ตามรอยพระพุทธบาทกลางดง นครราชสีมา

By | June 22, 2014

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2557 ผมมีโอกาสได้เดินทางผ่านนครราชสีมา แถวๆอำเภอปากช่อง เพื่อจะได้ไม่ให้เสียเที่ยวในการเดินทางครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันค่าใช้จ่ายเรื่องเชื้อเพลิงก็แพงขึ้นมาก จึงได้ค้นหาข้อมูลจากหนังสือ “ตามรอยพระพุทธบาท” ของพระชัยวัฒน์ อชิโต เผื่อจะมีสถานที่ให้ได้ไปสำรวจและกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท ก็มีข้อมูลว่ามีรอยพระพุทธบาทแห่งหนึ่งอยู่ที่ ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

เมื่อได้ข้อมูลดังกล่าวผมก็ได้เปิดอินเตอร์เน็ต เผื่อจะมีใครได้เดินทางไปมาแล้ว และก็มีคณะเดินทางไปมาแล้วเช่นกัน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 และครั้งล่าสุดที่หาได้จากอินเตอร์เน็ตคือ ปี พ.ศ. 2550 โดยคณะของเว็บ แดนพระนิพพาน จึงขอขอบพระคุณเว็บแดนพระนิพพานที่ได้เดินทางไปสำรวจ ทำให้พอมีข้อมูลในการเดินทางมากขึ้นเยอะเลยทีเดียว

แต่ครั้งนี้ผมไม่ได้ประสบความสำเร็จในการเข้ากราบนมัสการรอยพระพุทธบาทได้ เนื่องจากพอไปถึงสถานที่แล้ว มีเจ้าถิ่นคือสนุขจำนวนมาก วิ่งไล่เห่า จนผมต้องใส่เกียร์วิ่งหนึแทบจะไม่ทัน ถ้าผมเดินออกจากรถไปไกลกว่านี้ เห็นทีจะคงถูกพวกเจ้าถิ่นกัดเข้าให้แล้ว แต่อย่างน้อยผมก็ได้รู้แล้วว่าสถานที่แห่งนี้อยู่ตรงไหน และผมจะต้องกลับไปอีกให้ได้ และจะต้องทำให้บรรลุเป้าหมายให้ได้

ผมเริ่มออกเดินทางตามแผนที่ของเว็บแดนพระนิพพาน

แผนที่สถานปฏิบัติธรรมพระพุทธบาทกลางดงดง จาก www.danpranipparn.com

แผนที่สถานปฏิบัติธรรมพระพุทธบาทกลางดงดง จาก www.danpranipparn.com

เส้นทางเดินทางไม่ยากครับ ให้ดูเส้นทางตามแผนที่ ให้เดินทางตามป้ายเดินทางไปวัดป่าเพิ่มบุญ

ทางเข้าเพื่อเดินทางไปสถานปฏิบัตธรรมรอยพระพุทธบาทกลางดง

ทางเข้าเพื่อเดินทางไปสถานปฏิบัตธรรมรอยพระพุทธบาทกลางดง

ทางเข้าจะอยู่ติดถนนมิตรภาพ ปากทาง จะมีป้ายบอกทางหลายวัดมากครับ แต่ไม่มีป้ายบอกทางสถานปฏิบัติธรรมรอยพระพุทธบาทกลางดงเลยครับ จึงต้องใช้เส้นทางที่บอกทางไปวัดป่าเพิ่มบุญแทน เพราะเป็นเส้นทางเดียวกัน

เส้นทางหลังจากเลี้ยวเข้ามาจากถนนมิตรภาพ

เส้นทางหลังจากเลี้ยวเข้ามาจากถนนมิตรภาพ

เส้นทางจะเต็มไปด้วยต้นไม้และพื้นที่เกษตรกรรม

เส้นทางจะเต็มไปด้วยต้นไม้และพื้นที่เกษตรกรรม

เดินทางเข้ามาจะพบว่ามีต้นไม้ระหว่างทางปกคลุมเยอะพอสมควรและมีพื้นที่เกษตรกรรมตลอดเส้นทาง ผมจึงไม่แปลกใจเลยทำไมจึงเรียกว่า ต.กลางดง เพราะพื้นที่อยู่กลางดงป่าจริงๆครับ

การเดินทางให้สังเกตป้ายบอกทางไปวัดป่าเพิ่มบุญ

การเดินทางให้สังเกตป้ายบอกทางไปวัดป่าเพิ่มบุญ

เส้นทางค่อนข้างเปลี่ยว มีรถสวนทางน้อยมาก นานๆจะเห็นสักคัน

เส้นทางค่อนข้างเปลี่ยว มีรถสวนทางน้อยมาก นานๆจะเห็นสักคัน

ป้ายบอกทางเข้าสถานปฏิบัติธรรมรอยพระพุทธบาทกลางดง

ป้ายบอกทางเข้าสำนักปฏิบัติธรรมรอยพระพุทธบาทกลางดง

ป้ายบอกทางเข้าสำนักปฏิบัติธรรมรอยพระพุทธบาทกลางดง (สาขาวัดมิตรภาพ) จะอยู่ฝั่งขวา  จะเป็นป้ายค่อนข้างเก่า คาดว่าป้ายนี้จะมีอายุมากกว่า 10 ปีแน่ๆ

ป้ายทางเข้าสำนักปฏิบัติธรรม รอยพระพุทธบาทกลางดง ถ่ายไว้โดยเว็บแดนพระนิพพานเมื่อปี พ.ศ. 2551

ป้ายทางเข้าสำนักปฏิบัติธรรม รอยพระพุทธบาทกลางดง ถ่ายไว้โดยเว็บแดนพระนิพพานเมื่อปี พ.ศ. 2550

สภาพเส้นทางจากป้ายเข้าสำนักปฏิบัติธรรม

สภาพเส้นทางจากป้ายเข้าสำนักปฏิบัติธรรม

สภาพเส้นทางค่อนข้างขรุขระ

สภาพเส้นทางค่อนข้างขรุขระ

พอผมได้ขับรถเข้ามา บอกเลยว่าเปลี่ยวมาก สภาพกลางดงจริงๆ ยอมรับความสามารถของคนที่มาค้นหาและตั้งสถานปฏิบัติธรรมจริง ถ้ามาโดยรถเก๋งหรือรถตู้ก็ระวังๆด้วยนะครับ เพราะมีเนินดินเป็นระยะๆ

เส้นทางเหมือนไม่ค่อยมีใครจะเข้ามากันนัก ทำให้มีสภาพขาดการพัฒนามากพอสมควร สงสัยผมจะเป็นเพียงไม่กี่รายที่เข้ามา ในใจก็ตุ้มๆต่อมๆ พอสมควร แต่ไหนๆก็มาแล้ว ก็ต้องเข้าไปให้ถึงแล้วกัน ระหว่าง 2 ข้างทางก็จะมีพื้นที่ทำไร่ของชาวบ้าน

สักพักก็ถึงปากทางเข้าสำนักปฏิบัติธรรม มีศาลเจ้าพ่อขุนด่านอยู่ปากทาง และเขียนป้ายว่าเป็นเขตอภัยทาน

พื้นที่สถานปฏิบัติธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยคณะเว็บแดนพระนิพพาน

พื้นที่สถานปฏิบัติธรรมเมื่อปี พ.ศ. 2550 โดยคณะเว็บแดนพระนิพพาน

จุดที่ผมจอดรถ จะเป็นจุดเดียวกับรูปด้านบนนี้ แต่ผมไม่ได้ถ่ายรูปไว้ เนื่องจาก พอลงมาจากรถ เดินไปสักระยะ ปรากฏว่ามีเหล่าสุนัขเจ้าถิ่น ประมาณ 4 – 5 ตัว วิ่งไล่เห่าหอน จนผมแทบจะวิ่งหนีไม่ทัน ดีนะที่ผมไม่เดินห่างจากตัวรถไกลกว่านี้ ไม่อย่างนั้นคงโดยมันรุมกัดแน่ๆ จึงขออธิบายสภาพ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2557 โดยใช้ตัวหนังสือแทนคือ สภาพตอนนี้ รกร้างมากพอสมควร เหมือนขาดการดูแลมานานมาก ผมดูแล้วคงไม่ค่อยมีคนเดินทางมาเป็นปีๆ แล้วแหละครับ

สองข้างจะรกด้วยพงหญ้าต้นไม้ ไม่เหมือนในรูปด้านบนแล้ว แต่ก็สังเกตเห็นสภาพอาคารสิ่งปลูกสร้างตามรูป ในระหว่างที่ผมนั่งหลบเหล่าสุนัขบนรถ ก็เห็นมีพระสงฆ์เดินออกมา และเรียกสุนัขเหล่านั้นไป แต่ท่านก็ไม่ได้เดินมาหาผมนะครับ (ในใจผมคิดว่าท่านน่าจะเดินมาหาโยม เพราะโยมกลัวสุนัขจริงๆ) หลังจากที่ผมตั้งสตินั่งในรถนานพอสมควร และรู้สึกเสียดายโอกาสนี้มาก อุตส่าห์เดินทางมาถึงที่ แต่ไม่ได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาท จากนั้นผมก็ได้ตัดสินใจหันรถกลับออกมาด้วยใจที่นึกเสียดายไม่หาย

เป็นบทเรียนสำคัญมาก ถ้าจะเดินทางมาในสถานที่ไม่คุ้นเคย หรือไม่ค่อยนิยมนัก เราควรจะมีเพื่อนร่วมทางเดินทางมาด้วย การเดินทางมาคนเดียวก็จะลำบากสักหน่อย อย่างน้อยจะได้มีเพื่อนคอยช่วยหาแนวทางแก้ปัญหากันได้บ้าง

ผมจึงพอจะวิเคระห์ได้ว่า สำนักปฏิบัติธรรมรอยพระพุทธบาทกลางดง คงจะไม่ค่อยได้มีผู้คนเดินทางมากันสักเท่าไหร่นัก และการมีสุนัขเจ้าถิ่นหลายตัวแบบนี้ คงส่งผลให้นักท่องเที่ยวสำรวจ ไม่อยากจะมากันนัก แต่การที่เลี้ยงสุนัขไว้ ก็คงเป็นการเลี้ยงให้เฝ้าสถานที่ เพราะสถานที่เปลี่ยวมาก อาจจะมีขโมยมาลักของในสถานที่ก็ได้จึงเลี้ยงไว้หลายตัวขนาดนี้

ถ้าสภาพเป็นอย่างที่เห็นในปี พ.ศ. 2550 คงจะดีกว่านี้มาก และอีกอย่างคือ ป้ายทางเข้าจากถนนมิตรภาพก็ไม่มีบอกทางไปสำนักปฏิบัติธรรมพระพุทธบาทกลางดงเลย ยกเว้นทางเข้าสำนักเพียงป้ายเดียว จึงอาจจะเป็นเหตุผลที่สำนักปฏิบัติธรรม ค่อนข้างรกร้างแบบนี้

แต่เนื่องจากผมเห็นมีพระสงฆ์เดินออกมา ก็คงจะมีการจำพรรษาของพระสงฆ์ในสถานที่แห่งนี้ ในใจผมก็หวังว่าจะกลับมาอีกครั้งให้ได้ จะหาเพื่อนร่วมทางมาด้วย และจะต้องให้บรรลุเป้าหมายให้จงได้ ก็เป็นอันว่าผมได้เดินทางมาถึงแค่บริเวณสำนักสงฆ์เท่านั้น

จึงขอนำภาพจากเว็บแดนนิพพานที่ได้เดินทางมาเมื่อปี พ.ศ. 2550 มาลงไว้แทน ขอขอบพระคุณเว็บแดนพระนิพพาน www.danpranipparn.com มา ณ โอกาสนี้

พระพุทธบาทกลางดง 3  พระพุทธบาทกลางดง 4
รอยพระพุทธบาทเบื้องซ้ายและเบื้องขวา
พระพุทธบาทกลางดง 5 พระพุทธบาทกลางดง 6
รอยพระพุทธหัตถ์เบื้องซ้าย ส่วนรอยพระพุทธหัตถ์เบื้องซ้าย(สีแดง) ทางสำนักปฏิบัติธรรมได้จัดสร้างขึ้นครับ
พระพุทธบาทกลางดง 8 พระพุทธบาทกลางดง 9
ในส่วนของประวัติการค้นพบรอยพระพุทธบาทกลางดง เป็นมาอย่างไร ผมได้หาข้อมูลมาได้ดังนี้

รอยพระพุทธบาทกลางดง มีทางแยกจากถนนหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (หรือถนนมิตรภาพ) ตรงหลักกิโลเมตรที่ 154 – 155 ห่างจากถนนมิตรภาพ 5 กิโลเมตร ตั้งอยู่เชิงเขาหนองเครือคต โดยมีประวัติการพบเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2539 โดยคณะ จ.ส.อ.สัมฤทธิ์ แววมณี (หมอยิ้ม) ชาวปทุมธานีเป็นการค้นพบตามความฝันซึ่งเชื่อกันว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากุกสันโธ พระพุทธเจ้าองค์แรกในภัทรกัปป์นี้

คำว่าภัทรกัปป์คือกัปป์ปัจจุบันนี้ ซึ่งจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดมา 5 พระองค์ ซึงในสมัยปัจจุบันคือ พระโคตมพุทธเจ้า และในอนาคตจะมีพระเมตไตยพระพุทธเจ้ามาบังเกิด หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกว่า พระศรีอาริย์ นั่นเอง

ลำดับพระพุทธเจ้าในภัทรกัปป์ มีดังนี้
1. พระกกุสันธพุทธเจ้า
2. พระโกนาคมพุทธเจ้า
3. พระกัสสปพุทธเจ้า
4. พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน 80 ปีก่อนพุทธกาล)
5. พระเมตไตยพุทธเจ้า (อนาคตอีกหลายล้านปีนับจากที่พระศรีศากยมุนีโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน)

นอกจากนี้ บริเวณรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ยังมีสถานที่ให้เดินชม เพื่อการศึกษาอีกหลายจุด เช่น หินรูปพระแท่นศิลาอาสหน์รูปช้าง หินรูปวานร รอยพระหัตถ์ รอยเท้าไก่ รอยเท้าช้าง รอยเท้าพญานาค ซากสถูปโบราณ หินดวงตา ลานหินผุด กำแพงแก้ว ปล่องเหวลึก หินเสียงกลอง หินเสียงระฆัง ฯลฯ

ผมตั้งใจไว้ว่า จะต้องหาโอกาสกลับมาเพื่อกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทกลางดงให้ได้ และการมาครั้งนี้ก็ได้ประสบการณ์ที่ดี ในเรื่องการเดินทางไปในสถานที่แปลกๆ หรือไม่คุ้นเคยกัน จะต้องมีเพื่อนร่วมาทางไปด้วย เพื่อช่วยกันคิดหาแนวทางให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว

จบการบันทึกตามรอยพระพทุธบาท อีก 1 บท (แต่ไม่สำเร็จตามประสงค์ เศร้าจริงๆ)

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด

 

One thought on “ตามรอยพระพุทธบาทกลางดง นครราชสีมา

  1. Jubjibjib

    ขอบคุณมากนะคะ ให้รายละเอียดทั้งการเดินทางและข้อมูลดีมากเลยคะ

Comments are closed.