วัดเตาเหล็ก ฉะเชิงเทรา จิตรกรรมฝาผนังโบราณสมัยรัชกาลที่ ๓

By | May 26, 2018


https://youtu.be/mZ4-3XBzRyU

วัดเตาเหล็ก ฉะเชิงเทรา จิตรกรรมฝาผนังโบราณสมัยรัชกาลที่ กราบหลวงพ่อสบู่ พระเกจิชื่อดังในอดีต… สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังวัดเตาเหล็ก จังหวัดฉะเชิงเทรา วัดแห่งนี้มีความน่าสนใจก็คือ มีโบสถ์เก่าที่สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีภาพจิตรกรรมเขียนสีใช้เทคนิคเขียนสีแบบเฟรสโก คือการเขียนภาพในขณะที่ปูนยังเปียกอยู่ อีกทั้งเราจะได้กราบสังขารหลวงพ่อสบู่ พระเกจิชื่อดังในอดีตแห่งวัดเตาเหล็กอีกด้วย

อุโบสถเก่าวัดเตาเหล็ก

เมื่อมาถึงจะเห็นอุโบสถหลังเก่าตั้งอยู่ใกล้ริมน้ำคลองท่าลาด มีขนาดเล็กบนพื้นที่ที่ได้รับการบูรณะปูพื้นกระเบื้อง

อุโบสถหลังเก่า ลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนขนาด 3 ห้อง ค่อนข้างแคบและยกฐานสูง หันหน้าทางทิศตะวันออก หลังคาทรงจั่วลดชั้น ลักษณะดูเรียบง่ายคล้าย “สิม” ในศิลปะล้านช้าง ผนังอุโบสถทั้งด้านนอกและด้านในมีภาพจิตรกรรมและประติมากรรม

ผนังภายนอกข้างซุ้มประตูมีภาพนางเมขลาล่อแก้วและรามสูรขว้างขวาน กึ่งกลางระหว่างช่องประตูมีประติมากรรมนูนสูงรูปเจ้าชายสิทธัตถะประทับยืนถือพระขรรค์ตัดพระเมาลี

ผนังด้านข้างเป็นภาพจิตรกรรมบรรยายเรื่องราวในพุทธประวัติซึ่งมีร่องรอยการเขียนทับบนจิตรกรรมเดิม ส่วนผนังด้านในอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรมบรรยายวิถีชีวิตชาวบ้านและภาพสัตว  ซึ่งน่าจะแสดงถึงขบวนอพยพของชาวลาวในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  สันนิษฐานว่าจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถจะเขียนขึ้นใกล้เคียงกับการสร้างอุโบสถ ภายประดิษฐานพระพุทธรูป พระนามว่า “พระทศพลดลศรีเวียงวโรดม” หรือชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อหลวง

อุโบสถหลังเก่า

ด้านหน้าอุโบสถหลังเก่า

ผนังภายนอกข้างซุ้มประตูมีภาพนางเมขลาล่อแก้วและรามสูรขว้างขวาน กึ่งกลางระหว่างช่องประตูมีประติมากรรมนูนสูงรูปเจ้าชายสิทธัตถะประทับยืนถือพระขรรค์ตัดพระเมาลี

จิตกรรมด้านนอก

จิตกรรมด้านนอกในกรอบด้านบน และลวดลายหน้าต่าง ที่เห็นภาพสีชัดเจนนั้น ได้ถูกเขียนเพิ่มเติมลงไปในภายหลังบนจิตรกรรมเดิม ซึ่งได้เขียนขึ้นมาพร้อมการบูรณะอุโบสถหลังนี้ ราวปี พ.ศ.2494

จิตรกรรมผนังด้านนอกที่ยังหลงเหลือ

จิตกรรมด้านนอกที่ยังหลงเหลือ

ผนังด้านนอกอุโบสถ ยังพอหลงเหลือภาพจิตรกรรมที่สันนิษฐานว่าเขียนขึ้นมาในเวลาใหล้เคียงกับการสร้างอุโบสถ แต่เลือนลางเต็มที

