ตามรอยหาสมบัติ วัดพระยาไกร วัดร้างและสาบสูญสู่ศูนย์การค้าเอเชียทีค
หลายท่านคงทราบว่า เอเชียทีค ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา กรุงเทพฯ เคยเป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่ง ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นก็คือ “วัดพระยาไกร” ปัจจุบันได้กลายเป็นวัดที่สาบสูญ หลงเหลือเพียงชื่อ สถานที่ต่างๆ เช่น แขวงวัดพระยาไกร ชุมชนตลาดเก่าวัดพระยาไกร และสถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร ความทรงจำในอดีต ได้สะท้อนให้เห็นที่หน้าสถานีตำรวจ มีการจำลองพระพุทธรูปแบบสุโขทัยที่เคยเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดพระยาไกรไว้อีกด้วย จากหนังสือถนนเจริญกรุง ได้อธิบายเรื่องราววัดพระยาไกรไว้ว่า มีอีกชื่อหนึ่งคือ “วัดโชตนาราม” ด้วยเหตุที่ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี (บุญมา) เป็นผู้สร้าง โดยตั้งใจจะถวายเป็นวัดหลวงในสมัยรัชกาลที่ 3 ภายหลังได้รับพระราชทานราชทินนามที่ “พระยาไกรโกษา” วัดแห่งนี้จึงเรียกอีกชื่อว่า “วัดพระยาไกร” ความรับรู้เรื่องราวในอดีต เกี่ยวกับวัดพระยาไกร ได้สะท้อนความงดงามผ่านพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ได้กล่าวในหนังสือราชการตอนหนึ่งว่า “…ส่วนวัดโชตนารามนั้น พระยาไกรผู้สร้างได้ทำเป็นการใหญ่โต ฝีมือประณีต บรรจงเลียนแบบอารามหลวง เหลือที่คนภายหลังจะซ่อมรักษาไว้ได้ และอยู่ในหมู่การค้าของคนต่างประเทศด้วย…” พระยาอนุมานราชธน ได้กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของวัดพระยาไกรว่า “… วัดนี้ขณะยังไม่ร้าง มีโบสถ์สูงตระหง่านกว่าวัดอื่นๆ ในละแวกนั้น เรือที่ผ่านตามลำน้ำเจ้าพระยามาย่านนี้ จะเห็นหลังคาโบสถ์มาแต่ไกล…” ทุกสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรคงทนถาวร และวัดพระยาไกรก็เช่นกัน ภายหลังที่ผู้สร้างวัดถึงแก่กรรม ก็ไม่มีทายาทที่พอจะมีกำลังในการดูแลรักษา ประกอบกับวัดยังไม่ได้รับเข้าเป็นพระอารามหลวง เมื่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ 5 จึงทรุดโทรมหนัก และมีกรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินหลวงอีกด้วย จนกระทั่งปี 2440 ทางราชการจึงให้สิทธิ์เช่าพื้นที่วัดพระยาไกร แก่บริษัทอีสต์ เอเชียติค… Read More »