เที่ยวทำบุญ วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา

By | July 21, 2014


https://youtu.be/knWspjUhlSE

เที่ยวทำบุญ วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา เป็นวัดที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวอีกวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันนี้ผมได้มีเวลาว่างจึงได้เดินทางมาเที่ยวและทำบุญที่วัดพุทไธศวรรย์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผมเคยเดินทางมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ไม่ได้เดินชมทั่วบริเวณพื้นที่ แต่เท่าที่จำความได้ถึงความสวยงามของระเบียงคดที่มีพระพุทธรูปรายล้อมทั้งสี่ด้านของปรางค์ประธาน ครั้งนี้เลยตั้งใจว่าจะเดินชมความสวยงามให้ทั่วบริเวณ

การเดินทางมาวัดพุทไธศวรรย์ ก็ถือว่าสะดวกดีครับเพราะมีป้ายบอกทาง โดยให้ใช้เส้นทางสายอยุธยา-เสนา ข้ามสะพานวัดกษัตราธิราชวรวิหารแล้วเลี้ยวซ้าย จะผ่านวัดไชยวัฒนาราม มีป้ายบอกทางเป็นระยะ จะถึงวัดพุทไธศวรรย์

ป้ายบอกทางไปวัด หลังจากผ่านวันไชยวัฒนารามมาแล้ว

ป้ายบอกทางไปวัด หลังจากผ่านวันไชยวัฒนารามมาแล้ว

ถนนเส้นทางถือว่าสะดวกเป็นถนนลาดยางอย่างดีครับ

ป้ายทางเข้าวัดขนาดใหญ่ด้านซ้ายมือ

ป้ายทางเข้าวัดขนาดใหญ่ด้านซ้ายมือ

หลวงพ่อดำ ในพระอุโบสถ

หลวงพ่อดำ ในพระอุโบสถ

“หลวงพ่อดำ”  วัดพุทไธศวรรย์ เป็นพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ “หลวงพ่อดำ” เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ลักษณะปูนปั้นทาด้วยสีดำ พระพักตร์รูปไข่ เป็นศิลปะแบบอู่ทอง หรือในอยุธยาตอนต้น เชื่อกันว่าถูกสร้างพร้อมกับการสร้างพระอุโบสถ ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า “หลวงพ่อดำ” เนื่องมาจากในสมัยก่อนการสร้างพระ นิยมลงรักด้วยสีดำทั้งองค์ โดยไม่มีการนำสีทองมาทาจนนานมาก เมื่อชาวบ้านเข้าไปสักการบูชา ชาวบ้านเลยเรียกกันติดปากว่า “หลวงพ่อดำ” มีตำนานเล่าขานต่อกันมาว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา ใครเจ็บป่วยไข้ เมื่อผ่านมาที่วัดแห่งนี้จะขึ้นไปสักการะหลวงพ่อดำ เพื่อขอให้หายเจ็บป่วย และทุกคนที่ไปบอกกล่าวจะหายเจ็บหายไข้ นอกจากนี้ ชาวบ้านยังนิยมมาขอพรหลวงพ่อดำให้ช่วยดลบันดาลให้คนที่อยากจะมีบุตรได้มีบุตรสมความปรารถนา ซึ่งส่วนมากจะประสบผลสำเร็จ ทำให้ถูกกล่าวขานเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน วัดแห่งนี้ตามประวัติศาสตร์ยังเป็นสถานที่ฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร ก่อนจะออกศึกสงคราม ในปัจจุบันเป็นสำนักดาบวัดพุทไธศวรรย์ ซึ่งคนโบราณมักจะพูดกันว่าสถานที่แห่งนี้หรือดินแดนแห่งนี้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวกับทางด้านอยู่ยงคงกระพัน ส่วนสิ่งของที่นิยมนำไปสักการบูชาหลวงพ่อดำ จะเป็นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมสีสันสวยงาม เช่น ดอกมะลิ ดอกจำปี เป็นต้น

อนุวสาวรีย์ พระมหากษัติริย์ไทย ในอดีต

อนุสาวรีย์ พระมหากษัตริย์ไทย ในอดีต

บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่เราจะเดินเข้าไปในพื้นที่วัด จะมีอนุสาวรีย์พระมหากษัตริย์ไทย 5 พระองค์ให้ทำการสักการะ ได้แก่

1. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

2. สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

3. สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง)

4. พระเอกาทศรถ

5. สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

นักท่องเที่ยวนิยมมาลูบฆ้องให้เกิดเสียงดัง

นักท่องเที่ยวนิยมมาลูบฆ้องให้เกิดเสียงดัง

ก่อนเข้าไปยังโบราณสถานของวัดมักจะมีประชาชนมาลูบฆ้องให้เกิดเสียงดัง ความเชื่อของหลายๆคนจะคิดว่าโชคดี ถ้ามีเสียงดัง (ประมาณนั้นครับ)

ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

ก่อนเดินเข้าไปในข้างใน จะเห็นตึกเก่าๆ อยู่ตรงข้ามกับฆ้องนั่นแหละครับ เป็นตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มีลักษณะ 2 ชั้น ก่ออิฐถือปูน หลังคามีชั้นเดียว บันไดทางขึ้นให้เดินอ้อมไปด้านข้าง ลักษณะบันได้จะเป็นบันไดไม้เก่ามากพอสมควร เดินไปก็มีอาการโยกเยกอยู่เหมือนกัน ครั้งที่ผมได้มาคราวก่อนก็ไม่ได้มีโอกาสขึ้นไป เพราะไม่รู้ความเป็นมาของตำหนักนี้ความพิเศษของตำหนักนี้คือ มีภาพจิตรกรรมฝาผนังโบราณอยู่บนชั้น 2 ซึ่งชำรุดทรุดโทรมไปมากพอสมควร แต่ยังมีบางภาพที่ผมพอจะมองเห็นถึงรายละเอียดอยู่

บันไดทางขึ้นชั้น 2 เพื่อไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

บันไดทางขึ้นชั้น 2 เพื่อไปดูภาพจิตรกรรมฝาผนัง ของตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์

บริเวณภายในชั้น 2 ของตำหนัก

บริเวณภายในชั้น 2 ของตำหนัก

ผนังปูนทั้ง 2 ข้างของตำหนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จะมีจิตรกรรมฝาผนังโบราณ  ส่วนพื้นเป็นไม้ครับ

ภาพจิตรกรรมเรื่องราวที่ชัดเจนภาพหนึ่ง

ภาพจิตรกรรมเรื่องราวที่ชัดเจนภาพหนึ่ง

ภาพจิตรกรรมโบราณด้านบนนี้ จะเป็นภาพที่ค่อนชัดเจนพอสมควร เป็นเรื่องเล่านิทานเรื่อง “พุทธโฆสนิทาน” เป็นเรื่องราวของพระสงฆ์ที่ชื่อ “พุทธโฆษาจารย์” ท่านได้เดินทางด้วยเรือสำเภาไปยังเมืองลังกา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแปลพระธรรมจากภาษาสิงหล (ภาษาพื้นเมืองลังกา) ให้เป็นภาษามคธ

จากภาพด้านขวาจะเป็นรูปการล่องเรือสำเภา เพื่อเดินทางไปลังกา  ข้ามไปจนไปถึงลังกาและได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาสมณกูฏในลังกา

ภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกมุมหนึ่ง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังอีกมุมหนึ่ง

ผมยืนชมความงามด้านบนอยู่สักระยะหนึ่ง เพื่อซึมซับบรรยากาศ ได้พิจารณาเห็นถึงความศรัทธาด้านพระพุทธศาสนามาแต่โบราณ และสัมผัสได้ถึงมนต์ขลังในอดีตดีมากจริงๆครับ ตามประวัติจิตรกรรมโบราณนี้เกิดขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยของพระเพทราชา ปี พ.ศ.2231 – 2245

ประกอบกับได้ยินเสียงบรรเลงดนตรีด้วยเสียงซอ ดังแว่วมาจากทางหน้าต่างก็ยิ่งเข้ากับบรรยากาศจริงๆ จากนั้นผมก็เดินตามเสียงซอนั้นไป

เด็กสาวบรรเลงเสียงซอด้านล่าง

เด็กสาวบรรเลงเสียงซอด้านล่าง

และผมก็มาหยุดอยู่ที่หน้าต่างตรงนี้ ก็ได้เห็นเด็กสาวคนหนึ่งนั่งบรรเลงซอ (ไม่ใช่ให้ผมฟังนะครับ เพราะฟังกันหลายคน) ก็เลยถ่ายภาพมุมบนมาซะเลย และสงสัยน้องเขาจะรู้ตัว มองขึ้นมาด้านบน ไม่หลบสายตาซะด้วยสิ ไม่หลบผมก็ถ่ายรูปไม่สนเหมือนกันครับ ฮ่าๆ  น้องเขาเล่นได้เพราะมากครับ ฟังเพลินเลย

สักพักผมก็เลยเดินลงไปด้านล่าง เพื่อเข้าไปยังพื้นที่ของโบราณสถาน

เด็กสาวที่คอยบรรเลงเพลงให้นักท่องเที่ยวได้ฟังกัน

เด็กสาวที่คอยบรรเลงเพลงให้นักท่องเที่ยวได้ฟังกัน

น้องเขาคงจะหารายได้เรียนหนังสือในวันหยุด มีสินค้า OTOP วางขายไว้ด้วย ผ่านไปก็แวะอุดหนุนเป็นทุนการศึกษาด้วยนะครับ

ทางเดินเข้าไปยังพื้นที่โบราณสถาน

ทางเดินเข้าไปยังพื้นที่โบราณสถาน

เข้าสู่พื้นที่โบราณสถาน

เข้าสู่พื้นที่โบราณสถาน

เดินไปอีกนิดเดียวก็จะถึงทางเข้าโบราณสถานแล้วครับ ลักษณะเป็นกำแพงโบราณ ไม่แน่ใจว่าเป็นทางเข้าเดิมมาแต่โบราณหรือเปล่า แต่เหมือนถูกทุบให้เป็นทางเข้ามากกว่า

พระอุโบสถ

พระอุโบสถ

พระอุโบสถจะตั้งอยู่ทางขวาจากทางเข้า

พระอุโบสถตั้งอยู่ทิศตะวันตกของปรางค์ประธาน เป็นอาคารอิฐถือปูน ยาว 32.70 เมตร กว้าง 14 เมตร ฐานของพระอุโบสถเป็นฐานตรงไม่แอ่นเป็นท้องสำเภาเหมือนอาคารในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูป 3 องค์ขนาดใหญ่บนฐานชุกชี ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ลงลักปิดทองลักษณะเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนต้น โดยรอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศมีใบเสมาหินจำนวน 8 คู่

 

ภายในพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถ

เจดีย์โบราณนอกพระอุโบสถ

เจดีย์โบราณนอกพระอุโบสถ

เจดีย์โบราณนอกพระอุโบสถ

เจดีย์โบราณนอกพระอุโบสถ

บริเวณด้านนอกพระอุโบสถ ฝั่งด้านซ้ายทางเดินเข้ามา จะมีเจดีย์โบราณแซมอยู่กับต้นไม้ดูสวยงามดี

ใบเสมาหินคู่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ

ใบเสมาหินคู่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ

เราจะเห็นใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศเลยครับ จากข้อมูลความสำคัญของใบเสมาจะมีไว้ปักเขตแดนของพระอุโบสถ และถ้าวัดใดมีใบเสมาคู่บ่งบอกว่านั่นคือวัดหลวง

ทางเข้าไปชมพระปรางค์ประธาน

ทางเข้าไปชมพระปรางค์ประธาน

ทีนี้เราจะไปชมพระปรางค์ประธานจุดหลักสำคัญของวัดกันแล้วครับ

พระพุทธรูปในระเบียงคด

พระพุทธรูปในระเบียงคด

ระเบียงคดรอบๆ พระปรางค์ประธาน

ระเบียงคดรอบๆ พระปรางค์ประธาน

เมื่อผมเดินผ่านเข้ามาในพื้นที่ปรางค์ประธานก็จะได้เห็นถึงความสมบูรณ์มากพอสมควรของพื้นที่ ระเบียงคดยังมีสภาพที่ดีมากๆ ดูแล้วสวยงามจริงๆครับ

พระพุทธรูปพระเจ้าอู่ทอง

พระพุทธรูปพระเจ้าอู่ทอง

บริเวณด้านข้างทางเข้าปรางค์ประธานจะประดิษฐานพระพุทธรูปพระเจ้าอู่ทองไว้ ซึ่งแต่เดิมจะมีพระพุทธรูปองค์เก่าประดิษฐานอยู่ แต่ในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปประดิษฐานที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแทน

ทางขึ้นสู่ปรางค์ประธาน

ทางขึ้นสู่ปรางค์ประธาน

แต่เดิมนั้นมณฑปทั้ง 2 ข้างของพระปรางค์ประธานจะเป็นเจดีย์ แต่ต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์จึงได้กลายมาเป็นลักษณะพระมณฑปในปัจจุบัน

ภายนอกปรงค์ประธานอีกด้านหนึ่ง

ภายนอกปรงค์ประธานอีกด้านหนึ่ง

ทางเข้าพระปรางค์ประธาน

ทางเข้าพระปรางค์ประธาน

รอยพระพุทธบาทด้านในทางเข้า

รอยพระพุทธบาทด้านในทางเข้า

รอยพระพุทธบาทอีกฝั่งของทางเข้าพระปรางค์ประธาน

รอยพระพุทธบาทอีกฝั่งของทางเข้าพระปรางค์ประธาน

ก่อนเข้าถึงพระปรางค์ประธานเราจะได้พบกับรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ทั้ง 2 ฝั่งของทางเข้าครับ

เจดีย์โบราณองค์เล็กภายในปรางค์ประธาน

เจดีย์โบราณองค์เล็กภายในปรางค์ประธาน

พระพุทธไสยาสน์ภายในพระปรางค์

พระพุทธไสยาสน์ภายในพระปรางค์

ภายในใจกลางพระปรางค์ ผมจะได้ยินเสียงค้างค้างร้องตลอดเวลา ประกอบกับมีมูลค้างคาวบริเวณพื้นพอสมควร เป็นการบ่งบอกว่าพระปรางค์นี้มีความโบราณมากๆ ถึงขนาดที่มีค้างคาวมาอาศัยอยู่

ด้านบนเพดานพระปรางค์

ด้านบนเพดานพระปรางค์

เมื่อมองขึ้นไปด้านบนภายในพระปรางค์ ก็จะสามารถมองเห็นจุดดำๆเกาะอยู่ และนั่นก็คือค้างคาวทั้งหลายนั่นเองครับ

พระปรางค์ประธาน ตามเรื่องในพระราชพงศาวดารระบุว่า วัดพุทไธศวรรย์ ถูกสถานปนาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่สำหรับพระปรางค์ประธานได้ถูกสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายบนรากฐานเดิมเพราะไม่มีส่วนประดับทับหลังตามศิลปะอยุธยาตอนต้น ประกอบกับทรงพระปรางค์มีลักษณะสูงชลูดขึ้นไป

มุมบนจากพระปรางค์ประธาน

มุมบนจากพระปรางค์ประธาน

พระพุทธรูปประทับนั่ง ทางขึ้นพระปรางค์ฝั่งตะวันตก

พระพุทธรูปประทับนั่ง ทางขึ้นพระปรางค์ฝั่งตะวันตก

เมื่อผมได้เดินชมโดยรอบพื้นที่พระปรางค์ประธานแล้ว ผมก็จะเดินออกไปดานนอกระเบียงคดไปทางทิศตะวันออกต่อไปครับ

วิหารพระพุทธไสยาสน์

วิหารพระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์

พระพุทธไสยาสน์ผ่านช่องหน้าต่างพระวิหาร

พระพุทธไสยาสน์ผ่านช่องหน้าต่างพระวิหาร

วิหารพระพุทธไสยาสน์ ในปัจจุบันทรุดโทรมไปมากแล้ว ไม่เหลือหลังคาจะมีเพียงผนังโดยรอบเท่านั้น ส่วนองค์พระ ยังถือว่ามีสภาพที่ไม่ทรุดโทรมมากครับ

ภาพมองย้อนกลับไปยังองค์พระปรางค์ประธาน

ภาพมองย้อนกลับไปยังองค์พระปรางค์ประธาน

เมื่อมองย้อนกลับไปยังองค์พระปรางค์ประธาน จะมีพระวิหารอยู่ฝั่งขวามือของเรา

ซากพระวิหาร

ซากพระวิหารหลวง

พระวิหารหลวง จะตั้งอยู่ด้านหน้าองค์พระปรางค์ประธาน โดยหัวหน้าไปทางทิศตะวันออก พระวิหารมีความกว้าง 16 เมตร ยาว 48 เมตร และมีการเชื่อมต่อยื่นไปในระเบียงคตด้วยซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้น

โดยรอบพื้นที่เราจะพบว่ามีพระเจดีย์โบราณโดยรอบพื้นที่ รวมถึงวิหารเล็กๆด้วยครับ

พระเจดีย์รายรอบๆพื้นที่พระวิหารหลวง

พระเจดีย์รายรอบๆพื้นที่พระวิหารหลวง

วิหารรายในพื้นที่พระวิหารหลวง

วิหารรายในพื้นที่พระวิหารหลวง

ซากเตาเผาหินปูนโบราณ

ซากเตาเผาหินปูนโบราณ

เมื่อผมเดินไปโดยรอบพระวิหารหลวงก็จะพบซากเตาเผาหินปูนโบราณ ซึ่งในสมัยก่อนมีไว้เพื่อเผาอิฐ

และทั้งหมดนี้ก็เป็นความสวยงามของวัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา สำหรับตัวมเองแล้วรู้สึกประทับใจในสภาพของพื้นที่วัดมาก เพราะยังถือว่ามีสภาพที่สมบูรณ์ดีในหลายๆส่วนโดยเฉพาะในส่วนพื้นที่ของพระปรางค์ประธาน ระเบียงคดยังมีความสมบูรณ์มาก

ตามประวัติวัดพุทไธศวรรย์ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงโปรดเกล้าให้สร้างเมื่อ พ.ศ. 1896 ณ ตำบลเวียงเหล็ก วัดแห่งนี้มีความสำคัญมากในสมัยอยุธยา เพราะพระบรมวงศานุวงศ์จะมาบวชที่วัดอยู่หลายพระองค์ ผังการสร้างวัดจะเป็นแบบสมัยอยุธยาตอนต้น โดยจะให้ความสำคัญกับพระปรางค์ประธานมากที่สุด โดยมีพระวิหารอยู่ด้านหน้า และพระอุโบสถจะอยู่ด้านหลัง

วัดพุทไธศวรรย์เป็นวัดที่ไม่เคยร้างและได้รับการบูรณะเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ผมจึงคิดว่าเป็นเหตุให้วัดอยู่ในสภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในหลายๆส่วนที่คิดว่าจะไม่หลงเหลือแต่ก็ยังมีสภาพให้เห็นในปัจจุบันเช่น ระเบียงคด ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับวัดมหาธาตุที่เป็นวัดร้างจะพบว่า ระเบียงคดได้ทรุดโทรมไม่เหลือสภาพเลยครับ

โดยรวมถ้าได้มาเที่ยวและทำบุญที่วัดพุทไธศวรรย์ ผมก็มั่นใจว่าหลายๆท่านจะประทับใจ แต่ขอเพียงให้มีเวลาเดินโดยรอบและอ่านป้ายกำกับแต่ละส่วนเพื่อจะได้ซึมซับเอาความรู้กลับไปด้วยจะดีมาก

– จบบันทึกเที่ยววัดอีก 1 บท –

 

One thought on “เที่ยวทำบุญ วัดพุทไธศวรรย์ พระนครศรีอยุธยา

  1. Pingback: เที่ยวปราสาทนครหลวง ปราสาทสมัยพระเจ้าทรงธรรม วัดนครหลวง พระนครศรีอยุธยา | Faith Thai Story

Comments are closed.