สวัสดีครับ พบกันอีกครั้งในการเดินทางท่องเที่ยววัดอย่างสร้างสรรค์กับ FaithThaistory.com สำหรับครั้งนี้ผมจะพาไปเที่ยวชมสถานที่แห่งประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับสถานที่ตั้งทัพปกป้องพระนครของพระยาตาก เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 นั่นก็คือ วัดเกาะแก้ว นั่นเอง
การเดินทางไปวัดเกาะแก้ว อยุธยา
การเดินทางสะดวกมากครับ ถ้าเดินทางมาจากวัดใหญ่ชัยมงคล ให้ขับรถตรงไปข้ามทางรถไฟแล้วเลี้ยวขวาตามถนนขนาดรางรถไฟเลยครับ ขับไปอีกไม่เกิน 2 กิโลเมตร จะเห็นป้ายวัดเกาะแก้วขนาดใหญ่แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปเลยครับ จะเห็นซุ้มประตูวัดชัดเจน
ภายในวัดผมมองหาโบราณสถาน แต่ก็หาไม่เจอ ซึ่งตามข้อมูลได้กล่าวไว้ว่า โบราณสถานของวัดเช่นพระอุโบสถหลังเดิมได้ถูกแม่น้ำป่าสักกัดเซาะจมหายทลายไปหมดแล้ว จึงทำให้พื้นที่วัด จึงมีแต่สิ่งปลูกสร้างในยุคปัจจุบัน
จุดแรกที่ผมเดินเข้าไปคือศาลาเทพทรงไทย จะประดิษฐานพระพิฆเนศ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าวมหาพรหม เป็นต้น และก็เดินไปต่อที่พระอุโบสถหลังใหม่
ด้านหน้าพระอุโบสถ จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางรำพึง … เกี่ยวกับพระพุทธรูปปางรำพึง เกิดจากเรื่องราว เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ธรรม พระองค์ได้ทรงพิจารณาว่าธรรมะของพระองค์นั้น เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก โดยมีเรื่องราวคร่าวๆดังนี้
ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไทร พระองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้นั้นมีความละเอียดและลึกซึ้งมาก เป็นสิ่งที่เหล่าปุถุชนคนธรรมดาผู้มากไปด้วยกิเลสยากจะเข้าใจได้เมื่อได้ฟัง ธรรม แล้วจะมีใครสักคนที่จะเข้าใจธรรมของพระพุทธองค์ไม่ หากสอนไปแล้วเกิดไม่เข้าใจก็เปล่าประโยชน์ พระทัยหนึ่งจึงเกิดความมักน้อยว่าจะไม่แสดงธรรมเพื่อโปรดใครเลย ด้วยพระพุทธดำริได้ทราบไปถึงท้าวสหัมบดีพรหมในพรหมโลก ท้าวสหัมบดีพรหมจึงตกพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับทรงเปล่งวาจาอันดังถึงสามครั้งว่า “โลกจะฉิบหายในครั้งนี้” ท้าวสหัมบดีพรหมพร้อมเทพบริษัทก็ได้ลงจากพรหมโลกมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและ ทูลอาราธนาให้ทรงแสดงธรรมโปรดชาวโลก โดยอธิบายว่า ในโลกนี้ยังมีสัตว์ในโลกทั้งหลายนี้ ที่มีกิเลสเบาบางพอที่จะฟังธรรมของพระองค์ได้นั้นยังมีอยู่ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงพระสัทธรรมเทศนาโปรดชาวโลกในครั้งนี้เทอญ พระพุทธองค์ทรงกล่าวตอบท้าวสหัมบดี “เราตถาคตจะได้เปิดประตูอมตธรรมต้อนรับชนผู้ใคร่สดับซึ่งเราชำนาญดีในหมู่ มนุษย์” หลังจากพระพุทธองค์ทรงได้พิจรณาเห็นความแตกต่างของระดับสติปัญญาของบุคคลใน โลกนี้เปรียบเสมือนบัวสี่เหล่า ดังนี้
- อุคฆฏิตัญญู คือ พวกที่สติปัญญาดี เมื่อฟังธรรมก็สามารถเข้าใจได้รวดเร็ว เสมือนดอกบัวที่อยู่พ้นน้ำ เมื่อต้องแสงอาทิตย์ก็เบ่งบานทันที
- วิปจิตัญญู คือ พวกที่มีสติปัญญาปานกลาง เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตาม ฝึกฝนเพิ่มเติมจะเข้าใจได้ในเวลาอันไม่ช้า เสมือนดอกบัวที่ปริ่มน้ำซึ่งจะบานในวันถัดไป
- เนยยะ คือ พวกที่สติปัญญาน้อย เมื่อฟังธรรมแล้วพิจารณาตามและฝึกฝนอยู่เสมอ มีความขยันหมั่นเพียรไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะสามารถเข้าใจได้ เสมือนดอกบัวใต้น้ำซึ่งจะโผล่ขึ้นเบ่งบานในวันหนึ่ง
- ปทปรมะ คือ พวกไร้สติปัญญา แม้ได้ฟังธรรม ก็ไม่อาจเข้าใจ เปรียบเสมือนบัวที่จมอยู่กับโคลนตม ไม่มีโอกาสเบ่งบาน
เมื่อพระพุทธองค์ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณก็ทรงอธิษฐานว่า จะแสดงธรรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ และตั้งพุทธปณิธานที่จะดำรงพระชนม์อยู่ จนกว่าจะได้อยู่ประกาศพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสำเร็จประโยชน์แก่ชนทุกหมู่เหล่า
ข้อมูลจาก https://th.wikipedia.org
ภายในพระอุโบสถจะประดิษฐานพระพุทธรูป 2 องค์ และมีพระแก้วมรกตองค์จำลอง 3 องค์ ทรงเครื่องครบทั้ง 3 ฤดู
ผมได้กราบนมัสการพระพุทธรูปในพระอุโบสถเรียบร้อยแล้ว จึงเดินออกมาชมบรรยากาศภายนอก ซึ่งมีบรรยากาศที่ร่มรื่น แม้ว่าอากาศจะร้อน แต่พื้นที่วัดติดกับแม่น้ำป่าสัก อีกทั้งพื้นที่วัดมีการปลูกต้นไม้ร่มรื่น ทำให้ไม่ร้อนอย่างที่คิด
ภายในวัดจะเห็นกุฏิสงฆ์แบบก่อสร้างขึ้นแบบง่ายๆ ดูสมถะดีมากเลยครับ
ที่ใต้ต้นโพธิ์ จะประดิษฐานพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดโดยรอบ ดูสวยงาม ลงตัวกับธรรมชาติมากเลยครับ
ณ จุดศาลาธรรมด้านหน้า จะเป็นสถานที่ทำบุญบริจาคทาน และสังฆทาน สำหรับท่านที่มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบริจาคปัจจัยทำบุญได้ ณ บริเวณนี้ และสามารถจุดธูปเทียนบูชาพระได้
ผมได้เดินเข้าไปยังพื้นที่ของพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นพื้นที่ ที่มีความร่มรื่นสวยงามมาก อากาศก็ไม่ร้อน ทางวัดได้จัดการพื้นที่ได้ดีมาก ดูสะอาดตาไปหมดเลยครับ
ผมเดินชมพื้นที่อันร่มรื่น ด้านหน้าพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนานพอสมควร เพราะชอบบรยากาศแบบนี้มากๆ อากาศไม่ร้อน มองดูผู้คนเดินทางมาเที่ยวและทำบุญกันเป็นครอบครัว เห็นแล้วก็มีความสุขจริงๆ
จากนั้นผมก็เดินเข้าไปยังพระตำหนักเพื่อทำการสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
เครื่องสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทางวัดได้จัดไว้ให้ ซึ่งเราสามารถบริจาคทำบุญกับทางวัดได้ตามกำลังศรัทธาครับ
ผมได้นำเครื่องสักการะเข้ามากราบบูชาคุณสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และบริจาคเงินบางส่วนทำบุญ … ภายในพระตำหนักจัดสถานที่ได้สะอาดตามาก มีความเป็นระเบียบ มีสมุดภาพพิธีการต่างๆ ให้ผู้เยี่ยมชมได้ดู อีกทั้งมีหนังสือเยี่ยมจากทางวัดให้เขียนแสดงความคิดเห็นไว้ด้วย จึงน่าจะเป็นเหตุผลที่ทางวัดได้มีการปรับปรุงสถานที่ได้ดูสวยงาม สะอาดตาขนาดนี้
หลังจากที่ผมได้เข้าไปสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเรียบร้อยแล้ว ผมก็เดินไปที่แพให้อาหารปลา ริมแม่น้ำป่าสัก
ภายในแพให้อาหารปลา จะมีอาหารปลาวางไว้ ซึ่งเราสามารถทำบุญบริจาคไว้ได้ ในราคาถุงละ 10 บาท จะมีแบบอาหารเม็ด และขนมอบกรอบ ระหว่างให้อาหารปลา ก็จะมีนกพิราบบินมาร่วมขออาหารด้วยนะครับ ยังไงก็แบ่งๆ พวกนกพิราบด้วยนะ
เรื่องราวประวัติของวัดเกาะแก้ว
วัดเกาะแก้ว เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสักด้านทิศตะวันออกหรือริมปากคลองข้าวสารฝั่งใต้ ตรงข้ามกับวัดรัตนชัย (วัดจีน) ในท้องที่ตำบลกะมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เนื้อที่วัดมีขนาด 11 ไร่ 27 ตารางวา ทิศเหนือติดปากคลองข้าวสารฝั่งใต้ ทิศใต้ติดกับที่ดินราษฎร ทิศตะวันออกติดกับทางรถไฟสายเหนือ ทิศตะวันตกติดแม่น้ำป่าสัก
คำว่า เกาะแก้ว มีชื่อปรากฏในพระราชพงศาวดารเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ เรียกกันหลายชื่อ เช่น คลองเกาะแก้ว มุมเกาะแก้ว ตรงบริเวณเกาะแก้วมีถนนและกำแพง เรียกว่า ถนนมุมเกาะแก้ว และเข้าใจว่าบริเวณนี้น่าจะเป็นเกาะหนึ่ง และเรียกว่า เกาะแก้ว มาจนทุกวันนี้
วัดเกาะแก้วและความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
วัดเกาะแก้ว มีความเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวคือ วัดเกาะแก้ว เคยเป็นที่ตั้งค่ายของกองทัพไทย ค่ายหนึ่งใน 9 ค่ายด้วยกัน คือ
ด้านเหนือ ตั้งค่ายที่ วัดหน้าพระเมรุ และ เพนียดคล้องช้าง
ด้านตะวันออก ตั้งค่ายที่ วัดมณฑป และ วัดเกาะแก้ว (พระยาวชิรปราการ หรือพระตาก)
ด้านใต้ ตั้งค่ายที่ บ้านสวนพลู (หลวงอภัยพิพัฒน์ ขุนนางจีน คุมพวกจีน บ้านในไก่ จำนวน 2,000 คน) วัดพุทธไธสวรรย์ (พวกคริสตัง)
ด้านตะวันตก ตั้งค่ายที่ วัดไชยวัฒนาราม (กรมอาสาหกเหล่า)
วัดเกาะแก้วมีความเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในปี พ.ศ. 2309 กล่าวคือ พม่าได้ยกกองกำลังเข้ามาทางด้านตะวันออก ของพระนคร มาทาง ค่ายวัดพิชัย (วัดพิชัยสงคราม ตำบลกระมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พระเจ้าเอกทัศน์ จึงสั่งให้ พระยาเพ็ชรบุรี และ พระยาวชิรปราการ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) คุมกำลังทางเรือคนละกองออกไปตั้งที่ วัดเกาะแก้ว (วัดเกาะแก้ว ตำบลกระมัง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) คอยตีสกัดกองทัพพม่าที่จะยกมาทางท้องทุ่ง
ครั้นเห็นพม่ายกมา พระยาเพชรบุรี เตรียมสู้ในทันที แต่ พระยาวชิรปราการ (ตำแหน่งของพระยาตากในตอนนั้นปกครองเมืองกำแพงเพชร) ได้ทัดทานเอาไว้ เพราะเห็นว่าข้าศึกมีกำลังมากกว่าหลายเท่านัก แต่ พระยาเพชรบุรี ดื้อดึงไม่ยอมฟังเสียงทัดทาน สั่งทหารออกยิงต่อสู้กับพม่าข้าศึกที่ริม วัดสังฆาวาส สู้รบประเดี๋ยวเดียว กองเรือของ พระยาเพชรบุรี ก็ถูกกองเรือของพม่าที่ซุ่มอยู่โจมตีอย่างหนัก ถึงแม้จะฆ่าข้าศึกได้จำนวนมาก ถึงที่สุดแล้วทัพของ พระยาวชิรปราการ ก็ไม่อาจช่วยทัพของ พระยาเพ็ชรบุรี ไว้ได้ เนื่องจากขณะนั้นขาดเรือใหญ่ มีแต่เรือเล็กขนาดขนคนได้ลำละ 5-6 คนเท่านั้น จึงเป็นเหตุให้ พระยาเพ็ชรบุรี เสียชีวิตกลางสนามรบ กองกำลังฝ่ายไทยสู้สุดแรงต้าน เมื่อไม่เห็นหนทางชนะ พระยาวชิรปราการ จำต้องถอยกลับมาตั้งหลักที่ วัดพิชัย และไม่ได้กลับเข้าพระนครอีกเลย
เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อครั้งเสียกรุง จนถึงการกอบกู้เอกราช
ในปี พ.ศ. 2307 พม่ายกกองทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ของไทย โดยมีมังมหานรธาเป็นแม่ทัพ ปรากฏว่าพม่าตีเมืองทางใต้ได้อย่างง่ายดาย จึงตีเรื่อยตลอดหัวเมืองทางใต้จนถึงเมืองเพชรบุรี ทางกรุงศรีอยุธยาได้ส่งกองทัพไทยซึ่งมีพระยาโกษาธิบดีกับพระยาตากไปรักษาเมืองเพชรบุรีไว้ จนตีพม่าแตกถอยไปทางด่านสิงขร ต่อมาปี พ.ศ. 2308 พม่ายกกองทัพมาตีไทยอีก พระยาตากได้มาช่วยรักษาพระนครไว้ได้ จึงได้บำเหน็จความดีความชอบในสงคราม จึงโปรดให้เลื่อนเป็นพระยาวชิรปราการเจ้าเมืองกำแพงเพชร แต่ยังไม่ทันได้ปกครองเมืองกำแพงเพชรก็เกิดศึกกับพม่าครั้งสำคัญขึ้น จึงถูกเรียกตัวให้เข้ารับราชการในกรุง เพื่อป้องกันพระนครจนถึงปี พ.ศ. 2309 ขณะที่ไทยกับพม่ากำลังรบกันอย่างดุเดือด พระยาวชิรปราการเกิดท้อแท้ใจหลายประการคือ
1. พระยาวชิรปราการ คุมทหารออกไปรบนอกเมืองจนได้ชัยชนะยึดค่ายพม่าได้ แต่ทางผู้รักษาพระนครไม่ส่งกำลังไปหนุน ทำให้พม่าสามารถยึดค่ายกลับคืนได้
2. ขณะที่ยกทัพเรือออกรบร่วมกับพระยาเพชรบุรีนั้น พระยาวชิรปราการเห็นว่าพม่ามีกำลังมากกว่า จึงห้ามมิให้พระยาเพชรบุรีออกรบ แต่พระยาเพชรบุรีไม่เชื่อฟัง ขืนออกรบและพ่ายแพ้แกพม่าจนตัวตายในที่รบ พระยาวชิรปราการถูกกล่าวหาว่าทอดทิ้งให้พระยาเพชรบุรีเป็นอันตราย
3. ก่อนเสียกรุง 3 เดือน พม่ายกทัพเข้าปล้นพระนครทางด้านที่พระยาวชิรปราการรักษาอยู่ เมื่อเห็นจวนตัวพระยาวชิรปราการ จึงยิงปืนใหญ่ขัดขวางโดยมิได้ขออนุญาตจากศาลาลูกขุน จึงถูกฟ้องชำระโทษให้ภาคทัณฑ์
ด้วยสาเหตุดังกล่าว พระยาวชิรปราการเห็นว่า ขืนอยู่ช่วยป้องกันพระนครต่อไปก็ไม่มีประโยชน์อันใด และเชื่อว่ากรุงศรีอยุธยาต้องเสียแก่พม่าในครั้งนี้เป็นแน่ ด้วยผู้นำอ่อนแอและไม่นำพาต่อราชการบ้านเมือง จึงรวบรวมสมัครพรรคพวกได้ประมาณ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมออกจากค่ายพิชัย มุ่งออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ จึงนับว่าเป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาแล้วบ้านเมืองเกิดแตกแยก หัวเมืองต่างๆตั้งตัวเป็นใหญ่ ต่างคนต่างรวมสมัครพรรคพวกตั้งเป็นก๊กต่างๆ ได้แก่ก๊กสุกี้พระนายกอง ก๊กพระยาพิษณุโลก ก๊กเจ้าพระฝางก๊กเจ้าพระยานครศรีธรรมราช และก๊กเจ้าพิมาย
พระยาวชิรปราการได้จัดเตรียมกองทัพ สะสมเสบียงอาหารศาสตราวุธและกองทัพเรืออยู่เป็นเวลา 3 เดือนก็ยกกองทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเจ้าพระยา ตีเมืองธนบุรีแตก จับนายทองอินประหารแล้วเลยไปตีค่ายโพธิ์สามต้นจนแตกยับเยิน สุกี้พระนายกองตายในที่รบ ขับไล่พม่าออกไปพ้นแผ่นดินไทยสำเร็จในปี พ.ศ. 2310 ซึ่งใช้เวลากู้อิสรภาพกลับคืนจากพม่าภายในเวลา 7 เดือนเท่านั้น จากนั้น พระยาวชิรปราการจึงยกทัพกลับมากรุงธนบุรีและปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาที่ 4” แต่ประชาชนนิยมเรียกพระนามว่า “พระเจ้าตากสิน” เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2311 และสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีด้วยและต่อจากนั้นพระเจ้าตากสินก็ยกกองทัพไปปราบปรามก๊กต่างๆจนราบคาบ ทรงใช้เวลารวบรวมอาณาเขตอยู่ 3 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2311 – พ.ศ. 2313 จึงได้อาณาเขตกลับคืนมา รวมเป็นพระราชอาณาจักรเดียวกันดังเดิม สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2325 สิริพระชนมายุได้ 48 พรรษา ทรงครองราชย์เป็นเวลา 15 ปี พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระปรีชาสามารถ กอบกู้ประเทศชาติให้เป็นเอกราชอิสรภาพตราบเท่าทุกวันนี้ ประชาราษฎร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงยกย่องถวายพระเกียรติพระองค์ท่านว่า “มหาราช” คณะรัฐบาล ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนทุกหมู่เหล่า ได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์เพื่อน้อมรำลึกในพระเกียรติประวัติ เกียรติยศ เกียรติคุณ ให้ปรากฏกับอนุชนตราบเท่าทุกวันนี้
แหล่งข้อมูลจาก
www.thailandtemples.org
http://irrigation.rid.go.th