Faiththaistory.com

วันวิสาขบูชา ปี 2557 ระลึกถึงคุณพระพุทธองค์

วันวิสาขบูชา ปี 2557 ระลึกถึงคุณพระพุทธองค์ ใกล้เข้ามาแล้วกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากลของโลก นั่นก็คือวันวิสาขบูชา ในปี พ.ศ. 2557 ตรงกับวันอังคารที่ 13 พฤษภาคม ชาวไทยคงคุ้นเคยถึงวันสำคัญนี้กันอยู่แล้ว นั่นก็คือเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระพุทธองค์ และประเทศไทยก็จัดให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เพื่อให้คนไทยได้เข้าร่วมกิจกรรมที่หน่วยงานต่างๆ ได้จัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณของพระพุทธองค์ ความอัศจรรย์ของวันนี้คือ เหตุการณ์สำคัญของพระพุทธองค์นั้นเกิดขึ้นตรงกับวันเพ็ญเดือน 6

คำว่า วิสาขบูชา ย่อมาจากคำว่า “วิสาขปุรณมีบูชา” แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ นั่นก็คือเดือน 6 อันเป็นเดือนที่สองตามปฏิทินของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 6 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน 7 แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 แม้ในปีนั้นจะมีเดือน 8 สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง 3 นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก ซึ่งแตกต่างจากวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย, ลาว, และกัมพูชา เท่านั้น และด้วยเหตุผลนี้ ที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น “วันสำคัญสากล” (International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2542

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดทางราชการ และบริษัทเอกชนก็ได้จัดให้เป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ด้วย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันที่ “ประสูติ” ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ “ตรัสรู้” เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วย “พระบริสุทธิคุณ”, “พระปัญญาคุณ” ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดย “พระมหากรุณาธิคุณ” จวบจนทรง “เสด็จดับขันธปรินิพพาน” ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน 6 นี้ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิงจาก : http://th.wikipedia.org

กิจกรรมในวันวิสาขบูชานี้ ชาวไทยส่วนใหญ่ จะใช้เวลากับครอบครัวเดินทางไปร่วมทำบุญตามสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา หรือตามสถานที่หน่วยงานทางราชการได้จัดกิจกรรมไว้ เช่น ตักบาตร ฟังธรรม และการเวียนเทียน

 

ผมจะขอกล่าวถึงเหตุการสำคัญทางพระพุทธศาสนาทั้ง 3 เหตุการณ์โดยคร่าวๆ ดังนี้

 

เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ 7 ก้าว

วันประสูติ

เหตุการณ์ในวันประสูติเป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับแรกของพระพุทธองค์ “เจ้าชายสิทธัตถะ” ได้ประสูติในพระบรมศากยราชวงศ์ เป็นพระราชโอรสแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ ผู้ทรงดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และ พระนางสิริมหามายา ศากยราชเทวี ผู้เป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะ โดยเจ้าชายสิทธัตถะทรงดำรงตำแหน่งศากยมกุฏราชกุมาร ผู้จักได้รับสืบพระราชบัลลังก์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์สืบไป
จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช 80 ปี

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (อายุครรภ์ครบ 10 เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะซึ่งเป็นบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางถึงพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งเป็นเขตแดนตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ 7 ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า

“เราเป็นผู้เลิศ ผู้เจริญ ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย บัดนี้ภพใหม่ไม่มีแก่เราอีกแล้ว”

ทรงบำเพ็ญเพียร ทุกรกิริยานานถึง 6 ปี

พระองค์ทรงรับการถวายข้าวมธุปายาส จากนางสุชาดา

ทรงลอยถาดทองคำหลังเสวยข้าวมธุปายาส ไปในแม่น้ำเนรัญชรา

พญามาร ขัดขวางการตรัสรู้ของพระองค์

พระองค์บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ

การตรัสรู้

ก่อนการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ พระองค์ได้ทำการบำเพ็ญเพียรยาวนานถึง 6 ปี จนก่อนจะถึงเวลาตรัสรู้พระองค์ได้เสวยข้าวมธุปายาส หลังจากที่พระองค์ได้หยุดการบำเพ็ญทุกรกิริยา เพราะไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

ข้าวมธุปายาสที่ได้รับการถวายเป็นของนางสาวสุชาดา บุตรีมหาเศรษฐีแห่งบ้านเสนานิคม ซึ่งมีเหตุการณ์ที่นางสุชาดานำมาถวายคือ ก่อนแต่งงานได้ไปบนกับเทวดาที่ต้นไทรว่า ขอให้ได้แต่งงานกับชายที่มีสกุลและฐานะเสมอกันและได้บุตรคนแรกเป็นชาย ต่อมานางก็สมปรารถนา จึงได้จัดแจงรีดน้ำนมจากแม่โค การรีดนมจากแม่โค นางสุชาดาจึงจัดแจงปรุงข้าวมธุปายาสไปแก้บนที่ต้นไทร เนื่องจากนางสุชาดาได้เห็นพระพุทธองค์แล้วคิดว่าเป็นเทวดา จึงทำพิธีแก้บนแล้วถวายข้าวมธุปายาสแก้พระองค์ ถือเป็นอาหารมื้อสุดท้ายก่อนที่พระองค์จะตรัสรู้

ข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์นั้นมีทั้งสิ้น 49 ก้อน เสวยเสร็จแล้วทรงลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชรา และได้อธิษฐานว่า

“ถ้าจะได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ขอให้ถาดทองลอยทวนกระแสน้ำ หากไม่สำเร็จสมประสงค์ ขอให้ถาดลอยไปตามกระแสน้ำ”

ถาดทองคำได้ลอยทวนกระแสน้ำแล้วจมสู่นาคพิภพ และทรงรับหญ้าคา 8 กำ จากโสตถิยพราหมณ์ และพระองค์นำมารองที่โพธิบัลลัง แล้วเสด็จขึ้นโพธิมณฑลประทับที่ใต้ต้นโพธิพฤกษ์ ได้บรรลุพระสัพพัญญูตญาณเป็นพระพุทธเจ้า

เมื่อพระองค์ได้เริ่มบำเพ็ญเพื่อการตรัสรู้นั้น เพราะองค์ได้ทรงอธิษฐานว่า

“แม้เลือดและเนื้อในกาย จักแห้งเหือดเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ตราบใดที่เรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ได้รู้ ได้เห็นธรรมอันยิ่งแล้ว จักไม่ยอมลุกจากบัลลังก์นี้เป็นอันขาด จักนั่งอบรมกาย วาจา ใจ ให้ละเอียดถึงที่สุดให้ได้ ”

ท้าวปรนิมมิตสวัตตีมาราธิราช หรือ องค์พญาสวัสวดีมาร ได้เข้ามาขัดขวางการตรัสรู้ทุกวิถีทาง แต่ไม่สำเร็จด้วยพระบารมีของพระองค์ และพระองค์ก็ได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันนั้นนั่นเอง

เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ “รู้แจ้งโลกทั้งปวง” ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้

ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา
ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน

วันปรินิพพาน

ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า 45 ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 80 พรรษา มีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า

…ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา… ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้… (อีกสามเดือนหลังจากนี้พระองค์จะเสด็จปรินิพพาน)

ก่อนที่พระองค์จะกล่าวแจ้งให้ภิกษุทั้งหลายได้ทราบนั้น ได้เกิดเนื่องจากทาง ท้าวปรนิมมิตสวัตตีมาราธิราช หรือ องค์พญาสวัสวดีมาร ได้เข้าขอให้พระองค์ทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน เนื่องจากเห็นว่าพระศาสนาของพระองค์ได้มั่นคงแล้ว และเนื่องจากเพราะพระองค์ได้กล่าวกับพระอานานท์เป็นนัย ในเรื่องนี้ถึง 3 ครั้ง คือได้ตรัสว่า เราสามารถที่จะมีอายุได้นานถึง 120 ปี แต่เนื่องด้วยพระอานนท์ไม่ได้นึกเอะใจในเรื่องนี้ ทำให้พระองค์รับคำขอขององค์พญาสวัสวดีมาร

เสด็จไปเมืองกุสินารา

จากนั้น พระองค์เสด็จไปบ้านภัณฑคาม บ้านหัตถิคาม จนเสด็จถึงเมืองปาวา โดยลำดับ ที่นี่พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้ จากนั้น ได้เสด็จไปสู่เมืองกุสินารา ในกลางทางทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อเสวยน้ำดื่มและทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า ได้เห็นพระวรกายของพระองค์ว่ามีพระฉวีผ่องใสยิ่งจึงได้ทูลถาม พระองค์ตรัสตอบว่า

…อานนท์ เป็นอย่างนั้น กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้งคือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้…

ประทับสีหไสยาสน์

เมื่อเสด็จถึงพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ พระองค์ทรงให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่ ขณะทรงประทับสีหไสยยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ได้เกิดอัศจรรย์ คือ ดอกาละผลิดอกผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์ไม้จันทร์ ตกลงและดนตรีทิพย์บรรเลงขึ้นเพื่อบูชาแก่พระพุทธเจ้า เทวดาทั่วโลกธาตุได้มาประชุมกันเพื่อเห็นพระพุทธเจ้า บางองค์คร่ำครวญเสียใจด้วยอาการต่าง ๆ

ประทานพระปัจฉิมโอวาท

จากนั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสแก้ปัญหาของสุภัททะปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า

…อานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว…

จากนั้นตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก 4-5 เรื่อง จนในที่สุดตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า

…ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ปรินิพพาน

จากนั้น พระองค์ทรงนิ่งเงียบ หลับตา ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 มีรูปฌาน 4 คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากนั้นเป็นอรูปฌาน 4 คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เรียกรวมเป็น สมาบัติ 8) และ นิโรธสมาบัติ 1 ชื่อเต็มคือสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วย้อนลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นปัจฉิมสมาบัติ เมื่อออกจากจตุตถฌานจึง เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก

พระพุทธองค์ตรัสถึงความดับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ (เสด็จดับขันธปรินิพพาน) ไว้เมื่อคราวทรงพระชนม์อยู่ว่า

…ต้นไม้ เมื่อโคนต้นยังอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วนบน) แล้วก็งอกได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็ได้เกิดร่ำไป…

จากเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 เหตุการณ์ที่สำคัญของพระพุทธองค์ดังกล่าว เราชาวพุทธจึงควรที่จะปฏิบัติธรรม ทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงของพระองค์ ที่ได้ทรงสั่งสอนให้เราปฏิบัติตนเองไปในทางที่ถูกที่ควร เพื่อความสุขในชีวิต

จึงขอเชิญชวนเพื่อนๆ ร่วมกันปฏิบัติความดี แม้เพียง 1 วันแต่ก็เป็นวันที่อันมีค่าอย่างยิ่ง ลองสวดมนต์ รักษาศีล กันดูนะครับ มั่นใจว่าสิ่งที่ทำไปจะเป็นผลดีต่อตัวเราเอง อย่าให้วันหยุดอันสำคัญนี้ผ่านเลยไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย


Exit mobile version