เดินทางไปวัดอุดมคงคาคีรีเขต จังหวัดขอนแก่น หลวงพ่อผาง จิตตคุตโต
ผมได้มีโอกาสกลับบ้านเกิดที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งนานๆครั้งจะได้มีโอกาสมาเยี่ยมบ้านเกิดเนื่้องจากผมทำมาหากินอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงเป็นโอกาสสำคัญอีกครั้งที่ผมจะได้เดินทางไปเที่ยววัดวาอารามที่น่าสนใจในสถานที่ไกลๆอีกครั้ง
ผมจึงได้มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะเดินทางไปที่ “วัดอุดมคงคาคีรีเขต” หรือที่ชาวบ้านบางคนจะเรียกว่า “วัดดูน” ซึ่งเป็นวัดที่มีความสำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากในอดีตนั้น หลวงพ่อผาง จิตตคุตโตเคยจำพรรษาอยู่ที่นี่ แต่ปัจจุบันท่านได้มรณภาพไปนานหลายปีแล้วหล่ะครับ สำหรับวัดอุดมคงคาคีรีเขตแห่งนี้ ผมเคยเดินทางไปมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนั้นผมยังไม่ได้คิดที่จะทำการเขียนบล็อกเพื่อบันทึกเรื่องราวต่างๆ จึงได้ถือโอกาสครั้งนี้มาทำการบันทึกการเดินทางอีกครั้งหนึ่ง
การเดินทางไปวัดอุดมคงคาคีรีเขต
จุดเริ่มต้นที่ผมเดินทาง จะเริ่มจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น บนถนนมะลิวัลย์ หรือทางหลวงหมายเลข 12 ขับ (หรือเส้น ขอนแก่น – ชุมแพ) ตรงไปประมาณ 12 กิโลเมตร จึงถึง สี่แยกไฟแดง แล้วเลี้ยวซ้ายเลยครับ แยกบ้านทุ่ม – มัญจาคีรี (ทางหลวงหมายเลข 2062) ตรงไปอีกประมาณ 44 กิโลเมตร จะเจอกับทางแยกไปชัยภูมิ ให้เลี้ยวขวาไปทางชัยภูมิ (ทางหลงหมายเลข 229) ตรงไปอีกประมาณ 12 กิโลเมตร จะมองเห็นป้ายชี้ทางไปวัด โดยให้เลี้ยวขวาครับ ตรงไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็จะถึงวัดแล้วครับ
ก่อนเดินทาง ผมก็ต้องดื่มกาแฟสักหน่อย โดยร้านประจำก็คือ Amazon เพิ่มความประฉับกระเฉงในการเดินทาง
เมื่อถึงสราแยกไฟแดง จุดสังเกตุง่ายๆอีกอย่างคือ จะผ่านโรงเรียนนครขอนแก่น (ตั้งอยู่ด้านขวา) ไปเล็กน้อยจะถึงสี่แยกไฟแดงแล้วครับ
จากนั้นให้ตรงไปเรื่อยๆ อีกประมาณ 44 กิโลเมตร จะถึงทางแยกไปชัยภูมิ
จะเห็นป้ายทางไปชัยภูมิ ก็เตรียมตัวเลี้ยวขวาเลยครับ
เราจะมองเห็นป้ายบอกทางเข้าวัดอุดมคงคาคีรีเขตเลี้ยวขวา
เส้นทางเข้าสู่พื้นที่วัด ถนนจะโล่งมากเลยครับ ผมมองผ่านกระจกหลัง เหมือนผมเป็นเจ้าของถนนเลยครับ ส่วนรถที่สวนทางมาก็น้อยซะเหลือเกิน
ในที่สุดผมก็มาถึงวัดแล้วครับ มองจากภายนอกเงียบวงบเหมือนเป็นวัดป่าจริงๆ ถ้ามาช่วงเย็นๆ คงวังเวงหล่ะครับงานนี้
ต่อไปผมจะพาไปชมบรรยากาศภายในวัดกันต่อเลย
จุดแรกที่นักเดินทางจะได้พบเจอ ก็คือพระเจดีย์ชัยมคล
เป็นองค์พระเจดีย์ใหญ่ ฐานวัดโดยรอบ 100 เมตร สูง 28 เมตร ส่วนล่างและบนขององค์พระเจดีย์เป็นบัวค่ำบัวหงาย ประดับลวดลายไทย ลงรักปิดทองและติดกระจก พื้นด้านในองค์พระเจดีย์ปูด้วยหินแกรนิตสีดำจากประเทศอิตาลี ส่วนที่เป็นยอดขององค์พระเจดีย์นั้นใช้โมเสดสีทองจากประเทศอิตาลีเป็นวัสดุก่อสร้าง
ส่วนบนสุดเป็นยอดฉัตรทำด้วยโลหะปิดทอง ชั้นบนสุดขององค์พระเจดีย์เป็นที่สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ข้างล่างสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์อัฐบริขารหลวงปู่ผาง จิตฺตคุตฺโต ภายในองค์พระเจดีย์ได้ประดิษฐาน “พระพุทธชินราช” เป็นองค์พระประธาน และรูปเหมือนเท่าขนาดองค์จริงของหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่ผางทั้งสองรูป
เนื่องจากทางวัดได้ล็อคกุญแจไว้ อาจจะเพื่อความปลอดภัย แต่สามารถที่จะขออนุญาต ขอนำกุญแจมาเปิดได้นะครับ แต่ผมไม่ได้เข้าไปข้างใน จึงวนเวียนเก็บภาพเฉพาะภายนอก
ณ จุดหน้าพระพุทธรูปนี้ ผมจึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน สมาทานศีล 5 อีกครั้ง และอธิษฐานขอพร
หลังจากที่ผมเดินชมความสวยงามของพระเจดีย์ชัยมงคลแล้ว ผมก็เดินมายังวิหารหลวงพ่อผาง เพื่อเข้ากราบบูชาขอพร
ผมได้จอดรถไว้ที่หน้าป้ายสถานีวิทยุเสียงธรรม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงกับพระเจดีย์ชัยมงคล
เนื่องจากพื้นที่วัดมีขนาดใหญ่มากพอสมควร ผมจึงได้เดินทางไปตามเส้นทางเพื่อไปชมสถานที่อื่นๆ
ผมเดินไปสักพักก็จะมองเห็นศาลากลางน้ำ จึงได้เดินขึ้นไป ซึ่งมีการติดรูปครูบาอาจารย์ไว้หลายองค์ รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงและ ร.5
สิ่งที่แปลกตาอีกอย่างบนศาลากลางน้ำคือ มีการเก็บซากจระเข้ไว้ในตู้กระจก และผมก็ลองหาข้อมูล ก็ได้ทราบว่า จระเข้ แห่งวัดอุดมคงคาคีรีเขต มีชื่อว่า “ไอ้บอด” ที่ได้ชื่อนี้เพราะว่าตาข้างหนึ่ง ถูกคนใจร้ายได้ทำร้ายจนมันต้องตาบอด จระเข้ตัวนี้ ได้อาศัยในสระน้ำนี้มาตั้งแต่มันยังเล็กๆ โดยมีหลวงพ่อผางได้ดูแลมัน แต่ก็ไม่วายที่จะมีคนมารังแกมันจนมันตาบอด ทั้งๆที่มันก็ไม่เคยทำร้ายใครเลย
การตายลงของไอ้บอดนั้น ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบเพียงว่ามันได้ตายลงในวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ในช่วงเวลากลางคืน
หลังจากที่ผมได้ยืนชมบรรยากาศบนศาลาสักพัก ผมก็ได้เดินทางต่อไป
ผมเดินเข้ามาในศาลาเอนกประสงค์ของวัด ก็เห็นมีให้เช่าบูชาวัตถุมงคลด้วย ถ้ามีโอกาสได้มาก็แวะเช่าไบปเป็นสิริมงคลกันครับ
เส้นทางไปถ้ำกงเกวียน อีก 1 กิโลเมตร ซึ่งผมเคยเดินทางมาครั้งหนึ่งแล้ว จะมีความชันขึ้นสักเล็กน้อยครับ แต่ไม่เหนื่อยมาก คนแก่ชราเดินได้ครับ
การเดินทางถือว่าบรรยากาศดีเลยครับ เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาวแล้ว จึงทำให้ยังมีบรรยากาศความชุ่มชื้นอยู่บ้าง แต่ถ้ามาช่วงหน้าแล้ง คงร้อนน่าดู
เดินไปสักพัก ก็เจอกับดักของเจ้าแมงมุมป่า กลางทางเดินเลยครับ
ทางเจอกับทางหิน และมีกองหิน ก็ใกล้ถึงถ้ำกงเกวียนแล้วหล่ะครับ จะมองเห็นกองหินที่นักท่องเที่ยวมากองตั้งกันไว้หลายกอง
เรื่องราวของถ้ำกงเกวียน
ปี พ.ศ. 2492 “หลวงปู่ผาง จิตตคุตโต” พระภิกษุวัย 47 ปีได้ออกจากวัดป่าบรรลังค์ศิลาทิพย์และเดินธุดงค์มายังเขาภูผาแดง สมัยนั้นบนภูผาแดงแห่งนี้ยังเป็นป่าดงดิบ สัตว์ร้ายมีมาก ภูติผีปีศาจมีเยอะ
ที่นั่นท่านได้พบ”ถ้ำกงเกวียน”ซึ่งเป็นถ้ำลึกลับอยู่บนภูผาแดง ไม่มีใครทราบว่าถ้ำแห่งนี้เมื่อเดินเข้าไปแล้วจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน
หลวงปู่ผางได้ใช้ถ้ำแห่งนี้เป็นที่บำเพ็ญเพียรภาวนาและในเวลาต่อมาท่านได้ทราบ จากนิมิตว่าที่นี่มีโครงกระดูกของท่านแต่อดีตชาติถูกฝังไว้ เพราะเมื่อชาติก่อนท่านได้ตายในขณะที่กำลังสร้างพระเจดีย์ พอตกมาถึงชาตินี้ด้วยจิตใจอันตั้งมั่นที่จะสร้างพระเจดีย์ทำให้ท่านมีความผูกพันจนเกิดเป็นนิมิตต่างๆ ดลใจให้ท่านมายังสถานที่แห่งนี้
ด้วยความที่สมัยก่อนยังไม่ได้มีการกำหนดอาณาเขตของวัดและบริเวณแห่งนี้เป็นป่าดงดิบ ถ้ำกงเกวียนจะอยู่ห่างจากวัดอุดมคงคาคีรีเขตออกไปไม่ไกลมากนัก ต่อมาหลวงปู่ผางได้สร้างเป็นเจดีย์เล็กๆ ครอบปากถ้ำเอาไว้ เรียกว่า “พระเจดีย์ถ้ำกงเกวียน” และมีแผ่นหินปิดถ้ำไว้เป็นการถาวรในปัจจุบัน
หลังจากที่ผมถึงที่หมายแล้ว ผมก็หยุดพักสักเล็กน้อย ก็เดินทางกลับตามเส้นทางเดิม
เมื่อผมได้เดินทางมาที่วัด ก็รู้สึกว่าด้วยบารมีของหลวงพ่อผางจริงๆ ที่ทำให้มีวัดแห่งนี้เกิดขึ้น มีสิ่งปลูกสร้างเป็นถาวรสถานที่สวยงาม และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแก่ลูกศิษย์ข้างหลัง ได้ดำเนินรอยตามมาจนวันนี้ แม้ว่าปัจจุบันหลวงพ่อผางจะมรณภาพไปแล้ว แต่ความดีของท่านและคำสั่งสอนยังคงอยู่ตลอดไป
ประวัติเรื่องราวพอสังเขปของหลวงพ่อผาง จิตตคุตโต
หลวงพ่อผาง วัดอุดมคงคาคีรีเขต (วัดดูน) ท่านเกิดวันอังคารที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ตรงกับวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 9 ปีขาล ตำบลเขื่องใน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีพี่น้อง 3 คน เมื่ออายุ 20 ปี ท่านได้อุปสมบทเพื่อทดแทนคุณบิดา มารดา และได้บวชเรียน 1 พรรษา และลาสิกขาออกมาจนกระทั่งอายุ 23 ปี ท่านได้แต่งงาน อยู่กับภรรยา 21 ปี จนกระทั่งท่านอายุ 43 ปี จึงได้บอกกับภรรยาว่าได้เวลาที่จะต้องบวชแล้ว ท่านและภรรยาจึงได้บวช โดยภรรยาได้บวชเป็นชี
หลังจากได้บวช ท่านจึงได้รับการอบรมกรรมฐานที่วัดป่าวารินชำราบ กับพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่จังหวัดอุบลราชธานี
หลวงปู่ผางหลังจากได้รับการอบรมจากพระอาจารย์สิงห์ได้พอสมควร จึงได้ออกธุดงค์โดยลำพัง และได้เข้าอบรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่วัดป่าบ้านนามน จังหวัดสกลนคร และได้ออกธุดงค์ไปยังสถานที่วิเวกโดยลำพังในป่าเขาลำเนาไพร จนถึงเขตเพชรบุรีเป็นเวลานานหลายปี จน พ.ศ. 2492 ท่านได้มาจำพรรษา 1 พรรษาที่วัดป่าบัลลังค์ศิลาทิพย์ จังหวัดขอนแก่น และได้เดินทางธุดงค์ไปที่อำเภอมัญจาคีรี และชาวบ้านได้นิมนต์พักที่เชิงเขาภูผาแดง หรือชาวบ้านจะเรียกว่า “ดูน” เนื่องจากมีน้ำไหลออกมาจากภูเขาตลอดปี เชื่อกันว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และสถานที่นี้ เป็นสถานที่ท่านได้นิมิตว่าท่านจะจำพรรษาอยู่ ท่านจึงได้แจ้งประสงค์กับชาวบ้านว่าสมควรจะสร้างเป็นวัด และชาวบ้านจึงได้เรียกว่า “วัดดูน” หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ “วัดอุดมคงคาคีรีเขต” แปลว่า วัดที่อุดมไปด้วยน้ำ และมีภูเขาเป็นเขต
หลวงปู่ผางท่านได้มรณภาพวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2525 เวลา 16:45 นาที สิริรวมอายุ 80 ปี 34 พรรษา
บทส่งท้ายผู้บันทึก
ถือได้ว่าวัดอุดมคงคาคีรีเขต เป็นสถานที่สงบมากเลยครับ เหมาะแก่การเดินทางมาปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี แต่ผมก็ไม่ทราบนะครับว่า ทางวัดได้มีการจัดอบรมกรรมฐานหรือไม่ แต่สำหรับท่านที่รักความสงบ หรือท่องเที่ยวในแบบได้ฝึกสติ ถ้าได้ผ่านมาทางนี้ ผมก็คิดว่าเหมาะเลยครับ เดินขึ้นถ้ำกงเกวียนแล้วภาวนากันไป จิตใจช่างสงบดีแท้ๆ
แอดมินเล่าเรื่อง
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com