สวัสดีครับ กลับมาพบกันอีกครั้งในบรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยวในภารกิจเที่ยววัดของผม สำหรับวันหยุดประจำสัปดาห์นี้ ผมได้เดินทางไปยังวัดกลาง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อไปชมและสักการะพระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ซึ่งเป็นปางที่หาชมได้ยากมาก ซึ่งประดิษฐานในมณฑปที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ ประติมากรรมปางนี้ พบเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย และวัดกลางก็เป็นวัดหนึ่งที่มีประติมากรรมนี้
เส้นทางที่ผมใช้ในการเดินทาง ผมเดินทางมาจาก อ.ภาชี ไปยัง อ.นครหลวง เมื่อเข้าสู่ อ.นครหลวง เราจะพบกับปราสาทนครหลวงและวัดนครหลวง ก่อนนะครับ … บรรยากาศค่อนข้างเงียบ เส้นทางมีการสัญจรน้อย เป็นเมืองเล็กๆบนพื้นที่เกษตรกรรมที่มีอยู่โดยรอบ … วัดกลางจะตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของถนน มองเห็นได้ชัดเจนครับ
เมื่อผมเดินทางมาถึง ก็ได้พบบรรยากาศที่ค่อนข้างเงียบมากๆ มีรถจอดในวัดไม่ถึง 4 คัน แต่หาผู้คนไม่เจอ … หลังจากนั้นผมก็ได้เดินดูบรรยากาศสักพักหนึ่ง เวลาที่ผมเดินทางไปถึงโดยประมาณ 16.30 น. ซึ่งอาจจะเป็นช่วงที่เย็นมากแล้ว จึงไม่ได้เจอผู้คนมากมายนัก พื้นที่วัดโล่งกว้าง เห็นพระอุโบสถติดริมแม่น้ำป่าสัก มีศาลาการเปรียญตั้งอยู่ถัดกันมา โดยมองเห็นมณฑปอยู่ห่างออกไปทางทิศใต้
จุดเด่นของวัดกลาง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
ลักษณะโดยทั่วไปของวัดกลาง จะคล้ายๆกับวัดทั่วๆไป แต่มีจุดเด่นที่ดึงดูดผู้คนให้เดินทางมาที่นี่คือ “มณฑปวัดกลาง” ซึ่งกรมศิลปากรสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ไม่เกินรัชกาลที่ 4 นอกจากโบราณสถานมณฑปแล้ว ภายในก็จะได้พบกับภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณเรื่องราวของพระมหากัสสัปปะเถระ ที่เดินทางมากราบพระบรมศพของพระพุทธเจ้า และเราจะได้พบกับประติมากรรม ที่หลายๆคนนั้นไม่ค่อยจุคุ้นเคย หรือไม่เคยเห็นกันเลยในชีวิตนี้ นั่นก็คือ “พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง”
มณฑปวัดกลาง
ผมจะขอถอดความจากกรมศิลปากร เกี่ยวกับเรื่องราวลักษณะของมณฑปวัดกลางมาเขียนบนบล็อกนี้ ดังนี้
มณฑปวัดกลาง ลักษณะจะเป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดประมาณ 10.50 x 10.50 เมตร หลังคามณฑปเป็นทรงจอม ประกอบด้วยหลังคาที่เอียงลาดเข้าหากันทั้งสี่ด้านจนถึงคอสอง แล้วจึงมีหลังคายอดทรงกรวยเหลี่ยมคล้ายกับปิรามิด ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้อง ที่จุดยอดของหลังคาคล้ายปล้องไฉนหรือบัวคลุ่มเถาเป็นทรงกรวยแหลม มีปูนปั้นหางหงส์เป็นรูปหงอนนาค ครีบเรยงกันตามแนวสันหลังคา
มีกำแพงแก้วล้อมรอบตัวอาคารทั้งสี่ด้าน ตรงกึ่งกลางกำแพงแต่ละด้านมีช่องประตูด้านละ 1 ช่อง บริเวณทางเข้ามณฑปด้านทิศเหนือ พบแนวฉนวนทางเดินในแนวทิศเหนือ-ใต้ ทอดตัวยาวไปจรดริมแม่น้ำป่าสักทางด้านทิศเหนือ
สำหรับตัวมณฑปมีช่องประตูทางเข้าด้านละ 1 ช่อง ซุ้มประตูทางเข้าเป็นวงโค้งสันนิษฐานว่าเลียนแบบมาจากศิลปะแบบตะวันตก
ในตัวมณฑปมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสื่อถึงเรื่องราวของพระมหากัสสปะเถระในครั้งที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพของพระพุทธเจ้าซึ่งได้ดับขันธปรินิพพานไป และมีประติมากรรม รูปโลงมีพระบาทสองข้างโผล่ออกมาทางด้านทิศเหนือ โดยมีพระมหากัสสปะเถระประคองอัญชลีอยู่ด้านพระบาท … โลงตกแต่งด้วยลายทองบนพื้นสีแดง
กรมศิลปากรได้ทำการพิจารณาในรายละเอียด ถึงรูปแบบการสร้างมณฑปนี้ว่า มีอิทธิพลมาจากงานแบบประเพณีนิยมที่ผสมผสานกับอิทธิพลทางตะวันตก โดยดูจากรูปแบบซุ้มประตูวงโค้งเป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 และปรากฏแพร่หลายอย่างชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4-5 จึงสันนิษฐานเรื่องอายุมณฑปนี้จะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ไม่เกินรัชกาลที่ 4
ประติมากรรม พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง
สิ่งที่เราไม่ค่อยจะคุ้นเคยกันนักก็คือ ประติมากรรม พระพุทธรูปปางถวายพระเพลิง ที่จะมีลักษณะของโลงที่จะเห็นเพียงพระบาททั้งสองข้างโผล่ออกมาเท่านั้น ซึ่งเป็นไปตามเรื่องราวในพุทธประวัติ
ประติมากรรมนี้เป็นการแสดงเหตุการณ์เมื่อสมัยพุทธกาล ซึ่งปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค ซึ่งมีการเก็บพระสรีระของพระพุทธองค์ไว้นาน 7 วัน เพื่อทำพิธีบูชาก่อนการถวายพระเพลิงในวันที่ 8
ปรากฏว่าเมื่อครั้งจะทำการถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธองค์ไฟไม่ยอมลุกไหม้ ซึ่งเป็นไปตามพุทธประสงค์ที่จะให้พระเถระผู้ใหญ่คือพระมหากัสสปะเถระมาในพิธีเสียก่อน
จนกระทั่งพระมหากัสสปะเถระ พร้อมด้วยคณะสงฆ์อีก 500 รูปเดินทางมาเพื่อทำการกราบพระบรมศพ ได้เกิดปาฏิหาริย์ พระบาททั้งสองข้างได้โผล่ทะลุผ้าห่อ 500 ชั้นและทะลุโลงออกมา เพื่อให้เหล่าพุทธบริษัททั้งหลายได้ทำการบูชาเป็นครั้งสุดท้าย และเกิดไฟลุกขึ้นมาเผาไหม้พระสรีระของพระองค์จนหมด
เมื่อผมเดินเข้ามาก็รูสึกขนลุก เพราะเป็นรูปแบบที่ผมไม่เคยเห็นเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกเลยหล่ะครับ
ปกติประตูมณฑปจะปิดอยู่นะครับ ถ้าจะเข้าไปกัน ก็ให้เข้าทางประตูด้านทิศตะวันออก ซึ่งจะมีลวดมัดไว้ก็ให้คลายออก ภายในจะค่อนข้างมืด ก็ให้ไปเปิดคัทเอาท์ไฟได้ หลังจากที่ชมความงามและกราบนมัสการกันแล้ว ก็ให้ปิดเหมือนเดิมด้วยนะครับ
ผมเดินชมบรรยากาศความงามด้านในสักพักหนึ่ง ก็เดินทางกลับโดยปิดไฟ ปิดประตูให้เรียบร้อย … ถ้าได้เดินทางมากัน ก็เข้ามาได้นะครับ เรียนเชิญมากราบไหว้ ทำบุญ เพื่อระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้ากันได้ บรรยากาศเงียบสงบดีครับ…
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com