Faiththaistory.com

วัดสิงห์ปากน้ำ วัดร้างในชุมชนญี่ปุ่นสมัยอยุธยา พระพุทธรูปโบราณแบบอู่ทองเก่าแก่มาก

YouTube Poster

https://youtu.be/z2i3WBQXd0g

ขณะนี้เรากำลังอยู่ที่วัดสิงห์ปากน้ำ เป็นวัดร้างตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเรียน อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ใกล้กับหมู่บ้านญี่ปุ่น ซอยทางเข้าเดียวกับสมาคมมวยไทยนายขนมต้ม

ตำแหน่งวัดสิงห์ปากน้ำ

ปัจจุบันวัดสิงห์ปากน้ำมีสภาพพื้นที่ล้อมรอบด้วยบ้านเรือน ก่อสร้างศาลาและนำเศษซากพระพุทธรูปหินทรายหลายองค์มาประดิษฐานรวมกันไว้ด้านบน มีพระพุทธรูปหินทรายองค์หนึ่งมีขนาดใหญ่ และมีพระเศียรอยู่ด้วย ผมจึงได้ส่งรูปให้อาจารย์ฉันทัสดู ซึ่งอาจารย์ให้ทัศนะว่า เป็นเศียรพระพุทธรูปหินทรายที่มีความเก่าแก่มาก เป็นแบบศิลปะอู่ทองรุ่นที่ 2

ซอยเข้าไปวัดสิงห์ปากน้ำ

ผมจึงได้ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งได้กล่าวถึงพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองไว้ว่า ศิลปะพระพุทธรูปอู่ทองนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เป็นรอยต่อระหว่างศิลปะสุโขทัยและศิลปะอยุธยา มีอายุอยู่ในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 18 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 20  เป็นศิลปะที่คลี่คลายมาจากการผสมผสานระหว่างศิลปะแบบทวารวดีกับศิลปะขอม

ศาลาบนพื้นที่วัดสิงห์ปากน้ำ

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปศิลปะอู่ทองไว้ว่า มีลายเส้นคร่ำเคร่งและตึงเครียด มีลายเส้นขนาดใหญ่ เป็นอาการแสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ยังมีอำนาจแห่งจิตที่จะเอาชนะกิเลส ตัณหา และค้นหาทางหลุดพ้น

ตามที่อาจารย์ฉันทัสได้กล่าวไว้ว่า เป็นลักษณะของพระพุทธรูปศิลปะอู่ทอง รุ่นที่ 2 จะมีพัฒนาการคลายความเคร่งขรึมที่พระพักตร์ลง มีลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญมากขึ้น ซึ่งศิลปะอู่ทองรุ่น 1 จะมีความเคร่งขรึมมากกว่า

ซากพระพุทธรูปหินทราย

เราสามารถแบ่งพระพุทธรูปแบบอู่ทองได้ดังนี้

พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 1 หรืออู่ทองหน้าแก่ พบในเขตเมืองสรรคบุรี จ.ชัยนาท มีพระพักตร์เหลี่ยม พระนลาฏกว้าง เม็ดพระศกคมชัด ความกว้างของพระนลาฏรับกับแนวพระขนงที่ต่อกันคล้ายปีกกา พระหนุป้านเป็นอย่างที่เราเรียกว่า คางคน

พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 2 หรืออู่ทองหน้ากลาง จะมีพัฒนาการคลายความเคร่ง ขรึมที่พระพักตร์ลง มีลักษณะคล้ายมนุษย์สามัญมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงการค่อยๆ ลดอิทธิพลทางศิลปะแบบขอมลง ตัวอย่างเช่น หลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง จ.พระนครศรีอยุธยา

พระพุทธรูปอู่ทอง รุ่น 3 หรืออู่ทองหน้าหนุ่ม มีอิทธิพลของศิลปะสุโขทัยมากขึ้น พระพักตร์รูปไข่ พระนลาฏแคบ พระวรกายเพรียวบางครั้งพบในลักษณะแข้งคมเป็นสัน เรียกว่า แข้งสัน พบมากในกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)

เคยมีการขุดสำรวจบริเวณวัดสิงห์ปากน้ำ โดยกรมศิลปากร ใน พ.ศ.2476 พบเศียรพระพุทธรูป 44 องค์ พระพุทธรูปองค์เล็ก 21 องค์ โซ่เหล็ก มีด โม่หิน กระทะ เหรียญอันนัม ชิ้นส่วนดาบ เสื้อเกราะและพระโพธิสัตว์แบบเตาซาซุมะ ซึ่งเป็นหลักฐานการตั้งรกรากของชาวญี่ปุ่นในบริเวณนี้ในสมัยอยุธยาอีกด้วย

ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในการท่องเที่ยววัฒนธรรมในบทความต่อไปครับ…แอดมินตั้ม

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม เที่ยววัด โบราณสถาน ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

 

Exit mobile version