พาไปชมซากซุ้มพระยืนโบราณอันโดดเดี่ยว ณ วัดท่ายักษ์หรือวัดพยัคฆ์ วัดร้างนอกแผนที่ ริมคลองหัวรอ อยุธยา สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยทุกท่าน วันนี้แอดมินตั้มจะพาเดินทางไปชมพื้นที่วัดร้างนอกแผนที่แห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกชื่อกันว่า “วัดท่ายักษ์” หรือบางท่านเรียก “วัดพยัคฆ์” ตั้งอยู่ที่ ต.สวนพริก อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ติดกับคลองหัวรอหรือคลองบางขวด ก่อนถึงวัดดาวคะนองเพียง 200 เมตร
การเดินทางครั้งนี้ เพราะได้ทราบว่าพบเพียงซุ้มพระพุทธรูปโบราณเพียงซุ้มเดียวหรืออาจจะเป็นมณฑป ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยว และไม่ปรากฏในแผนที่ แต่พบว่ามีการสำรวจจากนักสำรวจต่างประเทศมาก่อนแล้วโดยใช้ชื่อว่า “วัดท่ายักษ์” ผมและทีมเดินทาง มายังวัดแห่งนี้หลายครั้ง เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงและชื่นชอบสถานที่แห่งนี้อย่างยิ่ง
ท่านที่สนใจเดินทางไปชม ให้ตั้งพิกัด Google ตามลิ้งนี้ >> https://goo.gl/maps/yM5CMcZh5oBQaoat9
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจว่าซุ้มพระโบราณนี้ยังคงแข็งแรง ตั้งอย่างโดดเดี่ยว โดยแทบไม่เห็นซากโบราณสถานโดยรอบหลงเหลืออยู่เลย พบเพียงเศษซากอิฐและกระเบื้องบางส่วนเท่านั้น
บรรยากาศโดยรวมได้เห็นถึงความแปลกตา ที่ไม่ค่อยได้เห็นกันโดยทั่วไป และมีผู้ติดต่อสอบถามเพื่อเดินทางไปชมอย่างมากมาย
ปัจจุบันนี้ สำนักศิลปากร เขต 3 ได้เข้าพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทำการศึกษาเพื่อทำประวัติวัดแห่งนี้แล้วครับ
เพื่อให้บทความมีเนื้อหาสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผมจึงได้ติดต่อ ดร.ฉันทัส เพียรธรรม อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เพื่อการสันนิษฐานรูปแบบศิลปกรรมของวัดแห่งนี้ ซึ่งอาจารย์ได้เดินทางไปยังสถานที่จริงและสเก็ตภาพสันนิษฐานให้ไว้ด้วยครับ
ข้อสันนิษฐาน โดย ผศ.ดร.ฉันทัส เพียรธรรม
ดร.ฉันทัส ได้ให้ข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับศิลปกรรมไว้ดังนี้
วัดท่ายักษ์หรือวัดพยัคฆ์เหลือสิ่งก่อสร้างที่เป็นห้องมณฑปก่อเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยมีร่องรอยการต่อเติมเป็นทางเดินซุ้มวงโค้งแต่ว่าทางเดินทั้ง 3 ข้างนั้นพังไปแล้วทำให้เหลือแต่แกนมณฑป
ด้านบนของมณฑกมีร่องรอยการต่อยอดเป็นเครื่องบนไม่ทราบว่าด้านบนนั้นจะมียอดเป็นอย่างไรแต่ว่ามีชุดฐานที่ปรากฏว่าพยายามจะต่อเป็นเครื่องบนแน่นอน
ภายในมณฑป ปรากฏพระพุทธรูปยืนเป็นแบบยกพระหัตถ์เป็นปางประทานอภัย
สิ่งก่อสร้างที่เหลืออยู่นี้ต้องบอกว่ามีลักษณะที่แปลก ไม่ปรากฏในวัดอื่นเลยทั้งในพระนครศรีอยุธยาหรือว่าเมืองสำคัญ แม้กระทั่งในสุโขทัยเองก็ตาม เป็นไปได้ว่า ผู้สร้างพยายามจะเลียนคติ ที่พบในพุกาม นั่นก็คือเป็นคติการสร้างพระยืนอยู่ในเจดีย์วิหารแล้วก็มีทางเดินประทักษิณซึ่งเดินได้โดยรอบ โดยมีทางเข้าหลักอยู่ทิศตะวันออกเพื่อให้สาธุชนไปกราบสักการะบูชาเสร็จแล้วจึงเดินเวียนเทียน
สำหรับสิ่งก่อสร้าง ผู้สร้างอาจตั้งใจจะให้กราบพระทางด้านหน้าจากนั้นก็สามารถที่จะเดินทักษิณาวรรตได้โดยรอบ อย่างไรก็ดีเนื่องจากว่าเป็นสิ่งก่อสร้างมีขนาดเล็กเพราะฉะนั้นจึงทำทางเดินได้เพียง 3 ด้าน ทางด้านหน้าไม่สามารถทำเป็นทางเดินได้
บริเวณช่องเจาะทั้งสองข้างยังพบร่องรอยรูคานของเครื่องไม้ที่คาดว่าจะเป็นประตูทั้งด้านซ้ายและทางด้านขวา ดังนั้นจึงเป็นการจำลอง หรือ ถ่ายแบบมาอย่างง่ายเท่านั้น
นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติบริเวณพื้นที่ทางด้านหน้ามณฑป ควรจะมีหลังคาคลุมด้วย เพื่อให้สะดวกต่อการกราบไหว้สักการะ เป็นไปได้ว่าจะมีอาคารวิหาร ขนาดเล็กที่สร้างด้วยเครื่องไม้คลุมไปทางด้านหน้าอีกทีนึง
โบราณสถานนี้กำหนดได้เพียงคร่าวๆว่าสร้างในสมัยอยุธยา เนื่องจากว่ามีร่องรอยของการต่อเติมบูรณะ จึงเป็นไปได้ว่าอาจมีมาแล้วในสมัยพุทธศตวรรษที่ 20-21 จากนั้นจึงต่อเติมอีกครั้งหนึ่งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 22 และ 23
โดยเกิดจากกลุ่มคนที่อพยพเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ อาจเป็นกลุ่มคนที่เคยอยู่ในพม่ามาก่อน ทำให้คุ้นชินกับคติและรูปแบบศิลปกรรมที่เคยสร้างในพม่า
บทสรุป
วัดท่ายักษ์หรือวัดพยัคฆ์ เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่มีความแปลกตา แม้แต่นักประวัติศาสตร์หลายท่านก็กล่าวถึงเช่นกัน ท่านที่สนใจเดินทางไปชม สามารถเดินทางตามตำแหน่งที่ผมได้กล่าวมาแล้วข้างต้นครับ
สุดท้ายนี้ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ
ช่องทางการติดตาม
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด