไปเที่ยวยังวัดต่างๆตามแต่ความสะดวกและโอกาสจะเอื้ออำนวย ส่วนมากแล้วผมจะบินเดี่ยวในภาระกิจนี้ เนื่องจากอิสระเสรี ไปวัดไหนแต่ละที ผมมักจะใช้เวลาซึมซับบรรยากาศค่อนข้างนาน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมได้ไปไหนคนเดียวเรื่อยๆ

สำหรับวันนี้ ผมจะมาเขียนเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยววัดอีกแห่งหนึ่ง ที่มีความสำคัญวัดหนึ่งของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นั่นก็คือวัดสะแก … วัดสะแก มีชื่อเสียงและสำคัญอย่างไร ถ้าจะกล่าวถึงหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ ก็คงมีหลายๆคนต้องร้องอ๋อ ขึ้นมาทันที เนื่องจากหลวงปู่ดู่ เป็นอดีตเจ้าอาวาสที่วัดสะแก แห่งนี้…

หลวงปู่ดู่ ท่านเป็นพระเกจิ ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศเลยก็ว่าได้ … สำหรับนักปฏิบัติธรรม ก็คงรู้จักในแนวทางของหลักคำสอนที่ตรงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า … สำหรับนักสะสมพระเครื่อง นี่ไม่ต้องพูดถึง เพราะวัตถุมงคลของหลวงปู่ดู่ ได้รับความนิยมอย่างสูงของนักสะสม

ความดีงามของหลวงปู่ดู่ เล่าขานกันมานมนาน และได้รับการยืนยันจากคำบอกเล่าของพระสงฆ์องค์อื่นๆ อาทิ หลวงพ่อเกษม เขมโก และหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ต่างบอกตรงกันว่า หลวงปู่ดู่ ท่านเป็นพระที่ดี

ด้วยเหตุนี้ผมจึงวางแผนเดินทางไปยังวัดสะแกเลยทันที กำหนดการตรงกับวันอาสาฬหบูชา

การเดินทางไปวัดสะแก พระนครศรีอยุธยา

ถ้าท่านไม่ใช่คนพื้นที่ ผมขอแนะนำให้เริ่มจากการเดินทางมายังสวนอุตสาหกรรมโรจนะก่อน ถ้าเดินทางมาจากกรุงเทพฯ อาจจะมาได้ 2 ทางคือ ตรงไปยังอำเภอวังน้อย หรือเข้ามาที่อยุธยา แล้วผ่านสวนอุตสาหกรรมโรจนะ ขับไปจนถึงแยกอำเภออุทัย ให้เลี้ยวไปตามเส้นทางอำเภอุทัย เลยครับ

จากนั้นจะผ่านสวนอุตสาหกรรมโรจนะ โครงการ 2 จะตั้งทางฝั่งขวามือ แล้วตรงไปยังอำเภออุทัย จะเห็นไปรษณีย์อุทัยฝั่งซ้าย อีกเล็กน้อยจะผ่านธนาคารออมสิน แล้วจะมีถนนเส้นเล็กๆให้เลี้ยวซ้ายเลยครับ จากนั้นก็สบายแล้วหล่ะ ขับรถกินลมชมวิว ไปเรื่อยๆ ให้มองฝั่งขวามือเป็นหลัก จะเจอกับป้ายวัดสะแก ขนาดใหญ่ ชัดเจนครับ

เมื่อเข้ามายังพื้นที่วัดสะแกแล้ว จุดแรกชัดเจน จะเห็นรูปหล่อหลวงปู่ดู่ ประดิษฐานด้านหน้าพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดู่

พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดู่

จุดแรกที่ผมจะเข้าไปชมคือ พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดู่ ซึ่งจะปิดเวลา 17.00 น. ถ้าจะเดินทางไป ก็อย่าไปค่ำนะครับ เดี๋ยวจะพลาดจุดนี้

รูปหล่อหลวงปู่ดู่หน้าพิพิธภัณฑ์

บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ จะประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่ดู่ องค์ยืน สามารถที่จะจุดธูปเทียนกราบไหว้บูชากันได้ครับ

ภายในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ดู่

ภายในพิิธภัณฑ์หลวงปู่ดู่ จะเป็นสถานที่เก็บรักษาเครื่องอัฎฐบริขาร และเครื่องใช้ต่างๆ ของหลวงปู่ในสมัยที่ท่านยังไม่มรณภาพ และเก็บอัฐิธาตุของหลวงปู่ให้ทุกคนได้กราบไหว้บูชา

อีกทั้งมีวัตถุมงคลต่างๆของหลวงปู่เก็บรักษาไว้ภายในนี้ ทั้งนี้ตามกฏระเบียบของวัดสะแก ได้ประกาศไว้ว่าห้ามถ่ายรูป ผมจึงไม่สามารถที่จะถ่ายรูปมาเผยแพร่ได้ จึงได้แค่ถ่ายรูปเครื่องใช้ต่างๆ และพระอัฐิธาตุมาให้ดูกันเท่านั้น

เครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ดู่

เครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ดู่

ผ้ายันต์และเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ดู่

เครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ดู่

นอกจากเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ดู่ ก็จะประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่ดู่ องค์นั่งสมาธิไว้ด้วย

รูปหล่อหลวงปู่ดู่ ในพิพิธภัณฑ์

รูปหล่อหลวงปู่ทวด ในพิพิธภัณฑ์

เส้นเกศาและฟันหลวงปู่ดู่

พระอัฐิธาตุหลวงปู่ดู่

พระอัฐิธาตุหลวงปู่ดู่

ที่พิพิธภัณฑ์ จะมีพุทธศาสนิกชน เดินทางกันเข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งของวัดสะแกเลยนะครับ เราจะได้เห็นเครื่องใช้ต่างๆ และพระอัฐิธาตุของหลวงปู่ดู่ ที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยๆ

ผมเดินชมวัตถุมงคลต่างๆ ของหลวงปู่ดู่ ซึ่งเก็บรักษาไว้มากมาย เสียดายที่ห้ามถ่ายรูป ถ้าอยากจะเห็นต้องมากันเองแล้วหล่ะครับงานนี้

ร้านค้าต่างๆ หน้าพิพิธภัณฑ์

สำหรับท่านที่มีอาการหิว ก็เชิญแวะอุดหนุนร้านค้าในวัดสะแกกันได้ครับ มีให้เลือกสรร มากมายพอสมควร

กุฏิหลวงปู่ดู่

จากนั้นผมก็เดินมายังกุฏิหลวงปู่ดู่ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่จัดพื้นที่ได้สวยงามสะอาดตา ได้บรรยากาศแห่งความศรัทธามากๆครับ

บรรยากาศด้านในกุฏิหลวงปู่ดู่

หนังสือธรรมะแจกฟรี ในกุฏิหลวงปู่ดู่

รูปถ่ายหลวงปู่ดู่

ในกุฏิหลงปู่ดู่ จะมีภาชนะบรรจุน้ำมนนต์ของวัด ท่านสามารถหาภาชนะบรรจุนำกลับไปบ้านได้ด้วยครับ

รูปถ่ายหลวงปู่ดู่

จากนั้นผมก็เข้าไปยังหอสวดมนต์ ซึ่งตั้งติดกันกับกุฏิหลวงปู่ดู่ เป็นสถานที่ให้เช่าบูชาวัตถุมงคลของวัดสะแก และเป็นสถานที่ถวายสังฆทานด้วยครับ

หอสวดมนต์

ภายในหอสวดมนต์

จุดบูชาวัตถุมงคลในหอสวดมนต์

รูปถ่ายภายในหอสวดมนต์

ภาพวาดหลวงปู่ดู่

พระอุโบสถ วัดสะแก

สถานที่ด้านข้างหอสวดมนต์ จะเป็นสถานที่ตั้งของพระอุโบสถวัดสะแก ซึ่งมีความสวยงามมาก เด่นที่ซุ้มใบเสมารอบพระอุโบสถ

ซุ้มใบเสมารอบพระอุโบสถ

รูปหล่อหลวงปู่ดู่องค์ใหญ่ ในวิหารข้างพระอุโบสถ

ศาลาไม้เอนกประสงค์ ระหว่างการก่อสร้าง

จุดให้อาหารปลา

ภายในวัดจะมีสถานที่ให้อาหารปลา และมีอาหารปลาไว้จำหน่ายด้วย

ผมเดินวนเวียนอยู่ภายในวัดสะแก ได้ไม่นานและค่อนข้างเร่งรีบพอสมควร เนื่องจากท้องฟ้าครึ้ม มีแนวโน้มที่ฝนจะเทลงมา แต่ก็ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการทำบุญในวันนี้ ได้ถวายปัจจัยเป็นสังฆทานจำนวนหนึ่ง จึงขอแบ่งบุญกุศลนี้มาให้ทุกท่านด้วยนะครับ

ก่อนจบบทความภาระกิจเที่ยววัด ผมได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับหลวงปู่ดู่ มาเผยแพร่ไว้ ในบล็อกแห่งนี้ด้วย โดยมีเรื่องราวพอสังเขปดังนี้

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เกิดในตระกูลหนูศรี เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2447 ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะโรง (ตรงกับวันวิสาขบูชา) โดยเป็นบุตรของนายพุดกับนางพุ่ม หนูศรี มีพี่สาวร่วมบิดามารดา 2 คน ท่านเป็นคนที่ 3 เป็นบุตรคนสุดท้อง

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ บรรพชาอุปสมบท ณ วัดสะแก ตำบลธนู อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อกลั่น เจ้าอาวาสวัดพระญาติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงปู่แด เจ้าอาวาสวัดสะแก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่ฉาย วัดกลางคลองสระบัว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 4 ค่ำ เดือน 6 ได้รับฉายาว่า “พรหมปัญโญ”

ด้วยความที่ท่านเป็นผู้มีความใฝ่รู้จึงมีความเพียรที่ศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ จากพระคณาจารย์ผู้ทรงภูมิรู้ภูมิธรรมในยุคนั้นหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อกลั่น หลวงพ่อเภา ท่านเจ้าคุณเนื่อง พระครูชม หลวงพ่อรอด (เสือ) และอีกหลายๆท่านตามจังหวัดต่างๆ

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ มีวิธีการเมตตาในสอนศิษย์ทังหลาย โดยอุบายธรรมสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่มีความหมายลึกซึ้งในตัว โดยเล่าจากเหตุการณ์ที่ท่านพบเห็นมากับตัวของท่านเองหรือได้มาจากการปฏิบัติธรรมอันยาวนานตลอดชีวิตท่านและบางครั้งก็กล่าวถึงพุทธประวัติ ธรรมบทหรือชาดกต่าง ๆ ตามแต่ท่านจะเห็นควร ในเวลาหรือโอกาสต่าง ๆ ที่จะนำมาสอนศิษย์เพราะลูกศิษย์แต่ละคนนั้นมีภูมิธรรมไม่เท่ากัน คนที่เข้าวัดใหม่ ๆ ท่านก็จะสอนแบบเข้าใจง่าย ๆ แต่ลึกซึ้งและกินใจจน เสมือนหนึ่งว่าท่านสามารถรู้ถึงก้นบึ้งของความคิดของบรรดาลูกศิษย์ลูกหา

สุขภาพของหลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ เริ่มทรุดโทรมนับตั้งแต่ พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา เนื่องการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ สาเหตุจากการที่บรรดาศิษย์ทั่วทุกสารทิศ ที่หลั่งไหลกันมานมัสการท่านมากขึ้นทุกวันหลายคราหลายครั้งจะสุขภาพจะทรุดหนักมาก ท่านก็อุตส่าห์ออกโปรดญาติโยมเป็นปกติ พระที่อุปัฏฐากท่าน เล่าว่า บางครั้งถึงขนาดที่ท่านต้องพยุงตัวเองขึ้นด้วยอาการสั่น และมีน้ำตาคลอเบ้า ท่านก็ไม่เคยปริปากให้ใครต้องเป็นกังวลเลย แม้ว่าทางคณะแพทย์ ได้กราบขอร้องหลวงปู่ให้เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล แต่หลวงปู่ก็ปฏิเสธ ภายหลังตรวจพบว่า หลวงปู่ อาพาธด้วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2532 หลวงปู่เริ่มพูดบ่อยครั้งกับบรรดลูกศิษย์ เกี่ยวกับ การละสังขารของท่าน

จนเมื่อวันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2533 ช่วงเวลาบ่ายนั้น มีนายทหารอากาศผู้หนึ่งมากราบท่านเป็นครั้งแรก หลวงปู่ท่านได้ลุกขึ้นนั่งตอนรับ ด้วยใบหน้าที่สดใส ราศีเปล่งปลั่งเป็นพิเศษ จนบรรดาศิษย์ เห็นผิดสังเกต

หลวงปู่ยินดีที่ได้พบกับศิษย์ผู้นี้ ท่านว่า “ต่อไปนี้ ข้าจะได้หายเจ็บไข้เสียที ” คืนนั้นมีคณะศิษย์มากราบท่าน ท่านได้พูดว่า “ ไม่มีส่วนใดในร่างกายที่ไม่เจ็บปวดเลย ถ้าเป็นคนอื่นคงเข้าห้อง ICU ไปนานแล้ว ” พร้อมทั้งพูดหนักแน่นว่า “ข้าจะไปแล้วนะ” และกล่าวปัจฉิมโอวาทย้ำให้ทุกคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท “ถึงอย่างไรก็ขอให้อย่าได้ละทิ้งการปฏิบัติ ได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติ ก็เหมือนนักมวย ขึ้นเวทีแล้วต้องชก อย่ามัวแต่ตั้งท่า เงอะๆ งะๆ” คืนนั้นหลวงปู่ก็กลับเข้ากุฏิ และละสังขารไปด้วยอาการสงบในกุฏิท่าน เมื่อเวลาประมาณ 5 นาฬิกา ของ วันพุธที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2533 รวมสิริอายุได้ 84 ปี 8 เดือน 65 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่พระราชทานเพลิงศพองค์หลวงปู่ดู่ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2535

โอวาทหลวงปู่ดู่

ผู้ใดที่เคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เป็นลูกเป็นหลาน สร้างบุญกุศลมากับข้ามา แม้ในชาตินี้ไม่ได้พบสังขารธรรมของข้า แต่พอพบเห็นหลักธรรมคำสั่งสอนของข้า แล้วเกิดศรัทธา คนผู้นั้นแหละเคยสร้างบุญสร้างกุศลมากับข้า เคยเป็นศิษย์เป็นอาจารย์เป็นลูกเป็นหลานของข้า ขอให้ตั้งใจปฏิบัติธรรมะภาวนาไตรสรณคมณ์ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ เวลาเหลืออีกไม่มากแล้ว รีบพากันปฏิบัติเพื่อจะได้ไว้เป็นที่พึ่งในภายหน้า ข้าจะคอยช่วย   แกคิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก แกไม่คิดถึงข้า ข้าก็คิดถึงแก ข้าอยู่ใกล้ ๆ แกจำไว้

ที่มา : th.wikipedia.org

คลิปวีดีโอเที่ยววัดสะแก พระนครศรีอยุธยา


https://youtu.be/r_mwegSw7hA


https://youtu.be/75uVappX0Mc

แอดมินเล่าเรื่อง หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ


https://youtu.be/7qhNxLCmwyY


https://youtu.be/Nfr0_wuO4_w

รู้บ้างไหม…

…จะมีใครรู้บ้างว่า ในขณะที่มีผู้คนมาถวายปัจจัยสังฆทานแก่หลวงปู่จำนวนนับหมื่นบาทในแต่ละวัน พอถึงตอนเย็น ท่านก็จะให้ลูกศิษย์รวบรวมไปถวายเจ้าอาวาสทั้งหมด ไม่เก็บไว้เป็นสมบัติส่วนตัวเลย

…จะมีใครรู้บ้างไหมว่า ยามบ่าย ๆ ที่ปลอดผู้คน หลวงปู่จะเดินเก็บหนังยางที่หล่นอยู่ตามพื้นมาแขวนรวมไว้ที่ตะปูข้างกุฏิ เพื่อให้โยมที่มาวัดได้นำไปใช้กัน

…จะมีใครรู้บ้างไหมว่า หลวงปู่สรงน้ำโดยไม่ใช้สบู่เลย

…จะมีใครรู้บ้างไหมว่า หลวงปู่ไม่เปลี่ยนอัฐบริขารง่าย ๆ ทั้ง ๆ ที่มีคนมาถวายของใหม่ให้ใช้อยู่เสมอ ๆ บางครั้งเป็นของใช้ประกอบอื่น ๆ เช่น อาสนะนุ่ม ๆ ท่านก็จะเอามานั่งฉลองให้ผู้ถวายอิ่มใจ หลังจากนั้นไม่กี่วัน ท่านก็จะเอาไปรวมเป็นของสงฆ์เพื่อรอการจัดสรรต่อ แล้วท่านก็กลับมานั่งบนกระดานแข็ง ๆ อีกตามเดิม

…จะมีใครรู้บ้างไหมว่า หลวงปู่ฉันมื้อหนึ่ง ๆ เพียงไม่กี่คำ
ท่านฉันมื้อเพล ก็เพียงเพื่อจะสงเคราะห์คนที่อยู่ไกล ๆ ที่มาไม่ทันตอนเช้า ให้ได้มีโอกาสทำบุญ

…จะมีใครรู้บ้างไหมว่า ที่นอนจำวัดของหลวงปู่นั้นเล็กขนาดแทบไม่มีที่พลิกตัว แถมท่านยังเมตตาอนุญาตให้ศิษย์ใช้ห้องจำวัดของท่าน เป็นที่นั่งปฏิบัติกรรมฐาน ในสมัยที่ยังไม่มีสถานที่นั่งภาวนา

จะมีใครรู้บ้างไหมว่า ท่านพยายาม…สอนด้วยการทำให้ดู

จากหนังสือ “ตามรอยธรรม ย้ำรอยครู” หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com

Exit mobile version