เที่ยววัดครุฑธาราม อยุธยา มีบันทึกในพงศาวดารว่า เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมื่อครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์พร้อมกับวัดละมุด
มาถึงวัดที่ 4 ในภารกิจเที่ยววัด ในโปรแกรม “เที่ยววัดร้าง Episode 1” นั่นก็คือวัดครุฑธาราม แต่วัดนี้ไม่ใช่วัดร้างนะครับ แต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่เราเดินทางผ่านจึงได้ถือโอกาสแวะชมแวะเที่ยวกันซะเลย
วัดครุฑธาราม มีพระอุโบสถสวยงามมีลักษณะเป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่เท่าไรนัก กรอบหน้าจั่วประดับช่อฟ้าใบระกาหางหงส์ ฐานแอ่นโค้งแบบท้องเรือสำเภา ด้านหน้าต่อมุขยื่นและมีพาไลคลุมหรือหลังคาจั่นหับมุงกระเบื้องคลุมชายคารอง รับด้วยเสา 4 ต้น ซึ่งเป็นแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย มีบันทึกว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นใน พ.ศ.2302 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าสุริยาศน์อมรินทร์ (พระเจ้าเอกทัศน์) พร้อมกับการสร้างพระประธานในพระอุโบสถ
วัดครุฑธาราม ตั้งอยู่ในแถบคลองสระบัว อยุธยา ยังมีสภาพที่มีพระจำพรรษาปกตินะครับ แต่ก็เงียบเหงามากพอสมควร อาจจะเป็นเพราะห่างจากวัดในเกาะเมือง แต่ก็น่าจะเป็นวัดที่คนในชุมชนมาร่วมประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในวันสำคัญต่างๆ
สภาพพระอุโบสถปิดอยู่ไม่สามารถเข้าไปได้ อาจจะเป็นเพราะไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเท่าไหร่นัก จึงต้องปิดไว้ เพราะในอดีตเคยมีข่าวว่ามีโจรเข้ามาลักขโมยเศียรพระพุทธรูปโบราณด้านในด้วย
ด้านหน้าพระอุโบสถ จะมีใบเสมาตั้งอยู่ซึ่งเป็นใบเสมาเดิมๆ ที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงชิ้นเดียว … โดยรอบพระอุโบสถจะไม่เห็นใบเสมาแล้ว เหลือเพียงร่องรอยที่เคยเป็นที่ตั้งแต่ได้พังทลายหายไปแล้วทั้งหมด
พระเจดีย์บางองค์ ยังมีสภาพที่สวยงาม มีลวยลายหลงเหลือให้ได้ชมกันอยู่ครับ
ที่มาข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม
บันทึก สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดครุฑ เมื่อครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก(ขึ้นครองราชสมบัติ)
จากเอกสาร “คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม เอกสารจากหอหลวง” ได้เขียนไว้ว่าวัดครุฑธารามโปรดเกล้าสร้างขึ้นโดยพระเจ้าเอกทัศน์ กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อครั้งขึ้นครองราชย์ โดยครั้งนั้นมีการโปรดเกล้าสร้าง 2 วัด ได้แก่ วัดครุฑธารามและวัดละมุด
ปัจจุบันวัดครุฑธาราม ยังคงสภาพเป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษา ส่วนวัดละมุดได้สาบสูญไปหมดแล้ว เหลือเพียงเศษอิฐบางส่วนให้ได้พบเห็นเท่านั้น
ผมขอคัดลอกจากเอกสาร ดังมีบันทึกดังนี้
ฝ่ายพระบรมเอกทัศจึงประพฤติตามอย่างธรรมเนียมกษัตริย์แต่ก่อนมา พระองค์ก็บำรุงพระศาสนาครอบครองอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงตามประเพณีมา อันว่ากรมหมื่นเทพพิพิธนั้นเป็นที่ปรึกษากันกับวังหน้านั้น ครั้นพระอุทุมพรราชาออกทรงบรรพชาแล้ว ก็ว้าเหว่อยู่หาที่พึ่งไม่ได้ กับพระองค์นั้นก็ไม่ปกติริรองโดยสุจริตจึงทูลลาออกอุปสมบท ครั้นได้อุปสมบทแล้วใจนั้นแตกฉานจึงคิดความร้ายมิได้ตรงต่อพระองค์ ครั้นความลับนั้นแพร่งพรายกระจายไปรู้ถึงเสนาบดีผู้ใหญ่จึงลอบหนีออกจากอาราม เสนาบดีผู้ใหญ่จึงเข้าไปทูลฉลองพระองค์ จึงมีพระโองการให้ไปจับมา ครั้นตามไปจับได้ถึงนอกด่าน พระองค์จึงให้ใส่บทพระอัยการพิพากษา ลูกขุนในจึงใส่บทมาควรฆ่าอย่าให้เลี้ยงสืบไป พระองค์จึงขอโทษไว้อย่าให้ตายด้วยว่าอยู่ในพรต ไม่ควรจะปลงชีวิตให้ชิปหาย ครั้นจะเลี้ยงไว้ก็เห็นใจกลัวจะคิดร้ายสืบไป จึงฝากนายสำเภาพ่อค้าชื่อโครติงอังกฤษให้ไปส่งเสียเมืองลังกาบุรี
พระองค์จึงบำรุงพระศาสนาแล้วครอบครองบ้านเมืองก็อยู่เย็นเป็นสุขมา แล้วพระองค์ก็สร้างอารามชื่อวัดละมุด แล้วสร้างวัดครุฑธาวาสวัดหนึ่ง พระองค์จึงฉลองเลี้ยงพระสงฆ์พันหนึ่งจึงถวายไตรจีวรหรือเครื่องสังเคตพันหนึ่ง เครื่องเตียบสิ่งและพัน ต้นกัลปพฤกษ์ก็พันหนึ่ง จึงแจกทานสารพัดสิ่งของนาๆ สิ่งละพัน แจกอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงเป็นอันมาก จึงปลายเงินทองวันละสิบชั่ง ๗ วันเป็น ๗๐ ชั่ง จึงให้มีการมหรสพทั้งปวงสัรรพสิ่งต่างๆเป็นการใหญ่ถ้วน ๗ วันแล้ว พระองค์จึงหลั่งทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นพระสุธา จึงแผ่กุศลให้แก่สัตว์ทั้งปวง แล้วเสด็จคืนเข้ามายังพระราชวังพระองค์ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต บพิตรเสด็จไปถวายนมัสการพระศรีสรรเพชญ์ทุกเพลามิได้ขาด พระบาทจงกรมอยู่เป็นนิจบพิตรตั้งอยู่ในทศพิธ ๑๐ ประการ แล้วครอบครองกรุงขันธสีมา ทั้งสมณพราหมณาก็ชื่นชมยินดี ปรีเป็นสุขนิราศทุกขภัย ด้วยเมตตาบารมีทั้งฝนก็ดีบริบูรณ์ พูนความสุขมิได้กันดารทั้งข้าวปลาอาหารและผลไม้มีรสโอชา ฝูงอาณาประชาราษฎร์และชาวนิคมชนบทก็อยู่เย็นเกษมสานต์มีแต่จะชักชวนกันทำบุญให้ทานและการมหรสพต่างๆทั้งนักปราชญ์ผู้ยากผู้ดีมีแต่ความสุขทั่วทุกขอบขัณธเสมา
พบเศียรพระพุทธรูปเก่าแก่ มีรูปพระพักตร์ที่แปลกตา หลังพระประธานในโบสถ์
พบเศียรพระพุทธรูปเก่าแก่ มีรูปพระพักตร์ที่แปลกตา อาจเป็นหลักฐานสำคัญของวัดครุฑธาราม อยุธยา ตามบันทึกในพงศาวดารกล่าวว่า วัดครุฑธารามเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ พระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อครั้งขึ้นครองราชสมบัติ (วัดครุฑธาราม ต.คลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา)
และคำจารึกในอุโบสถวัดครุฑธารามเขียนไว้ว่า ราว พ.ศ.๒๓๐๒ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศโปรดเกล้าฯให้สร้างวัดครุฑธารามพร้อมพระปฏิมากรจากหินทรายขาว ประทับนั่งปางมารวิชัย สูง ๓ ศอก ๑ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๕ ศอก สูงตลอดพระรัศมี ๖ ศอก ๑ คืบ ๑ นิ้ว เป็นพระประธานในอุโบสถ
จากรูปแบบพระประธานองค์ปัจจุบันในอุโบสถ ได้รับการบูรณะไปแล้ว แต่เมื่อเดินไปหลังองค์พระประธานจะพบเศียรพระพุทธรูปหินทรายขาวโบราณขนาดใหญ่ มีรูปทรงพระพักตร์ที่แปลกตา แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นเศียรพระที่อยู่คู่วัดหรือนำมาจากที่อื่น
พระพุทธรูปหินทรายจะโดดเด่นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๑ และหลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๑ จะมีการสร้างพระพุทธรูปแบบปูนปั้นเป็นส่วนใหญ่
ดังนั้น ถ้าเศียรพระพุทธรูปองค์นี้อยู่คู่วัดครุฑธารามมาตั้งแต่แรกเริ่ม อาจจะเป็นหลักฐานสำคัญให้เห็นว่ายังมีช่างพระหินทรายในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ(อยุธยาตอนปลาย)หลงเหลืออยู่
สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ วัดเงียบมากๆ … ผมคิดว่าคงแทบจะไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลยก็ว่าได้ นอกจากคนที่ชอบชมศิลปะเก่าๆอาจจะแวะเวียนเข้ามากัน ผมได้ใช้เวลาเดินชมและสนทนากันในกลุ่มอยู่ราวๆ 30 นาที ก็ได้เดินทางไปท่องเที่ยวที่วัดอื่นๆ ตามโปรแกรมต่อไป
สำหรับท่านที่ชอบความงามของศิลปะเก่าๆ ก็ขอเรียนเชิญมาเที่ยวชมกันได้นะครับ รับรองไม่ผิดหวัง
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ… แอดมินตั้ม
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน