วัดธรรมบรรพต (ถ้ำพระเวส) นครพนม ชมถ้ำธรรมชาติ ถิ่นครูบาอาจารย์ ในอดีตนั้นหลวงปู่ศรี มหาวีโร ลูกศิษย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ได้ธุดงค์มาภาวนาแล้วเกิดอาพาธจากไข้ป่าจนแทบเอาชีวิตไม่รอด ณ สถานที่นี้…
สวัสดีครับท่านผู้ติดตามและสนใจในเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยความศรัทธาทุกท่าน วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังจังหวัดนครพนม ในบรรยากาศเข้าสู่ฤดูหนาว ซึ่งบรรยากาศการเดินทางครีั้งนี้ มีความคุ้มค่าและได้พักผ่อนอย่างเต็มพิกัดในบรรยากาศที่ผมชอบมากอีกทริปหนึ่ง
ผมเดินทางมายัง อ.นาแก จ.นครพนม โดยมีเพื่อนสมัยเรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้นำเที่ยว และทำให้ผมรู้ว่า ยังมีอีกหลายสถานที่มากมายในแถบอีสานที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์กับครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน แต่ด้วยระยะเวลาในการท่องเที่ยวมีจำกัด ผมจึงได้แวะท่องเที่ยวในสถานที่สำคัญเป็นหลักนั่นก็คือ พระธาตุพนม
ส่วนวัดธรรมบรรพต (ถ้ำพระเวส) เป็นอีก 1 เส้นทางที่ผมได้เดินทางผ่าน จึงแวะเข้าไปท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าคุ้มค่าที่ได้เข้ามาครับ
เส้นทางการไปยังวัดธรรมบรรพต (ถ้ำพระเวส) เป็นเส้นทางขึ้นเขาไปไกลพอสมควร แต่เส้นทางสะดวกมากครับ เนื่องจากตลอดเส้นทางมีการเทคอนกรีตอย่างดี
ที่วัดจะมีลานกว้างสำหรับจอดรถกว้างขวางดีครับ เท่าที่ผมสังเกตุอาณาบริเวณ จะเห็นถึงการจัดสรรสถานที่ได้ดี มีถาวรวัตถุพอประมาณ การเดินทางสะดวก แม้จะอยู่ห่างไกล … ทั้งหมดทั้งมวล ผมเชื่อว่าคือพลังศรัทธาที่มีต่อวัดแห่งนี้พอสมควร
เมื่อมองเข้าไป จะเห็นพระเจดีย์บูรพาจารย์ ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตธาตุพระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น
จุดแรกที่ผมจะเข้าไปชมก็คือ ถ้ำพระเวส ซึ่งเป็นจุดไฮไลท์ของสถานที่แห่งนี้ครับ
ท่านที่จะเดินทางไปยังวัดแห่งนี้ ขอแนะนำเดินไปชมถ้ำตามถนนที่ลาดคอนกรีตไว้นะครับ อย่างลัดเลาะไปแบบผม เพราะผิดทางฮ่าๆ
ทางขึ้นถ้ำพระเวสจะมีบันไดสร้างขึ้นไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วครับ เดินขึ้นสะดวก ลักษณะถ้ำจะเป็นเงื้อมผายื่นออกมา เป็นถ้ำตื้นๆ แต่มีความยาวประมาณ 50 เมตร ปัจจุบันทางวัดทำการปูพื้นไม้ไว้ครับ
เมื่อผมขึ้นไปยังถ้ำพระเวส ต้องบอกว่ามีบรรยากาศที่เย็นลงอย่างชัดเจน ถ้ามีหมอนสักใบ คงหลับสนิทแน่นอน เป็นสถานที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมอย่างยิ่ง … ถัดจากถ้ำเข้าไปจะเป็นพื้นที่สงฆ์ ซึ่งฆราวาสเข้าไปไม่ได้ครับ (มีกุญแจล็อค)
พอผมมาอยู่ ณ จุดนี้ ช่างผ่อนคลายเหลือเกิน บรรยากาศที่เย็นสบายในฤดูหนาวที่ผมไม่ได้สัมผัสมานานพอสมควร เพราะชีวิตทำงานในเมืองและบรรยากาศเย็นๆ ก็ไม่ค่อยจะมีให้ได้สัมผัสกันนัก… แต่สำหรับต่างจังหวัด เรายังจะได้เห็นถึงธรรมชาติและบรรยากาศที่ดีอีกมากครับ
ผมได้ใช้เวลานั่งพักหลับตาบนถ้ำพระเวสสักระยะหนึ่ง จึงเดินลงมาเพื่อเข้าไปกราบพระบรมสารีริกธาตุที่เจดีย์บูรพาจารย์
สำหรับเรื่องราวตำนานการเล่าขานที่ถ้ำพระเวสแห่งนี้ ผมได้ลองค้นหาแล้วได้ความว่า…
ตำนานเรื่องเล่าถ้ำพระเวส
วัดธรรมบรรพต (วัดถ้ำพระเวส) ตั้งอยู่ในหุบเขาภูพาน อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาเตี้ยๆ ประกอบไปด้วยถ้ำ หุบเขา ผาสูงชัน ลำห้วยธรรมชาติและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ร่มรื่น วิเวก เหมาะแก่การปฏิบัติธรรมของพระภิกษุ ที่ชอบความเงียบสงบ ถือสันโดษเป็นอย่างยิ่ง จากการบอกเล่าของชาวบ้านที่เล่าต่อๆกันมาว่า มีนายพรานคนหนึ่งออกไปหาล่าสัตว์ตามป่าและภูเขา ได้พบถ้ำและหน้าผาที่สวยงาม มีตาน้ำไหลออกมาจากใต้ก้อนหินเป็นทางน้ำเล็กๆ ไหลตลอดเวลา ถ้ามีภาชนะรองไว้สามารถนำไปใช้สำหรับดื่มและอาบได้
ขณะนั้นมีพระภิกษุ 2 รูป เดินธุดงค์มาปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำพระ(ปัจจุบันเรียกถ้ำฤาษี) ชื่อพระอาจารย์โพธิ์และพระอาจารย์พา ไม่ทราบฉายา นายพรานได้นำเรื่องที่พบถ้ำดังกล่าวให้พระอาจารย์ทั้งสองฟัง จึงได้พากันไปสำรวจดู และได้ตั้งชื่อถ้ำแห่งนี้ว่า “ถ้ำเยี่ยวไก่” หรือ “ถ้ำไก่เยี่ยว”
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าถ้ำพระเวสนั้น พระอาจารย์ทั้งสองได้เข้าไปพักปฏิบัติธรรมอยู่ที่ถ้ำเยี่ยวไก่แล้ว ได้ชักชวนชาวบ้านไปพัฒนาแผ้วถางทางเดินจากถ้ำพระไปยังถ้ำเยี่ยวไก่ เพื่อให้สะดวก เดินลงเขาไปบิณฑบาต เมื่อพัฒนาเส้าทางเดินเสร็จเรียบร้อย ญาติโยมจึงชักชวนกันจัดทำบุญพระเวสขึ้น โดยใช้บริเวณถ้ำเยี่ยวไก่เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมพร้อมกันถวายที่นั่น
ดังนั้น ถ้ำเยี่ยวไก่จึงพากันเรียกว่า “ถ้ำพระเวส” ตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้
ความเกี่ยวข้อง ถ้ำพระเวสกับครูบาอาจารย์
ผมได้อ่านหนังสือประวัติของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้กล่าวถึงสถานที่แห่งนี้ในประวัติของท่าน เป็นสถานที่ภาวนาก่อนที่ท่านจะไปฝากตัวเป็นศิษย์ของหลวงปู่มั่น เรื่องราวมีอยู่ว่า…
ในพรรษาที่ 3 ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร ปี พ.ศ. 2490 เมื่อออกพรรษา หลวงปู่ศรีได้ธุดงค์หาความสงบวิเวกอยู่ตามราวป่าและนิคมชนบท ในจิตลึกของหลวงปู่นั้น ก็คอยเตือนระลึกอยู่เสมอว่ามีความปรารถนาจะไปกราบนมัสการและปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น
หลวงปู่ศรี ท่านได้ธุดงค์มาถึงถ้ำพระเวส ด้วยเห็นว่าเป็นสถานที่สงบ และอธิษฐานว่า “ถ้าเราจะไปกราบนมัสการและปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่น เราขอทดสอบตนเองก่อน ที่ถ้ำพระเวสนี้”
หลวงปู่ศรี ท่านภาวนาที่ถ้ำพระเวส ได้เดือนเศษ ก็เกิดการล้มป่วยอย่างแสนสาหัส ด้วยไข้มาลาเรีย แต่ด้วยจิตใจอันเด็ดเดี่ยวของหลวงปู่ จึงใช้ธรรมโอสถในการรักษาซึ่งใช้เวลานานถึง 1 ปี 11 เดือน อาการไข้ป่าจึงหายไป…
จะเห็นได้ว่า พระกรรมฐานหลายๆรูป มักมีอาการอาพาธจากไข้ป่า เหมือนด่านทดสอบสำคัญของชีวิตว่าจะมีชีวิตรอดพ้นไปได้หรือไม่…
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล บรรลุธรรมขั้นสูง (อรหันต์) ณ ถ้ำพระเวส
จากบันทึกประวัติหลวงปู่ดูลย์ อตุโล แห่งวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ พิมพ์ปี พ.ศ.2521 บันทึกว่า หลวงปู่ดูลย์ ได้ธุดงค์พาหลวงปู่ฝั้น อาจาโรและคณะมาถึงถ้ำพระเวส อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม ปัจจุบันคือ วัดธรรมบรรพต โดยการพักภาวนายาวนานตลอดฤดูแล้ง แต่ละรูปต่างก็ภาวนาอย่างเอาจริงเอาจัง และได้ผลการปฏิบัติที่ดีทุกรูป
หลวงปู่ดูลย์ได้พิจารณาหัวข้อกรรมฐานที่หลวงปู่มั่นได้ให้ไว้ที่ว่า สัพเพสังขารา สัพพสัญญา อนัตตา จนการภาวนาเกิดความสว่างไสวเข้าใจชัดว่า
เมื่อสังขารขันธ์ดับไปได้แล้ว ความเป็นตัวตนจะไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง
ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป ความทุกข์จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
จนจับใจความอริยสัจได้ว่า
จิตส่งออกนอก เพื่อรับสนองอารมณ์ทั้งสิ้น เป็นสมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอกแล้วหวั่นไหว เป็นทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ
ท่านทำความเข้าใจในปฏิจจสมุปบาทได้ตลอดสาย เป็นอันว่า หลวงปู่ดูลย์ท่านได้สำเร็จกิจแห่งชีวิตที่ถ้ำพระเวส อ.นาแก จ.นครพนมนี่เอง
สรุปปิดท้าย
บรรยากาศ ณ วัดธรรมบรรพต (ถ้ำพระเวส) เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่มีความสำคัญต่อชีวิตของพระกรรมฐาน ซึ่งอาจจะมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับครูบาอาจารย์อีกหลายๆรูป อีกทั้งยังมีบรรยากาศธรรมชาติที่ยังสัมผัสกันได้ ถ้ามีโอกาสเดินทางทางผ่านมายัง อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ควรอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยวของท่านอย่างยิ่งครับ
ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ…
แอดมินเล่าเรื่องหลวงปู่ศรีธุดงค์มาที่ถ้ำพระเวส
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com