สวัสดีครับมาพบกับ ภารกิจเที่ยววัดกันต่อ ซึ่งผมก็จะขอพาเดินทางไปยังวัดถ้ำขาม จังหวัดสกลนคร ตั้งอยู่บนภูขาม ซึ่งเป็นเขาลูกหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน … วัดแห่งนี้มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับหลวงปู่ฝั้น อาจาโร และหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งทั้ง 2 รูปท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เช่นเดียวกัน
วัดถ้ำขาม เป็นวัดที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ได้สร้างขึ้น แต่เดิมวัดแห่งนี้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2507 ท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร นอกจากนี้ยังเป็นวัดที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีได้มาจำพรรษาและละสังขาร และเป็นสถานที่เก็บรักษาอัฐิของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
ต้องบอกตามตรงเลยว่า ผมไม่เคยรู้จักวัดแห่งนี้มาก่อน แต่เนื่องด้วยบังเอิญเห็นป้ายวัดถ้ำขามระหว่างการเดินทางมาทำธุระที่จังหวัดสกลนคร จึงได้ทำการค้นหาข้อมูลเบื้องต้น และพบว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญเกี่ยวของกับพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ผมจึงไม่พลาดที่จะต้องเดินทางมายังวัดแห่งนี้ นอกจากจะเคยเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่ฝั้น อาจาโรแล้ว ก็ยังเป็นสถานที่ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสีได้มาจำพรรษาจนกระทั่งละสังขาร ณ ที่นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2537
สถานที่สำคัญของวัดถ้ำขาม
- เทสกเจดีย์ (เท-สะ-กะ-เจ-ดี) เทสรังสีอนุสรณ์ เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปประจำหลวงปู่เทสก์ และเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงปู่เทสก์ เก็บรักษาพระอัฐิธาตุและเครื่องอัฐบริขารต่างๆของหลวงปู่เทสก์
- ศาลาวัดถ้ำขาม จะมีต้นมะขามต้นหนึ่งขนาดใหญ่ภายใน และมีตู้พระไตรปิฎกรวมถึงรูปถ่ายต่างๆในอดีต
- กุฎิหลวงปู่ฝั้น รวมถึงสถานที่ปฏิบัติธรรมและละสังขารของหลวงปู่เทสก์ ซึ่งภายในจะมีเตียงที่ท่านได้ละสังขารเก็บรักษาไว้ด้วย
บรรยากาศระหว่างทาง
ระหว่างการเดินทางจะผ่านป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์พอสมควร ดูร่มเย็น และสบายใจอย่างมาก ดูห่างไกลความวุ่นวายของสังคมในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นอีกสถานที่หนึ่งสำหรับนักท่องเที่ยวที่รักความสงบ และสวยงามของธรรมชาติ
ที่วัดถ้ำขามจะมีลานจอดรถกว้างพอสมควร ซึ่งเราจะต้องเดินทางขึ้นไปด้านบนอีกราวๆ 500 เมตร แต่ความชันก็ไม่มากนะครับ สามารถเดินขึ้นได้สบายๆ
ระหว่างทางที่เดินขึ้น ก็จะได้พบกับความร่มรื่นของพันธุ์ไม้นานาพันธุ์ ได้ยินเสียงนกร้อง ได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติ ที่ยังอุดมสมบูรณ์ดี ภายในวัดจะแยกส่วนของสงฆ์ไว้ชัดเจนและติดป้ายไว้เพื่อไม่ให้ฆราวาสเข้าพื้นที่ เพราะจะเป็นการรบกวนพระสงฆ์ที่ปฏิบัติธรรม
เดินขึ้นมาสักพักถึงบริวณลานหินด้านบน และจะมองเห็นเทสกเจดีย์ และศาลาเล็กๆประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร … บรรยากาศวันที่ผมเดินทางไปค่อนข้างมีแดดแรง แต่ก็ไม่ทำให้ผมหงุดหงิดใจเลย เพราะทราบดีว่าสถานที่แห่งนี้มีความศักดิ์สิทธิ์อย่างมากจึงเต็มไปด้วยความศรัทธาที่เหลือล้น
เมื่อมาถึงลานหิน ผมจึงเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธรูปในศาลา
เมื่อผมกราบนมัสการพระพุทธรูปแล้วก็เดินไปยังเทสกเจดีย์ต่อไป
เทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์
เทสกเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่ออนุสรณ์แด่ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เรือนเจดีย์ทำเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นทรงมณฑป แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 ฐาน
ส่วนที่ 2 เรือนเจดีย์
ส่วนที่ 3 เรือนยอด
ส่วนฐาน ทำเป็นฐานเขียง 2 ชั้น ฐานชั้นแรกมีลานล้อมรอบเรือนเจดีย์ ตรงมุมฐานมีหอระฆังที่ 4 มุม มีบันไดขึ้นลงทั้ง 4 ด้าน ชั้นที่ 2 เป็นฐานรองรับตัวเรือนเจดีย์ ส่วนตัวเรือนเจดีย์ทำเป็นรูปทรงมณฑป เป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีซุ้มประตูทางเข้าในตัวองค์เจดีย์ทั้ง 4 ด้าน ภายในองค์เทศกเจดีย์จัดแสดงเครื่องอัฐบริขาร หนังสือธรรมะ สิ่งของเครื่องใช้ ผนังด้านทิศตะวันตกทั้งซ้ายและขวาจะมีรูปของท่านในท่านั่งและยืน ส่วนเรือนยอด ตั้งอยู่บนหลังคามณฑปซ้อนกัน 3 ชั้น มีคันทวยค้ำยันหลังคาทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ เรือนยอดทำเป็นรูปดอกบัวเหลี่ยมซ้อนกัน 3 ชั้น สะท้อนให้เห็นถึงศิลปะลุ่มน้ำโขงทั้งฝั่งไทยและลาว ยอดสูงสุดทำเป็นฉัตร 3 ชั้น ส่วนที่เหนือฉัตรขึ้นไปทำเป็นรูปทรงพัดยศของพระอาจารย์เทศก์ เทสรังสี สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานประกอบพิธีเปิดเทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2545
มูลกัมมัฏฐานของหลวงปู่เทสก์ ประกอบด้วย เกศา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตะโจ(หนัง)
ภายในเทสกเจดีย์ จะเป็นพิพิธภัณฑ์หลวงปู่เทสก์ เก็บรักษาเครื่องอัฐบริขารและเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่เทสก์
ผมได้เดินวนเวียนภายในเทสกเจดีย์ สักระยะหนึ่งจึงเดินลงมาเพื่อไปยังศาลาวัดถ้ำขาม ซึ่ง ณ ที่ตรงนี้ผมเคยเห็นรูปเก่าๆของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร นั่งฉันภัตตาหารตรงนี้
ภายในศาลาวัดถ้ำขาม จะมีลักษณะเป็นโขดหินผายื่นออกมาคล้ายถ้ำ และได้ทำการก่อสร้างหลังคาครอบ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมถึงรูปถ่ายเก่าๆ ของหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ หลวงตามหาบัว และอีกหลายรูป
บรรยากาศด้านในสามารถนั่งพัก่ผ่อนกันได้ และเราจะเห็นต้นมะขามต้นหนึ่งอยู่กลางศาลาซึ่งไม่ได้ตัดออก จึงน่าจะเป็นเหตุแห่งชื่อวัดถ้ำขามตรงนี้
ที่ศาลาวัดถ้ำขาม ผมได้ทำการถวายปัจจัยเพื่อเป็นสังฆทานไว้ด้วย จึงขอแบ่งบุญกุศลานี้มายังทุกท่าน ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ
หลังจากที่ผมได้กราบบูชาพระและถวายปัจจัย ผมจึงได้เดินลงไปยังกุฏิหลวงปู่ฝั้นต่อไป
ผมเดินขึ้นมายังกุฏิหลวงปู่ฝั้น ซึ่งก็เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของหลวงปู่เทสก์ด้วยเช่นกัน ได้เห็นการเก็บรักษาเตียงที่หลวงปู่เทสก์ได้ละสังขาร และอัฐิธาตุของหลวงปู่เทสก์ ภายในห้องกระจก ผมได้กราบไหว้นมัสการ ณ จุดนี้และเดินลงไปชมบรรยากาศอื่นๆ
บริเวณใกล้กับกุฏิหลวงปู่ฝั้น จะเห็นภาพสลักพระพุทธรูปปางไสยาสน์และปางสมาธิ ดูสวยงามมากครับ ซึ่งเป็นจุดสุดท้ายที่เราจะสามารถเดินเข้ามาได้ เพราะถัดจากนี้ไปจะเป็นเขตของสงฆ์ซึ่งไม่อนุญาตให้ฆราวาสเข้าไปได้
ประวัติหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พอสังเขป
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี (พระราชนิธิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฎ์) ท่านเป็นพระที่มุ่งเน้นศึกษาหลักธรรมะจากครูบาอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านถือพระอาจารย์เทกส์ เทสก์รังสี เป็นธรรมทายาทของท่าน จากการเป็นที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีเป็นที่ยอมรับ จนกระทั่งท่านเป็นเถระชั้นผู้ใหญ่ในสายพระป่า สายธรรมยุติกนิกาย ฝ่ายวิปัสนากรรมฐาน ท่านจาริกและอบรมสั่งสอนศิษย์และประชาชนทั่วไปด้วยหลักธรรมะล้วน ๆ ไม่ยึดติดกับเครื่องรางของขลัง จากหนังสือธรรมะเล่มหนึ่งชื่อ “สิ้นโลกเหลือธรรม” “โลกคือจิตของคนเรา มาหลอกลวงจิตให้หลงในสิ่งต่างๆว่าเป็นจริงเป็นจัง แต่แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงมายาเท่านั้น เกิดมาแล้วก็สลาย แตกดับไปเป็นธรรมดาของมัน” โลกอันนี้ มันหากเป็นอย่างนั้น อย่าถือว่าเป็นของเรา ถือเอาก็ไม่ได้อะไร ไม่ถือก็ไม่ได้อะไร ปล่อยวางเสียให้เป็นของโลกอยู่ตามเดิม” และท่านไม่ติดยึดในเรื่องโชคชะตา ท่านยึดหลักคำสอนและการปฏิบัติเป็นแนวทางเป็นหลัก
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เดิมชื่อ เทสก์ นามสกุล เรี่ยวแรง เกิดวันที่ 26 เมษายน 2445 ที่ตำบลกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บิดาชื่อ นายอุส่าห์ เรี่ยวแรง มารดาชื่อ นางครั่ง เรี่ยวแรง มีพี่น้อง 10 คน หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นคนที่ 9 ได้บรรพชาเป็นสามเณร 5 พรรษา
เมื่อปี พ.ศ.2461 ได้ติดตามพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ไปจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มีอายุได้ 22 ปี ได้อุปสมบทที่วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2466 มีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นกรรมวาจาจารย์ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ออกธุดงค์กับอาจารย์ของท่านคือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับพระมหาปิ่น ปัญญาพโล ซึ่งเป็นน้องชายของท่าน ออกจากจังหวัด อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ อุดรธานี และพบกับหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต และหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่บ้านค้อ อำเภอบ้านผือ เป็นครั้งแรก
