วัดเกาะราษฎร์ศรัทธาธรรม (วัดปกปาก) ชมโบสถ์โบราณและเปลือกหอยโบราณ

By | November 21, 2016


https://youtu.be/-XVTj4zRWPQ

สวัสดีครับท่านผู้มีใจรักการท่องเที่ยววัดทุกท่าน สำหรับวันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปไกลสักเล็กน้อย และก็ไปตามเส้นทางวัฒนธรรมของอำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา

บทความนี้จะพาท่านไปยังวัดเกาะราษฎร์ศรัทธาธรรม หรือวัดปกปาก มีความน่าสนใจคือ จะมีโบสถ์เก่าอายุกว่า 100 ปี ที่ทรุดโทรมอย่างหนัก ดูแล้วน่าจะรอวันพังทลายไปตามกาลเวลา ซึ่งในวันที่ผมเดินทางนั้นจะเป็นปี พ.ศ.2559 ก็ยังสามารถเข้าไปชมกันได้ จะเห็นใบเสมา ที่ปักอาณาเขตโบสถ์เดิมไว้ มีลูกนิมิตโบราณภายในโบสถ์ และสิ่งสำคัญอีกอย่างคือ มีซากเปลือกหอยโบราณ ดึกดำบรรพ์ที่ทางวัดได้ขุดพบอีกด้วย

โอกาสนี้ ผมจึงพาทุกท่านเดินทางไปชมบรรยากาศและศึกษาเรื่องราวกันครับ

คลองท่าลาด

คลองท่าลาด

ต้นโพธิ์หน้าวัด

ต้นโพธิ์หน้าวัด

ต้นโพธิ์หน้าวัด จะมีซากต้นตะเคียนอยู่ด้วย ซึ่งเป็นไปตามความเชื่อเกี่ยววิญญาณนางตะเคียนที่สืบทอดความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ

พระอุโบสถหลังใหม่

พระอุโบสถหลังใหม่

พระอุโบสถหลังใหม่สร้างแทนหลังเดิมที่ทรุดโทรมไปอย่างมาก เริ่มสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2513

เมื่อเดินผ่านพระอุโบสถหลังใหม่เข้ามาจะพบกับโบสถ์หลังเดิมที่ทรุดโทรมอย่างมาก

สภาพโบสถ์หลังเดิม

สภาพโบสถ์หลังเดิม

โบสถ์หลังเดิม สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2443 มีขนาดกว้าง 5.35 เมตร ยาว 11.10 เมตร ลัษณะทรงไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หลังคามุงกระเบื้อง ผนังก่อด้วยอิฐถือปูนทั้งหลัง ปัจจุบันชำรุดสิ้นสภาพไปอย่างมาก

สภาพโบสถ์หลังเดิม

สภาพโบสถ์หลังเดิม

สภาพทรุดโทรมของโบสถ์หลังเดิม

สภาพทรุดโทรมของโบสถ์หลังเดิม

สภาพภายในโบสถ์หลังเดิม

สภาพภายในโบสถ์หลังเดิม

สภาพโบสถ์อีกฝั่ง

สภาพโบสถ์อีกฝั่ง

ใบเสมาโบสถ์หลังเดิม

ใบเสมาโบสถ์หลังเดิม

ใบเสมา เป็นสิ่งที่ใช้บอกอาณาเขตของพระอุโบสถ

กลุ่มนักเดินทางเดินวนเวียนชมสภาพโบสถ์หลังเดิม ด้วยความเสียดายที่สักวันจะต้องพังทลายไปจนหมด มีเพียงรูปภาพที่จะได้เห็นกันต่อไป สุดท้ายต้องทำใจ และต้องเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้น

จากนั้นกลุ่มของพวกเราก็เดินทางไปยังศาลาการเปรียญเพื่อขึ้นไปชมเปลือกหอยโบราณ ดึกดำบรรพ์ ซึ่งขุดพบมากมายในบริเวณวัด …และได้นำมาเก็บรักษาไว้บนศาลาการเปรียญ

เปลือกหอยโบราณ

เปลือกหอยโบราณ

เมื่อเราขึ้นมาชมเปลือกหอยเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้เวลาสักพักได้การพูดคุยกัน ได้พบเห็นสิ่งต่างๆมากมาย ที่เป็นกำไรชีวิตของกลุ่มนักเดินทาง …แม้ว่าจะไม่ใช่วัดท่องเที่ยว แต่ทุกๆสถานที่ ก็ย่อมมีเรื่องราวให้ได้เรียนรู้กันไม่รู้จบ

ประวัติวัดเกาะราษฎร์ศรัทธาธรรม (วัดปกปาก) พอสังเขป

วัดปกปาก หรือที่ชาวบ้านเรียก “วัดโปกปาก” สังกัดมหานิกาย อยู่ในเขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งอยู่ที่บ้านไผ่สอ หมู่ที่ 9 ตำบลเมืองใหม่ อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา

วัดนี้มีประวัติวามเป็นมาจากหลักฐานทางเอกสารบันทึกไว้ว่า ความเป็นมาของชื่อที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “วัดโปกปาก” เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ตรงที่ปากคลองโปกปาก ต่อมาคำเรียกเพี้ยนไปมาเป็น “ปกปาก” ส่วนชื่อวัดของทางราชการในปัจจุบัน คือ วัดเกาะราษฎร์ศรัทธาราม อันเนื่องมาจากพื้นที่ด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ ติดกับคลองท่าลาด ต่อมาด้านหลังวัดทิศตะวันตก พื้นที่ถูกนํ้ากัดเซาะกลายเป็นลำคลองเชื่อมต่อกัน ทำให้ที่ตั้งวัดกลายเป็นเกาะกลางนํ้า ภายหลังจึงได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดเกาะราษฎร์ศรัทธาราม

ตำนานวัดกล่าวว่า นายแดง นางอ้วน เป็นผู้มีจิตศรัทธาถวายที่ดินสร้างวัดและมีพระอาจารย์อิ่ม ขุนพิทักษ์อาณาเขตร์ กำนัน นายเพ็ดนางหลิ่ม นายวอน นายสอน ร่วมกันบริจาคทรัพย์สินส่วนตัวและเรี่ยรายชาวบ้านในท้องถิ่นมาสร้างวัดขึ้น โดยสร้างพระอุโบสถในปี พ.ศ. 2419 แล้วเสร็จในปีชวด พ.ศ. 2443 จึงได้ทำการผูกพัทธสีมา โดยมีพระปลัดทอง พระอาจารย์อิ่ม ขุนพิทักษ์อาณาเขตร์ นายเพ็ด นางหลิ่ม นายวอน นายสอน เป็นผู้จัดการโดยตลอด สิ้นเงินเท่าไรไม่ปรากฏ

วัดนี้นับตั้งแต่ก่อสร้างและผูกพัทธสีมาแล้วมีแต่ทรงอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ทรุดลงมาเป็นลำดับ จนถึงสมัยผู้รั้งอธิการพร้อมมาเป็นเจ้าอาวาส เมื่อ พ.ศ. 2476 จึงได้จัดสร้างกุฎิขึ้นใหม่ ซ่อมแซมของเก่าที่ชำรุดทรุดโทรมบ้าง และได้ปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญที่ได้สร้างค้างอยู่แต่ครั้งพระอาจารย์ลอยเป็นเจ้าอาวาสจนสำเร็จจึงนับได้ว่าวัดนี้เจริญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในยุคของพระอธิการพร้อมเป็นเจ้าอาวาส และหลังจากนั้นเป็นต้นมาวัดก็ขาดผู้นำที่เข้มแข็ง จึงมีแต่ทรุดลงเป็นลำดับ อีกหลายปีต่อมาจนถึงสมัยพระอธิการฟ้อนมาเป็นเจ้าอาวา ท่านก็ได้พยายามบูรณะปฏิสังขรณ์ เสนาสนะภายในวัดขึ้นใหม่ทั้งหมด จนทำให้วัดมีกุฎิ หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียญที่แข็งแรงถาวรและสง่างามเป็นราศรีแก่วัด

ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2513 ท่านได้พิจารณาเห็นว่าพระอุโบสถหลังเก่าของวัดเวลานี้ชำรุดทรุดโทรมลงไปมากแล้ว ไม่ปลอดภัยในการประกอบสังฆกรรมของ พระภิกษุสงฆ์ จึงได้ปรึกษากับคณะกรรมการวัด ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยจึงได้จัดทำพิธีวางศิลาฤกษ์ขึ้นเมื่อ เดือนมีนาคม 2513 โดยมีนางสาวผาด มังกร และนายหนู ตันยะบุตร เป็นผู้จัดทำผ้าป่ามาเป็นทุนในการก่อสร้างพระอุโบสถเป็นครั้งแรก การก่อสร้างได้ดำเนินมาเป็นลำดับ แต่พระอุโบสถยังไม่ทันสำเร็จ พระอธิการฟ้อนก็ได้มรณะภาพลงเสียก่อน ทำให้การ ก่อสร้างช้าลงและขาดผู้นำที่เข้มแข็ง กอปรกับวัสดุการก่อสร้างมีราคาแพงขึ้นกว่าแต่เดิมมากขึ้น จึงนับได้ว่าพระอธิการฟ้อน ได้เป็นผู้นำความเจริญมาสู่วัดอีกครั้งหนึ่ง

บทส่งท้าย

การเดินทางของผม มักจะเดินทางไปวัดต่างๆ ที่มีเรื่องราวให้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็นวัดร้าง หรือไม่ร้าง ผมก็เข้าไปหมด (ถ้ามีเวลา) และวัดแห่งนี้ก็เช่นกัน เป็นอีกวัดหนึ่ง ที่น้อยคนนักจะรู้จัก แต่ก็มีเรื่องราวให้ติดตามกันอยู่พอสมควร ถือว่าเป็นอีกหนึ่งวัด ที่ทำให้ผมมีความสุขในการเดินทางครับ  แล้วพบกันใหม่ครับ ในภารกิจเที่ยววัด

https://youtu.be/FrlMD-v-5ZI

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory