วัดนางกุย ปาฏิหาริย์หลวงพ่อยิ้ม เร้นลับแม่ตะเคียนทองอายุกว่า 400 ปี

By | September 6, 2015


https://youtu.be/SzGLQactT1M


https://youtu.be/m3OuVxdlCLQ

สวัสดีครับกับภารกิจเที่ยววัดของผม ครั้งนี้ผมจะพาเดินทางไปท่องเที่ยวและชมวัดโบราณที่มีอายุตั้งแต่สร้างมากกว่า 400 ปี และมีเรื่องราวความเร้นลับมากมาย รวมถึงปาฏิหาริย์ที่บอกเล่ากันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย และวัดแห่งนี้คือ “วัดนางกุย”

ผมออกเดินทางในช่วงบ่ายในวันหยุด เดินทางเข้าสู่ตัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเดินทางไปวัดนางกุย … การเดินทางครั้งนี้ต้องบอกตรงๆว่า ผมแทบไม่ได้เตรียมข้อมูลไว้ก่อน แต่อยู่ดีๆก็นึกอยากจะไป … ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อหลายปีที่แล้ว ผมเคยเดินทางมาที่วัดแห่งนี้แล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เดินชมและไม่ทราบเรื่องราวที่วัดแห่งนี้ … ได้แต่เพียงบูชาวัตถุมงคลแม่ตะเคียนทอง รุ่นแรกมาไว้ 1 องค์ เท่านั้น … เรื่องราวแต่เดิมนั้นผมทราบเพียงว่า จุดเด่นของที่นี่มีเพียงแม่ตะเคียนทองที่มีอายุมากกว่า 400 ปี แต่ความเป็นจริงแล้วมีเรื่องราวที่น่าสนใจรวมถึงเรื่องราวปาฏิหาริย์ที่บอกเล่ากันต่อๆกันมาหลายชั่วอายุคน

การเดินทางมาที่วัดนางกุย

ผมเดินทางจากตัวเมืองอยุธยา ไปทางอำเภอเสนา ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางวัดไชยวัฒนาราม แล้วขับไปตามเส้นทางถนนไปเรื่อยๆ จนเจอร้านสะดวกซื้อ 7-11 แล้วเลี้ยวซ้าย ทั้งนี้เราจะเห็นป้ายวัดนางกุยเป็นระยๆ จากนั้นเลี้ยวไปตามเส้นทางวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งวัดนางกุยจะห่างจากวัดพุทไธศวรรย์ราวๆ 2 กิโลเมตร

>>> แผนที่ท่องเที่ยวอยุธยา <<< ที่นี่ !!

พระอุโบสถวัดนางกุย

พระอุโบสถวัดนางกุย

เรื่องราววัดนางกุย

ผมเข้ามาถึงวัดช่วงบ่ายๆ บรรยากาศค่อนข้างเงียบมากครับ จำนวนนักท่องเที่ยวทำบุญมากันน้อย… ผมได้สอบถามกับหลวงพ่อที่วัด ท่านได้กล่าวว่า วัดแห่งนี้ตั้งไกลจากเกาะเมือง และพื้นที่โดยรอบเป็นชุมชนมุสลิม อีกทั้งขาดการประชาสัมพันธ์จึงทำให้มีคนเดินทางมาทำบุญกันน้อย โดยส่วนมากจะมาถึงวัดพุทไธศวรรย์กันแล้วก็มักจะเดินทางกลับกันเลย

หลวงพ่อที่พระอุโบสถ กรุณาเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง

หลวงพ่อที่พระอุโบสถ กรุณาเล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง

หลวงพ่อได้เล่าเรื่องราวและแนะนำสถานที่ในวัดให้ฟังมากมาย โดยเล่าว่าแต่เดิมนั้นวัดนางกุยได้ถูกสร้างขึ้นด้วยการบริจาคทุนทรัพย์ของแม่นางกุย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ. 2310 มีอายุราวๆกว่า 400 ปีมาแล้ว … อีกทั้งท่านได้เดินพาชมภายในพระอุโบสถ ซึ่งโครงหลังคาไม้นั้นมีลักษณะความเก่าแก่เดิมๆ รวมถึงประตูไม้ของพระอุโบสถด้วย ซึ่งดูแล้วสวยงามอย่างมากครับ

ภายในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถหลังนี้ จะประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณแต่เดิม และมีรูปปั้นแม่นางกุยพนมมือทางฝั่งซ้ายของพระพุทธรูปบนชุกชี เล่ากันว่ารูปปั้นนี้เป็นรูปปั้นโบราณแต่เดิมเลยหล่ะครับ

ด้านหลังพระประธาน มีพระพุทธรูปประทับยืน 2 องค์

ด้านหลังพระประธาน มีพระพุทธรูปประทับยืน 2 องค์

พระพุทธรูปประทับยืน 2 องค์ด้านหลังพระประธานนี้ เชื่อกันว่าองค์จริงเป็นเนื้อสำริดแต่ได้ทำการพอกปูนทับอีกครั้งหนึ่ง

ความงดงามของพระพุทธรูปโบราณในพระอุโบสถ

ความงดงามของพระพุทธรูปโบราณในพระอุโบสถ

ความสวยงามช่างไม้ที่โครงหลังคา

ความสวยงามช่างไม้ที่โครงหลังคา

ประตูไม้เข้าพระอุโบสถ

ประตูไม้เข้าพระอุโบสถ

พระพุทธรูปศิลาขาว ศิลปะทวารวดี

พระพุทธรูปศิลาขาว ศิลปะทวารวดี

แต่เดิมนั้นที่พระอุโบสถจะประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาขาวศิลปสมัยทวารวดี สร้างในช่วง พ.ศ.1100 – 1600 ซึ่งไม่มีใครทราบว่าพระพุทธรูปองค์นี้จะมีความเก่าแก่มาก จนกระทั่งกรมศิลปากรได้เข้ามาสำรวจพบ จึงทำการอัญเชิญเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ถ้าเราเดินทางไปก็จะพบเพียงภาพถ่ายซึ่งติดไว้ที่พระอุโบสถเท่านั้น จะเหลือเพียงพระพุทธรูปสมัยลพบุรีประดิษฐานไว้ที่หน้าพระอุโบสถ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกรมศิลปากรจะทำการอัญเชิญไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เช่นกัน แต่เกิดความชำรุดระหว่างการขนย้ายจึงไม่ได้อัญเชิญไป

พระพุทธรูปศิลปลพบุรีหน้าพระอุโบสถ

พระพุทธรูปศิลปลพบุรีหน้าพระอุโบสถ

ใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ

ใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ

ลักษณะใบเสมาที่วัดนางกุยนั้น จะเป็นแบบใบเสมาคู่ ซึ่งสัญลักษณ์นี้จะแสดงถึงว่า วัดนางกุยแต่เดิมเป็นวัดหลวงมาก่อน ใบเสมารอบพระอุโบสจะเป็นหินชนวนเก่าเดิมๆเลยนะครับ ส่วนใบเสมาคู่ด้านหน้าได้ทาสีทองทับไปหมดแล้ว

ความสวยงามของพระอุโบสถ

ความสวยงามของพระอุโบสถ

ศิลปะหน้าบันพระอุโบสถ

ศิลปะหน้าบันพระอุโบสถ

หน้าบันพระอุโบสถจะมีความสวยงามมากตามสภาพเดิมเลยครับ เป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ซึ่งเป็นการยืนยันอีกจุดหนึ่งว่าสัญลักษณ์นี้บ่งบอกถึงความเป็นวัดหลวงในอดีต

นอกจากนี้ประตูด้านหน้าของพระอุโบสถจะมีถึง 3 บาน เชื่อกันว่าประตูกลางนั้นจะเป็นทางเข้าสำหรับพระผู้ใหญ่เท่านั้น ส่วนประตูข้างทั้ง 2 จะเป็นทางเข้าสำหรับประชาชนโดยทั่วไป

ก่อนจะมาเป็นวัดนางกุยในปัจจุบัน

วัดนางกุยแต่เดิมไม่มีถนนเข้า จะต้องเดินผ่านทุ่งนาหรือไม่ก็เดินทางมาโดยเรือเท่านั้น และไม่เป็นที่รู้จักของคนโดยทั่วไปนัก จึงทำให้วัดนางกุยทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ไม่มีใครเข้ามาดูแล… จนกระทั่งมีเรื่องราวความเชื่อจากการเข้าทรงแม่นางกุย ขอให้ช่วยบูรณะวัดขึ้นมา และได้เริ่มนำหลวงพ่อยิ้มซึ่งแต่เดิมได้เก็บรักษาไว้ในกุฏิออกมาประดิษฐานในพระอุโบสถก่อนที่จะสร้างวิหารหลังใหม่ขึ้นมาแล้วอัญเชิญหลวงพ่อยิ้มไปประดิษฐาน

ภาพวัดนางกุยในอดีต

ภาพวัดนางกุยในอดีต

 

ทางไปวิหารหลวงพ่อยิ้ม

ทางไปวิหารหลวงพ่อยิ้ม

วิหารหลวงพ่อยิ้ม จะตั้งอยู่เยื้องตรงข้ามกับพระอุโบสถไปทางซ้าย แต่เดิมนั้นหลวงพ่อยิ้มประดิษฐานในพระอุโบสถ แต่ได้ทำการอัญเชิญมาประดิษฐานใหม่ที่วิหารหลังใหม่นี้

วิหารหลวงพ่อยิ้ม

วิหารหลวงพ่อยิ้ม

วิหารหลวงพ่อยิ้ม จะมีองค์จำลองประดิษฐานอยู่ด้านหน้า เราสามารถปิดทองบูชากันได้ครับ ส่วนองค์จริงจะประดิษฐานด้านในภายในตู้กระจกที่ทางวัดได้จัดไว้

เรื่องราวหลวงพ่อยิ้ม

เรื่องราวหลวงพ่อยิ้ม

ปาฎิหาริย์หลวงพ่อยิ้ม

เรื่องราวปาฎิหาริย์หลวงพ่อยิ้ม ได้ถูกบอกเล่ามาตั้งแต่รุ่นปู่ย่ามากกว่า 100 ปี โดยมีเรื่องราวเล่าว่า องค์หลวงพ่อยิ้มได้ลอยน้ำมาติดอยู่ที่หน้าวัดริมตลิ่ง ผู้คนพากันฉุดลากจึ้นฝั่งกันไม่ได้ จึงนิมนต์หลวงพ่อจากวัดพุทไธศวรรย์มาทำการอัญเชิญขึ้น และนำมาเก็บรักษาไว้ที่วัดนางกุยจนถึงปัจจุบันนี้

เรื่องราวเร้นลับนี้เป็นเรื่องเล่าปากต่อปาก ไม่มีการบันทึกเป็นหลักฐาน ผมจึงได้สอบถามหลวงพ่อที่ประจำวิหารหลวงพ่อยิ้ม ถึงเรื่องราวดังกล่าว ท่านก็ได้กรุณาเล่าให้ฟังว่า เรื่องราวความเชื่อนั้นเป็นมาแต่เดิมที่เล่าสืบต่อกันมา แต่ถ้าจะคิดตามหลักวิทยาศาสตร์นั้น ก็คงมีโอกาสเป็นไปได้ยาก ซึ่งท่านก็ได้สันนิษฐานว่า น่าจะทำการอัญเชิญหลวงพ่อยิ้มมาทางเรือหรือแพมากกว่า แล้วนำมาถวายที่วัดนางกุย ทั้งนี้ก็ขึ้นกับวิจารณญาณของแต่ละคน

หลวงพ่อยิ้ม สร้างขึ้นจากไม้สักทอง มีพุทธลักษณะที่สวยงามมาก พระพักตร์มีลักษณะยิ้มแย้มแจ่มใส ดูแต่กต่างจากพระพุทธรูปโดยทั่วไป จึงเป็นที่มาของพระนามว่า “หลวงพ่อยิ้ม”

หลวงพ่อยิ้ม

หลวงพ่อยิ้ม

หลวงพ่อประจำวิหารหลวงพ่อยิ้ม

หลวงพ่อประจำวิหารหลวงพ่อยิ้ม

เรื่องเร้นลับแม่นางตะเคียนทอง วัดนางกุย

ต่อไปผมจะพาไปที่ศาลาแม่นางตะเคียนทอง ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เร้นลับมีเรื่องราวที่บอกเล่ามากมายเช่นกัน ขอให้ใช้วิจารณญาณกันด้วยนะครับ ผมจึงได้เข้าไปสอบถามเรื่องราวนี้กับผู้ที่ดูแลวิหารแม่นางตะเคียน ซึ่งก็กรุณาเล่าเรื่องราวให้ผมฟังอย่างละเอียดจึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

เรื่องราวมีอยู่ว่า เมื่อครั้งแม่นางกุยได้บริจาคทรัพย์ในการสร้างวัดแห่งนี้ขึ้น ท่านได้ทำการปลูกต้นไม้ไว้ในวัดมากมายเช่น ต้นยาง ต้นสัก ต้นจันทร์ และต้นตะเคียนที่มีเรื่องราวเร้นลับนี้

แม่ตะเคียนทอง

แม่ตะเคียนทอง

ต้นตะเคียนทองต้นนี้ ปลูกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พร้อมกับการสร้างวัดโดยแม่นางกุย จึงมีอายุกว่า 400 ปีมาแล้ว … ก่อนหน้านี้ที่ต้นตะเคียนทองยังไม่ตายมีเรื่องเล่าว่า วิญญาณแม่ตะเคียนได้มาเข้าร่างป้าสมบัติแล้วร้องไห้บอกเล่าถึงความเจ็บปวดเนื่องจากมีคนมาตอกตะปูที่ต้นตะเคียนโดยรอบเพื่อทำพิธีกรรมบางอย่าง จึงได้ขอให้ช่วยถอดตะปูอกให้ด้วย

ป้าสมบัติ ผู้เล่าเรื่องราวเร้นลับ

ป้าสมบัติ ผู้เล่าเรื่องราวเร้นลับ

ต้นตะเคียนต้นนี้ ได้ยืนต้นตาย ที่เรียกกันว่า ยืนตายพราย เนื่องจากน้ำท่วมเป็นเวลานานในปี พ.ศ.2540 …เรื่องราวความเชื่อของคนโบราณเล่าว่าการยืนตายพรายนี้ เป็นเรื่องราวความอาถรรพ์… ที่เชื่อว่าต้นตะเคียนที่มีอายุยาวนานมากกว่า 400 ปีนี้ แล้วยืนต้นตายพรายเช่นนี้จะมีความอาถรรพ์มาก ซึ่งถ้าทำอะไรที่เป็นมงคลก็จะดีเช่นกัน … จึงได้ทำการบวงสรวงทำพิธีเพื่อจะทำการแกะสลักแม่ตะเคียนจากต้นตะเคียนนี้ ซึ่งต้องทำการบงสรวงถึง 3 ครั้ง และเปลี่ยนช่างแกะสักถึง 3 คนจึงจะทำการตัดและแกะสลักแม่ตะเคียนทองขึ้นมาได้

การสร้างแกะสลักได้เริ่มในปีพ.ศ. 2542 และแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543 … นอกจากเรื่องราวความเชื่อ ก็ยังมีประสบการณ์จากผู้ที่ศรัทธามากมาย เช่นเรื่องของคุณยายพยุง ซึ่งป่วยหนัก …ลูกหลานจึงมาทำการบนบานศาลกล่าว ขอให้หายจากอาการป่วย ซึ่งก็เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่อาการป่วยของคุณยายพยุงได้หายเป็นปริดทิ้ง

ลูกหลานของคุณยายพยุงจึงได้ทำการสร้างศาลาแม่ตะเคียนทองแห่งนี้ขึ้นมาถวายวัด

การสลักแม่ตะเคียนทองนี้ ได้สลักจากต้นตะเคียนตายพรายในวัดที่มีอายุกว่า 400 ปี โดยยังตั้งบนฐานโคนต้นตะเคียนเดิมภายในศาลา … เมื่อผมได้เห็นก็รู้สึกถึงความใหญ่โตของต้นตะเคียนอย่างมาก และไม่เคยเห็นการส้รางแม่ตะเคียนในลักษณะนี้มาก่อน … ส่วนภายนอกศาลาจะมีศาลแม่ตะเคียนและต้นตะเคียนบางส่วนตั้งอยู่ข้างศาลาด้วย

ไม้ตะเคียนข้างศาลา

ไม้ตะเคียนข้างศาลา

พี่พนิดา เล่าเรื่องราวแม่ตะเคียนทอง

พี่พนิดา เล่าเรื่องราวแม่ตะเคียนทอง

นอกจากป้าสมบัติ ที่คอยเล่าเรื่องราวให้ฟังแล้ว ก็ยังมีพี่พนิดา อีกคนที่เล่าความเป็นมาให้ฟังอย่างละเอียด เมื่อผมได้ฟังเรื่องราวในวัดนางกุย ก็รู้สึกว่าวัดแห่งนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก และมีเรื่องราวความเชื่อมากมายด้วยเช่นกัน … ไม่ผิดหวังเลยครับ กับการเดินทางท่องเที่ยววัดครั้งนี้

ภาพต้นตะเคียนก่อนยืนตายพราย

ภาพต้นตะเคียนก่อนยืนตายพราย

นอกจากการแกะสลักแม่ตะเคียนทองเพื่อสักการะบูชาแล้ว ทางวัดก็ได้จัดทำวัตถุมงคลแม่ตะเคียนทองขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึกและเป็นสิริมงคล โดยทำการปั้มพิมพ์จากต้นตะเคียนทองต้นนี้

ภาพพิธีพุทธาภิเษกแม่ตะเคียนรุ่นที่ 1

ภาพพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลแม่ตะเคียนรุ่นที่ 1

ปัจจุบันวัตถุมงคลแม่ตะเคียนรุ่นที่ 1 ได้หมดจากวัดไปนานแล้วครับ เหลือแต่รุ่นที่ 2 ที่ยังมีให้บูชาเป็นที่ระลึกกันอยู่ … ส่วนผมนั้นได้บูชามาไว้ก่อนหน้านี้หลายปีแล้ว จึงรู้สึกโชคดีมาก ที่ได้เป็นเจ้าของแม่ตะเคียนทองรุ่นที่ 1 ด้วย

แม่ตะเคียนทอง รุ่นที่ 1 ที่ผมเคยบูชาไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว

แม่ตะเคียนทอง รุ่นที่ 1 ที่ผมเคยบูชาไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว

บทสรุป

เมื่อผมได้ฟังเรื่องราวในวัดนางกุย ก็รู้สึกว่าวัดแห่งนี้มีความน่าสนใจอย่างมาก มีโบราณวัตถุมากมายที่น่าสนใจ มีความงดงามที่หลงเหลือมาตั้งแต่อดีตให้เห็นกันอยู่มากมาย และมีเรื่องราวความเชื่อต่างๆที่เร้นลับน่าสนใจมากมายด้วยเช่นกัน … ไม่ผิดหวังเลยครับ กับการเดินทางท่องเที่ยววัดครั้งนี้

จึงขอเรียนเชิญนักท่อเที่ยว ลองมาเที่ยวทำบุญกันที่วัดนางกุยกันด้วยนะครับ แม้วัดจะอยู่นอกเกาะเมืองออกมา แต่ก็มีความน่าสนใจแฝงอยู่ ที่ท่านอาจจะไม่เคยรู้และเคยเห็นมาก่อน … แล้วพบกันใหม่ในภารกิจเที่ยววัดครับ…


https://youtu.be/d1MZ9OZ0irU

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com