วัดประดู่ทรงธรรม สำนักวิทยาคมกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรผนวชจำพรรษา ๒ ครั้ง… สวัสดีครับ ท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังวัดประดู่ทรงธรรม พระนครศรีอยุธยา วัดที่มีประวัติศาสตร์บันทึกว่า สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรออกผนวชและมาจำพรรษาที่นี่ ๒ ครั้ง
นอกจากนี้วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่ร่ำเรียนวิทยาคมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีหลวงพ่อรอดเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก
ในสมัยหลังมีอาจารย์จาบหรือเรียกกันว่า ก๋งจาบ เป็นฆราวาสที่มีความรู้ทางด้านกัมมัฏฐานได้มาเป็นครูสอนวิชาความรู้จนมีลูกศิษย์ที่เป็นพระเกจิชื่อดัง เช่น หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช, หลวงพ่อปลื้ม วัดสวนหงษ์ฯลฯ เป็นต้น และมีบันทึกว่า ก๋งจาบเคยไปช่วยชีวิตหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เมื่อครั้งถูกคุณไสย อีกด้วย
การเดินทาง ถ้ามาจากกรุงเทพฯ เมื่อมาถึงเจดีย์วัดสามปลื้ม(เจดีย์กลางถนน) ให้เลี้ยวขวาจะผ่านวัดกุฎีดาว แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีกราว 100 เมตรจะถึงวัดประดู่ทรงธรรม หน้าวัดมีลานจอดรถกว้างขวางครับ
เมื่อเดินเข้าวัด จุดแรกจะเจอคูน้ำรอบวัด อาจารย์ น. ณ ปากน้ำเคยเดินทางมาสำรวจวัดแห่งนี้ เมื่อเดือนธนวาคม ปี พ.ศ.2509 กล่าวว่า พบอุโบสถตั้งอยู่บนเนินดินมีน้ำล้อมรอบ คูที่โอบรอบกำแพงแก้วนั้นดูกว้างขวางมาก
จุดต่อไปจะเป็นส่วนของวิหาร สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย ภายในมีภาพเขียนสี ซึ่งเขียนขึ้นปี พ.ศ.2405 ตรงกับรัชกาลที่ 4 เป็นเรื่องราวต่างๆ เช่น พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า, กระบวนช้าง, เทพชุมนุม, ไตรภูมิ, พุทธประวัติ, วิถีชาวบ้าน เป็นต้น
จากข้อมูลของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่าในสมัยรัชกาลที่ 4-5 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดประดู่ทรงธรรม โดยพระยาโบราณราชธานินทร์สั่งให้ช่างคัดลอกภาพจิตรกรรมฝาผนังจากวัดยมลงบนสมุดข่อยนำมาเขียนลงในวิหารวัดประดู่ทรงธรรมเป็นภาพเรื่อง ไตรภูมิ เทพชุมนุม พุทธประวัติทศชาติชาดก ขบวนช้าง ภาพการละเล่น และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน ปัจจุบันสมุดเล่มที่คัดลอกภาพเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ
ผนังภาพจิตรกรรมมีแผ่นจารึกบอกศักราชที่ได้ปฏิสังขรณ์วัดนี้ว่าสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕ โดยกรมพระพิทักษ์เทเวศร์และพระพุทธสร
พระประธานภายในวิหารเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยลงรักปิดทอง 3 องค์ ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีเดียวกัน
เมื่อกราบพระประธานในวิหารและชมภาพจิตรกรรมสวยงามแล้ว จึงเดินออกมาชมบรรยากาศรอบวัด ซึ่งมีบรรยากาศที่รืมรื่นพอสมควรเพราะภายในวัดมีต้นไม้ใหญ่
พระอุโบสถเป็นฝีมือช่างอยุธยาตอนปลาย บัวที่ฐานอุโบสถทำเป็นบัวที่มีแข้งสิงห์รองรับสลับเป็นช่วงๆ ไม่ทำยาวตลอด น่าจะเลียนแบบมาจากวัดกุฎีดาว ปัจจุบันได้ถูกทางวัดเทปูนทับแข้งสิงห์ที่เป็นฐานหมดแล้วไม่มีร่องรอยเหลือให้เห็นเลย ตัวอุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าเพียงด้านเดียว ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ปิดทอง มีขนาดหน้าตักกว้าง อุโบสถหลังนี้มีลักษณะที่เรียกว่าแบบมหาอุด หน้าบันอุโบสถทำเป็นลายเครือเถา ประดับกระจก
ทำด้วยศิลาทราย มีขนาดหนา 12 เซนติเมตร เสมาชัยหน้าอุโบสถสลักลายสองด้าน สูง 76 กว้าง 42 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายเสมาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต่างกันตรงไม่มีฐานเสมาเหมือนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ลายตรงเส้นกลางเสมามีขนาดเล็ก ส่วนบนมีลักษณะผายและทำยอดแหลมเข้าใจว่าน่าจะเป็นเสมาสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ ส่วนใบเสมาอื่นๆ จะสลักลายเพียงหน้าเดียวแต่จะมีขนาดและรูปร่างเหมือนกับเสมาชัย
เจดีย์พระบรมธาตุอยู่ระหว่างอุโบสถและวิหาร เป็นเจดีย์ย่อมุมตั้งบนฐานทักษิณสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มีบันไดทางขึ้นด้านทิศตะวันตก ราวบันไดทำเป็นพญานาค บนลานทักษิณประดิษฐานพระเจดีย์ย่อมุม 1 องค์
ประวัติศาสตร์วัดประดู่ทรงธรรม
วัดประดู่ทรงธรรมมีบันทึกในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาว่า ปีพ.ศ. 2163 นสมัยพระเจ้าทรงธรรม พระสงฆ์วัดประดู่ทรงธรรมช่วยพระองค์จากการลอบปลงพระชนม์จากชาวญี่ปุ่น หลังจากนั้นพระเจ้าทรงธรรมจึงได้ทรงอุปถัมภ์วัดประดู่ทรงธรรมตลอดราชกาล
ในพระราชพงศาวดารเขียนว่า
“ครั้งนั้นญี่ปุ่นเข้ามาค้าขายหลายลำ ญี่ปุ่นโกรธว่าเสนาบดีมิได้เป็นธรรม คบคิดกันเข้าด้วยพระพิมลธรรมฆ่าพระมหากษัตริย์เสีย ญี่ปุ่นคุมกันได้ประมาณ ๕๐๐ ยกเข้ามาในท้องสนามหลวงคอยจะกุมเอาพระเจ้าอยู่หัว อันเสด็จออกมาฟังพระสงฆ์บอกหนังสือ ณ พระที่นั่งจอมทอง ๓ หลัง ขณะนั้น พอพระสงฆ์วัดประดู่โรงธรรมเข้ามา ๘ รูป พาเอาพระองค์เสด็จออกมาต่อหน้าญี่ปุ่น…”
อีกความหนึ่งกล่าวว่า “แล้วสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชโองการให้วิเสทแต่งกัปปิยะจังหันถวายพระสงฆ์ วัดประดู่ เป็นนิตยภัตอัตรา”
และมีบันทึกในสมัยอยุธยาตอนปลายว่า วัดประดู่ทรงธรรม เป็นวัดที่พระเจ้าอุทุมพรได้ผนวชและจำพรรษา 2 ครั้ง เป็นเหตุของชื่อของพระเจ้าอุทุมพรอีกชื่อหนึ่งคือ “ขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม”
ครั้งแรกปีพ.ศ. 2301 หลังครองราชสมบัติได้เพียง 10 วัน พระองค์ก็สละราชสมบัติให้แก่พระเจ้าเอกทัศซึ่งเป็นพระเชษฐาแล้วออกผนวชจำพรรษาที่วัดประดู่ทรงธรรม จนกระทั่ง ปีพ.ศ.2302 พระเจ้าอลองพญาได้ยกทัพมาโจมตีกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอุทุมพรจึงลาผนวชเพื่อมาช่วยราชการศึก จนกระทั่งทัพข้าศึกถอยไป แต่พระองค์ก็เสด็จออกผนวชอีกครั้ง เพราะความวุ่นวายในราชสำนัก
บ้านเมืองสงบได้ไม่นาน จนกระทั่ง ปีพ.ศ.2309 กองทัพพม่าเข้าโจมตีกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ครั้งนี้พระเจ้าอุทุมพรไม่ลาผนวช แต่ขุนนางได้นิมนต์ทูลเชิญท่านมาจำพรรษาที่วัดราชประดิษฐานเพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่ชาวเมือง
แต่สุดท้ายแล้ว กรุงศรีอยุธยาก็ไม่สามารถต้านทานกองทัพพม่าที่เข้าโจมตีได้ และเสียกรุงอย่างย่อยยับในปี พ.ศ.2310 นั่นเอง
อาจารย์จาบ ฆราวาสผู้เรืองวิทยาคม วัดประดู่ทรงธรรม
นอกจากเรื่องราวทางประวัติศาสตร์แล้ว ก็ยังมีเรื่องราววิทยาคมกล่าวว่าวัดประดู่ทรงธรรมเป็นแหล่งเรียนวิทยาคมและวิชากัมมัฏฐานที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่อดีต และชื่อของอาจารย์จาบหรือ ก๋งจาบ ก็เป็นชื่อของฆราวาสที่เรืองวิทยาคม แม้จะเป็นฆราวาสแต่เป็นครูกัมมัฏฐานของพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช, หลวงพ่อปลื้ม วัดสวนหงษ์ เป็นต้น
อีกทั้งมีบันทึกในหนังสือ “ตายไม่สูญ แล้วไปไหน” โดยหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ได้เขียนถึงประวัติหลวงพ่อปาน โสนันโทแห่งวัดบางนมโค ไว้ว่า
เมื่อครั้งหลวงพ่อปาน อายุได้ 38 ปี ได้ถูกวิชาคุณไสย(วิชาบังฟัน) ซึ่งไม่เกิดแผนภายนอกแต่จะเกิดแผลภายใน ทำให้หลวงพ่อปานหมดสติไป ไม่มีใครสามารถที่จพช่วยเหลือให้ฟื้นคืนมาได้ จนต้องไปตามอาจารย์จาบมาช่วย เพราะมีวิชาอาคมและสามารถทำยาแก้ได้ทำให้หลวงพ่อปานฟื้นคืนกลับมาด้วยวิชาของอาจารย์จาบ ชื่ออาจารย์จาบ จึงเป็นที่เล่าขานจนถึงปัจจุบันนี้
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวพอสังเขปเกี่ยวกับวัดประดู่ทรงธรรม จะเห็นได้ว่าเป็นวัดที่มีความสำคัญยาวนานมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีจวบจนถึงปัจจุบัน เป็นสถานที่น่าเรียนรู้และท่องเที่ยวอีกวัดหนึ่งครับ
ขอขอบคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ…แอดมินตั้ม
ช่องทางการติดตาม
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด