วิหารหลวงพ่อภุมมา ท่าวุ้ง ลพบุรี กับตำนานความศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าขาน

By | December 3, 2015


https://youtu.be/1S69TqUShPg

สวัสดีครับในภารกิจเที่ยววัดกันอีกครั้ง ในครั้งนี้ผมมาเที่ยวที่จังหวัดลพบุรี ระหว่างทางการท่องเที่ยวกลุ่มของผมได้มองไปเห็นวิหารซึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ภายใน จึงได้แวะเข้าไปกราบไหว้และได้ทราบประวัติที่มีตำนานเรื่องเล่าสืบต่อกันมาในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธรูปองค์นี้ จนถือว่าเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านของ ตำบลท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรีเลยทีเดียว นั่นก็คือ “หลวงพ่อภุมมา”

หลวงพ่อภุมมา มีตำนานเล่าขานกันสืบต่อมาในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานในวิหารริมถนน บนถนนเส้นลพบุรี-สิงห์บุรี อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี ถ้ามาจากจังหวัดลพบุรีจะอยู่ทางฝั่งขวามือประมาณหลักกิโลเมตรที่ 13 ซึ่งก็ต้องสังเกตุกันพอสมควร จะมีศาลาสีเหลืองเป็นจุดสังเกตุชัดเจน

นนท์ ผู้นำเที่ยวในโปรแกรมครั้งนี้

นนท์ ผู้นำเที่ยวในโปรแกรมครั้งนี้

ส่วนผมนั้น เดินทางมากับนนท์ ซึ่งเป็นน้องที่รู้จักกันและเป็นคนในพื้นที่ ซึ่งมีความชำนาญพื้นที่ในจังหวัดลพบุรีมากเลยทีเดียว ปัจจุบันนนท์ ยังเป็นแอดมินเพจ “ตามรอยวัดเก่า ลุ่มน้ำลพบุรี” อีกด้วยจึงมีความสะดวกในการเดินทางอย่างมาก และให้เป็นผู้นำเที่ยววัดและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในโปรแกรมครั้งนี้ ซึ่งมีวัดต่างๆที่ผมเดินทางไปอีกหลายวัด แล้วผมจะทยอยเขียนเรื่องราวการท่องเที่ยวให้ครบถ้วนต่อไป

ป้ายวิหารหลวงพ่อภุมมา

ป้ายวิหารหลวงพ่อภุมมา

บริเวณของวิหารหลวงพ่อภุมมา จะมีลักษณะเป็นโคกสูงขึ้นมา ซึ่งนนท์เล่าว่า แต่เดิมสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพื้นที่ของวัดเดิม เพราะในอดีตเคยมีคนพบเห็นฐานเจดีย์ แต่ปัจจุบันได้ทรุดโทรมและหลายไปจนหมดสิ้นแล้ว

ต้นโพธิ์ใกล้กับวิหารหลวงพ่อภุมมา

ต้นโพธิ์ใกล้กับวิหารหลวงพ่อภุมมา

ใกล้เคียงกับวิหารหลวงพ่อภุมมา มีต้นโพธิ์ใหญ่ 1 ต้น และมีศาลพระภูมิเจ้าที่ ตั้งอยู่ด้วยครับ

วิหารหลวงพ่อภุมมา

วิหารหลวงพ่อภุมมา

วิหารหลวงพ่อภุมมา ได้สร้างขึ้นมาภายหลังจากพลังความศรัทธาของชาวบ้าน ซึ่งมีเรื่องราวตำนานความศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าสืบต่อกันมาช้านาน … ซึ่งนนท์ ได้เล่าว่า แต่เดิมจะมีการขุดคลองชลประทานผ่านมายังพื้นที่ตรงนี้ แต่ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ไม่สามารถที่จะขุดคลองผ่านบริเวณตรงนี้ได้ … แต่ทีมผู้รับเหมาได้พยายามที่จะขุดคลองให้แล้วเสร็จ จึงได้ฝันเห็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ว่าห้ามขุดเพราะถ้าขุดจะเกิดเหตุร้าย

จึงเป็นเหตุให้ต้องขุดคลองชลประทานอ้อมพื้นที่วิหารตรงนี้ ซึ่งผมได้ทำคลิปภาพประกอบไว้ให้แล้วสามารถดูได้จากคลิปนะครับ

พื้นที่การเกษตรโดยรอบพระวิหาร

พื้นที่การเกษตรโดยรอบพระวิหาร

โดยรอบวิหารหลวงพ่อภุมมา จะเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งจะอยู่ต่ำกว่าพื้นที่ของวิหารลงไป ซึ่ง ณ จุดนี้เป็นโคกที่สูงขึ้น จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นสถานที่สำคัญเมื่อในอดีตที่ผ่านมา

หลวงพ่อภุมมา

หลวงพ่อภุมมา

หลวงพ่อภุมมา

หลวงพ่อภุมมา

นนท์เล่าว่า หลวงพ่อภุมมาเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งเป็นองค์เดิมที่ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ โดยแต่เดิมไม่พบเศียรแต่ได้ถูกพบในพื้นที่ใกล้เคียงในป่าไผ่ จึงได้นำเศียรมาบูรณะกับองค์พระอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้

 

ตำนานเรื่องเล่าความศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อภุมมา

ในเส้นทางถนนลพบุรี – สิงห์บุรี หากท่านเดินทางจากลพบุรี ผ่านที่ว่าการอำเภอท่าวุ้งขึ้นไปจังหวัดสิงห์บุรี ประมาณ หลักกิโลเมตรที่ ๑๓ ฝั่งขวามือ จะเห็นศาลาทรงไทยสองห้อง เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อภุมมาประทับนั่งปางสมาธิ เกศทรงดอกบัวตูม เนื้อปูนปั้น หน้าตักกว้าง 1.20 เมตร สูง 1.35 เมตร หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกเป็นพระพุทธรูปที่ชาวบ้านวัดเกตุ และบ้านวัดยาง ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี เคารพนับถือ ประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อภุมมา จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่า ผู้แก่ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 80 ปี ขึ้นไป และยังมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันว่า
สถานที่ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อภุมมาเดิมเป็นเนินดิน มีเจดีย์ซึ่งหักพังแต่คงรูปทรงให้เห็นปกคลุมด้วยต้นมะขามเทศ องค์พระพุทธรูปไม่มีเศียร คนเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ไปพบเศียรท่านอยู่ในป่าไผ่ร้าง กลางทุ่งนาในบริเวณใกล้เคียง ได้มาบอกตาโต๊ะ ตาพลอย ซึ่งเป็นช่างปูนก่อสร้างในหมู่บ้านยุคนั้น ท่านทั้งสองจึงนำเศียรไปต่อ และก็ต่อได้พอดี แต่องค์พระไม่มีหลังคาคลุม จึงได้หาไม้เนื้อแข็งที่ขอมาจากชาวบ้านมาสร้างศาลา แล้วไปรื้อหลังคาตาจีบ (กระเบื้องดินเผา) มามุงให้ท่านเสียใหม่

ความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อภุมมาเป็นที่เล่าขานกันมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน เป็นที่พึ่ง ที่นับถือของชาวบ้าน ในละแวกนี้อย่างยิ่ง ใครมีทุกข์ร้อนก็ไปบอกกล่าวหลวงพ่อ เมื่อประสบความสำเร็จ ก็จะนำของไปแก้บน ด้วยบายศรีซ้ายขวา หมูเห็ดเป็ดไก่ เหล้าขาว ขนมต้มแดง ขนมต้มขาว และโดยเฉพาะน้ำพริกกะปิ ผักต้ม เป็นของโปรดสำหรับท่าน ธงจระเข้ พลุ ตะไล ลิเก แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา โดยเฉพาะครอบครัวที่กลัวบุตรจะเป็นทหาร ผู้เป็นมารดาส่วนมากที่มีบุตรชายครบกำหนดเกณฑ์ทหารและไม่ต้องการให้บุตรเป็นทหารจะไปบนหลวงพ่อทุกปีไม่เคยขาด และก็สมประสงค์เกือบทุกคนไป ในกาลต่อมา ประมาณปี พ.ศ. 2503 ชาวบ้านได้ร่วมแรงร่วมใจกันบูรณปฏิสังขรณ์บริเวณรอบๆ องค์หลวงพ่อให้น่าดูขึ้น โดยการจัดงานมหรสพ ปิดวิก มีลิเก ลำตัด จัดอยู่เป็นระยะได้ 3 ปี บางปีได้กำไร บางปีขาดทุน จึงนำเงินที่พอเหลือบ้าง มาทำเสาเพื่อทำหลังคาให้สูงขึ้น ทำฐานบัว ยกองค์หลวงพ่อสูงขึ้น บุรณะต่อมาหลายปีคนเก่าตายไปคนใหม่ก็มารับช่วงทำต่อมาจึงได้สำเร็จ
เหตุการณ์ที่สำคัญและเป็นประจักษ์พยานในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อ ตามคำเล่าขานก็คือ ปี 2510 กรมชลประทานมีโครงการขุดคลองส่งน้ำเพื่อการชลประทานช่วยเหลือการทำนา ได้ทำการส่องกล้องในการขุดคลอง ปรากฏว่าคลองนั้นตรงผ่านหลวงพ่อภุมมา ทางกรมชลประทานมีความเห็นว่าต้องย้ายองค์หลวงพ่อให้พ้นจากเส้นทางการขุดคลอง ประมาณปี พ.ศ. 2512 รถขุดเริ่มทำงานมาใกล้องค์หลวงพ่อ ปรากฏเหตุการณ์มหัศจรรย์เกิดขึ้นคือ รถขุดไม่สามารถทำงานได้ เครื่องดับไม่มีสาเหตุอยู่หลายวันคนงานขับรถต้องมานอนเฝ้ารถ พอตกกลางคืนคนงานฝันว่าเห็นแสงตะเกียงเจ้าพายุสว่างแจ้งทั่วโคกหลวงพ่อ ได้ยินเสียงพิณพาทย์ ระนาดราดตะโพนบรรเลงสมโภชตลอดคืนเห็นผู้คนเดินกันขวักไขว่ พอรุ่งเช้าเดินไปสังเกตดูไม่พบเห็นอะไร คนงานขับรถเกิดความลังเลใจ ลงมือขุดเครื่องยนต์ก็ดับ ทางหัวหน้ามีความตั้งใจจะต้องขุดให้ได้

พอตกดึกคืนที่ 3 คนงานฝันว่าได้ยินเสียงลมฝนครั่นครื้นมาทางทิศใต้ แล้วตกหนัก แรงมากและได้ยินเสียงประหลาดพูดดังมาก้องฟ้าว่า “มึงขุดกูไม่ได้ กูจะอยู่ตรงนี้ ถ้าขุดมึงตายหมด” รุ่งเช้าคนงานขับรถไปรายงานเจ้านายระดับเหนือ ถึงนิมิตในความฝันให้ทราบ หัวหน้าเจ้าหน้าที่กรมชลประทานต้องทำพิธีขอขมาลาโทษหลวงพ่อ รถขุดจึงสามารถทำงานได้โดยต้องเปลี่ยนแปลงแบบคลองอ้อมบริเวณองค์หลวงพ่อ หากไปตรวจสอบพื้นที่ภาพถ่ายทางอากาศในขณะนี้คลองชลประทานจึงไม่ตรงโค้งอ้อมบริเวณองค์หลวงพ่อ งานจึงดำเนินไปด้วยดีไม่ติดขัดงานและสำเร็จเรียบร้อยตามโครงการประมาณปี พ.ศ. 2514 ด้วยประการฉะนี้

ที่มา : www.thawung.go.th

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก www.faiththaistory.com