ผ่านมาทางจังหวัดสกลนคร ขอนแก่น มหาสารคาม นครราชสีมา หนองคาย เชียงใหม่ ประเทศเมียนมา (พม่า) ลำพูน จันทบุรี ภูเก็ต พังงา กระบี่ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย เป็นต้น ท้ายสุดของการจาริกท่านได้มาสร้างวัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ได้อบรมสั่งสอนญาติโยมและสร้างพระอุโบสถ มณฑป ศาลาเทสรังสี หอระฆัง หอสมุด หอกลอง กุฎิเสนาสนะ เป็นต้น
และในปี พ.ศ.2537 ได้ทำบุญฉลองอายุครบ 92 ปี บริบูรณ์ ณ วัดถ้ำขาม อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร และหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ได้แสดงเจตนารมณ์ให้สาธุชนทั้งหลายได้ทราบด้วยคำปรารถในสัมโมทนียกถาเมื่อคราวทำบุญฉลองอายุ มีความตอนหนึ่งว่า “อาตมาจะขอเล่าเรื่องพระแก่องค์หนึ่ง จำพรรษาอยู่ที่วัดหินหมากเป้ง มาเป็นเวลานาน อยู่ดี ๆ ก็คิดอยากจะมาถ้ำขาม โดยที่ไม่ได้บอกให้ญาติโยมทราบโดยทั่วกัน หนีมาเฉย ๆ อย่างนั้นแหละ ต่อมาชาวจังหวัดสกลนครก็แห่กันมาเยี่ยมพระแก่บนถ้ำขาม ถามถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่มาพอทราบความแล้ว ญาติโยมชาวสกลนครจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษา ณ วัดถ้ำขาม โดยต่างรับภาระปฏิบัติอุปัฎฐากเป็นอย่างดี มีปัจจัยสี่ เป็นต้น ไม่ให้ลำบากอดอยาก คิดไปแล้วก็น่าเสียดายมาก เมื่อก่อนยังหนุ่มไปมาคล่องแคล่ว ว่องไว ทำไมถึงไม่เห็นมา นี่แก่จนป่านนี้แล้ว อบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่ประชาชนไม่ได้แล้ว จึงขึ้นมาอยู่ถ้ำขาม อย่างไรก็ตามคิดเสียว่า เป็นโชคของชาวสกลนครอีกเหมือนกันเพราะพระหนุ่มๆ มีถมไป หาดูได้ง่ายในที่ทั่วไป แต่พระแก่เช่นนี้หาดูได้ยาก… เอาเถิดไหน ๆ พระแก่องค์นั้นมาถึงที่นี่แล้ว ขอญาติโยมชาวสกลนครจงเมตตารับไว้ด้วย ดังคำผู้เฒ่าโบราณท่านพูดไว้ว่า “หามผีตกป่าช้าแล้ว ไม่ฝังก็ต้องเผา ที่จะเอากลับคืนไปบ้านอีกเป็นไม่มี เรื่องนี้ขอให้พี่น้องชาวสกลนครจงทนเอาเถิด วันหนึ่งข้างหน้าจะปรากฎความจริงให้เห็น”
หลวงปู่เทสก์ อาพาธหนักครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2537 และถึงแก่มรณะภาพด้วยอาการอันสงบ เมื่อเวลา 21 นาฬิกาเศษ ของวันที่ 17 ธันวาคม 2537 ณ วัดถ้ำขาม อ.พรรณนิคม จ.สกลนคร สิริอายุได้ 92 ปี 7 เดือน 21 วัน
บทสรุป ณ วัดถ้ำขาม
วัดถ้ำขาม เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ผมขอแนะนำสำหรับท่านที่ต้องการจะเดินทางท่องเที่ยวตามรอยพระอริยะเจ้า นอกจากจะเป็นการพักผ่อนในสถานที่อันร่มเย็นแล้ว ยังจะได้เป็นการระลึกถึงคุณของพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีงาม ซึ่งผมมั่นใจอย่างยิ่งเพราะได้รับรู้ว่าในหลวงของเราได้เสด็จนมัสการหลวงปู่เทสก์และหลวงปู่ฝั้นอีกด้วย
ประกอบกับบรรยากาศในวัดเงียบสงบและมีความ สวยงามยิ่งนัก ถ้าท่านได้เดินทางมาถึงจังหวัดสกลนครจึงไม่ควรพลาดมาท่องเที่ยวและทำบุญกัน นะครับ
แอดมินเล่าเรื่อง
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com