Faiththaistory.com

เที่ยววัดป่าอุดมสมพร ตามรอยหลวงปู่ฝั้น อาจาโร


https://youtu.be/Uk1CLgjLB-Y

สวัสดีครับ ทริปการท่องเที่ยว ภารกิจเที่ยววัดครั้งนี้ ผมจะพาทุกท่านไปที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อไปตามรอยพระอรหันต์อีกองค์หนึ่งนั่นก็คือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นครูบาอาจารย์แห่งพระกรรมฐานสายป่า

การเดินทางครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตครั้งหนึ่ง เพราะโดยส่วนตัวนั้นจะมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ จึงมีเวลาในการเดินทางท่องเที่ยวน้อยกว่าใครๆเขา จึงต้องอาศัยช่วงวันหยุดและลางานเพิ่มเติมเล็กน้อย เพื่อการเดินทางไกลในครั้งนี้ จุดหมายปลายทางของผมก็คือจังหวัดสกลนคร จังหวัดที่มีวัดต่างๆ ที่เกี่ยวของกับพระอริยสงฆ์หลายรูป เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส เป็นต้น … เมื่อผมทราบเรื่องราวเกี่ยวกับวัดต่างๆ ในสกลนครยิ่งนำความตื่นเต้น และดีใจที่จะได้เดินทางมาตามรอยพระอรหันต์หลายๆรูป หนึ่งในโปรแกรมนั้นก็คือ “วัดป่าอุดมสมพร” ที่ผมกำลังจะพาท่านเดินทางไปด้วยกันนี่แหละครับ

วัดป่าอุดมสมพร ตั้งอยู่ที่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นวัดที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้จำพรรษาและพัฒนาวัดจนกระทั่งท่านได้มรณภาพ… ถ้าท่านเดินทางมาจากกรุงเทพ จะผ่านอำเภอนี้ก่อน… การเดินทางของผมได้เดินทางไปที่วัดป่าสุทธาวาส (หลวงปู่มั่น) ในอำเภอเมืองสกลนครก่อน แล้วจึงแวะเที่ยวที่วัดป่าอุมสมพรในช่วงเดินทางกลับ

สู่อำเภอพรรณานิคม

ผมเดินทางกลับจากอำเภอเมือง สกลนคร จะเห็นป้ายไปอำเภอพรรณานิคม ก็เลี้ยวตามลูกศรเลยครับ ส่วนท่านที่มาจาก กรุงเทพมหานคร ก็อาศัยดูป้ายเช่นเดียวกันนะครับ

ป้ายวัดป่าอุดมสมพร

จากนั้น ให้ดูป้ายเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น เลยครับ ระยะทางอีกราวๆ 3 กิโลเมตรก็ถึงแล้วหล่ะครับ

เข้าสู่พื้นที่วัดป่าอุดมสมพร

พื้นที่ของวัดมีต้นไม้มากมาย และมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร ดูร่มรื่น สบายตายิ่งนัก

บรรยากาศในวัด

เนื่องด้วยเป็นวัดป่า จึงมีต้นไม้มากมาย เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม … บรรยากาศโดยรวม ดูเงียบๆ แต่ก็ยังพอเห็นผู้คนเดินทางเข้ามาเป็นระยะๆ … หลังจากผมได้จอดรถกันแล้วก็เดินลงมาชมพื้นที่กันอย่างอิ่มเอมใจ

บรรยากาศในวัด

แม้วัดจะดูเงียบสงบ แต่บรรยากาศและพื้นที่ก็ดูสะอาดตา

แผนผังสถานที่ต่างๆ ในวัด

ศาลาการเปรียญ

ผมเดินวนเวียนดูแผนผังวัด บริเวณศาลาการเปรียญสักพักหนึ่ง จึงเดินเข้าไปด้านในเพื่อไปยังกุฏิหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ซ่อมแซมปรับปรุงห้องน้ำเดิมหลวงปู่ฝั้น

มาเดินเข้ามายังพื้นที่ของกุฏิหลวงปู่ฝั้น ผมก็เห็นทีมงานช่างกำลังปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำที่หน้ากุฏิหลวงปู่ เพื่อให้สามารถใช้การได้ปกติ ซึ่งป้าวิไลที่ผมได้สนทนาด้วยบอกว่า บริเวณนี้เป็นห้องน้ำเดิมของหลวงปู่ฝั้น

จุดประสงค์การซ่อมแซมใหม่ เพื่อจะสามารถใช้การได้ในช่วงงานบุญประจำปีเพื่อระลึกคุณของหลวงปู่ฝั้น โดยให้เฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ได้ใช้เท่านั้น … นอกงานบุญประจำปี จะทำการปิดใช้งาน

กุฏิหลวงปู่ฝั้น

กุฏิหลวงปู่ฝั้น หลังนี้เป็นกุฏิไม้หลังเดิมที่หลวงปู่ได้อาศัยจำพรรษาในวัดป่าอุดมสมพร มาทั้งชีวิตเลยครับ

รูปหล่อหลวงปู่ฝั้น ด้านล่างกุฏิ

ด้านล่างกุฏิหลวงปู่ฝั้น จะมีรูปหล่อบูชาหลวงปู่ประดิษฐานอยู่ เพื่อให้เหล่าสาธุได้กราบไหว้บูชาระลึกถึงคุณหลวงปู่ฝั้น

ป้าวิไล ผู้ดูแลความเรียบร้อยของกุฏิหลวงปู่ฝั้น

ผมได้สนทนากับป้าวิไล ผู้ที่ดูแลความเรียบร้อยของกุฏิหลวงปู่ ซึ่งป้าก็เมตตาเล่าเรื่องราวต่างๆ ของหลวงปู่ให้ฟังมากมาย เพราะตัวป้าเองนั้น เป็นชาวบ้านที่นี่ และเข้ามาดูแลวัดตั้งแต่สมัยยังสาวๆ จึงมีความผูกพันกับวัดป่าอุดมสมพรอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นแม่งานในการซ่อมแซมห้องน้ำหลวงปู่ฝั้นอีกด้วย

เรื่องราวการสนทนาต่างๆ ผมได้บันทึกคลิปมาไว้บางส่วน ท่านสามารถดูที่คลิปวีดีโอได้นะครับ … มีสิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจคือ ป้าเล่าว่า มีกลุ่มคนบางกลุ่มได้เข้ามานำอุจจาระของหลวงปู่ที่อยู่ในโถส้วมไปบูชาใส่กรอบ และเกิดเป็นผลึกแก้ว ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เห็นกับตานะครับ เพียงแต่ป้าได้เล่าให้ฟัง… จนปัจจุบันนี้ก็ไม่มีเหลือแล้วหล่ะครับ เพราะถูกนำออกไปและก็สูญสลายไปตามธรรมชาติไปหมดแล้ว… เรื่องนี้ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณด้วยนะครับ

โถส้วมกุฏิหลวงปู่

ถังพักสิ่งปฏิกูลที่กุฏิหลวงปู่

ผมสนทนาเรื่องราวกับป้ายาวนานเลยหล่ะครับ คุยไปผมก็ขนลุกไปด้วย เพราะผมเองนั้นก็มีความศรัทธาต่อองค์หลวงปู่ฝั้นมากด้วยเช่นกัน

ไม้เท้าหลวงปู่ฝั้น

ไม้เท้าหลวงปู่ฝั้น

เรื่องราวเกี่ยวกับไม้เท้าของหลวงปู่ ป้าก็ได้เล่าเรื่องราวอัศจรรย์ไว้มากมาย ซึ่งก็เป็นความเชื่อความศรัทธาของแต่ละคนครับ บางคนมาอธิษฐานขอพรหลวงปู่ แล้วนำไม้เท้ามาสัมผัสบริเวณที่เจ็บป่วยก็มีอาการทุเลาและหาย เป็นต้น … เรื่องนี้ผมไม่ขอการันตีนะครับ เพราะเป็นความเชื่อและศรัทธาส่วนบุคคล

ไปสู่เจดีย์ 5 ยอด

จากนั้นผมก็เดินไปด้านในเพื่อไปชมเจดีย์ 5 ยอด… แต่ภายในอาคารปิดอยู่ครับ…ผมเลยไม่ได้เข้าไปดูด้านใน

เจดีย์ 5 ยอด

หลังจากนั้น ผมก็เดินออกมา และกล่าวลาป้าวิไล และได้มอบปัจจัยบางส่วนเพื่อสมทบทุนในการซ่อมแซมห้องน้ำหลวงปู่ฝั้น …โอกาสนี้ ผมจึงขอแบ่งบุญกุศลนี้ให้กับทุกท่านมา ณ ที่นี้…

บรรยากาศรอบๆ วัด

บรรยากาศรอบๆ วัด

ผมกะประมาณด้วยสายตาแล้ว วัดมีพื้นที่กว่างขวางอย่างมาก น่าจะเกิน 100 ไร่เลยทีเดียว… นี่แหละครับพลังความศรัทธาของชาวพุทธ ที่ได้เสียสละพื้นที่มอบให้แก่วัดได้ขนาดนี้

เก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกสักหน่อย

หลังจากที่ผมเดินชมบรรยากาศในวัดนานร่วม 1 ชั่วโมง จึงเดินออกไปชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ซึ่งไม่ห่างไกลกันนัก

สู่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น

คลองน้ำที่พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น

พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น มีความสวยงามมากครับ มีลักษณะเป็นกลีบบัวซ้อนกันขึ้นสามชั้น ตั้งอยู่บนฐานลักษณะกลีบบัวด้วยเช่นกัน

รูปเหมือนหลวงปู่ฝั้น ในพิพิธภัณฑ์

รูปเหมือนหลวงปู่ฝั้น

ด้านในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น จะเก็บรักษาเครื่องอัฐบริขารและเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชิ้น อีกทั้งมีรูปภาพต่างๆในสมัยที่หลวงปู่ยังไม่มรณภาพ จนกระทั่งได้มรณภาพเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 … มีภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวได้เสด็จมาที่วัด ด้วยเช่นกัน

อัฐิธาตุ หลวงปู่ฝั้น

ใบสุทธิหลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หนังสือธรรมะ ของหลวงปู่ฝั้น

บาตรของหลวงปู่

เครื่องใช้ต่างๆ ของหลวงปู่

เครื่องใช้ต่างๆ ของหลวงปู่

รูปถ่ายต่างๆ ผมได้ถ่ายรูปมาเป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ได้โพสรูปไว้ให้ชมทั้งหมดเพราะมีมากมายจริงๆ จึงได้ถ่ายคลิปวีดีโอมาให้ท่านที่สนใจได้ดูแล้วนะครับ ลองชมกันได้

หลวงปู่ฝั้น รับบิณฑบาตร

รูปถ่ายเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยม วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2518

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ในพิธีพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ฝั้น เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงบรรจุอัฐิหลวงปู่ฝั้นลงในโกศหินอ่อน เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2525

ประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจาโร พอสังเขป

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของเจ้าไชยกุมาร (เม้า) ในตระกูล “สุวรรณรงค์” อดีตเจ้าเมือ พรรณานิคม มารดาของท่านชื่อ นางนุ้ย พระอาจารย์ฝั้น ครั้งวัยเยาว์ มีความประพฤติเรียบร้อย นิสัยโอบอ้อมอารี ขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค ช่วยเหลือกิจการงานของบิดา มารดา โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

ท่านเข้าศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ และเข้าไปศึกษาต่อกับพี่เขยที่เป็นปลัดขวา ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ช่วงนั้นทีแรกท่านอยากรับราชการ แต่ต่อมาได้เห็นความเป็นอนิจจังของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ จึงได้เปลี่ยนความตั้งใจ และได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ต่อจากนั้นใน พ.ศ. 2463 จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกาย เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2468 ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้น อายุได้ 20 ปี ท่านได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ วัดสิทธิบังคม ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูป้อง เป็นอุปัชฌาย์ และเป็นผู้สอน การเจริญกรรมฐาน ตลอดพรรษาแรก ออกพรรษาแล้ว ท่านกลับมาพำนัก ที่วัดโพนทอง ซึ่งมีพระครูสกลสมณกิจ เป็นเจ้าอาวาส และวิปัสสนาจารย์ นำพระภิกษุฝั้น อาจาโร ออกธุดงคและเจริญภาวนา ในช่วงชีวิตบรรพชิตของหลวงปู่ ท่านได้ธุดงค์ยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรม คำสอน จนกระทั่งเป็นที่นับถือศรัทธาของญาติโยมจำนวนมาก และได้รับการได้รับการยกย่องเป็น “อริยสงฆ์” องค์หนึ่ง

หลวงปู่ฝั้น มรณภาพ

4 มกราคม พ.ศ. 2520 ณ วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของท่าน สิริรวมอายุได้ 78 ปี 58 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงสรงน้ำศพ พระราชทานหีบทองประกอบศพ จนถึงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ได้เสด็จพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่าน

ที่มา : https://th.wikipedia.org


https://youtu.be/G597kaJFWyc

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com

Exit mobile version