กินเจ อย่างไรให้ได้บุญเต็มๆ
เข้าสู่เทศกาลกินเจกันแล้ว หลายๆคนก็เตรียมตัวและรอคอยวันดีๆนี้อย่างใจจดใจจ่อ ถ้าจะกล่าวถึงความเชื่อต่างๆ เป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนอย่างมาก และผมก็มักจะเห็นกระทู้ที่ตั้งขึ้นมาถกเถียงกันในเรื่อง “การกินเจได้บุญจริงหรือ” อยู่เป็นประจำ ในฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ต่างงัดเอาหลักความคิดและหลักฐานต่างๆ ขึ้นมาเป็นประเด็นหักล้างความคิดของฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องความเชื่อ เราไม่สามารถลบล้างความคิดกันได้หรอกครับ เพียงแต่เราจะหาจุดสมดุลตรงไหนดีเท่านั้นเอง และสุดท้ายผมก็คิดว่าอย่าไปก้าวก่ายความคิดกันจะดีที่สุด โดยให้คิดไปแนวทางบวก มองผู้ที่คิดต่างว่าเข้าอาจจะคิดไปแนวทางอื่นๆ ที่มีเจตนาดีซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไรไปเลย
เนื่องจากเรื่องนี้ละเอียดอ่อนมาก ผมจึงค้นคว้าหาข้อมูลเป็นการอ้างอิงและสรุปออกมา เพื่อเป็นแนวความคิดที่เป็นกลางๆ โดยสรุปสุดท้ายว่าใครใคร่ที่จะกินเจก็กินกันไป ใครใคร่ไม่สนใจกินเจ ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด ก็แล้วกันนะครับ
ผมได้เปิดอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ “มังสวิรัติ ในทัศนะท่านพุทธทาสภิกขุ พร้อมด้วยทัศนะของพระราชวรมุนี” ซึ่งมีรายละเอียดที่ค่อนข้างชัดเจน ความรู้สึกของผมเมื่ออ่านดูแล้ว ก็ดูเป็นกลางดีครับ
ทัศนะเรื่องมังสวิรัติของท่านพุทธทาสภิกขุ และพระราชวรมุนี
จากรายละเอียดในหนังสือมีบันทึกค่อนข้างยาว จึงขอสรุปให้อ่านง่ายกันดังนี้
1. สำหรับภิกษุสงฆ์เป็นผู้ที่ขอเลี้ยงชีพ ไม่ได้ให้ยึดติดว่าอาหารที่รับมาจากบิณฑบาตจะเป็นอะไร เมื่อมีผู้ถวายต้องรับ ยกเว้นว่ารับรู้ว่าเนื้อนั้นเกิดจากการฆ่าเพื่อนำมาถวาย เช่น ได้รับรู้ว่าไก่ตัวนี้ ถูกฆ่ามาเพื่อบิณฑบาตโดยตรง แต่ถ้าไม่รู้อันนี้ไม่ถือว่าผิดวินัย
2. ผู้ที่ถือมังสวิรัติ ควรได้รับคำชื่นชมของผู้อื่นเท่านั้น แต่ด้วยหลักธรรมไม่ถือว่ามีธรรมที่สูงกว่าผู้กินเนื้อ
3. ผู้ที่ถือมังสวิรัติ ควรระลึกตนอยู่เสมอว่า ไม่ได้ประเสริฐไปกว่าคนกินเนื้อ เนื่องจากคนมีหลากหลาย ไม่สามารถที่จะเลือกกินได้ แต่สำคัญว่าจะมีกินหรือเปล่า จึงเป็นเหตุว่า การถือมังสวิรัติไม่ได้เป็นปัจจัยหลักว่าประเสริฐกว่าใคร
4. การถือมังสวิรัติ ไม่ได้ถือเป็นการดำรงตนในศีล แต่เป็นข้อวัตรที่ถือปฏิบัติกันมา ซึ่งอาจจะเป็นการส่งเสริมในข้อศีลนั้นๆให้มั่นคงได้เช่นกัน
สรุปโดยเนื้อหา
จากหนังสือ จะเป็นทัศนะ ให้เราดำรงตนให้เหมาะสม ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป การจะกินเจให้ได้บุญ จึงน่าจะเป็นเรื่องในการฝึกจิตใจให้มีเมตตา อีกทั้งปัจจุบันได้มีหลักประเพณีให้ถือศีล 5 เข้ามาด้วย ดังคำกล่าวที่ว่า “ถือศีล กินเจ” เน้นข้อวัตรปฏิบัติในช่วงนั้นๆ โดยอาจจะมีผลในเรื่องการเบียดเบียนที่น้อยลงในช่วงเวลาหนึ่งๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นการตัดวงจรอย่างสิ้นเชิง (เนื่องจากเป็นไปตามกฏแห่งกรรมตามความเชื่อวิถีพุทธ) ซึ่งก็ควรได้รับการชมเชยในเรื่องของเจตนาที่ดี แต่ก็ต้องพึงระลึกเสมอว่าตัวผู้กินเจนั้น ไม่ได้ประเสริฐไปกว่าใคร ถ้าคิดว่าตนเองประเสริฐกว่า จะถือว่าเป็นการคิดที่ผิด (เป็นการฝึกจิตใจ ไม่ให้คิดผิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ)
เมื่อกินเจกันแล้ว ย่อมเกิดจากเจตนาดี (ทำให้จิตใจเกิดเมตตาธรรม) คำว่าเมตตาธรรมต้องหยั่งลึกเข้าถึงจิตใจ ซึ่งสิ่งนี้ท่านก็ได้สอนให้พิจารณากันให้ได้ ประเพณีการกินเจ ถือเป็นธรรมเนียมดี ที่สืบทอดกันมา อีกทั้งยังต้องมีการรักษาศีลเข้ามาด้วย ซึ่งการถือศีลถือว่าเป็นบุญกุศลที่มากด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นแล้วรักษาศีลให้ดีด้วย
โดยสรุป ผลบุญที่เกิดจากการกินเจ จึงน่าจะมาจากผลบุญจากการมีจิตใจเมตตา กรุณาต่อสัตว์โลก เป็นการฝึกจิตใจให้รู้จักการละกิเลส แต่ไม่ได้เกิดผลบุญจากการไม่กินเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นคนละเรื่อง… ตราบใดที่เราถือการกินเจเป็นไปตามประเพณี โดยไม่มีจิตใจเมตตาหยั่งลึกเข้าไป ก็เป็นเพียงการกินผักเท่านั้นเอง…
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory