วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังเมืองลพบุรี เพื่อตามรอยโบราณสถานแห่งหนึ่งที่ปัจจุบันในปี 2563 กำลังได้รับการบูรณะ เพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่งของลพบุรี นั่นก็คือ สะพานเรือก หรือสะพานคลองท่อ ซึ่งมีหลักฐานทาประวัติศาสตร์ว่ามีขึ้นมาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เรื่องราวเกี่ยวกับคลองเรือกมีความน่าสนใจ ผมจึงได้เดินทางร่วมกับเพจตามรอยวัดเก่าลุ่มน้ำลพบุรีเพื่อบันทึกข้อมูลนี้ไว้ ดังนี้
เมืองลพบุรีด้านทิศตะวันออกมีคูเมืองหลายชั้น ชั้นนอกสุดคูเมืองค่อนข้างกว้างและยังคงสภาพที่สมบูรณ์ขอคลองจนถึงปัจจุบัน ซึ่งชาวเมืองเรียกกันว่า คลองเรือก ในรายงานการเสด็จประพาสเมืองลพบุรีของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ระบุชื่อคลองนี้ว่าคลองท่อ เช่นในข่าว เสด็จประพาสเมืองลพบุรีราชกิจจานุเบกษา วันที ๑๒ พฤศจิกายน ร.ศ.๑๒๔ (พ.ศ.๒๔๔๘) ลงข่าวไว้ว่า
…วันที่ ๓๑ ตุลาคม เวลาเย็นเสด็จลงเรือพระที่นั่งพายประพาสในคลองท่อ จนถึงวัดตองปุ…
…วันที่ ๑ พฤศจิกายน… เสด็จเรือพระที่นั่งพายล่องลงไปเข้าคลองเมืองด้านใต้ ทอดพระเนตรสถานที่โบราณนอกเมืองแล้วมาเข้าคลองท่อข้างใต้ ประทับวัดสัมปหล่อ (วัดสันเปาโล) แล้วเสด็จไปตามคลองท่อได้ไปออกข้างเหนือที่ทุ่งพรหมาสตร์…
และมีปรากฏในหลักฐานทางประศาสตร์ในแผนที่เมืองลพบุรีสำรวจและวาดโดยวิศวกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ เดอ ลามาร์ เมื่อ ค.ศ ๑๖๘๗ (๒๒๓๐) ได้วาดตำแหน่งสะพานข้ามคลองท่อไว้ ๒ แห่ง คือ ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและด้านทิศตะวันออก
และในแผนที่เมืองลพบุรี จัดพิมพ์โดยกรมแผนที่ พ.ศ ๒๔๕๗ ระบุตำแหน่งข้ามคลองท่อด้านทิศตะวันออก ชื่อว่า สะพานราเมศร์ และน่าจะตรงกับตำแหน่งสะพานเดียวกับที่ระบุในแผนที่ของ เดอ ลามาร์ ฉะนั้นสะพานที่สร้างขึ้น ณ ตำแหน่งนี้มีมาแล้วตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ ๒๑๙๙ – ๒๒๓๑)
สภาพ สะพานราเมศร์ ตรงคอสะพานทั้งสองข้างก่อด้วยอิฐถือปูนลักษณะของอิฐเป็นอิฐแผ่นใหญ่เช่นเดียวกับอิฐที่ใช้ก่อสร้างพระนารายณ์ราชนิเวศน์ และมีศิลาแลงแทรกอยู่อย่างเห็นได้ชัด ระหว่างคอสะพานทั้งสองข้างคือ สะพานไม้พาดข้าม รถสามารถวิ่งผ่านได้ โดยทั่วไปชาวลพบุรีจะรู้จักชื่อสะพานนี้ว่า สะพานเรือก ปัจจุบันสะพานแห่งนี้ไม่ได้ใช้ประโยชน์ใดๆ เพราะทางราชการได้สร้างสะพานใหม่ขนานกับสะพานเดิมและให้ชื่อว่า สะพานสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สะพานเรือกแห่งนี้จึงถูกหลงลืมไป และในปัจจุบันกำลังได้รับการบูรณะเพื่อเปิดเผยสู่สาธารณชนต่อไป
การเดินทางผมมาจากศาลพระกาฬ ลพบุรี ผ่านโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยไปเล็กน้อย จะมีซอยตรงข้ามกับศูนย์ฮอนด้ามอเตอร์ไซค์แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าไปอีก 50 เมตร จะถึงสะพานเรือกแห่งนี้
หลังจากนี้สะพานเรือกคงจะได้เปิดเผยสู่สาธารณชนและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสำคัญของเมืองลพบุรีต่อไป ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไปครับ แอดมินตั้ม – Faiththaistory.com
ช่องทางการติดตาม
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม เที่ยววัดและโบราณสถาน