“พงตึก” ชุมชนการค้าโบราณพันปี กาญจนบุรี

By | August 31, 2023

วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปยังโบราณสถานพงตึก ต.พงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี สถานที่แห่งนี้เคยเป็นชุมชนโบราณเก่าแก่มานานนับพันปี มาตั้งแต่สมัยทวารวดี พบหลักฐานทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายชิ้น ที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธ และพราหมณ์ฮินดู

โบราณสถานพงตึก แห่งที่ 1

จากการศึกษาทางโบราณคดี สันนิษฐานว่า พื้นที่แถบนี้ จะเป็นชุมชนโบราณเชื่อมเส้นทางการค้าจากดินแดนฝั่งตะวันตก เชื่อมต่อกับเมืองโบราณอื่นๆ อาทิ เมืองคูบัว นครปฐม กำแพงแสน เมืองสิงห์ เมืองอู่ทอง เป็นต้น

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์

ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ ได้เข้ามาสำรวจโบราณสถานพงตึก เมื่อปี พ.ศ.2470 ได้พบพระพุทธรูป พระพิมพ์จำนวนหลายองค์ ซึ่งมีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยทวารวดี

ปัจจุบันมีโบราณสถาน 2 แห่ง ที่ได้รับการสำรวจอย่างเป็นทางการ แห่งที่ 1 มีลักษณะเป็นฐานศิลาแลงของอาคารมีบันไดทางขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นฐานของวิหาร

โบราณสถานพงตึก แห่งที่ 1

ในช่วงแรก ที่ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ เข้าสำรวจ พบหลักฐานโบราณวัตถุที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพุทธเป็นส่วนใหญ่ และพบโบราณวัตถุชิ้นเก่าแก่ คือ ตะเกียงแบบกรีก โรมัน ที่มีความเก่าแก่ถึง พุทธศตวรรษที่ 6

ตะเกียงกรีก-โรมัน พบที่พงตึก

ตะเกียงกรีก-โรมัน ทำจากสำริด อายุกว่า 1,900 ปี พบที่โบราณสถานพงตึก อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี ที่ฝาตะเกียงเป็นลายใบหน้าของเทพเจ้าซิเลนุส (Silenus) ด้ามจับเป็นลายปาล์มและปลาโลมา 2 ตัว เชื่อกันว่าผลิตขึ้นในช่วงราชวงศ์ปโตเลมี แห่งอเล็กซานเดรีย อียิปต์ นักโบราณคดีประเมินอายุอาจเก่าแก่ถึงพุทธศตวรรษที่ 6 หรือมีอายุมากกว่า 1,900 ปี

เมืองโบราณสมัยทวารวดี ในแถบภาคกลางของไทย

โบราณสถานพงตึก อยู่ในเส้นทางการค้าโบราณระหว่างทะเลอันดามันและอ่าวไทย จึงเกิดชุมชนโบราณระหว่างเมืองโบราณทวารวดีอีกหลายแห่ง เช่น นครปฐม กำแพงแสน คูบัว เป็นต้น ตะเกียงโบราณนี้ จึงน่าจะถูกนำเข้ามาจากพ่อค้าฝั่งตะวันตก ที่มาทำการค้ากับเมืองโบราณต่างๆในดินแดนนี้

โบราณวัตถุ พบที่พงตึก (หนังสือการขุดค้นที่พงตึก โดย ศ.ยอร์ช เซเดส์)

โบราณวัตถุ พบที่พงตึก (หนังสือการขุดค้นที่พงตึก โดย ศ.ยอร์ช เซเดส์)

อีกราว 10 ปีต่อมา ได้มีการสำรวจทางโบราณคดีเพิ่มเติม ได้ขุดพบเทวรูปพระนารายณ์สี่กร สูง 80 ซม. สันนิษฐานอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 – 14 ปัจจุบันได้เก็บรักษาไว้ที่วัดดงสัก อีกทั้งยังพบพระหัตถ์เทวรูป และเสาหินที่อาจจะเป็นศิวลึงค์ ทำให้ทราบว่า โบราณสถานพงตึก มีความเกี่ยวเนื่องทางศาสนาทั้งพุทธและพราหมณ์ ฮินดู

พระนารายณ์สี่กร พบที่พงตึก (หนังสือการขุดค้นที่พงตึก โดย ศ.ยอร์ช เซเดส์)

ผมได้เดินทางไปยังวัดดงสัก เพื่อไปชมเทวรูปพระนารายณ์ และได้ติดต่อผู้ดูแลวัด แต่น่าเสียดายว่า วันที่ผมเดินทางไปนั้น เจ้าอาวาสติดกิจนิมนต์ จึงไม่มีกุญแจเปิดเข้าไปชมด้านในได้ ผมจึงได้เพียงถ่ายรูปองค์จำลองที่สร้างไว้ภายในวัดมาให้ชมเท่านั้น

พระนารายณ์สี่กร(องค์จำลอง) ที่วัดดงสัก

จากนั้น ผมได้ขับรถไปยังโบราณสถานพงตึกแห่งที่ 2 ซึ่งอยู่ห่างจากจุดแรก ประมาณ 1 กิโลเมตร โบราณสถานพงตึกแห่งที่ 2 เป็นซากฐานโบราณสถานผังกลม ซึ่งน่าจะเป็นสถูปทรงกลม ที่พังทลายเหลือเพียงก้อนศิลาแลงบางส่วนเท่านั้น ถัดเข้าไปเป็นซากฐานโบราณสถานผังสี่เหลี่ยม ตรงกลางมีฐานประติมากรรมรูปเคารพ ปัจจุบันพังทลายจนแทบไม่หลงเหลือสภาพเดิม

โบราณสถานพงตึก แห่งที่ 2

ฐานสถูปทรงกลม โบราณสถานพงตึก แห่งที่ 2

โบราณสถานพงตึก แห่งที่ 2

โบราณสถานพงตึก แม้จะหลงเหลือโบราณสถานไม่มากนัก แต่ก็เป็นอีกหลักฐานหนึ่ง ที่ทำให้ทราบว่า ชุมชนแถบนี้ เคยมีการอยู่อาศัย และรุ่งเรืองมายาวนานนับพันปีมาแล้ว

ขอขอบคุณการติดตาม พบกันใหม่ในบทความต่อไป / แอดมินลุงตั้ม (ยุทธนา ผิวขม)

ช่องทางการติดตาม

FB : เพจภารกิจเที่ยววัด

YT : FaithThaiStory