วัดสุวรรณดาราราม อยู่ในเกาะเมืองอยุธยาด้านทิศตะวันออกค่อนลงมาทางใต้ ใกล้ป้อมเพชร เป็นวัดเก่าแก่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย สถาปนาขึ้นโดยพระสุนทรอักษร(ทองดี) พระชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณอันเป็นนิวาสสถานเดิมของตระกูล มีชื่อเดิมว่า “วัดทอง”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสีหนาท พระอนุชาได้ทรงร่วมกันบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้และโปรดเกล้าฯ ถวายนามวัดใหม่ว่า “วัดสุวรรณดาราราม” และถือเป็นวัดประจำราชวงศ์จักรีอีกด้วย
สิ่งก่อสร้างในวัดได้มีการสร้างเพิ่มเติมในสมัยรัชกาลที่ ๔ และปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ ๗ ในคราวสมโภชกรุงเทพฯ ครบ ๑๕๐ ปี
ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหาร
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในวิหารเป็นภาพสีน้ำมันเกี่ยวกับพระราชพงศาวดารของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเขียนตามช่องว่างระหว่างประตูและหน้าต่างช่องละตอน
ภาพจิตรกรรมเขียนโดยพระมหาเสวกตรีพระยาอนุศาสน์จิตรกร เขียนขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ โดยใช้เทคนิคจิตรกรรมทางตะวันตกเข้ามาประยุกต์ใช้ร่วมกับจิตรกรรมไทยและเชื่อว่าเป็นจิตรกรรมสีน้ำมันบนฝาผนังปูนแห่งแรกในประเทศไทย
พระวิหารเป็นอาคารที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะที่หน้าบันมีตราพระมหาพิชัยมงกุฎซึ่งเป็นตราประจำรัชกาล ลักษณะของตัวอาคารเลียนแบบจากพระอุโบสถ เพยงแต่ฐานพระวิหารไม่แอ่นท้องสำเภาเหมือนพระอุโบสถ
ภายในพระวิหารมีภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เขียนขึ้นในคราวบูรณปฏิสังขรณ์สมัยรัชกาลที่ 7 จิตรกรผู้วาดคือ พระยาอนุศาสนจิตรกร(จันทร์ จิตรกร)
ผนังที่ ๑ : เมื่อพ.ศ.๒๑๐๘ พระองค์ดำ(พระนเรศวร) พระชันษา ๑๓ ปี เล่นกระบี่กระบองกับมังสามเกียดต่อหน้าพระเจ้าหงสาวดี(บุเรงนอง) ณ เมืองหงสาวดี
ผนังที่ ๒ : พระนเรศวรเสด็จมาจากพิษณุโลก ทรงทราบว่าพระยาจีนจันตุลงสำเภาหนีจากพระนคร เสด็จทรงเรือกราบไล่ตามไปถึงปากน้ำเจ้าพระยา แต่เรือสำเภาออกน้ำลึกได้ จึงตามไม่ทัน พ.ศ.๒๑๑๖
ผนังที่ ๓ : พระนเรศวรตีเมืองคัง เมื่อพ.ศ.๒๑๒๑ พระชันษา ๒๓ ปี พลกองใหญ่ของพระนเรศวร ขึ้นทางด้านข้างตีเมืองแตกและจับตัวพระเจ้าฟ้าเงี้ยวเมืองคังได้
ผนังที่ ๔ : พระนเรศวรเมื่ออยู่เมืองหงสาวดี เล่นชนไก่กับมังสามเกียด มังสามเกียดว่า “ไก่เชลยเก่ง” พระนเรศวรตอบว่า “ไก่เชลยตัวนี้จะพนันเอาเมืองกันก็ยังได้ – เป็นการประชดซึ่งกันและกัน พ.ศ.๒๑๒๑ พระชันษา ๒๓ ปี
ผนังที่ ๕ : พระนเรศวรทรงประกาศอิสระ พ.ศ.๒๑๒๗ ประชุมนายกองที่พลับพลา ต่อหน้าพระสงฆ์และพวกมอญแล้วทรงหลั่งทักษิโณทกให้ตกเหนือพื้นดิน ประกาศอิสรภาพของประเทศสยาม
ผนังที่ ๖ : พระนเรศวรเตรียมสู้ศึกหงสาวดี พ.ศ. ๒๑๒๗ เสด็จยกกองทัพขึ้นไปตีเมืองสวรรคโลก เมื่อเสด็จไปถึงเมืองสุโขทัย ชาวเมืองต่างพากันมาที่วัดฤาษีชุม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธอจนะแล้วถือน้ำพระพิพัฒน์
ผนังที่ ๗ : พระนเรศวรตีค่ายพระเจ้าเชียงใหม่ ที่บ้านสระเกษ จังหวัดอ่างทอง พ.ศ.๒๑๒๘ ทัพเชียงใหม่แตกยับเยินได้เครื่องราชูปโภคของพระเจ้าเชียงใหม่และช้าง ม้า เป็นอันมาก
ผนังที่ ๘ : พระนเรศวรทรงพาทหารรักษาพระองค์และเอาพระองค์ออกนำหน้าทรงคาบพระแสงดาบขึ้นปล้นค่ายพระเจ้าหงสาวดี แต่พวกพม่าต่อสู้ป้องกันไว้ พ.ศ.๒๑๒๘ พระชันษา ๓๑
ผนังที่ ๙ : ลักไวทำมูให้พวกพลล้อมพระนเรศวรไว้จะเข้าจับ พระนเรศวรเอาพระแสงทวนแทงลักไวทำมูตาย พ.ศ.๒๑๒๙
ผนังที่ ๑๐ : พระนเรศวรบรรทมหลับสนิท ณ พลับพลาค่ายหลวง ตำบลป่าโมก ทรงสุบินนิมิตว่า ลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่จะทำร้ายพระองค์ และพระองค์ทรงประหารจระเข้ตัวนั้น โหรทำนายว่า จะทรงชนะศึกหงสาวดี, พ.ศ.๒๑๓๘ พระชันษา ๓๗
ผนังที่ ๑๑ : สมเด็จพระนเรศวร เสด็จยกกองทัพหลวงไปตีกรุงกัมพูชา ได้เมืองละแวก ทรงทำปฐมกรรมแล้วให้ต้อนครัวเชลยกลับ พ.ศ.๒๑๓๖
ผนังที่ ๑๒ : พระยาตองอู พาพระเจ้าหงสาวดีหนีไปอยู่เมืองตองอู เผาเมืองหงสาวดีเสีย พระนเรศวรได้เมืองหงสาวดีภายหลัง จึงเสด็จไปนมัสการพระมุตาวแล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประทับ ณ ค่ายสวนหลวง พ.ศ.๒๑๔๒
ผนังที่ ๑๓ : สมเด็จพระนเรศวรล้อมตีเมืองตองอู คูเมืองกว้างลึกมากให้ขุดคลองระบายน้ำออก พม่าเรียกว่า “คลองสยาม” จนถึงทุกวันนี้ ทัพกรุงขาดเสบียงจึงอย่าทัพ พ.ศ.๒๑๔๒
ผนังที่ ๑๔ : พระเจ้าหงสาวดีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าอังวะจึงตั้งตัวเป็นใหญ่ ขยายอำนาจมาทางเมืองเงี้ยวที่มาขึ้นอยู่กับเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวรจึงเสด็จยกทัพขึ้นไปทางเมืองเชียงใหม่หมายจะตีเมืองอังวะ ไปประชวรสวรรคตที่เมืองหาง สมเด็จพระเอกาทศรถจึงเชิญพระบรมศพมาสู่พระนคร พระชันษา ๔๙, พ.ศ.๒๑๔๗
ผนังที่ ๑๕ : พระเจ้านันทบุเรงทรงให้พระมหาอุปราชาพร้อมด้วยมังจามโร ยกกองทัพปราบปรามกรุงศรีอยุธยาเพื่อแก้มือ สมเด็จพระนเรศวรและพระเอกาทศรถจึงเคลื่อนทัพ เมื่อกองทัพปะทะกันหลังจากฝุ่นจางลง ทรงเห็นว่าเสียเปรียบจึงใช้วิธีท้าทายให้พระมหาอุปราชาออกมากระทำยุทธหัตถี หลังจากนั้นพระองค์ทรงมีชัยเหนือพระมหาอุปราชาและมังจามโร
ทั้งหมดนี้ คือภาพจิตรกรรมสวยงามที่เขียนขึ้นโดย พระมหาเสวกตรีพระยาอนุศาสน์จิตรกร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ โดยที่วัดสุวรรณดารามมีสถูปบบรจุอัฐิของท่านตั้งอยู่หลังวัดด้วยครับ
หลังจากเที่ยวชมวัดสุวรรณดารารามแล้ว อย่าพลาดแวะรับประทานอาหารด้านหน้าคือ “ร้านก๋วยเตี๋ยวผักหวาน” เป็นร้านอาหารขึ้นชื่อของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยเมนูผักหวานที่หลากหลาย เช่น ก๋วยเตี๋ยวผักหวาน ยำผักหวาน ผัดไทยผักหวาน และทุกๆเมนูสามารถใส่ผักหวานได้ อย่าพลาดไปชิมกันนะครับ ราคาไม่แพงและอร่อย
คลิปทานขนมกง หน้าวัดสุวรรณดาราราม ช่องยูทูป LoveThaiVariety
สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ แอดมินตั้ม
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน