สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปตามรอยหาวัดสำคัญวัดหนึ่งที่สาบสูญไปแล้วในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งปรากฏชื่ออยู่ในแผนที่โบราณและแผนที่ของกรมศิลปากร ระบุถึงตำแหน่งวัดแห่งนี้ไว้ ชื่อว่า “วัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ” คำว่าเจ้าฟ้าดอกเดื่อนี้ คืออีกชื่อหนึ่งของ “เจ้าฟ้าอุทุมพร” นั่นเอง
ที่มาของชื่อเจ้าฟ้าดอกเดื่อนั้น ตามพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม กรุงลอนดอน ได้กล่าวว่า ขณะสมเด็จพระราชชนนีทรงครรภ์นั้น สมเด็จพระราชชนกทรงพระสุบินว่ามีผู้ถวายดอกมะเดื่อ ซึ่งพระองค์ทรงทำนายว่า “ดอกมะเดื่อเป็นคนหายากในโลกนี้” เมื่อพระราชโอรสประสูติ จึงพระราชทานนามว่า “สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร” ส่วนราษฎรเรียกว่า “เจ้าฟ้าดอกเดื่อ” หรือ “เจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ” ซึ่งคำว่า “อุทุมพร” แปลว่า “ดอกมะเดื่อ” นั่นเอง
เมื่อครั้งสมเด็จพระราชชนกเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงสถาปนาเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนพรพินิต ต่อมาสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ได้ทรงขึ้นครองราชย์ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งมีบันทึกแตกต่างกัน บ้างว่าเป็นระยะเวลา 1 เดือน 2 เดือน 3 เดือน หรือเพียง 10 วัน ซึ่งไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ความสำคัญคือ พระองค์สละราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบ แล้วลาผนวชทันที แต่พระองค์ก็เคยสึกออกมาเพื่อมาช่วยการศึกสงครามเมื่อครั้งศึกพระเจ้าอลองพญา เมื่อ ปี พ.ศ.2303 เมื่อเสร็จศึกพระองค์ก็ได้ออกผนวชอีก จึงจะเห็นได้ว่าพระองค์นั้นมีพระปรีชาสามารถทั้งสติปัญญาการปกครอง การรบ และใฝ่ในทางธรรม ไม่ปรารถนาในราชสมบัติ
จนสุดท้ายในศึกเสียกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ.2310 ฝ่ายเนเมียวสีหบดี แม่ทัพพม่าได้คุมตัวภิกษุเจ้าฟ้าอุทุมพรกลับไปด้วย และต่อมาได้มีการค้นพบบันทึกคำให้การขุนหลวงหาวัดและคำให้การชาวกรุงเก่า ต้นฉบับเป็นภาษามอญ เป็นเนื้อหาที่พระเจ้ากรุงอังวะให้สอบถามเชลยศึกเกี่ยวกับพงศาวดารไทยและขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งเชื่อว่าย่อมมีคำให้การจากสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพรด้วย
สมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร พระองค์ได้สิ้นพระชนม์ในเพศบรรพชิตในพม่า เมื่อปี พ.ศ.2339
นอกจากพระปรีชาสามารถข้างต้น ก็มีบันทึกในนามานุกรมพระมหากษัตริย์ไทย กล่าวถึงพงศาวดารที่เขียนไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรมีพระราชกรณียกิจด้านการบำรุงพระพุทธศาสนา คือ โปรดเกล้าฯให้สร้าง “วัดอุทุมพรอาราม” หรือ “วัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ” และให้ปฏิสังขรณ์หลังคาพระมณฑปพระพุทธบาท สระบุรี หุ้มทองสองชั้น ใช้ทองคำไปทั้งสิ้น 244 ชั่ง
เดินทางไปวัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ
ตำแหน่งวัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อจากตำแหน่งในแผนที่กรมศิลปากร ระบุว่าตั้งอยู่นอกเกาะเมืองอยุธยา ฝั่งทิศตะวันออก แม้ปัจจุบันจะไม่หลงเหลือซากโบราณสถานให้เห็น และกลายเป็นวัดสาบสูญ แต่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ตามรอยประวัติศาสตร์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร กษัตริย์ผู้สละราชสมบัติเพื่อใฝ่ในทางธรรม
การเดินทางจากตัวเมืองอยุธยาออกนอกเกาะเมืองก่อนถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม(เจดีย์กลางวงเวียน) จะมีซอยเข้าหมู่บ้านอุทุมพร หรือซอยโรจนะ 1/1 ให้เข้าซอยผ่านสนามแบดสินตัน ซี.เจ ไปเล็กน้อยจะมีซอยด้านซ้าย จะพบตำแหน่งที่ตั้งของวัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ
วัดเจ้าฟ้าดอกเดื่อ ปัจจุบันไม่มีซากโบราณสถานหลงเหลือให้เห็น อาจจะจมอยู่ใต้ดินที่ล้อมรอบไปด้วยหมู่บ้าน เป็นไปตามหลักสัจธรรม เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเป็นของธรรมดา แต่ยังโชคดีที่ยังถูกบันทึกตำแหน่งในแผนที่ไว้ และมีการระบุถึงตำแหน่งของต้นโพธิ์ขนาดใหญ่ และมีการตั้งศาลขึ้นใต้ต้นโพธิ์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์และอนุสรณ์สถานของตำแหน่งโบราณสถานสำคัญนี้ ให้ได้ระลึกถึงและรับทราบถึงประวัติศาสตร์ที่ใกล้ถูกลืมเลือนไปว่า เป็นตำแหน่งตามบันทึกว่าเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเป็นผู้สร้างไว้
สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ – แอดมินตั้ม Faiththaistory.com
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน