Faiththaistory.com

เที่ยวทำบุญ สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง วัดป่าภูผาสูง นครราชสีมา

https://youtu.be/NdfWqleiwxk

สวัสดีครับ มาพบกับการเดินทางในภารกิจเที่ยววัด ครั้งนี้ผมจะเดินทางไปชมความสวยงามในบรรยากาศธรรมชาติที่วัดป่าภูผาสูง จังหวัดนครราชสีมา … ผมเคยได้ยินชื่อวัดป่าภูผาสูงมานานพอสมควร แต่ไม่คิดว่าจะอยู่ใกล้ๆที่จังหวัดนครราชสีมานี่เอง หลังจากที่ผมได้ลองศึกษาเส้นทางตามแผนที่ พบว่าเป็นเส้นทางที่สะดวก ผมจึงได้ทำการวางแผนการเดินทางทันที โดยตัดสินใจเดินทางเพียง 3 วัน

จุดประสงค์หลักๆ ที่ผมต้องการเดินทางมายังวัดป่าภูผาสูงเนื่องจาก จะมาร่วมทำบุญกุศล ในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง (พระธาตุจอมผา) และเป็นการพักผ่อนจากการทำงานเหนื่อยมาทั้งสัปดาห์ …

แผนที่การเดินทางผมได้ค้นหาจาก www.koratnana.com จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ เขียนได้ละเอียดมากๆครับ

แผนที่วัดป่าภูผาสูง
www.koratnana.com

ผมเดินทางเริ่มจากพระนครศรีอยุธยา เวลาโดยประมาณ 07.00 น. โดยใช้เส้นทางผ่านอำเภอภาชี ผ่านสระบุรี มาตามเส้นสู่จังหวัดนครราชสีมา … วิวทิวทัศน์ระหว่างการเดินทาง ค่อนข้างสวยงามเพราะทิวทัศน์ข้างทางจะเป็นป่าเขาเขียวขจี จากหยาดฝนที่ตกลงมาให้ความชุ่มชื้น เป็นการเดินทางที่มีความสุขมากๆเลยครับ … เที่ยววัด ก็ฟินได้ผมขอยืนยัน

เส้นทางเข้าสู่วัดป่าภูผาสูง

เมื่อขับรถตามเส้นทางเข้าสู่ถนนหมายเลข 24 เส้นทางนี้จะไปปักธงชัย บุรีรัมย์ ให้ขับเลยถึงบ้านมะเกลือใหม่ จากนั้นอีกเล็กน้อยจะมีทางกลับรถ ทั้งนี้จะมองเห็นป้ายขนาดใหญ่ชัดเจนบอกทางไปยังวัดป่าภูผาสูงครับ

จากปากทาง อีกเพียง 22 กิโลเมตรจะถึงวัด

ก่อนหน้านี้ ผมคิดว่าการเดินทางมายังวัดป่าภูผาสูงจะเป็นเส้นทางที่ลำบาก จึงได้โทรสอบถามเส้นทางกับทางวัดเพื่อเป็นการยืนยันว่าสามารถนำรถเก๋งขึ้นไปได้หรือไม่ ซึ่งทางวัดก็ได้บอกว่า เส้นทางสะดวก สามารถเดินทางมาได้เลย

และก็เป็นเช่นนั้น เส้นทางเป็นถนนลาดยางซึ่งมีสภาพที่ดีมากๆ และเป็นถนนคอนกรีตอีก 10 กิโลเมตร … ท่านที่จะเดินทางมา เรียนเชิญเลยนะครับ รับรองเดินทางได้สะดวกมาก … เรื่องความชันของเส้นทางนั้น ก็ไม่ชันมาก สบายๆ

เข้าสู่วัดป่าภูผาสูง

ชมคลิปการเดินทางก่อนมาถึงวัดป่าภูผาสูง คลิปด้านล่างครับ

ลองชมคลิปการเดินทาง ก่อนมาถึงวัด ได้นะครับ เพื่อเป็นการยืนยันว่า เดินทางสะดวกจริงๆ

https://youtu.be/fILIvGc24Vo

ประตูทางเข้าสู่พื้นที่วัด

ที่ประตูรั้ว ก่อนเข้าวัด จะติดประกาศกฏระเบียบ เพื่อให้ผู้เดินทางสำรวจกายวาจาใจ ก่อนเข้าวัด ขอให้ทุกท่านที่เดินทางมายึดถือตามระเบียบด้วยนะครับ โดยเฉพาะการแต่งกาย

จุดจอดรถ

จุดจอดรถของวัดจะมีหลายๆจุด ผมได้มาจอดในจุดใกล้เคียงกับพระมหาธาตุเจดีย์ … บรรยากาศที่เดินทางไปถึงต้องบอกว่าเงียบสงบดีมาก ผู้คนส่วนใหญ่จะไปอยู่ในจุดของพระเจดีย์ที่กำลังทำการก่อสร้างอยู่ … ผู้คนมีทั้งนักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางมาออกแรงช่วยในการก่อสร้างเจดียให้แล้วเสร็จ

หฃังจากที่ผมจอดรถลงมาแล้วก็เดินไปยังพระเจดีย์ เพื่อดูสภาพการก่อสร้าง และร่วมทำบุญ

แผนที่ สถานที่ต่างๆ ในวัดป่าภูผาสูง

ป้ายสถานที่ต่างๆ ของวัดป่าภูผาสูงจะติดตั้งไว้โดยทั่วไป ท่านที่ต้องการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ สามารถดูได้จากแผนที่นี้

ภาพวิวหน้าผา

ป้ายบอกทางไปชมหน้าผาต่างๆ

ผมเดินขึ้นมาตามเส้นทาง เพื่อไปยังพระเจดีย์ จะเห็นป้ายบอกทางหน้าผาต่างๆ ซึ่งจะเป็นจุดชมวิวของวัดด้วย

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง (พระธาตุจอมผา)

บริเวณจุดที่กำลังก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ จะตั้งใกล้เคียงกับจุดชมวิวหน้าผา ซึ่งกำลังเร่งการก่อสร้าง …ด้านหน้าจะมีเสาอโศกขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้เคยสร้างไว้ในอดีต เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าจุดนั้นๆ เป็นจุดสำคัญทางพุทธประวัติ

จุดเชิงบันไดทางขึ้นสู่พระเจดีย์ ได้สร้างรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นไปตามคติความเชื่อที่ว่าเทพทั้งสี่ เป็นเทพประจำสวรรค์ชั้นที่ 1 ที่มีชื่อว่าจาตุมหาราชิกา ซึ่งทำหน้าที่ในการปกป้องดูแลพระพุทธศาสนา โดยมีท้าวเวสสุวรรณ เป็นราชาแห่งเทพชั้นนี้

พระมหาธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง (พระธาตุจอมผา)

สำหรับผู้ที่ประสงค์จะเข้าช่วยงานก่อสร้าง และเดินเข้าชมภายในพระเจดีย์ จะต้องทำการรักษาศีล 8 ขึ้นไปเท่านั้น ทั้งนี้ทางวัดได้ติดป้ายเพื่อการอาราธนาศีล 8 และการลาศีล  8 ไว้ให้หน้าพระเจดีย์

ป้ายแจ้งกฎระเบียบ

จากนั้นผมก็ได้ทำการอาราธนาศีล 8 เพื่อเข้าไปยังเขตก่อสร้าง และเข้าไปในพระเจดีย์

ภายในพรมหาธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง

ภายในพระมหาธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง

ภายในพระเจดีย์ ยังมีสภาพที่กำลังก่อสร้าง และก็มีการประดิษฐานพระพุทธรูปอยู่โดยรอบด้านใน

เรื่องราว พระบรมธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง (พระธาตุจอมผา)

คือ พระเจดีย์ที่ประกอบไปด้วยเครื่องสักกาะระสูงสุดเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ อรหันตธาตุ ตั้งอยู่บนจอมผาจอมป่า แห่งวัดป่าภูผาสูง และผู้ร่วมสร้างทุกท่าน ต้องทำจิตให้บริสุทธิ์ด้วยจอมศีลคือ ศีล 8 ศีล 10 และ ศีล 227 จึงจะสามารถร่วมสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ให้สำเร็จได้

หลักใหญ่ เพื่อเก็บรักษาพระบรมธาตุและพระธาตุของพระอรหันต์ให้มั่นคงปลอดภัยจาก ธรรมชาติ จากคนให้ดีที่สุดนับพันปี โดยวิธี “ธาตุนิธาน” คือสร้างเรือนบรรจุพระธาตุฝัง (ซ่อน) มือคน จึงสร้างช่องบรรจุ ลงไปในเนื้อหินผาลึกมากที่สุด แล้วหล่อแผ่น Strong Room (แผ่นมั่นคง) ปิดผนึกหลายชั้น

ผอบบรรจุพระธาตุ ชั้นนอกเป็นหินทราย ภายในเป็นผอบแก้วผลึก ทองคำ ไม้แก่นจันทร์ จนถึงองค์พระธาตุมีการจำหลัก หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายภาษา  ลงบนแผ่นทอง หินและดินเผา ลงในช่องบรรจุ ซึ่งรองด้วยพลอย เพชร แก้วผลึก ปิดและหล่อด้วยคอนกรีตชนิด non shrink เป็นชั้นๆจนอุดถึงปากช่องบรรจุ ด้านบน เป็นกรุใส่ทรายดูดความชื้น ภายในกรุใช้ไหเคลือบขี้เถ้าบรรจุพระตามวิธีโบราณ

รายนาม 58 พระอริยสงฆ์ ที่จะประดิษฐานพระอรหันตธาตุ ในพระบรมธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง

1. หลวงปู่ทวด วัดช้างให้
2. สมเด็จพุฒาจารย์โต พรหมรงสี
3. เจ้าคุณอุบาลี (จันทร์ สิริจนโท)
4. หลวงปู่เสาร์ กนตสีโล
5. หลวงปู่มั่น ภูริทตโต
6. หลวงพ่อปาน โสนนโท
7. ครูบาศรีวิชัย สิริวิชโย
8. หลวงปู่บุดดา ถาวโร
9. หลวงปู่มี ญาณมุนี
10. เจ้าคุณนรรัตนราชมานิต
11. หลวงปู่สิงห์ ขนตยาคโม
12. หลวงปู่ดูลย์ อตุโล
13. พระธรรมเจดีย์ (จูม พนธโล)
14. หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ
15. หลวงปู่ชอบ ฐานสโม
16. หลวงปู่หลุย จนทสาโร
17. หลวงปู่ขาว อนาลโย
18. หลวงปู่เทสก์ เทสรงสี
19. หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม
20. พระอาจารย์มหาปิ่น ปญญาพโล
21. หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
22. หลวงปู่พรหม จิรปุญโญ
23. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ
24. หลวงปู่หล้า ขนติธโร
25. หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ
26. ท่านพ่อลี ธมมธโร
27. หลวงปู่ตื้อ อจลธมโม
28. หลวงปู่สาม อกิญจโน
29. หลวงปู่คำดี ปภาโส
30. หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
31. หลวงตามหาบัว ญาณสมปนโน
32. หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล
33. หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท
34. หลวงปู่บัว สิริปุณโณ
35. หลวงปู่ชา สุภทโท
36. หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ
37. หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ
38. หลวงปู่สิงห์ทอง ธมมวโร
39. หลวงปู่หล้า เขตปตโต
40. หลวงปู่ฝาง ปริปุณโณ
41. หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต
42. หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ
43. หลวงปู่มหาบุญมี สิริธโร
44. ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก
45. หลวงปู่บุญจันทร์ กมโล
46. หลวงปู่ผั่น ปาเรสโก
47. หลวงปู่ทา จารุธมโม
48. หลวงปู่บุญมี โชติปาโล
49. หลวงปู่เพียร วิริโย
50. หลวงปู่บุญกอง ปภสสโร
51. หลวงปู่วัน อุตตโม
52. หลวงพ่อพุธ ฐานิโย
53. หลวงปู่ศรี มหาวีโร
54. หลวงปู่ลี กุสลโร
55. หลวงปู่ประสาร สุมโน
56. หลวงปู่คำตัน ฐิตธมโม
57. หลวงพ่อปัญญา ปญญาวฑโฒ
58. แม่ชีแก้ว เสียงล้ำ

ที่มา : www.pupasoong.com/pupasoong_pagoda

จุดชมวิวหน้าผา

จากนั้นผมก็เดินทางไปยังจุดชมวิวของหน้าผา เพื่อชมบรรยากาศภูเขาป่าไม้

ถ้ำชมวิว

วิวช่องหน้าต่างถ้ำ

วิวจากถ้ำชมวิว

นอกจากจุดถ้ำชมวิวที่มองเห็นความสวยงามของทิวทัศน์แล้ว ยังมีบริเวณสะพานทิพย์ที่ได้ทำการก่อสร้างไว้ ซึ่งเป็นจุดที่สวยงามมากจุดหนึ่งของวัดเลยหล่ะครับ ไปชมกันเลย

ภาพจุดชมวิว ณ สะพานทิพย์

สภาพผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์

สภาพผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์

การเดินทางมาครั้งนี้ ต่อบอกเลยว่าสุดคุ้มค่ากับการเดินทาง ผมใช้เวลาเดินทางจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ใช้เวลาราวๆ 3 ชั่วโมงในการเดินทาง และได้มาพบกับความสวยงาม เงียบสงบ และได้ทำกุศล ทำให้วันหยุดพักผ่อนวันนี้ แสนคุ้มค่าอย่างมาก … และวัดป่าภูผาสูงแห่งนี้ จะเป็นวัดหนึ่งที่ผมจะเดินทางมาอีกครั้งและจะหาโอกาสเดินทางมาเรื่อยๆ อย่างแน่นอน

ชมคลิปบรรยากาศความสวยงามของธรรมชาติ วิวริมผา วัดป่าภูผาสูง

https://youtu.be/-1HpW15r204

จุดจำหน่ายสื่อธรรมะ และบูชาวัตถุมงคล วัดป่าภูผาสูง

หลังจากที่ผมได้ชมบรรยากาศอันสวยงามของหน้าผา เรียบร้อยแล้ว จึงเดินมายังจุดจำหน่ายสื่อธรรมะ และเช่าวัตถุมงคล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพระมหาธาตุเจดีย์

จุดจำหน่ายสื่อธรรมะ และบูชาวัตถุมงคล

พี่ที่จุดบูชาวัตถุมงคลและจำหน่ายสื่อธรรมะ

พี่เล็ก ณ จุดบูชาวัตถุมงคล ได้แนะนำวัตถุมงคลต่างๆ และเล่าเรื่องราวน่ารู้ของวัดป่าภูผาสูงให้ฟังมากมาย ขอบคุณมากครับ

จุดนี้จะมีสื่อธรรมะและวัตถุมงคลให้บูชา เพื่อใช้เป็นทุนในการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ศรีภูผาสูง (พระธาตุจอมผา) ซึ่งท่านสามารถร่วมกุศลโดยทำบุญบูชาได้ ณ จุดนี้

พระกริ่งรุ่นแรก บูชา 2,500 บาท

สื่อธรรมะต่างๆ

ผ้ายันต์ป้องกันภัย ตามแบบหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล

วัตถุมงคลรุ่น Buddha Road รุ่นที่ 1 สร้างปี พ.ศ. 2554

วัตถุมงคลรุ่น Buddha Road รุ่นที่ 2

ชมคลิปวัตถุมงคล ที่ให้บูชา ณ วัดป่าภูผาสูง

https://youtu.be/AE0bYNWgbUA

แต่ละจุดของวัด เราจะเห็นทั้งฆราวาสและพระสงฆ์ สามเณร ช่วยกันลงมือลงแรง ร่วมใจก่อสร้าง โดยทั่วไป… จากการสอบถามพี่ที่ช่วยงานก่อสร้าง ทราบว่า พระมหาธีรนาถ อัคคธีโร มีประสงค์ให้พระมหาธาตุเจดีย์แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2560 และจะทำพีธสมโภชในปีนั้น … และการก่อสร้าง ได้รับความร่วมมือจากลูกศิษย์และผู้มีจิตศรัทธามากมาย โดยเฉพาะช่วงวันหยุด และวันอาทิตย์ จะมีผู้เดินทางมาช่วยงานมากมาย อีกทั้งมีโรงทานคอยอำนวยความสะดวกอีกด้วย จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาเดินทางมาร่วมกุศลในครั้งนี้

ภาพการช่วยงานก่อสร้าง

พี่ที่จุดงานก่อสร้าง ได้ช่วยแนะนำสถานที่ … ขอบคุณมากครับ

หลังจากที่ผมเดินวนเวียนในวัดได้สักระยะหนึ่ง ก็เกิดฟ้าครึ้ม และฝนก็เทลงมา และใช้เวลานานซะด้วยสิครับ … โชคดีมากๆ ที่ผมเดินทางมาก่อนหน้านี้ ถ้ามาช้ากว่านี้ สัก 1 ชั่วโมง คงไม่ได้เดินชมบรรยากาศในวัดแน่นอน

ก่อนเดินทางกลับผมก็ได้ถ่ายรุปเสาอโศกมาอีกสักรูป และก็เดินทางกลับ ทั้งนี้ในบริเวณวัดยังมีสถานที่อีกมากมายที่ผมยังไม่ได้เดินทางไปชม เพราะฝนตกฟ้าครึ้มมาก จึงตั้งใจจะกลับมาที่วัดแห่งนี้แน่นอน ผมชอบบรรยากาศที่นี่มาก

เสาอโศก หน้าพระมหาธาตุเจดีย์

ประวัติ วัดป่าภูผาสูง

วัดป่าภูผาสูง เป็นสำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานสาย ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติแห่งขุนเขามีเนื้อที่ดูแลจำนวน 2,800 ไร่

สถานที่ตั้งวัดป่าภูผาสูงนี้มีชื่อตามแผนที่ทางทหารว่า “เขาช้างหลวง” แห่ง “เทือกเขาภูหลวง” แต่ชาวบ้านรู้กันในนามว่า “เขาเจ้าพ่อ” พื้นที่เป็นป่าดิบแล้ง มีความสูง 760 เมตรเหนือจากระดับน้ำทะเล เป็นป่าต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงไปยังน้ำตกวะภูแก้ว น้ำตกหินเพลิง อ่างซับประดู่ และหล่อเลี้ยงชาวบ้านในบริเวณ โดยรอบในเขตติดต่อ 4 อำเภอ คือ สูงเนิน สีคิ้ว ปากช่อง และ ปักธงชัย

ประวัติความเป็นมาของวัดป่าภูผาสูงนั้นเริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2528-2530 เมื่อพระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) ได้เริ่มสร้างวัดวะภูแก้ว โดยการส่งพระอาจารย์เจต ทีฆายุโก ซึ่งเป็นลูกศิษย์มาประจำอยู่ที่สำนักวัดวะภูแก้ว พระอาจารย์เจต์ท่านมีนิสัยชอบเที่ยวภาวนาตามป่าตามเขา จึงเดินทางขึ้นมาเที่ยวธุดงค์กรรมฐานที่บริเวณ “ภูผาสูง” เป็นอาจิณ และต่อมาท่านได้ชักชวนพระอาจารย์ใจ พระเพื่อนสหธรรมิก ขึ้นมาปฏิบัติธรรม ณ สถานที่แห่งนี้ด้วย

ปี พ.ศ. 2533-2534 พระอาจารย์ใจ ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพุธ พร้อมคณะศิษย์วัดป่าสาลวันที่ปรารถนาจะอยู่ป่าเขา จึงเดินทางขึ้นมาจำพรรษาที่บริเวณภูผาสูง นับว่าเป็นพระยุคแรก ๆ ที่เข้ามาจำพรรณา ณ เสนาสนป่าแห่งนี้

