Faiththaistory.com

เที่ยวเจดีย์ภูเขาทอง ทำบุญวัดภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา


https://youtu.be/aUgjsrnGMtE


https://youtu.be/lOWl0tpxRkw

เที่ยวเจดีย์ภูเขาทอง ทำบุญวัดภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา

วัดภูเขาทองเป็นวัดนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ถ้าจะกล่าวถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวทำบุญตามวัดต่างๆ รวมถึงผู้รักการถ่ายภาพ จะต้องยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า จะเดินทางมาที่พระนครศรีอยุธยาเป็นที่แรกๆ เพราะด้วยเคยเป็นกรุงเก่ามาแต่โบราณ จึงเป็นเหตุให้มีวัดวาอารามจำนวนมากมาย ทั้งที่ยังมีพระจำพรรษา หรือเป็นวัดร้าง วัดสาบสูญก็มีอยู่มากมาย ผมยังจินตนาการคิดอยู่เลยว่า ชาตินี้ทั้งชาติจะท่องเที่ยววัดในพระนครศรีอยุธยาหมดหรือเปล่าก็ยังไม่แน่ใจ

ถ้าถามว่าวัดเยอะแค่ไหน ลองดูแผนที่ตามลิ้งค์นี้เลยครับ บอกเลยว่าเพียบ ===> แผนที่พระนครศรีอยุธยา

ทีนี้เข้าเรื่องการเดินทางมาท่องเที่ยววัดอีกครั้งของผม และครั้งนี้ผมได้เดินทางมาที่วัดภูเขาทอง เป็นวัดที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ คือมองเห็นเจดีย์ภูเขาทองมาแต่ไกล ท่ามกลางทุ่งนาในปัจจุบันนี้ มองเห็นโดดเด่นมากครับ ถ้ามาถึงบริเวณนี้ จะต้องแวะกันเลย

สำหรับเส้นทางการเดินทางมาที่วัดภูเขาทอง ให้ดูตามแผนที่ ในลิ้งค์ที่ผมได้แนะนำไว้ตอนต้นเลยนะครับ

วัดภูเขาทองจะตั้งอยู่กลางทุ่งนามองเห็นมาแต่ไกล นอกเกาะเมืองไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ถือว่าเป็นวัดที่สำคัญในทางประวัติศาสตร์วัดหนึ่ง ผมได้เดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวก็มองเห็นเจดีย์มาแต่ไกลจริงๆครับ พอถึงบริเวณทางเข้าวัด จะมีป้ายขนาดใหญ่ และสร้างถนนทางเข้าไว้อย่างดี

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ก่อนที่จะเข้าไปถึงเจดีย์วัดภุเขาทอง เราจะถึงพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สร้างไว้ได้สวยงามสง่ามากครับ

ลายปูนปั้นที่โบสถ์เก่า วัดภูเขาทอง

เรื่องราวประวัติศาสตร์วัดภูเขาทอง

เท่าที่ผมได้ค้นหาข้อมูลทั้งจากหนังสือและเว็บไซต์ต่างๆ จะมีเรื่องราวของวัดภูเขาทองมาจาก 2 หลักฐาน ซึ่งมีข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ก็เลยจะขอเขียนไว้ทั้ง 2 หลักฐานเลยนะครับ

1. หลักฐานในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” กล่าวว่า วัดภูเขาทองสร้างในสมัยสมเด็จพระราเมศวร แต่เดิมนั้นไม่ปรากฏชื่อว่าวัดอะไร ต่อมาในปี พ.ศ. 2112 ในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราช ได้เกิดสงครามโดยพระเจ้าบุเรงนองของพม่าได้เข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้สำเร็จ จึงให้สร้างพระเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และให้ชื่อว่าเจดีย์ภูเขาทอง เป็นเหตุให้วัดแห่งนี้มีนามว่า วัดภูเขาทองนับแต่นั้นมา

2. เอกสารของหมอแกมป์เฟอร์ ได้กล่าวว่า เจดีย์แห่งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช สอดคล้องกับ ศ.ดร. สันติ  เล็กสุขุม ที่กล่าวสันนิษฐานเช่นเดียวกัน เนื่องจากเหตุผลที่ว่า รูปแบบเจดีย์ออกแบบในส่วนฐานเป็นศิลปกรรมแบบมอญ ส่วนยอดพระเจดีย์เป็นศิลปกรรมแบบไทย จึงสันนิษฐานกันว่า รูปแบบดังกล่าว น่าจะเป็นสัญลักษณ์การมีชัยชนะเหนือพม่ามากกว่า

เจดีย์ภูเขาทอง วัดภูเขาทอง

เจดีย์ภูเขาทองเอียง

หลังจากสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กันแล้วก็จะตรงเข้ามาเพื่อไปยังวัดภูเขาทองกันต่อ สิ่งที่ผิดปกติอีกอย่างคือ ถ้สังเกตุกันดีๆ จะมองเห็นพระเจดีย์ภูเขาทองเอียงไปอีกด้านหนึ่ง ตามการสันิษฐานและหลักฐานทางกรมศิลปากรได้บอกไว้ว่า เหตุที่ทำให้พระเจดีย์เอนเอียงไปอีกด้านเนื่องจากอาจจะมีคนร้ายลักลอบขุดเจาะใต้ฐานพระเจดีย์เพื่อหาสมบัติจนเป็นโพรง และเอียงลงประมาณ 2 เมตร กรมศิลปากรจึงได้ทำการบูรณะโดยการอัดคอนกรีตเสริมเหล็กเสริมรากฐานให้มั่นคงขึ้น

เจดีย์ภูเขาทอง

หลังจากมาถึงบริเวณวัดกันแล้ว ผมก็หาที่จอดรถ ซึ่งก็หาได้ไม่ยากครับ และก็ไปเที่ยวชมความสวยงามอลังการงานสร้างของพระเจดีย์ภูเขาทองกันเลย ที่เจดีย์ภูเขาทองมีบันทึกไว้ว่า เมื่อปี พ.ศ. 2499 ได้รับการปฏิสังขรณ์ และนำทองคำหนัก 2,500 กรัม มาทำเป็นลูกแก้วบนยอดเจดีย์ แต่ลูแก้วได้ถูกคนร้ายขโมยไปเมื่อปี พ.ศ. 2505

มุมบนของพระเจดีย์ภูเขาทอง

เมื่อถ่ายรูปจากมุมบน เราก็จะมองเห็นพระอุโบสถ เจดีย์รายโบราณ และท้องทุ่งนาโดยรอบ

ภาพร่องรอยการขีดเขียนจากนักท่องเที่ยวบนเจดีย์

สิ่งหนึ่งที่ผมได้เดินขึ้นมาบนเจดีย์แล้วเห็นก็คือ ร่องรอยการขึดเขียนบันทึกจารึก เต็มพระเจดีย์เลยครับ ผมก็ไม่แน่ใจว่า ความคิดเขาคิดอะไรกันอยู่ และสิ่งที่ทำไป มันเป็นสิ่งที่ดีหรือเปล่า ยังไงก็ช่วยกันพิจารณาด้วยนะครับ รักษาสิ่งที่มีคุณค่ากันไว้นานๆ เราต้องทำกันอย่างไร มองเห็นแบบนี้แล้วก็ยอมรับว่าเซ็งพอสมควร

แต่ปัจจุบันนี้ ผมได้ลองขึ้นไปดูอีกครั้ง พบว่ามีการลบรอยและทาสีใหม่แล้วนะครับ… กลับมาสวยงามเหมือนเดิมแล้ว… ช่วยกันรักษาและอนุรักษ์กันนะครับ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถอีกด้านหนึ่ง

พระอุโบสถของวัดได้สร้างขึ้นมาใหม่บนรากฐานเดิม ถือว่าเป็นการบูรณะที่ยังคงสภาพของโบราณสถานได้ดีมากๆเลยครับ ไลค์

ภายในพระอุโบสถ

พระพุทธบาทจำลองในพระอุโบสถ

วิหารพระสังกัจจายน์

บริเวณด้านข้างพระอุโบสถ จะเป็นวิหารพระสังกัจจายน์ ซึ่งเลหือเพียงผนังส่วนหลังคาได้ทรุดโทรมพังทลายไปหมดแล้ว

เจดีย์ราย

บริเวณด้านหลังวิหารพระสังกัจจายน์ จะเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์รายโบราณ ซึ่งทางวัดก็ยังอนุรักษ์ไว้ได้เป็นอย่างดี

ศาลารอยพญานาค

อีกสิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องแปลกน่าฉงน และต้องใช้วิจารณญาณกันด้วยนะครับ เพราะบนศาลาไม้หลังนี้ ปรากฏพบว่ามีรอยประหลาดเกิดขึ้น และชาวบ้านสันนิษฐานกันว่าเป็นรอยของพญานาค ที่ได้ทิ้งไว้ และผมก็ขอขึ้นไปชมและเก็บภาพ บันทึกวีดีโอมาบางส่วน  ยังไงก็ใช้วิจารณญาณกันนะครับว่าจะเชื่อหรือไม่ ผมเพียงแต่พาไปดูเท่านั้นนะครับ

รอยพญานาค

ทางวัดได้ใช้กระจกใสครอบรอยไว้เพื่อไม่ให้ลบเลือน และให้นักท่องเที่ยวได้มาชมกัน ผมมองดูก็สามารถจินตนาการออกครับ

สำหรับการเดินทางมาครั้งนี้ ก็ถือว่าได้ชมพื้นที่วัดภูเขาทองจนครบ เรามาสรุปสถานที่สำคัญของวัดภูเขาทองกันอีกครั้ง ดังนี้

1. เจดีย์ภูเขาทอง

2. พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

3. พระอุโบสถ ซึ่งสร้างบนรากฐานโบราณเดิม

4. วิหารพระสังกัจจายน์

5. เจดีย์ราย

6. รอยพญานาค ตามความเชื่อ

ปัจจุบัน วัดภูเขาได้ รับการบูรณะให้สวยงามมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ และจุดอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่นห้องน้ำ ก้ได้จัดสรร ไว้เป็นอย่างดี เป็นอีกวัดหนึ่งครับ ที่ขอแนะนำให้มาท่องเที่ยวและทำบุญกัน แม้จะอยู่นอกเกาะเมือง ก็ไม่ได้ไกลกันมาก ถ้ามาเที่ยววัดหน้าพระเมรุ ก็ไม่ไกลกันแล้ว เชิญมาเที่ยวกันเยอะๆครับ

– จบบันทึกท่องเที่ยววัดภูเขาทอง –

คลิปรอยพญานาค ที่วัดภูเขาทอง พระนครศรีอยุธยา

Exit mobile version