วัดพระพุทธฉาย สระบุรี เป็นสถานที่มีบันทึกเรื่องราวตำนานมากอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดสระบุรี โดยเฉพาะเรื่องราวของพระพุทธฉายหรือเงาพระพุทธเจ้า ที่หลายๆท่านได้เดินทางไปสักการะ อีกทั้งบนยอดเขาลมหรือเขาพระพุทธฉายแห่งนี้ มีมณฑปประดิษฐานรอยประทับพระพุทธบาท จึงเป็นสถานที่ ที่ได้รับความนิยมของนักท่องเที่ยวตลอดมา
นอกจากเรื่องราวตำนานของพระพุทธฉายแล้ว พื้นที่แห่งนี้ ยังเป็นโบราณสถานมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มายาวนาน เพราะมีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งน่าจะราว 3,000 ปีก่อน คำว่า ก่อนประวัติศาสตร์ หมายถึง ในยุคที่มนุษย์ยังไม่มีการบันทึกหรือการประดิษฐ์ตัวอักษร เราจึงค้นหาประวัติความเป็นมาจากภาพการเขียนรูป เครื่องมือเครื่องใช้ในอดีต
บริเวณที่พบภาพเขียนอยู่บนเพิงผาเดียวกับรอยพระพุทธฉาย เป็นภาพเขียนสีแดง จึงเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวหนึ่ง ที่เราจะได้สัมผัสถึงเรื่องในอดีต ที่บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์โบราณมายาวนาน สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ผมจึงขอถือโอกาสนี้ นำข้อมูลจากกรมศิลปากร มาอธิบายไว้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อท่านที่สนใจต่อไป ดังนี้
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์เขาลม (เขาพระพุทธฉาย)
แหล่งเขียนภาพสียุคก่อนประวัติศาสตร์บนเพิงผาเขาลม(เขาพระพุทธฉาย) วัดพระพุทธฉาย ต.หนองปลาไหล อ.เมือง จ.สระบุรี มีลักษณะเป็นภาพเขียนสีแดง ปรากฏอยู่บนเพิงผาเดียวกับพระพุทธฉาย ลักษณะของเพิงผาคล้ายหลังคา หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ความยาวประมาณ 106 เมตร ความสูงจากเชิงเขาประมาณ 20 เมตร สันนิษฐานว่าเคยเป็นที่พักอาศัยหรือประกอบกิจกรรมของมนุษย์ในอดีต เทคนิคการเขียนภาพมีทั้งแบบการเขียนโครงร่างและระบายสีทึบภายในโครงร่าง ส่วนวัสดุทำพู่กัน สันนิษฐานว่าทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น การนำเปลือกไม้มาทุบจุ่มสีแล้ววาดลงผนังหิน
เนื่องด้วยภาพเขียนสีผ่นกาลเวลามายาวนานหลายพันปี จึงมีสภาพที่ค่อนข้างเลือนลาง แต่ก็ยังพอสังเกตได้บ้าง ดังนั้นขอความร่วมมือ ไม่สัมผัสบริเวณภาพเขียนสีดังกล่าว เพื่อให้มีสภาพที่คงอยู่ได้นานที่สุดต่อไปครับ
ภาพเขียนผนังเพิงผาสามารถจำแนกได้ 4 ประเภท คือ
- ภาพคน พบทั้งภาพคนถืออาวุธ แสดงถึงการล่าสัตว์ และภาพคนเรียงกันเป็นแถวคล้ายขบวนแห่ ลักษณะการเขียนไม่เน้นสรีระและเครื่องประดับตกแต่งร่างกายที่ชัดเจน
- ภาพสัตว์ เช่น วัว สุนัข และไก่ อาจเป็นสัตว์ป่าหรือสัตว์เลี้ยงที่เคยพบเห็นและล่าเป็นอาหาร หรือเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมควมเชื่อ ลักษณะการเขียนภาพเป็นการเขียนรูปร่างด้านข้างของสัตว์
- ภาพอวัยวะคน เช่น ฝ่ามือ
- ภาพสัญลักษณ์หรือเลขาคณิต เช่น เส้นตรง เส้นหยักไปมา เส้นโค้ง สามเหลี่ยม บางภาพเขียนเป็นสัญลักษณ์ที่อาจมีความหมายเข้าใจของคนในกลุ่มนั้นๆ
ภาพเขียนสีดังกล่าวเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่มีการดำรงชีพแบบการหาของป่าสัตว์ หรือการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนแสดงถึงเรื่องพิธีกรรมความเชื่อ
จากการศึกษาพบว่าภาพเขียนสีบนเขาลมแห่งนี้มีความคล้ายคลึงกับแหล่งเขียนสีที่พบในแถบภาคเหนือ ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหลายแห่ง
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน “เขาลมและพระพุทธฉาย” ในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 52 หน้า 3700 วันที่ 8 มีนาคม 2478
อ้างอิงจาก : สำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา
สักการะพระพุทธฉาย สระบุรี
เมื่อชมร่องรอยประวัติศาสตร์จากภาพเขียนสีกันแล้ว ก็อย่าลืมแวะสักการะพระพุทธฉายที่มีตำนานเล่าขานมายาวนาน เป็นที่เคารพสักการะของผู้คนที่เดินทางมาวัดแห่งนี้ด้วยนะครับ
สักการะรอยพระพุทธบาท บนยอดเขาลม
เมื่อสักการะรอยพระพุทธฉายกันแล้ว เราสามารถขึ้นไปยังยอดเขาลม จะมีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเก่าแก่ให้ได้สักการะอีกด้วยครับ ท่านสามารถขับรถขึ้นไปได้
นี่คือเรื่องราวของพื้นที่แถบนี้ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานสืบทอดจนมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจในจังหวัดสระบุรี จึงขอเรียนเชิญมาท่องเที่ยวกันนะครับ
ช่องทางการติดตาม
Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com
Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน
YouTube Channel FaithThaiStory