ต้นปี พ.ศ. 2535 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าใจผิดคิดว่า พระจะเข้ามาบุกรุกทำลายป่า ซึ่งในขณะนั้นกระแสของพระประจักษ์ พระบุกรุกป่าอนุรักษ์กำลังดัง จึงขึ้นมาขับไล่ พระ แม่ชี และชาวบ้านออกจากป่า พระและแม่ชีได้เดินทางออกจากป่า แต่ชาวบ้านไม่มีที่ไปจึงอดทนอยู่ต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิ์ที่ควรจะได้ครอบครองที่ดิน เพราะเข้ามาอยู่ก่อนประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติปี พ.ศ. 2525

หลังจากพระและแม่ชีย้ายออกไปแล้ว แต่ก็มีพระแวะเวียนเข้ามาจำพรรษาบ้าง แต่เป็นแบบชั่วคราว ไม่ได้ถาวรอะไร จึงเสมือนว่าป่าภูผาสูงนี้ไม่มีเจ้าของคอยหวงแหน การตัดไม้ทำลายป่าจึงเป็นไปอย่างสนุกสนาน พระบางกลุ่มถึงกับขอร้องคนที่ตัดต้นไม้ ไม่ให้ตัดต้นไม้ ณ บริเวณภูผาสูงนี้ แต่ก็ไม่ได้ผลทำให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วเป็นจำนวนมาก

ปี พ.ศ.2537 พระมหาธีรนาถ อคฺคธีโร ซึ่งเป็นสัทธิวิหาริกของหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านได้เดินทางมาพักที่วัดวะภูแก้ว ปรารถนาแสวงหาที่สงบสงัดทำสมาธิภาวนาตามสมณวิสัย หลังจากนั้นท่านเดินธุดงค์จากวัดวะภูแก้วขึ้นมาบริเวณภูผาสูง และเกิดความพอใจในสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างยิ่ง

หลังจากท่านเดินออกสำรวจเที่ยวชมป่ารอบ ๆ บริเวณภูผาสูงนี้ ท่านพบว่าป่าไม้ถูกตัดโค่นเป็นจำนวนมาก พวกสัตว์ป่าก็เดือดร้อนเนื่องจากต้องย้ายถิ่นฐานเพราะไม่มีป่าไม้ให้อยู่อาศัย มิหนำซ้ำยังโดนล่าโดยมนุษย์ผู้แล้งน้ำใจซ้ำอีก ในปีนั้นท่านจึงตัดสินใจอยู่จำพรรษาที่บริเวณเสนาสนะป่าภูผาสูงเพียงลำพัง

เมื่อท่านพระมหาธีรนาถ อคฺคธีโรได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าภูผาสูง จึงนำความนี้ไปกราบเรียนพระอาจารย์คือหลวงพ่อพุธ ฐานิโย ท่านจึงกล่าวสั่งสอนว่า “ท่านมหา… ท่านต้องสำรวมระวังตัวท่านให้ดี ที่เขาสูงแห่งนี้เป็นสถานที่สำคัญ ท่านจงอยู่ปฏิบัติธรรมที่นั่น ที่นั่นเหมาะสมสำหรับท่าน ถ้าเขาไม่มาตีนถีบตกหน้าผาก็อย่าหนี ขอท่านจงจำคำพูดของผมไว้ให้จงดี” ท่านพระมหาธีรนาถ จึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่าภูผาสูง และเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าภูผาสูงตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ที่มา : www.pupasoong.com/background
บทสรุป … สถานที่แห่งนี้ สงบเงียบ ธรรมชาติสวยงาม เป็นอีกแห่งหนึ่งที่เหมาะแก่การเดินทางมาทำบุญและปฏิบัติธรรม … ถ้าได้มากันแล้ว ผมมั่นใจว่า หลายๆท่านต้องมีความสุขเหมือนกับผมแน่นอน …

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

Exit mobile version