Faiththaistory.com

วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) หลวงปู่หาผู้พบกระดูกไดโนเสาร์จากนิมิต

https://youtu.be/C_dZs5c0PU8

วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) กาฬสินธุ์ หลวงปู่หา (หลวงปู่ไดโนเสาร์) ผู้พบกระดูกไดโนเสาร์จากนิมิต… สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยความศรัทธา ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังวัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) เพื่อไปกราบหลวงปู่หา สุภโร ที่ชาวบ้านต่างขนานท่านว่าหลวงปู่ไดโนเสาร์ เนื่องจากมีเรื่องราวเล่าขานว่าท่านเป็นผู้นิมิตเห็นไดโนเสาร์จนเกิดการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ในเวลาต่อมา

การเดินทางของผม เดินทางเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2561 ถือเป็นวัดแรกแห่งปีของแอดมินครับ จากเดิมที่เดินทางท่องเที่ยวตามรอยสถานที่ ที่มีเรื่องราวหลักร้อยหลักพันปี แต่ครั้งนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางตามรอยหลักล้านปีเลยครับ

พระอุโบสถ

การเดินทางจะเห็นภูกุ้มข้าวมาแต่ไกล จนกระทั่งมาถึงวัด… วัดมีลานกว้างสำหรับจอดรถ และเบื้องหน้าที่เห็นชักเจนคือพระอุโบสถหลังเล็กๆสีทองสวยงาม

พระอุโบสถ ณ เชิงเขาภูกุ้มข้าว

เวลาที่ผมเดินทางมาถึงวัดเป็นช่วงเวลาใกล้เพล ซึ่งหลวงปู่หา (หลวงปู่ไดโนเสาร์) จะออกรับญาติโยม ผมจึงเข้าไปกราบท่านก่อนที่จะชมสถานที่

หลวงปู่หา สุภโร (หลวงปู่ไดโนเสาร์)

ผมได้ถามโยมอุปัฏฐากหลวงปู่หา ทราบว่าสามารถเข้ามากราบหลวงปู่ได้ช่วงเวลาเพล และหลังฉันภัตตาหารได้ทุกวัน ทั้งนี้ให้ติดต่อสอบถามผู้อุปัฏฐากที่วัดครับ

รูปที่ผมถ่ายหลวงปู่หาดูมืดเพราะถ่ายย้อนแสง ขออภัยท่านผู้อ่านด้วยครับ ผมได้เข้าไปกราบหลวงปู่หาและถวายปัจจัยเพื่อบำรุงพระศาสนา จากนั้นหลวงปู่หาท่านได้มอบซีดีธรรมะ วัตถุมงคลและฉีดน้ำมนต์ให้ด้วยครับ

จากนั้นได้เข้าไปกราบขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความเก่าแก่ได้รับความศรัทธาคู่วัดสักกะวันมายาวนาน คือหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล

กราบหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล

หลวงพ่อบันดาลฤทธิผล

หลวงพ่อบันดาลฤทธิผล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า หลวงพ่อบ้านด่าน เป็นพระพุทธรูปโบราณปางมารวิชัย สมันทวาราวดี เดิมประดิษฐานอยู่ริมบึงโดน อำเภอสหัสขันธ์ สมัยนั้นยังเป็นป่าไม่มีหมู่บ้าน

พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่ริมบึงโดนเป็นเวลายาวนาน จนถึงช่วงเวลาการสร้างเขื่อนลำปาวในปี พ.ศ. 2510 จึงได้มีการปิดกั้นเขื่อนลำปาว ทำให้น้ำเอ่อขึ้นไปท่วมบริเวณที่หลวงพ่อประดิษฐานอยู่ พระญาณวิสาลเถรหรือหลวงปู่หา สุภโร ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดกาฬสินธุ์ และนายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยพ่อค้าประชาชนชาวอำเภอสหัสขันธ์พากันไปนิมนต์หลวงพ่อไปประดิษฐานที่วัดสักกะวัน เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2510

และเมื่อก่อตั้งอำเภอสหัสขันธ์ ประชาชนแถวนั้นก็พากันกราบไหว้บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียนมีลายแทงแต่เขียนเป็นหนังสือขอม (มีเนื้อความว่าหลวงพ่อบันดาล) ตัวหนังสือขอมไม่มีไม้เอกไม้โท คนสมัยนั้นแปลกันไม่ออก ก็พากันเรียกว่าหลวงพ่อบ้านด่าน ชาวสหัสขันธ์เคารพนับถือบูชาเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาสงกรานต์ ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน และชาวบ้านต่าง ๆ หรืออยู่ในเขตอำเภอสหัสขันธ์ก็พากันประกอบพิธีบูชาสรงน้ำและปิดทองเป็นประจำตลอดมา

กระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่หลวงปู่หานิมิตเห็น

กระดูกไดโนเสาร์ขนาดใหญ่ที่หน้าวิหารหลวงพ่อบันดาลฤทธิผล เป็นกระดูกไดโนเสาร์ชิ้นแรกที่หลวงปู่หาค้นพบ

และที่ไม่พลาดสำหรับผมก็คือ วัตถุมงคลหลวงปู่หา ที่ผมได้เช่าบูชาไว้บ้าง

วัตถุมงคลหลวงปู่หา

วัตถุมงคลหลวงปู่หา

เมื่อทำการบูชาวัตถุมงคลแล้ว จุดต่อไปที่ผมไปชมก็คือ อาคารพระญาณวิสาลเถร พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ซึ่งเป็นอาคารครอบหลุมขุดค้นซากกระดูกไดโนเสาร์ นั่นเอง

หุ่นไดโนเสาร์ในวัด

ในวัดสักกะวันจะมีการสร้างหุ่นไดโนเสาร์ไว้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ของวัดสักกะวัน ที่มีการค้นพบซากไดโนเสาร์แถบภูกุ้มข้าวนี้

อาคารพระญาณวิสาลเถร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมหลุมขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2538

อาคารพระญาณวิสาลเถรเป็นอาคารสร้างครอบหลุมขุดค้นซากไดโนเสาร์

ในอาคารพระญาณวิสาลเถร

ในอาคารพระญาณวิสาลเถร

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมหลุมขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว

ซากกระดูกไดโนเสาร์ที่ค้นพบ

ซากกระดูกไดโนเสาร์ที่ค้นพบ

ภายในอาคารพระญาณวิสาลเถร

การจัดแสดงภายในอาคารพระญาณวิสาลเถร ถือว่าจัดไว้ได้ดีมากเลยครับ มีความรู้ให้ได้ศึกษาเหมาะกับทุกเพศทุกวัย … สำหรับผมถือว่าตื่นตาตื่นใจพอสมควร เพราะไม่เคยชมซากกระดูกไดโนเสาร์มาก่อนเลยครับ

ตำนานการค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ ณ ภูกุ้มข้าว

เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 หลวงปู่หาได้พาภิกษุสามเณรในวัดพัฒนาถนนรอบภูเขามาหลายวัน เมื่อไปถึงจุดซากไดโนเสาร์ ไม่นึกว่าจะเป็นกระดูกไดโนเสาร์ เข้าใจว่าเป็นต้นไม้กลายเป็นหินเรี่ยราดอยู่ตามเขายาวประมาณ 10 เมตร เข้าใจว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ หลวงปู่หาก็เลยหยิบถือเอากระดูกหนักประมาณ 6 กิโลกรัม มาเก็บไว้ที่ศาลา

ในช่วงปี พ.ศ.2535 หลวงปู่หาได้ขึ้นไปนั่งวิปัสสนาอยู่หลังเข้าภูกุ้มข้าว วันนั้นเป็นวันฝนตกหนัก ท่านได้ปรากฏเห็นนิมิตสัตว์ชนิดหนึ่งคอยาวๆ เล่นน้ำในสระน้ำใหญ่ที่วัด ไม่นานมันก็หายไป

จนมาปี พ.ศ.2536 ได้นิมิตเห็นอีกครั้ง และปีพ.ศ.2537 ตอนเข้าพรรษาก็นิมิตเห็นอีก และอีก 3 วันต่อมาท่านได้นิมิตเห็นแสงสว่างสีเหลือง แล้วก็เห็นรถบัสสีแดง วิ่งมาจากถนนทางทิศใต้ตรงมาที่วัด จากนั้นมีพระสงฆ์รูปหนึ่งเดินออกมา หันไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ท่านชี้ลงตรงพบกระดูกไดโนเสาร์แล้วพูดว่า “ที่นี่สมบูรณ์แล้ว” จากนั้นภาพก็ค่อยๆหายไป

พอถึงตอนเช้า หลวงปู่หาได้ไปตรวจดูตรงที่รถคันนั้นมาจอด ได้พบชิ้นกระดูกเป็นหินโผล่ออกมา จึงได้เก็บมากองไว้ 20-30 ชิ้น จึงได้ไปเจริญพรนายอำเภอเพื่อมาตรวจสอบ และได้ดำเนินการแจ้งเรื่องสู่จังหวัดและกรมทรัพยากรธรณีตามลำดับ

จนมีการขุดค้นทางวิชาการอย่างเป็นระบบ ก่อกำเนิดอาคารพระญาณสาลเถรและพิพิธภัณฑ์สิรินธร เพื่อเป็นแหล่งศึกษาและเผยแผ่ความรู้ทางบรรพชีวิน จนถึงทุกวันนี้

*******************

แอดมินใช้เวลาในการชมและอ่านความรู้ในอาคารขุดค้นเป็นเวลาพอสมควรจึงออกมาเพื่อเดินขึ้นสู่ยอดเขาภูกุ้มข้าวต่อไป

ทางขึ้นสู่ภูกุ้มข้าว

ทางขึ้นภูกุ้มข้าวมีหลายเส้นทาง แต่จะเชื่อไปยังจุดเดียวกัน ทั้งแบบมีหลังคาและไม่มีหลังคา มีความสูงทั้งสิ้น 549 ขั้นบันได

ผมชอบเดินทางไม่มีหลังคาเพราะได้บรรยากาศกว่าครับ

ศาลาหลวงปู่มั่น

ระหว่างทางขึ้นเขาจะผ่านศาลาหลวงปู่มั่น

เส้นทางสู่ยอดภูกุ้มข้าว

เส้นทางสู่ยอดภูกุ้มข้าว

พระพุทธบาทจำลอง บนภูกุ้มข้าว

ใช้เวลาเดินขึ้นไม่นานครับ ด้วยจำนวนขั้นบันได 549 ขั้น แต่ก็เล่นเอาเหนื่อยพอสมควร แม้จะเหนื่อยแต่ก็คุ้มเพราะบรรยากาศด้านบนดีมากครับ ลมเย็นสบาย

เจดีย์บนภูกุ้มข้าว

ความเชื่อทางลงเมืองบาดาล บนภูกุ้มข้าว

ศาลาบูรพาจารย์บนภูกุ้มข้าว

ผมนั่งพักเหนื่อยบนภูกุ้มข้าวสักระยะหนึ่ง เพื่อสัมผัสบรรยากาศเย็นๆบนเขา มีผู้คนเดินทางขึ้นมาเป็นระยะๆ ได้เห็นถึงความศรัทธาที่มากมายของผู้คนแล้วมีความสุขมากเลยครับ

****************************

ประวัติหลวงปู่หา สุภโร

พระญาณวิสาลเถร (หลวงปู่หา สุภโร) ท่านมีนามเดิมว่า หา ภูบุตตะ เกิดวันศุกร์ที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ตรงกับวันขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๘ ปีฉลู ที่บ้านนาเชือก ตำบลเว่อ (ปัจจุบันเป็นตำบลนาเชือก) อำเภอยางตลาด (ปัจจุบันเป็นอำเภอเมือง) จังหวัดกาฬสินธุ์ บิดาชื่อนายสอ ภูบุตตะ มารดาชื่อนางบัวลา ภูบุตตะ มีพี่น้องรวมกัน ๗ ท่าน

ท่านถือกำเนิดในตระกูลที่มีฐานะดีในหมู่บ้านนาเชือก ซึ่งอพยพมาจากจังหวัดอุบลราชธานี มีฝูงวัวมากกว่า ๓๐ ตัว มีที่นากว่า ๖๐ ไร่ มารดาเลี้ยงหม่อนเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวที่มีฐานะมั่นคงที่สุดในแถบนั้น เมื่อท่านเป็นฆราวาส ท่านมีความขยันหมั่นเพียรและความอุตสาหะ ท่านช่วยโยมบิดามารดาทำงานทุกอย่าง

ท่านได้สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนวัดบ้านนาเชือกเหนือ ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ท่านก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นทหารอาสาเพื่อไปร่วมรบในสงครามและท่านได้เข้ารับการฝึกซ้อมรบ ภายหลังก่อนที่ท่านจะไปในสงครามจริงๆ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็ได้ยุติลงก่อนในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ครั้งนึงท่านชอบการต่อยมวยมาก ท่านชอบไปต่อยมวยตามงานวัดต่างๆ ในเวลาว่างจากการทำนาและงานอื่น แต่โยมบิดาของท่านไม่ชอบที่ท่านเป็นนักมวยนัก พอช่วงอายุประมาณ ๒๐ ปี คุณยายของท่านก็ได้ปรารภกับท่านว่าอยากจะให้ท่านบวชให้คุณยายของท่านหน่อย อันเป็นที่มาของการออกบวชภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ในบวรพระพุทธศาสนา

ท่านอุปสมบท เมื่ออายุย่างเข้า ๒๑ ปี ที่สิมน้ำ ณ วัดสว่างนิวรณ์นาแก ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีหลวงปู่ลือ เป็นพระอุปัชฌาย์ สังกัดมหานิกาย เมื่อท่านบวชแล้วก็มาอยู่ที่วัดสุวรรณชัยศรี ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙

ขณะนั้นที่นั่นการปกครองในคณะสงฆ์ยังไม่ทั่วถึงมากนัก การบวชของคณะธรรมยุตและคณะมหานิกายยังไม่มีการแยกจากกัน ยังคงใช้พระอุปัชฌาย์องค์เดียวกัน ในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางคณะสงฆ์ได้ประกาศว่า พระอุปัชฌาย์สังกัดนิกายอะไรผู้บวชก็ต้องสังกัดนิกายนั้น พระครูประสิทธิ์สมณญาณ จนฺโทปโม เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี (ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สมัยท่านจำพรรษาอยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่) ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านจึงได้ขึ้นไปอบรมการเป็นพระอุปัชฌาย์ของคณะธรรมยุต ต่อมาเมื่อท่านอายุ ๒๒ ปี ท่านได้ญัติติเป็นธรรมยุตที่สิมน้ำ ณ วัดบ้านหนองโจด (ปัจจุบันเป็นที่นาชาวบ้าน) ตำบลนาเชือก อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อ วันที่ ๒๑ เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๐ เวลา ๑๓.๐๐ น. โดยมีพระครูประสิทธิ์สมณญาณ เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระครูปลัดอ่อน ขนฺติโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ มีพระใบฎีกาทองสุข สุจิตฺโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายา ว่า “สุภโร” แปลว่า “ผู้เลี้ยงง่าย”

เมื่อท่านยังเป็นพระนวกะ (ผู้บวชใหม่) ปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้จำพรรษาที่วัดสุวรรณชัยศรี จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี และ ในปีพ.ศ. ๒๔๙๕ สอบได้นักธรรมชั้นโทที่วัดขวัญเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ และในปีพ.ศ. ๒๔๙๗ ได้มีโอกาสศึกษาต่อที่วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพมหานคร จนสำเร็จนักธรรมชั้นเอก ท่านได้มีโอกาสอุปัฏฐากท่านเจ้าประคุณสมเด็จมหามุนีวงศ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต) และด้วยความที่ท่านมีนิสัยใฝ่เรียนรู้ ท่านจะเรียนบาลีเป็นประจำทุกวัน เมื่อเว้นว่างจากการเรียนบาลีแล้ว ท่านก็จะเดินทางด้วยเท้าเปล่าเพื่อไปเรียนกรรมฐานจากพระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินธโร) วัดธรรมมงคล และพระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) ที่วัดบรมนิวาส

เมื่อเรียนไปได้สักระยะหนึ่ง ท่านเริ่มอาพาธด้วยโรคดีซ่าน การเรียนทั้งปริยัติและปฏิบัติจึงได้ระงับไว้ก่อน เมื่ออาการหนักมากจนถึงขั้นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลสงฆ์ถึง ๓ เดือน โดยไม่มีท่าทีว่าจะหาย หรือดีขึ้นเลย ท่านจึงทอดอาลัยในชีวิต แล้วตั้งความปรารถนาขอใช้ชีวิตที่เหลือในการรับใช้พระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก โดยท่านได้ตั้งสัตยาธิษฐาน ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้วมรกต) ว่า “หากข้าพเจ้าจะมีชีวิตในการบวช ขอให้โรคหาย ถ้าหากจะไม่มีชีวิตแล้ว ขอให้ตายกับผ้าเหลือง” ท่านมีความคิดว่าหากได้บวชอยู่นานๆ จะได้ทำประโยชน์ในพระศาสนาให้สมกับที่เป็นผู้อุทิศตนต่อชาวโลก จากนั้นท่านจึงเดินทางกลับมาที่บ้านเกิดเพื่อตั้งต้นดำเนินภารกิจดังที่ตั้งปณิธานไว้ และได้ตั้งสัตยาธิษฐานอีกครั้งหนึ่งว่า “ขอให้ได้อยู่ป่าทำความสงบสบายทางจิต”

ด้วยอานิสงส์แห่งการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา ในขณะนั้นท่านก็ได้รับการรักษาจากหมอพื้นบ้าน และการอบรมทางใจจากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานเข้าช่วยเหลือ จึงเป็นผลให้อาการของโรคทุเลาลงจนหายขาดในที่สุด เมื่อหายเป็นปกติแล้วท่านจึงออกเที่ยวปฏิบัติรุกขมูล หาความวิเวกทางกายและใจออกธุดงค์ไปยังภาคต่างๆ ในประเทศไทยแทบทุกจังหวัด ไปทุกมุมเมืองในภาคอีสาน และข้ามไปยังฝั่งลาว ไปถึงนครเวียงจันทน์ถึงสองครั้ง เข้ากัมพูชา จนเห็นผลทางจิตอันแน่นอนแล้ว ท่านจึงกลับมาช่วยงานพระศาสนาดังปฐมปณิธาน

หลวงปู่หา สุภโร(หลวงปู่ไดโนเสาร์)

************************

แอดมินเล่าเรื่อง หลวงปู่หา สุภโร

https://youtu.be/pRB2ShaOGjw

ครูบาอาจารย์ของหลวงปู่หา สุภโร

พระครูประสิทธิ์สมณญาณ จนฺโทปโม(สม) เจ้าอาวาสวัดสุวรรณชัยศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ศิษย์อุปัฏฐากหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สมัยท่านจำพรรษาอยู่แถบจังหวัดเชียงใหม่

พระสุธรรมคณาจารย์ (แดง ธมฺมรกฺขิโต) ผู้ก่อตั้งวัดประชานิยม จังหวัดกาฬสินธุ์ ศิษย์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต สมัยก่อนที่ท่านจะเดินทางไปเชียงใหม่ เป็นศิษย์ร่วมสมัยหลวงปู่ฝั้น หลวงปู่ขาว

พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ลี ธมฺมธโร) วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการพระธรรมมงคลญาณ (วิริยังค์ สิรินฺธโร) วัดธรรมมงคล จังหวัดกรุงเทพมหานครหลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภูพระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง จังหวัดหนองคายหลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จังหวัดสกลนครหลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างท่าสี จังหวัดร้อยเอ็ดพระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) วัดป่าบ้านตาด จังหวัดอุดรธานีพระอริยเวที (เขียน ฐิตสีโล) วัดรังสีปาลิวัน จังหวัดกาฬสินธุ์

********************************

ปิดท้าย ณ วัดสักกะวัน

วัดสักกะวัน (ภูกุ้มข้าว) ถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวครบสำหรับครอบครัวเลยครับ เพราะนอกจากจะได้กราบพระสุปฏิปันโนคือหลวงปู่หาแล้ว ท่านยังได้พาครอบครัวพักผ่อนหรืออกกำลังกายเดินขึ้นเขาได้ และยังมีพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ให้ได้ชม

นอกจากอาคารพระญาณสาลเถรแล้ว ยังมีพิพิธภัณฑ์สิรินธร ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกัน เดินไปถึงได้จากวัดสักกะวัน เป็นแหล่งความรู้ทางบรรพชีวินที่สมบูรณ์แบบอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

เรียนเชิญมาท่องเที่ยวและทำบุญกันมากๆนะครับ ณ วัดสักกะวัน กาฬสินธุ์

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com

Exit mobile version