วัดพระนอน พระนอนเก่าแก่สมัยอยุธยา อายุกว่า 600 ปี

By | January 26, 2015

บทความนี้ผมจะพาเดินทางไปชมวัดร้างอีกแห่งหนึ่ง ที่แต่เดิมนั้น ยังไม่ได้รับการบูรณะจากกรมศิลปากร เพิ่งจะได้รับการปรับแต่งพื้นที่ได้ไม่นานนี้เองครับ นั่นก็คือวัดพระนอน หรือ บางคนเรียกว่า วัดโคกพระนอน การที่เรียกว่าวัดพระนอนนั้น จะมีจุดเด่นสำคัญอย่างหนึ่งคือ จะมีพระนอนขนาดใหญ่ประดิษฐานอยู่ แต่ก็ชำรุดทรุดโทรมไปอย่างมาก จะมองเห็นได้เพียงรูปทรงว่าเป็นพระนอนขนาดใหญ่ โดยทางกรมศิลปากรได้นำชิ้นส่วนต่างๆขององค์พระมาประกอบกันไว้ คงจะอีกสักระยะที่จะมีการบูรณะให้ดูมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น

การเดินทางจากเจดีย์วัดสามปลื้ม (เจดีย์วงเวียน) ผ่านมายังวัดใหญ่ชัยมงคล แล้วเลี้ยงซ้ายเมื่อถึงโค้งแรกให้สังเกตุซอยทางเข้าหอพัก แล้วกลับรถเข้าซอยครับ บริเวณนี้จะมีวัดร้างที่ได้รับการบูรณะไปจำนวนถึง 3 วัด ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกัน คือ วัดชุมพล วัดประโดก และวัดพระนอนที่ผมกำลังจะพาไปชมนี่แหละครับ

พื้นที่วัดพระนอน

พื้นที่วัดพระนอน

สภาพพิ้นที่วัดพระนอนปัจจุบัน (24 มกราคม 2558) ได้รับการบูรณะอย่างชัดเจน มีป้ายบอกชื่อวัด และมีการปรับพื้นที่ ทำให้มองเห็นสภาพของโบราณสถานได้ดียิ่งขึ้น

สภาพเจดีย์ที่ทรุดโทรม

สภาพเจดีย์ที่ทรุดโทรม

พื้นที่โดยรอบ

พื้นที่โดยรอบ

พื้นที่โดยรอบของวัดรพระนอน จะมีเพียงโคกอิฐของฐานเจดีย์ ที่ยังมองเห็นอยู่ในปัจจุบัน

สภาพชำรุดทรุดโทรมของพระนอน

สภาพชำรุดทรุดโทรมของพระนอน

สภาพพระนอน

สภาพพระนอน

ทีมนักเดินทางที่ไปด้วยกัน ได้เข้าไปสำรวจดูองค์พระ และบอกว่าสภาพขององค์พระมีการแตกร้าวบริเวณพระพักตร์ ทำให้เห็นรอยการบูรณะมาหลายสมัย ตั้งแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมา และถูกทิ้งร้างเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2

ประวัติจากการสันนิษฐาน

จากข้อมูลแหล่งข่าว มีรายละเอียดว่า นายเอนก สีหามาตย์ รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า วัดโคกพระนอนแห่งนี้อายุกว่า 600 ปี มีเนื้อที่ 2 ไร่ สร้างในสมัยอยุธยาช่วง พ.ศ.1901 ถึง พ.ศ. 2000 บูรณะต่อเนื่องหลายสมัยแต่ไม่พบบันทึกประวัติการสร้าง

จากการสำรวจเบื้องต้นที่เคยทำประวัติไว้ โดยภายในวัดจะมีวิหารขนาดใหญ่ คลุมองค์พระนอนองค์ใหญ่ ลักษณะปูนปั้น มีความยาวประมาณ 8 เมตร เป็นพระนอนที่มีความงดงามองค์หนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะคล้ายกับพระนอนวัดธรรมิกราช จ.พระนครศรีอยุธยา พระนอนภายในวัดพระนอนจักรศรี จ.สิงห์บุรี และนอนในวัดขุนอินทรประมูล จ.อ่างทอง และวัดโคกพระนอนแห่งนี้ จัดอยู่ในกลุ่มโบราณทางทิศตะวันออก หรือกลุ่มโบราณสถานอโยธยา ซึ่งโบราณที่สำคัญได้แก่วัดใหญ่ชัยมงคล วัดสามปลื้ม วัดอโยธยา

ทีมนักเดินทาง ถ่ายรูปเก็บไว้

ทีมนักเดินทาง ถ่ายรูปเก็บไว้

ช่วงที่ผมเดินทางมาถึงก็ใกล้จะพลบค่ำพอดี จุดนี้ก็เลยเป็นจุดสุดท้ายที่เราได้เดินทางมาสำรวจพื้นที่กัน เป็นการซึมซับบรรยากาศเก่าๆ ได้ดีมากเลยครับ เดินทางมาก็สะดวกยิ่งขึ้น และในอนาคตก็คงจะมีป้ายบอกทางและทำทางเข้าให้ง่ายต่อนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น การเดินทางวันนี้ทำให้ผมได้รู้เลยว่า อยุธยากรุงเก่าของเรายังมีอะไรอีกมากมาย ที่เรายังไม่รู้

แล้วโอกาสต่อไป ผมจะทยอยเขียนเรื่องราวการเดินทางไปยังวัดอื่นๆ อีกมากมายให้ได้ติดตามกันนะครับ ขอขอบคุณที่เข้ามาอ่านและสนใจเรื่องราวของผม

ด้านหลังองค์พระนอน

ด้านหลังองค์พระนอน

เดินทางเก็บภาพเพิ่มเติม หลังการบูรณะ

ผมได้เดินทางมาเก็บภาพเพิ่มเติมหลังการบูรณะในเดือนเมษายน พ.ศ.2561 จึงนำภาพมาให้ชมครับ

องค์พระนอน ที่ได้รับการบูรณะแล้ว

องค์พระนอน ที่ได้รับการบูรณะแล้ว

องค์พระนอน ที่ได้รับการบูรณะแล้ว

ศาลาครอบพระนอน

คลิปก่อนการบูรณะองค์พระนอน

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com