ภายในอุโบสถหลังเก่า

ภายในอุโบสถหลังเก่า ประดิษฐานพระพุทธรูป พระนามว่า “พระทศพลดลศรีเวียงวโรดม” หรือชาวบ้านเรียกว่า “หลวงพ่อหลวง

ภาพจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถ

ภาพจิตกรรมฝาผนังด้านในอุโบสถ

ภาพจิตกรรมฝาผนังในอุโบสถ จะเหลือให้เห็นชัดเพียงด้านเดียว เป็นภาพสัตว์และวิถีชีวิตซึ่งน่าจะเป็นภาพการอพยพของชาวลาวในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

ภาพจิตรกรรมฝาผนังอุโบสถอีกด้านที่ไม่หลงเหลือแล้ว

เมื่อเดินออกมาจากในอุโบสถ เราจะมองเห็นเจดีย์ 1 องค์ ซึ่งถ้ามองเผินๆคงไม่ได้ใส่ใจอะไร แต่จากศิลปะพบว่ามีอิทธิพลจากศิลปะล้านช้าง อีกทั้งเป็นเจดีย์เก่าคู่วัดที่สันนิษฐานว่าสร้างมาพร้อมอุโบสถ

เจดีย์เก่า

เจดีย์เก่านี้ มีลักษณะก่ออิฐถือปูน ทรงดอกบัวเหลี่ยม อิทธิพลศิลปะล้านช้าง ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างในเวลาใกล้เคียงกับอุโบสถ

ภาพเจดีย์เก่า ก่อนการบูรณะ

จากนั้นผมได้เดินไปยังศาลาของวัด เป็นสถานที่เก็บสังขารหลวงพ่อสบู่ พระเกจิชื่อดังในอดีตแห่งชุมชนนี้

โลงแก้วบรรจุสังขารหลวงพ่อสบู่

สังขารหลวงพ่อสบู่

เมื่อกราบหลวงพ่อสบู่เป็นที่เรียบร้อย ผมได้พบกับท่านเจ้าอาวาส วัดเตาเหล็ก ซึ่งได้บอกกล่าวเรื่องราวของวัดมากมายให้ได้รับฟัง รวมถึงแจ้งว่า จะมีการจัดงานบุญประจำปีปิดทองหลวงพ่อสบู่ปีละครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์

หลวงพ่อสบู่

เจ้าอาวาสได้บอกกล่าวว่า มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกองค์หนึ่งคือ หลวงพ่อสัมฤทธิ์ เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ ที่ชาวลาวอพยพอัญเชิญมาจากเวียงจันทร์ ตั้งแต่สร้างวัดแห่งนี้

หลวงพ่อสัมฤทธิ์

ภาพเก่าหลวงพ่อสัมฤทธิ์

จากนั้นท่านเจ้าอาวาสได้นำภาพเก่ามาให้ดูมากมายอีกทั้ง ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวัดเตาเหล็กให้ฟังดังนี้

วัดเตาเหล็กสร้างเมื่อ พ.ศ.2367 บนที่ดิน 3 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา  เดิมมีชื่อว่า วัดศรีธาตุ  มีเรื่องเล่าว่าชาวบ้านได้อพยพมากจากบ้านล้านช้าง ที่เมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์

เมื่อตั้งบ้านเรือนเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างวัดประจำหมู่บ้าน และได้อัญเชิญพระพุทธรูปประจำวัดที่ได้นำมาจากการอพยพมาประดิษฐานไว้ คือหลวงพ่อสัมฤทธิ์

เจ้าอาวาส วัดเตาเหล็ก

วัดเตาเหล็ก เป็นวัดในชุมชน ที่แอบซ่อนความสวยงามและเรื่องราววัฒนธรรมที่น้อยคนจะทราบถึง จึงเป็นอีกหนึ่งแห่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแห่งลุมน้ำคลองท่าลาด จึงขอเรียนเชิญทุกท่านที่ได้มีโอกาสเดินทางมาถึง อำเภอพนมสารคาม อำเภอราชสาส์น จ.ฉะเชิงเทรา มาแวะเที่ยวชมและกราบสักการะพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ครับ…

ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com