สวัสดีครับ ทริปการท่องเที่ยว ภารกิจเที่ยววัดครั้งนี้ ผมจะพาทุกท่านไปที่วัดป่าอุดมสมพร เพื่อไปตามรอยพระอรหันต์อีกองค์หนึ่งนั่นก็คือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร พระสงฆ์ที่เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ผู้เป็นครูบาอาจารย์แห่งพระกรรมฐานสายป่า
การเดินทางครั้งนี้ เป็นโอกาสครั้งสำคัญของชีวิตครั้งหนึ่ง เพราะโดยส่วนตัวนั้นจะมีงานประจำที่ต้องรับผิดชอบ จึงมีเวลาในการเดินทางท่องเที่ยวน้อยกว่าใครๆเขา จึงต้องอาศัยช่วงวันหยุดและลางานเพิ่มเติมเล็กน้อย เพื่อการเดินทางไกลในครั้งนี้ จุดหมายปลายทางของผมก็คือจังหวัดสกลนคร จังหวัดที่มีวัดต่างๆ ที่เกี่ยวของกับพระอริยสงฆ์หลายรูป เช่น หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส เป็นต้น … เมื่อผมทราบเรื่องราวเกี่ยวกับวัดต่างๆ ในสกลนครยิ่งนำความตื่นเต้น และดีใจที่จะได้เดินทางมาตามรอยพระอรหันต์หลายๆรูป หนึ่งในโปรแกรมนั้นก็คือ “วัดป่าอุดมสมพร” ที่ผมกำลังจะพาท่านเดินทางไปด้วยกันนี่แหละครับ
วัดป่าอุดมสมพร ตั้งอยู่ที่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นวัดที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้จำพรรษาและพัฒนาวัดจนกระทั่งท่านได้มรณภาพ… ถ้าท่านเดินทางมาจากกรุงเทพ จะผ่านอำเภอนี้ก่อน… การเดินทางของผมได้เดินทางไปที่วัดป่าสุทธาวาส (หลวงปู่มั่น) ในอำเภอเมืองสกลนครก่อน แล้วจึงแวะเที่ยวที่วัดป่าอุมสมพรในช่วงเดินทางกลับ
ผมเดินทางกลับจากอำเภอเมือง สกลนคร จะเห็นป้ายไปอำเภอพรรณานิคม ก็เลี้ยวตามลูกศรเลยครับ ส่วนท่านที่มาจาก กรุงเทพมหานคร ก็อาศัยดูป้ายเช่นเดียวกันนะครับ
จากนั้น ให้ดูป้ายเดินทางไปยังพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น เลยครับ ระยะทางอีกราวๆ 3 กิโลเมตรก็ถึงแล้วหล่ะครับ
พื้นที่ของวัดมีต้นไม้มากมาย และมีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร ดูร่มรื่น สบายตายิ่งนัก
เนื่องด้วยเป็นวัดป่า จึงมีต้นไม้มากมาย เงียบสงบ เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม … บรรยากาศโดยรวม ดูเงียบๆ แต่ก็ยังพอเห็นผู้คนเดินทางเข้ามาเป็นระยะๆ … หลังจากผมได้จอดรถกันแล้วก็เดินลงมาชมพื้นที่กันอย่างอิ่มเอมใจ
แม้วัดจะดูเงียบสงบ แต่บรรยากาศและพื้นที่ก็ดูสะอาดตา
ผมเดินวนเวียนดูแผนผังวัด บริเวณศาลาการเปรียญสักพักหนึ่ง จึงเดินเข้าไปด้านในเพื่อไปยังกุฏิหลวงปู่ฝั้น อาจาโร
มาเดินเข้ามายังพื้นที่ของกุฏิหลวงปู่ฝั้น ผมก็เห็นทีมงานช่างกำลังปรับปรุงซ่อมแซมห้องน้ำที่หน้ากุฏิหลวงปู่ เพื่อให้สามารถใช้การได้ปกติ ซึ่งป้าวิไลที่ผมได้สนทนาด้วยบอกว่า บริเวณนี้เป็นห้องน้ำเดิมของหลวงปู่ฝั้น
จุดประสงค์การซ่อมแซมใหม่ เพื่อจะสามารถใช้การได้ในช่วงงานบุญประจำปีเพื่อระลึกคุณของหลวงปู่ฝั้น โดยให้เฉพาะพระเถระผู้ใหญ่ได้ใช้เท่านั้น … นอกงานบุญประจำปี จะทำการปิดใช้งาน
กุฏิหลวงปู่ฝั้น หลังนี้เป็นกุฏิไม้หลังเดิมที่หลวงปู่ได้อาศัยจำพรรษาในวัดป่าอุดมสมพร มาทั้งชีวิตเลยครับ
ด้านล่างกุฏิหลวงปู่ฝั้น จะมีรูปหล่อบูชาหลวงปู่ประดิษฐานอยู่ เพื่อให้เหล่าสาธุได้กราบไหว้บูชาระลึกถึงคุณหลวงปู่ฝั้น
ผมได้สนทนากับป้าวิไล ผู้ที่ดูแลความเรียบร้อยของกุฏิหลวงปู่ ซึ่งป้าก็เมตตาเล่าเรื่องราวต่างๆ ของหลวงปู่ให้ฟังมากมาย เพราะตัวป้าเองนั้น เป็นชาวบ้านที่นี่ และเข้ามาดูแลวัดตั้งแต่สมัยยังสาวๆ จึงมีความผูกพันกับวัดป่าอุดมสมพรอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นแม่งานในการซ่อมแซมห้องน้ำหลวงปู่ฝั้นอีกด้วย
เรื่องราวการสนทนาต่างๆ ผมได้บันทึกคลิปมาไว้บางส่วน ท่านสามารถดูที่คลิปวีดีโอได้นะครับ … มีสิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจคือ ป้าเล่าว่า มีกลุ่มคนบางกลุ่มได้เข้ามานำอุจจาระของหลวงปู่ที่อยู่ในโถส้วมไปบูชาใส่กรอบ และเกิดเป็นผลึกแก้ว ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เห็นกับตานะครับ เพียงแต่ป้าได้เล่าให้ฟัง… จนปัจจุบันนี้ก็ไม่มีเหลือแล้วหล่ะครับ เพราะถูกนำออกไปและก็สูญสลายไปตามธรรมชาติไปหมดแล้ว… เรื่องนี้ก็ขอให้ใช้วิจารณญาณด้วยนะครับ
ผมสนทนาเรื่องราวกับป้ายาวนานเลยหล่ะครับ คุยไปผมก็ขนลุกไปด้วย เพราะผมเองนั้นก็มีความศรัทธาต่อองค์หลวงปู่ฝั้นมากด้วยเช่นกัน
เรื่องราวเกี่ยวกับไม้เท้าของหลวงปู่ ป้าก็ได้เล่าเรื่องราวอัศจรรย์ไว้มากมาย ซึ่งก็เป็นความเชื่อความศรัทธาของแต่ละคนครับ บางคนมาอธิษฐานขอพรหลวงปู่ แล้วนำไม้เท้ามาสัมผัสบริเวณที่เจ็บป่วยก็มีอาการทุเลาและหาย เป็นต้น … เรื่องนี้ผมไม่ขอการันตีนะครับ เพราะเป็นความเชื่อและศรัทธาส่วนบุคคล
จากนั้นผมก็เดินไปด้านในเพื่อไปชมเจดีย์ 5 ยอด… แต่ภายในอาคารปิดอยู่ครับ…ผมเลยไม่ได้เข้าไปดูด้านใน
หลังจากนั้น ผมก็เดินออกมา และกล่าวลาป้าวิไล และได้มอบปัจจัยบางส่วนเพื่อสมทบทุนในการซ่อมแซมห้องน้ำหลวงปู่ฝั้น …โอกาสนี้ ผมจึงขอแบ่งบุญกุศลนี้ให้กับทุกท่านมา ณ ที่นี้…
ผมกะประมาณด้วยสายตาแล้ว วัดมีพื้นที่กว่างขวางอย่างมาก น่าจะเกิน 100 ไร่เลยทีเดียว… นี่แหละครับพลังความศรัทธาของชาวพุทธ ที่ได้เสียสละพื้นที่มอบให้แก่วัดได้ขนาดนี้
หลังจากที่ผมเดินชมบรรยากาศในวัดนานร่วม 1 ชั่วโมง จึงเดินออกไปชมพิพิธภัณฑ์หลวงปู่มั่น ซึ่งไม่ห่างไกลกันนัก
พิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น มีความสวยงามมากครับ มีลักษณะเป็นกลีบบัวซ้อนกันขึ้นสามชั้น ตั้งอยู่บนฐานลักษณะกลีบบัวด้วยเช่นกัน
ด้านในพิพิธภัณฑ์หลวงปู่ฝั้น จะเก็บรักษาเครื่องอัฐบริขารและเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชิ้น อีกทั้งมีรูปภาพต่างๆในสมัยที่หลวงปู่ยังไม่มรณภาพ จนกระทั่งได้มรณภาพเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2520 … มีภาพพิธีพระราชทานเพลิงศพ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวได้เสด็จมาที่วัด ด้วยเช่นกัน
รูปถ่ายต่างๆ ผมได้ถ่ายรูปมาเป็นบางส่วน แต่ก็ไม่ได้โพสรูปไว้ให้ชมทั้งหมดเพราะมีมากมายจริงๆ จึงได้ถ่ายคลิปวีดีโอมาให้ท่านที่สนใจได้ดูแล้วนะครับ ลองชมกันได้
ประวัติหลวงปู่ฝั้น อาจาโร พอสังเขป
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2442 ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นบุตรคนที่ 5 ของเจ้าไชยกุมาร (เม้า) ในตระกูล “สุวรรณรงค์” อดีตเจ้าเมือ พรรณานิคม มารดาของท่านชื่อ นางนุ้ย พระอาจารย์ฝั้น ครั้งวัยเยาว์ มีความประพฤติเรียบร้อย นิสัยโอบอ้อมอารี ขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค ช่วยเหลือกิจการงานของบิดา มารดา โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก
ท่านเข้าศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ และเข้าไปศึกษาต่อกับพี่เขยที่เป็นปลัดขวา ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ช่วงนั้นทีแรกท่านอยากรับราชการ แต่ต่อมาได้เห็นความเป็นอนิจจังของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ จึงได้เปลี่ยนความตั้งใจ และได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ต่อจากนั้นใน พ.ศ. 2463 จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกาย เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2468 ที่วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์
ครั้น อายุได้ 20 ปี ท่านได้อุปสมบท เป็นพระภิกษุ ณ วัดสิทธิบังคม ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดยมีพระครูป้อง เป็นอุปัชฌาย์ และเป็นผู้สอน การเจริญกรรมฐาน ตลอดพรรษาแรก ออกพรรษาแล้ว ท่านกลับมาพำนัก ที่วัดโพนทอง ซึ่งมีพระครูสกลสมณกิจ เป็นเจ้าอาวาส และวิปัสสนาจารย์ นำพระภิกษุฝั้น อาจาโร ออกธุดงคและเจริญภาวนา ในช่วงชีวิตบรรพชิตของหลวงปู่ ท่านได้ธุดงค์ยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเผยแผ่พระธรรม คำสอน จนกระทั่งเป็นที่นับถือศรัทธาของญาติโยมจำนวนมาก และได้รับการได้รับการยกย่องเป็น “อริยสงฆ์” องค์หนึ่ง
หลวงปู่ฝั้น มรณภาพ
4 มกราคม พ.ศ. 2520 ณ วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของท่าน สิริรวมอายุได้ 78 ปี 58 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงสรงน้ำศพ พระราชทานหีบทองประกอบศพ จนถึงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ได้เสด็จพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่าน
ที่มา : https://th.wikipedia.org
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com