ตามรอยวัดโคกขมิ้น วัดร้างโบราณในกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา
ตามรอยวัดโคกขมิ้น วัดร้างโบราณในกรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา
ครั้งนี้ผมได้มีโอกาสเดินทางไปสำรวจวัดโคกขมิ้น เป็นวัดร้างโบราณ ในกรุงเก่าพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปัจจุบันนั้นยังไม่ไดรับการปรับปรุงและรังวัดพื้นที่ แต่ผมคิดว่าในอนาคตจะได้รับการปรับปรุงพื้นที่และบูรณะปฏิสังขรณ์วัดโคกขมิ้นขึ้นมาแน่นอน ทั้งนี้วัดร้างในอยุธยายังมีอีกมาย ที่กำลังทำการปรับพื้นที่ และผมจะทำการบันทึกเรื่องราวการเดินทาง และหาข้อมูลเพิ่มเติมมาเขียนไว้บนบล็อกแห่งนี้ต่อไป
การเดินทางครั้งนี้ผมได้รู้จักกับพี่แอดมินของเพจ Mind GaLLerY (พี่ยุทธ) เป็นเพจที่รวมรูปภาพจากการเดินทางถ่ายรูปตามโบราณสถานไว้มากมาย จึงได้โอกาสนัดแนะกันเพื่อเดินทางไปยังสถานที่แห่งนี้ โดยผมขอเป็นลูกทัวร์ติดตาม โดยมีเพื่อนร่วมทางทั้งหมด 4 คน การเดินทางก็ได้รับความช่วยเหลือจากพี่ยุทธเป็นอย่างดี แถมขับรถให้อีกต่างหาก สุดยอดจริงๆ จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
การเดินทางได้นัดแนะเวลาเดินทาง 07.00 น. ของวันที่ 24 มกราคม 2558 เพื่อจะได้เดินทางชมโบราณสถานได้มากที่สุด เมื่อถึงเวลานัดหมายก็ตรงเวลาเป๊ะเลยครับ บรรยากาศวันเดินทางไม่ร้อนเท่าไรนักถือว่าโอเค จึงได้เดินทางไปยังวัดโคกขมิ้น กันทันที
การเดินทางเป็นการเปิดเส้นทางที่ผมไม่ค่อยจะรู้จักนัก เนื่องจากผมยังไม่ได้เดินทางทั่วอยุธยา เส้นทางที่เดินทางจะผ่านมาตามเส้นทางวัดไชยวัฒนาราม ถ้าจะไปอีก ผมคงต้องแกะเส้นทางอีกรอบ จุดจอดรถกลุ่มเราก็ได้รับความกรุณาให้จอดรถในพื้นที่ของร้ายรับทำสแตนเลสตามรูปด้านบนนี้ เจ้าของร้านมีน้ำใจจริงๆ ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ครับ
วัดโคกขมิ้น เป็นวัดร้างนอกเกาะเมือง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลสำเภาล่ม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา การเดินทางไปวัดนี้ เมื่อข้ามสะพานออกจากเกาะเมืองไปตามเส้นทางสู่สุพรรณบุรีจะมีทางแยกซ้ายมือเพื่อไปยังวัดไชยวัฒนาราม เมื่อเลี้ยวไปตามเส้นทางดังกล่าวเลยทางแยกเข้าวัดเซนต์โยเเซฟเล็กน้อย มองทางด้านขวามือจะเห็นเนินดินซึ่งมีต้นไม้น้อยใหญ่ปกคลุมเป็นกลุ่มทึบห่างจากถนนใหญ่ประมาณ 500 เมตร ซากโบราณสถานวัดโคกขมิ้นจะอยู่ในดงไม้ดังกล่าวนี้
จากนั้นจึงได้เดินทางลัดเลาะเข้ามา และจะเห็นแนวป่าเล็กๆ ซึ่งประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้เถา และมีหนาม ซึ่งต้องระวังไว้ด้วยนะครับเดี๋ยวจะได้รับบาดเจ็บ
พื้นที่ของวัดโคกขมิ้นจะอยู่ภายในป่า กลางทุ่งนา ถ้าไม่สรรหาเส้นทางกันมาชม ก็คงมายากกันหล่ะครับงานนี้
ภายในพื้นที่ป่าแห่งนี้ เป็นไม้พันธุ์เล็กๆ จะต้องคอยลัดเลาะหาทิศทางกันเอง ไม่ปรากฏรอยเส้นทางของการเดินทางเข้ามา จึงต้องหาเส้นทางไปยังวัดโคกขมิ้นสักระยะหนึ่งเลยครับ ซึ่งก็สมใจอยากของผมเลยทีเดียว ที่ได้มาตามรอยวัดในประวัติศาสตร์แห่งนี้
หลังจากเดินวนไปวนมาสักระยะ แต่พอหันหลังกลับมา ก็ได้เจอกับแท่นฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่
ตัวฐานพระจะเห็นลายกลีบบัว และลายพระบาท ส่วนตัวฐานด้านล่าง ถูกขุดเจาะทำลาย สันนิษฐานว่าจะเป็นการขุดเจาะหาสมบัติต่างๆ ของนักล่าสมบัติ
สำหรับเรื่องการขุดเจาะและลักลอบของมีค่า เป็นสิ่งที่น่าเสียดายมากครับ แต่ก็ต้องทำใจเพราะพื้นที่แห่งนี้ยังถือว่าร้างจากการบูรณะมายาวนาน ส่วนกลุ่มผมแล้ว เรื่องการเก็บสิ่งของนั้น เราจะไม่ทำแน่นอน เพราะถือว่าเป็นการลักขโมย อีกทั้งเป็นการไม่เคารพต่อสถานที่
สภาพปรงค์เจดีย์ ของวัดโคกขมิ้น ก็ทรุดโทรมไม่แพ้ฐานพระประธาน เพราะมีร่องรอยการขุดเจาะใต้ฐานและกลางพระปรางค์เจดีย์ เพื่อค้นหาสมบัติ
บนพระปรางค์เจดีย์ ยังมีร่องรอยงานศิลป์หลงเหลืออยู่บ้างนะครับ
กาลเวลายังหลงเหลือรอยงานศิลป์ให้ผมได้เก็บภาพและบันทึกไว้ เมื่อเวลาผ่านไปก็คงจะหลุดลอกกระเทาะออกตามกาลเวลา
และอีกด้านหนึ่ง เราจะพบซากเจดีย์ ที่ทรุดโทรมไปมากอีก 1 องค์
ผมและสมาชิกได้เดินวนเวียนสำรวจพื้นที่โดยใช้เวลาอีกสักระยะ ก็ได้พากันสนทนาแลกเปลี่ยนความรู้กันไป ซึ่งส่วนมากผมจะฟังมากกว่าครับ เพราะรู้น้อยที่สุด ฮ่าๆ และผมก็ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยครับ
หลังจากอยู่ในป่าแห่งนี้ได้สักระยะ ผมก็พากันเดินทางออกไป เพื่อไปยังวัดอื่นๆ ซึ่งยังมีอีกหลายวัดที่เราจะไปตามรอยครับ
พวกเราได้เดินทางวนไปวนมาสักระยะ ก็ได้เจอกับรังต่อขนาดใหญ่ และเราก็รีบเดินออกไป เพราะไม่อยากจะวิ่งป่าราบครับผม… ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่กลางทุ่งนา เป็นป่าเล็กๆ แต่ก็ทำให้หลงทิศได้เหมือนกันกว่าจะหาทางออกเดิมเจอ
ประวัติวัดโคกขมิ้น
วัดโคกขมิ้น จะมีประวัติความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐาน เนื่องด้วยไม่มีเอกสารสมัยอยุธยาหรือสมัยหลังฉบับใดกล่าวถึง สันนิษฐานว่าคงจะเป็นวัดราษฎร์ และจากลักษณะทางศิลปกรรมของซากโบราณสถานที่เหลืออยู่ ทำให้เข้าใจว่าคงจะสร้างประมาณสมัยอยุธยาตอนปลายแล้วร้างไปก่อนหรือหลังกรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชแม่พม่าใน พ.ศ. 2310 ประกอบกับกาลเวลาและการทำลายจากนักล่าสมบัติ วัดโคกขมิ้นจึงกลายสภาพเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีวัชพืชและต้นไม้ใหญ่ปกคลุมทั่วไป สิ่งที่พอจะเห็นชัดบนเนินนี้ได้แก่ ฐานเจดีย์ 1 องค์ ปรางค์เจดีย์ 1 องค์ และฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 1 ฐาน อยู่ค่อนมาทางทิศตะวันออกของพื้นที่
การเดินทางครั้งนี้ ถือว่าน่าพอใจมากเลยครับ เป็นการอนุรักษ์ไปในตัว ให้เราเกิดความรักในชาติของเรามากยิ่งขึ้น
ดังพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า
“……เรื่องโบราณสถานนั้น เป็นเกียรติของชาติ
อิฐเก่า ๆ แผ่นเดียวก็มีค่า ควรที่เราจะช่วยกันรักษาไว้
ถ้าเราขาดสุโขทัย อยุธยา และกรุงเทพฯ แล้ว
ประเทศไทยก็ไม่มีความหมาย……”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
(ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร พ.ศ. ๒๕๐๐)
แล้วพบกันในบทความต่อไปครับ ลงบันทึกวันที่ 24 มกราคม 2558