ในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม พ.ศ.2563 กรมศิลปากรได้งบประมาณในโครงการพัฒนาและเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวประวัติศาสตร์และศาสนา จึงได้ทำการขุดสำรวจพื้นที่คลองโบราณติดกับวัดเชิงท่า รวมถึงบริเวณตลิ่งริมแม่น้ำลพบุรี ซึ่งจากแผนที่โบราณและบันทึกเอกสาร ได้ระบุว่าพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวคือ “คูไม้ร้อง” เคยใช้เป็นสถานที่จอดและเก็บรักษาเรือหลวงพระที่นั่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ กษัตริย์พระองค์สุดท้าย จึงถือได้ว่าบริเวณพื้นที่การขุดสำรวจนี้ เป็นอีกจุดหนึ่งในบันทึกหน้าประวัติศาสตร์
การเดินทางเข้าชมครั้งนี้ ได้เดินทางมาพร้อมกับคุณจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา ซึ่งกำลังมีการขุดสำรวจบริเวณข้างอุโบสถ และได้รับทราบข้อมูลว่าข้างอุโบสถมีลักษณะเป็นท่าน้ำ จึงสอดคล้องตามข้อมูลว่าเคยเป็นคลองโบราณมาก่อน แต่ปัจจุบันถูกทับถมไม่มีลักษณะเป็นลำคลองแล้ว
นอกจากนี้ยังขุดพบโบราณวัตถุเป็นหม้ดินเผาอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีสภาพที่สมบูรณ์มาก
คูไม้ร้อง โรงเก็บรักษาเรือหลวงพระที่นั่ง สมัยกรุงศรีอยุธยา
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ เรื่องกรุงเก่า กล่าวถึงโรงเรือพระที่นั่งอยู่ใต้วัดเชิงท่า(ตามแผนที่ของพระยาโบราณราชธานินทร์) ซึ่งเป็นตำแหน่งตรงกับมองสิเออร์ลาลูแบร์ ราชฑูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เข้ามาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงสันนิษฐานได้ว่าโรงเรือหลวงแห่งนี้ มีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นอย่างน้อย
ในพื้นที่ดังกล่าวชาวบ้านเล่ากันสืบต่อกันในภายหลังว่า ได้ยินเสียงร้องแปลกประหลาด ต่างบอกว่าเป็นเสียงนางไม้ ของโรงเรือพระที่นั่งสมัยโบราณ จึงขนานนามว่า “คูไม้ร้อง” และเคยมีผู้คนมาขุดหลุมสร้างบ้านเรือนในภายหลัง ก็พบกับอาถรรพ์จนไม่สามารถปลูกบ้านเรือนได้
บันทึกในประชุมพงศาวดารเพิ่มเติมว่า เมื่อครั้งสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ พระเจ้าเอกทัศ ทรงโปรดให้ถอยเรือพระที่นั่งทั้งหลายลงไปไว้ท้ายคู ทัพพม่าได้เข้าตีท้ายคูแตก เผาเรือพระที่นั่งไปเป็นจำนวนมาก
รวมถึงมีการค้นพบโขนเรือครุฑที่จมใต้น้ำใกล้เคียงจุดจอดเรือหลวง เคยตั้งศาลบูชากันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ จนกระทั่งถึง ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) ตรงกับรัชกาลที่ ๕ ศาลได้พังลง ปัจจุบันได้นำเก็บรักษาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา
ในปี ๒๕๖๓ มีการขุดสำรวจทางโบราณคดี พบท่าน้ำบริเวณริมตลิ่งแม่น้ำลพบุรี ท่าน้ำลึกลงไปจากพื้นดินปัจจุบันราว ๒.๕ เมตร เรียงอิฐแบบก้างปลา คล้ายที่พบที่วัดเตว็ด(ร้าง) แถบคลองปทาคูจาม อยุธยา และบริเวณข้างโบสถ์ พบโบราณวัตถุบางส่วนได้แก่ หม้อดินโบราณ เป็นต้น
จากโครงการนี้ จะได้ประโยชน์เพิ่มเติมในแง่การท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์เพื่อเป็นการเชื่อมโยงเหตุการณ์สำคัญในอดีต ทำให้เกิดความน่าสนใจเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เป็นการกระตุ้นระบบเศรษฐกิจต่อไปในอนาคต
ขอขอบพระคุณการติดตามและพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ แอดมินตั้ม – Faiththaistory
คลิปการพบท่าน้ำโบราณ เพิ่มเติมจากการขุดสำรวจทางโบราณคดี ช่อง FaithThaiStory
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน