Faiththaistory.com

ปราสาทภูมิโปน ปราสาทขอมโบราณเก่าแก่ที่สุดในไทย

YouTube Poster

ปราสาทภูมิโปน มีสถานที่ตั้งอยู่ที่บ้านภูมิโปน  ตำบลดม  อำเภอสังขะ  จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งสันนิษฐานอายุการสร้างราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ถือได้ว่าเป็นปราสาทที่ได้รับอิทธิพลอารยธรรมขอมโบราณที่มีความเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ข้อมูลจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ได้ระบุว่าบริเวณสถานที่ตั้งของปราสาทภูมิโปน มีภูมิศาสตร์ที่เชื่อได้ว่าเคยเป็นชุมชนสถานที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ เพราะปรากฏร่องรอยคูน้ำคันดินอยู่โดยรอบ

ภูมิศาตร์ใกล้กับสถานที่ตั้งของปราสาทภูมิโปน

และราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 แห่งอาณาจักรขอมโบราณ บริเวณชุมชนบ้านภูมิโปนได้ถูกพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่ โดยมีปราสาทภูมิโปนเป็นศูนย์กลางและศาสนสถานในศาสนาฮินดู

สำหรับคำว่า “ภูมิโปน” เชื่อว่าน่าจะมาจากภาษาเขมร “ภูมิ” มีความหมายคือ แผ่นดิน, สถานที่หรือหมู่บ้าน และ “ปูน” ซึ่งออกเสียงว่า “โปน” แปลว่า “หลบซ่อน” 

ปราสาทภูมิโปน

ถ้ารวมคำว่า “ภูมิโปน” จึงมีความหมายว่า “สถานที่หลบซ่อน”

จากความหมายของคำว่า “ภูมิโปน” จึงไปสอดคล้องกับตำนานท้องถิ่น ที่กล่าวไว้ว่า มีกษัตริย์ขอมองค์หนึ่งได้สร้างเมืองลับไว้กลางป่าใหญ่ชื่อว่า “ปราสาทภูมิโปน” ต่อมาเกิดเหตุการณ์เมืองหลวงมีความไม่สงบสุข เนื่องจากมีข้าศึกศัตรูเข้ามาประชิดเมือง กษัตริย์ขอมองค์นั้นจึงส่งพระราชธิดาของตนพร้อมกับไพร่พลจำนวนหนึ่งไปหลบซ่อนลี้ภัยสงครามที่ภูมิโปน ตามตำนานได้กล่าวถึงพระราชธิดาองค์นั้นมีพระนามว่า “พระนางศรีจันทร์” หรือ “เนียง ด็อฮ ทม”

ปราสาทภูมิโปนประกอบด้วย ปราสาทก่อด้วยอิฐอยู่ทั้งสิ้น 3 หลัง และฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลง 1 หลัง โดยปราสาทอิฐหลังใหญ่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ก่อด้วยอิฐไม่สอปูนแบบศิลปะขอมรุ่นเก่า มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเตี้ย เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยม มีประตูทางเข้า – ออกด้านเดียวทางฝั่งทิศตะวันออก ส่วนยอดก่อเป็นหลังคาซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นชั้นๆ ปัจจุบันพังทลายเหลือเพียง 3 ชั้น บริเวณใต้หน้าบันของประตูทางเข้า – ออก สลักเป็นลายรูปใบไม้ม้วนแบบศิลปะอินเดียในสมัยหลังคุปตะ(ราวพุทธศตวรรษที่ 11 – 13) จากการขุดแต่งโบราณสถาน พบชิ้นส่วนศิลาจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต 1 ชิ้น ซึ่งเป็นตัวอักษรที่มีใช้ราวพุทธศตวรรษที่ 12 – 13

ตัวอย่างของ อักษรปัลวะ (เสาธรรมจักรสมัยทวารวดี พบที่เมืองโบราณซับจำปา ลพบุรี)

เมืองโบราณซับจำปา

สำหรับโบราณวัตถุชิ้นสำคัญได้เก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ ได้แก่ ทับหลัง ชิ้นส่วนจารึกและเสาประดับกรอบประตู

จารึกที่ปราสาทภูมิโปน

จารึกปราสาทภูมิโปน วัสดุจากหินทรายศิลปะลพบุรี(เขมรในประเทศไทย)แบบไพรกเม็ง สูง 17.5 เซนติเมตร  กว้าง 10.5 เซนติเมตร  หนา 12.5 เซนติเมตร สันนิษฐานอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นชิ้นส่วนจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มีตัวอักษร 1 ด้านจำนวน 3 บรรทัด เห็นรูปอักษรเป็นบางตัว ไม่สามารถวิเคราะห์รูปคำและแปลความหมายได้ ปัจจุบันได้เก็บรักษาและแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์

ข้อมูลเนื้อหาทั้งหมดนี้ได้เรียบเรียงมาจาก กรมศิลปากร ได้แก่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สุรินทร์ และฐานข้อมูลโบราณวัตถุที่สำคัญ จึงขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้

และขอขอบคุณภาพปราสาทภูมิโปนสวยๆจาก คุณลักขณา รักษา ที่ได้เอื้อเฟื้อภาพประกอบในบทความนี้

ช่องทางการติดตาม

Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด – Faiththaistory.com

Facebook กลุ่มเที่ยววัดและโบราณสถาน 

YouTube Channel FaithThaiStory

Instagram

TikTok

Exit mobile version