พระธาตุพนม ตำนานความศักดิ์สิทธิ์ที่ครูบาอาจารย์กล่าวไว้

By | October 17, 2017

พระธาตุพนม

พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม เป็นมหาเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง 2 ฝั่งริมโขงมาอย่างยาวนานตามตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่าสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 8 … ผมเคยทราบเรื่องราวตำนานพระธาตุพนมมานานพอสมควร รวมถึงเรื่องราวกล่าวขานในประวัติครูบาอาจารย์ แต่ไม่เคยมีโอกาสเดินทางไปกราบสักการะ จนกระทั่งเมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 มีการจัดงานประเพณีปฏิบัติบูชาที่พระธาตุพนม ผมจึงถือโอกาสดังกล่าวที่จะเดินทางไปสักครั้งหนึ่งในชีวิต

มูลเหตุการเดินทางครั้งนี้

เหนือสิ่งอื่นใดก็ต้องบอกตามตรงว่าคือความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา ผมได้ทราบถึงเรื่องราวตำนานพระอุรังคธาตุและเรื่องเล่าจากประวัติครูบาอาจารย์ที่กล่าวถึงความสำคัญของพระธาตุองค์นี้มาช้านาน เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่ยิ่งใหญ่คู่บ้านคู่เมืองสองฝั่งริมแม่น้ำโขง อีกทั้งผมต้องการบันทึกเรื่องราวนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อท่านผู้สนใจและเป็นการสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมที่สวยงามของถิ่นนี้ ซึ่งผมจะเขียนเรื่องเล่าตำนานในหัวข้อถัดไป

เริ่มออกเดินทาง

ผมออกเดินทางตั้งแต่เช้าราวๆ 6 นาฬิกา จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเดินทางเข้าสู่ภาคอีสาน รวมเวลาขับรถแบบชิลๆถึง 10 ชั่วโมงเลยทีเดียวครับ ระหว่างทางก็ได้เห็นถึงบรรยากาศดีๆ จนถึงจุดหมายที่จังหวัดนครพนม และเป็นโอกาสที่ได้ไปเยี่ยมเยียนเพื่อนที่เรียนด้วยกันที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บรรยากาศในท้องถิ่น เป็นความสุขสงบอย่างบอกไม่ถูก ประกอบกับอากาศที่เย็นในช่วงเข้าฤดูหนาว ทำให้บรรยากาศทุกอย่างดีไปหมด

จิบกาแฟและขนมท้องถิ่นในยามเช้า ที่ อ.นาแก จ.นครพนม

เพื่อนของผมเป็นครูมัธยมที่ อ.นาแก จังหวัดนครพนม ได้จัดเลี้ยงดูปูเสื่อผมอย่างดี และเป็นผู้พาเที่ยวในทริปนี้ (แต่ผมขับรถนะ ฮ่าๆ) นานๆจะได้สัมผัสบรรยากาศอย่างนี้ ช่างมีความสุขเหลือเกิน

ในวันที่ผมเดินทางถึงวันแรกก็เกือบจะค่ำมืด แต่เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ผมและเพื่อนจึงเดินทางไปยังพระธาตุพนมเพื่อชมบรรยากาศยามค่ำคืนทันที

องค์พระธาตุพนม

เมื่อมาถึงจุดหมาย ผมก็ได้เห็นความสวยงามยิ่งใหญ่ขององค์พระธาตุพนม ที่ทางวัดได้ติดไฟแสงสว่างดูสวยงาม และมีผู้คนเดินทางมากราบไหว้และถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างต่อเนื่อง

พระอุโบสถและองค์พระธาตุพนม

ตำนานพระอุรังคธาตุ

พระธาตุพนมปรากฏในตำนานอุรังคธาตุกล่าวว่า ช่วงใกล้ปรินิพพานของพระพุทธองค์ พระอค์ได้เสด็จมายังหนองคันแทเสื้อน้ำ (นครเวียงจันทน์) แล้วทรงพุทธพยากรร์ว่าจะเกิดบ้านเมืองใหญ่เป็นที่ตั้งทางพระพุทธศาสนา จากนั้นพระองค์ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาท เพื่อโปรดสุขหัตถีนาค (พระบาทโพนฉัน จังหวัดหนองคาย)

จากนั้นเสด็จมาที่พระบาทเวินปลา ทรงพุทธพยากรณ์ถึงที่ตั้งเมืองมรุกขนคร และค้างแรมที่ภูกำพร้า 1 คืน  พอถึงรุ่งเช้าพระองค์เสด็จบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตบูร พักที่ต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮัง ประเทศลาว) แล้วเสด็จกลับมาที่ภูกำพร้า

ขณะนั้นพระอินทร์ได้เข้าเฝ้าทูลถามสาเหตุที่เสด็จกลับมาที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ในภัทรกัปนี้ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า, พระโกนาคมนพุทธเจ้า, พระกัสสปพุทธเจ้า ที่นิพพานไปแล้ว ย่อมเอาพระบรมธาตุมาบรรจุไว้ ณ ภูกำพร้า  เมื่อเรานิพพานไปแล้ว พระมหากัสสปะจะอัญเชิญพระธาตุมาบรรจุที่ภูกำพร้านี้ เช่นเดียวกัน

จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จไปหนองหารหลวง เทศนาโปรดพญาสุวรรณภิงคาระและนางเทวี และทรงประทานรอยพระบาทไว้ ณ ที่แห่งนั้น แล้วเสด็จกลับสู่พระเชตวันมหาวิหารและนิพพานที่กรุงกุสินารา

******************************************

จากตำนานพระอุรังคธาตุข้างต้น จึงเป็นพุทธประสงค์ที่จะให้อัญเชิญพระบรมธาตุมาประดิษฐานที่ภูกำพร้า (พระธาตุพนม) แห่งนี้

******************************************

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว เหล่าสาวกและเหล่ากษัติริย์ทั่วทุกแคว้น ไม่สามารถถวายพระเพลิงได้ จนกระทั่งพระมหากัสสปะได้มาถึง และนำเหล่าสาวกเวียนประทักษิณ 3 รอบ แล้วอธิษฐานว่า พระธาตุองค์ใดที่ให้ข้าพระบาทนำไปประดิษฐาน ณ ภูกำพร้า จอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมาบนฝ่ามือข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด

จากนั้นพระบรมอุรังคธาตุได้เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะเถระ  ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกโชติช่วงเผาพระบรมสรีระของพระบรมศาสดาอย่างอัศจรรย์

เมื่อพิธีถวายเพลิงและแจกจ่ายพระบรมธาตุแก่แว่นแคว้นต่างๆแล้ว พระมหากัสสปะเถระจึงได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุพร้อมพระอรหันต์สาวก 500 องค์ ไปยังภูกำพร้า โดยได้มาบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวงเพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณภิงคาระ

ชาวเมืองหนองหารหลวงเมื่อทราบว่าพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว  จึงต้องการขอแบ่งพระบรมธาตุประดิษฐานไว้ที่เมือง

แต่ด้วยฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ต่างมีความต้องการที่จะรับส่วนแบ่งพระบรมธาตุ จึงได้ทำการตกลงกันว่าใครสร้างพระเจดีย์เสร็จก่อนจะได้รับการบรรจุพระบรมธาตุ

ฝ่ายชายสร้างพระเจดีย์ที่ภูเพ็ก ส่วนฝ่ายหญิงสร้างพระเจดีย์ที่สวนอุทยาน พระธาตุนารายณ์เจงเวง

ด้วยเล่ห์กลอุบายของฝ่ายหญิงทำให้ฝ่ายหญิงสร้างพระเจดีย์แล้วเสร็จก่อน จึงขอแบ่งพระบรมธาตุจากพระมหากัสสปะ แต่ด้วยจะผิดพุทธประสงค์ จึงได้มอบพระอังคารธาตุ (เถ้าถ่าน) ให้ประดิษฐานที่พระธาตุนารายณ์เจงเวง ทดแทนให้

และพระมหากัสสปะได้นำเหล่าพระอรหันต์อัญเชิญพระอุรังคธาตุไปประดิษฐานที่ภูกำพร้าต่อไป โดยมีพระมหากษัตริย์เมืองต่างๆเสด็จมาร่วมพิธีการบรรจุพระบรมธาตุด้วยความโสมนัสยินดี

โดยมีพญาทั้ง 5 มีส่วนรับผิดชอบในการก่อดินดิบเพื่อสร้างองค์พระธาตุพนมแต่ละทิศ

  1. พญาจุลมณีพรหมทัต ผู้ครองแคว้นจุลมณีได้ก่อดินทางทิศตะวันออก
  2. พญาอินทปัตถนคร ผู้ครองเมืองอินทปัตถนคร ได้ก่อดินทางทิศตะวันตก
  3. พญาคำแดง ผู้ครองเมืองหนองหานน้อย ได้ก่อดินทางทิศใต้
  4. พญานันทเสน ผู้ครองเมืองศรีโคตรบูร ได้ก่อดินทางทิศเหนือ
  5. พญาสุวรรณภิงคาร ผู้ครองเมืองหนองหานหลวง ได้ก่อรวบยอดปิดองค์พระธาตุพนม

บรรยากาศในวันปฏิบัติบูชาพระธาตุพนม

ครูบาอาจารย์สายหลวงปู่มั่น ได้กล่าวถึงความสำคัญของพระธาตุพนม

นอกจากเรื่องราวในตำนานที่กล่าวขานดังกล่าว ก็ยังมีบันทึกในประวัติครูบาอาจารย์ถึงความสำคัญของพระธาตุพนมแห่งนี้

บันทึกประวัติหลวงปู่มั่น โดยหลวงพ่อวิริยังค์ สิรินธโร ได้กล่าวไว้ว่า หลวงปู่เสาร์ได้พาหลวงปู่มั่นธุดงค์กลับจากประเทศลาวมาถึงพระธาตุพนม ซึ่งขณะนั้นพระธาตุพนมอยู่ในสภาพที่ไม่มีใครเหลียวแล มีเถาวัลย์นานาชนิดปกคลุมจนมิดเหลือแต่ยอด ต้นไม้รกรุงรังเต็มไปหมด

หลวงปู่มั่นได้เล่าให้หลวงพ่อวิริยังค์ฟังว่า เวลากลางคืนประมาณ 4-5 ทุ่ม จะปรากฏแสงสีเขียววงกลมเท่ากับลูกมะพร้าวและมีรัศมีลอยออกมาจากยอดพระเจดีย์ แล้วลอยห่างออกไปจนสุดสายตา จนกระทั่งเวลาใกล้รุ่ง แสงนั้นจะกลับมาแล้วหายเข้าไปในองค์พระเจดีย์ ซึ่งเห็นเป็นเช่นนี้อยู่ทุกวัน

หลวงปู่เสาร์ ได้กล่าวกับหลวงปู่มั่นในครั้งนั้นว่า “พระเจดีย์นี้ ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุอย่างแน่นอน”

จากนั้นหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่น ได้ร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณะพระธาตุพนมและทำพิธีบูชาเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน

แม้แต่ในประวัติของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ก้ได้กล่าวถึงความสำคัญของพระธาตุพนมไว้ว่า “ใครมาถึงถิ่นนครพนมแต่ไม่ได้กราบสักการะองค์พระธาตุนี้ เป็นเพราะมีกรรมปกปิดจนไม่สามารถจะมองเห็นปูชนียสถานอันสำคัญ”

หลวงปู่เสาร์, หลวงปู่มั่น, หลวงปู่ฝั้น ได้กล่าวถึงความสำคัญของพระธาตุพนม

การบูรณะพระธาตุพนมจนกระทั่งพระธาตุพนมล้ม

ใช่แล้วครับทุกสิ่งย่อมเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วดับไปเป็นธรรมดา …องค์พระธาตุพนมเช่นกัน ซึ่งเมื่อมีอายุยาวนานก็ถึงกาลเวลาล้มทลายลงและได้รับการบูรณะมาหลายสมัย

หลังจากพระธาตุพนมมีอายุยาวนานกว่า 2,500 ปี อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน มีเจ้าพญาทั้ง 5 พระองค์สนับสนุนร่วมการก่อสร้าง จึงได้มีการปฏิสังขรณ์ต่อเติมครั้งใหญ่ๆจำนวน 3 ครั้งคือ

ครั้งที่ 1 : ราวปี พ.ศ.500 ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกโดยพระอรหันต์ 5 รูป ให้สูงขึ้น โดยมีพญามิตตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนครเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และฤาษีอีก 2 ตน (อมรฤาษีและโยธิถฤาษี) ได้นำศิลาจากยอดภูเพ็กมาตั้งประดิษฐานไว้บนชั้นที่ 2 ขององค์พระธาตุ

ครั้งที่ 2 : ราวปี พ.ศ. 2233 – 2235 (ตามประวัติศาสตร์ลาว) เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม) ได้มาบูรณะต่อเติมองค์พระธาตุตั้งแต่ชั้นที่ 2 จนถึงยอด รวมความสูง 43 เมตร ฉัตร 4 เมตร รวมเป็น 47 เมตร

ครั้งที่ 3 : ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล  พ.ศ.2483 – 2484 ได้มีการซ่อมแซมและต่อเติมพระธาตุพนมขึ้นไปอีก 10 เมตร โดยการนำของอธิบดีกรมศิลปากร

เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม)

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19:38 น. เป็นวันที่ฝนตกพร่ำทั้งวัน อีกทั้งยังมีพายุโหมกระหน่ำทำให้องค์พระธาตุพนมที่ทรุดโทรมล้มลง ยังความสลดสังเวชใจแก่พุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง

ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เสด็จทอดพระเนตรพระธาตุพนม เมื่อครั้งพระธาตุพนมล้ม

พระธาตุพนมล้ม

ค้นพบพระอุรังคธาตุ 8 องค์

เมื่อพระธาตุพนมล้ม จึงทำการรื้อถอนและทำการสร้างพระธาตุองค์ใหม่อย่างเร่งด่วน จนกระทั่งวันที่ 17-18 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ได้พบพระอุรังคธาตุอยู่ที่พระธาตุท่อนกลาง ซึ่งสูงจากระดับพื้นดิน 14.70 เมตร แต่ขณะที่พบนั้นพบอยู่บนกองอิฐปูนที่พังลงมาจากพระธาตุชั้นที่ 2 ส่วนบน สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 3 เมตร

พระอุรังคธาตุได้บรรจุไว้สลับซับซ้อนมาก ดังนี้

พระอุรังคธาตุได้บรรจุไว้สลับซับซ้อนมาก

  1. พระอุรังคธาตุจำนวน 8 องค์ บรรจุในผอบแก้ว
  2. ผอบแก้วอยู่ข้างในผอบทองคำ(2)
  3. ผอบทองคำ(2) อยู่ข้างในผอบทองคำ(3)
  4. ผอบทองคำ(3) อยู่ข้างในผอบทองคำ(4)
  5. ผอบทองคำ(4) อยู่ข้างในตลับเงิน
  6. ตลับเงิน อยู่ข้างในบุษบกทองคำ (6)

บุษบกทองคำ (6) พบอยู่ในเจดีย์ศิลา และเจดีย์ศิลาพบอยู่ในผอูบสำริด ผอูบสำริดอยู่ในพระธาตุชั้นที่ 2 ส่วนบน

เจดีย์ศิลาที่บรรจุบุษบก

เจดีย์ศิลาที่บรรจุบุษบก สูง 85 เซนติเมตร ฐานกว้างด้านละ 32 เซนติเมตร ตามตำนานกล่าวไว้ว่า อมรฤาษีและโยธิถฤาษีนำมาจากภูเพ็ก ในราวปี พ.ศ.500

ผอบแก้วและพระอุรังคธาตุ 8 องค์

ผอบแก้วที่บรรจุพระอุรังคธาตุ 8 องค์ มีความสูงพร้อมฐาน 2.1 เซนติเมตร ฝาผอบเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เซนติเมตร ทำด้วยแก้วผลึกแวววับ ข้างในมีพระอุรังคธาตุ 8 องค์

ในวันที่พบครั้งแรกมีน้ำมันจันทน์หล่อเลี้ยงและมีกลิ่นหอมมาก

งานพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ

เมื่อทำการก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ขึ้นเป็นที่เรียเรียบร้อยแล้ว จึงถึงวาระพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ ในวันที่ 21-23 มีนาคม พ.ศ.2522

พระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ

วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2522 เวลา 14:19 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงจับสายสูตรอัญเชิญพระอุรังคธาตุขึ้นไปประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุทางทิศตะวันออก

ยังความปลาบปลื้มปิติยินดีและเสียงอนุโมทนาสาธุทั่วทั้งบริเวณพิธี

สถานที่สำคัญในเขตพระธาตุพนม

ต่อไปผมจะพาไปชมสถานที่ต่างๆในเขตพระธาตุพนมกันครับ

เสาอินทขิล

เสาศิลาแปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ปักอยู่ทั้ง 4 มุมขององค์พระธาตุด้านนอกกำแพงแก้ว ซึ่งอาจคือหลักเสมาองค์พระธาตุมาตั้งแต่อดีต

กู่ญาคูขี้หอม – เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก

ตามจารึกประวัติศาสตร์ลาว บันทึกว่าราวปี พ.ศ.2233-2235 เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม) แห่งนครเวียงจันทน์มีความศรัทธาพระธาตุพนมอย่างมาก ได้ทำการบูรณะพระธาตุพนมนี้

ด้วยความศรัทธาต่อพระธาตุพนม เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม)จึงได้สั่งเสียกับญาติโยมไว้ว่า เมื่อท่านดับขันธ์ขอให้นำอัฐิมาไว้ที่นี่ จึงปรากฏมีเจดีย์และรูปหล่อของท่านให้สักการะบูชาข้างพระธาตุพนมอยู่จนทุกวันนี้

หลายท่านอาจจะแปลกใจทำไมจึงเรียกนามท่านว่า ญาคูขี้หอม อาจเป็นการเปรียบเปรยว่ามนุษย์ขี้เหม็น (ไม่มีศัลธรรม) และจะด้วยเพราะความงดงามแห่งศีลธรรมบริสุทธิ์ของท่าน จึงอาจเปรียบท่านไปว่า  ญาคูขี้หอม นั่นเอง

พระองค์แสน ในพระอุโบสถ

หอพระอรหันต์ (กระตึ๊บ)

สถูปอิฐเก่าพระธาตุพนม

รูปหล่อพระอุปคุตตเถระ

รูปหล่อพระกัสสปะเถระ

บรรยากาศผู้คนที่พระธาตุพนม

สรุปปิดท้าย

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้บัญญัติคำว่า จอมเจดีย์ ขึ้นมา โดยตรัสแก่สมเด็จพระวันรัต (กิตตโสภโณเถระ) เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เมื่อ พ.ศ. 2485 ว่า “การที่ประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งพระบวรพุทธศาสนา ทำให้มีพุทธสถานกระจายอยู่ทั่วประเทศ มีอายุและแบบศิลปกรรมแตกต่างกันตามคตินิยมและยุคสมัย ในบรรดาปูชนียสถานนับร้อยนับพันมีเพียง 8 แห่งเท่านั้นที่ควรค่าแก่การยกย่องให้เป็น จอมเจดีย์ แห่งสยาม”

ซึ่ง 1 ใน 8 แห่งนั้น มีพระธาตุพนมร่วมอยู่ด้วย ซึ่งมีเหตุผลที่ว่า เป็นเจดีย์ที่สร้างก่อนองค์อื่นในภาคอีสาน

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ คราวเสด็จตรวจราชการเมืองนครพนม ทรงถ่ายที่พระธาตุพนมเมื่อ พ.ศ.2449

พระธาตุพนมเป็นพระธาตุเจดีย์เก่าแก่โบราณ ที่ได้รับความเคารพศรัทธามายาวนาน เป็นที่พึ่งทางจิตใจแก่เหล่าสาธุชนทั้ง 2 ฝั่งโขง… ผมได้เห็นถึงบรรยากาศความศรัทธาที่มีความสวยงามทางวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง ผู้คนยิ้มแย้มด้วยความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ชาวพุทธไม่ควรพลาดที่จะมากราบไหว้สักการะ จากเหตุผลเรื่องราวต่างๆที่ผมได้เขียนไว้ข้างต้นนี้

ขอขอบพระคุณการติดตามอ่านบทความ และอนุโมทนามายังทุกท่าน แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อๆไป สวัสดีครับ…

ภายในองค์พระธาตุพนม ที่เห็นกันได้ยาก

ชั้น 1 ชั้นฐานอิฐเก่าพระธาตุพนม
ชั้น 2 ชั้นธรรมจักร
ชั้น 3 ประดิษฐานพระอุรังคธาตุ…
ชั้น 4 มณฑปครอบพระอุรังคธาตุ
ชั้น 5 มหาปราสาท เก็บรวบรมคำภีร์บอกเล่าประวัติพระธาตุพนม
ชั้น 6 ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำ หนัก 7.5 กิโลกรัม, และองค์ที่ 2 หนัก 9.9 กิโลกรัม

แอดมินเล่าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระธาตุพนม


https://youtu.be/7GsFaIeQM7c

บรรยากาศค่ำคืน

https://youtu.be/IM5cHZsrtus

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com