Faiththaistory.com

ตามรอยหลวงพ่อเลี้ยง วัดพานิชธรรมิการาม ลพบุรี รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จ


https://youtu.be/fCvj_v724Q0

ตามรอยหลวงพ่อเลี้ยง วัดพานิชธรรมิการาม (วัดหนองเต่า) ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เป็นวัดที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ เคยเสด็จ ทรงประกอบพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ… สวัสดีครับท่านผู้ติดตามเรื่องราวการเดินทางตามรอยความศรัทธาทุกท่าน วันที่ผมบันทึกเรื่องราวคือวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2560 ซึ่งในวันต่อไปคือวันที่คนไทยทั้งชาติจะได้ร่วมกันส่งเสด็จพ่อหลวง รัชกาลที่ ๙ สู่สวรรคาลัย ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระองค์ท่าน … ผมคิดว่าชาวไทยส่วนใหญ่คงไม่อยู่บ้านแน่นอน เพราะอะไรชาวไทยคงทราบกันดีครับ

ก่อนที่จะถึงวันสำคัญดังกล่าว ผมจึงได้ทำการบันทึกเรื่องราวอีกสถานที่หนึ่ง ที่ผมได้เดินทางเพื่อระลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ และเป็นวัดที่พระองค์เคยเสด็จแล้ว นั่นคือวัดพานิชธรรมิการาม (หนองเต่า) จังหวัดลพบุรี และยังเป็นการบันทึกการตามรอยพระสุปฏิปันโน อีกรูปที่มีคุณูปการต่อวัดพานิชธรรมิการาม นั่นก็คือ หลวงพ่อเลี้ยง สุชาโต…

พระอุโบสถ

ความโดเด่นของวัดพานิชธรรมิการาม คือรูปแบบของพระอุโบสถที่สร้างเป็นรูปเต่าเป็นฐานของพระอุโบสถ

วิหารหลวงพ่อเลี้ยง

รูปหล่อหลวงพ่อเลี้ยง

รูปหล่อหลวงพ่อเลี้ยงในพระวิหาร รูปหล่อองค์นี้ได้บรรจุอัฐิของท่านไว้ใต้ฐานพระให้ได้กราบไหว้สักการะบูชา

หุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อเลี้ยงในพระวิหาร

เมื่อผมเดินทางมาถึง จึงได้ไปยังพระวิหารหลวงพ่อเลี้ยง เพื่อกราบสักการะเป็นจุดแรก

พระพุทธเมตตามหาลาโภ

จากนั้นผมได้เดินชมพื้นที่วัดด้านนอกโดยรอบ มีการสร้างพระพุทธรูปประดิษฐานไว้ที่ลานหน้าวัดพระนามว่า พระพุทธเมตตามหาลาโภ และมีวิหารพระนอนอยู่ใกล้เคียงกัน

พระพุทธไสยาสน์

ลานหน้าวัด

หลังจากเก็บภาพบรรยากาศภายนอกเรียบร้อยแล้ว ผมจึงได้เดินไปยังพระอุโบสถ ซึ่งตรงข้ามพระอุโบสถมีต้นโพธิ์ที่รัชกาลที่ ๙ ทรงปลูกอยู่ด้วย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงปลูกเมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๗

พระอุโบสถ

การก่อสร้างพระอุโบสถของวัดหนองเต่ามีเหตุผลการออกแบบก่อสร้างว่าท่านระลึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งเสวยชาติเป็นเต่าตนุใหญ่อยู่กลางทะเลลึก หลวงปู่เลี้ยง สร้างพระอุโบสถหลังนี้นาน 16 ปีคือ (พ.ศ. 2501-2517) อุโบสถหลังนี้จึงเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้านตลาดหนองเต่านับแต่นั้นมา

ด้านล่างพระอุโบสถ

ภายในพระอุโบสถด้านล่างมีภาพเขียนสีวรรณกรรมเกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ ให้ได้รับชมกันด้วยครับ

ภาพเขียนสี (บางส่วน)

ภาพเขียนสี (บางส่วน)

ภายจิตกรรมเขียนสีเป็นฝีมือของครูชุ่ม ไชยเดช ซึ่งมีความสวยงามและประณีตอย่างมาก

นอกจากนี้ภายในพระอุโบสถ ยังมีเรื่องราวของพระอุโบสถเกี่ยวกับพระราชพิธี ที่ในหลงรัชกาลที่ ๙ ได้เสด็จมาทรงประกอบพีธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2517

การสร้างพระอุโบสถวัดพานิชธรรมิการาม

เป็นเวลานานถึง 16 ปี (พ.ศ. 2501-2517) กว่าพระอุโบสถจะแล้วเสร็จ

การที่หลวงพ่อเลี้ยงได้คิดสร้างอุโบสถเพราะท่านระลึกถึงพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งสร้างบารมีเสวยชาติเป็นเต่าตนุใหญ่อยู่กลางทะเลลึก มีพ่อค้าเรือสำเภาหลายคนนำเรือแล่นผ่านกลางทะเล ถูกมรสุมคลื่นลมขนาดหนักเรือแตกล่มจมกลางทะเล พ่อค้าและคนในเรือต่างก็หยิบคว้าไม้กระดานเรือ เกาะพยุงกายเคว้งคว้างอยู่กลางทะเล กระเสือกกระสนเข้าหาฝั่งจนเห็นเกาะๆ หนึ่ง พากันตะเกียกตะกายเข้าหาเกาะ เพื่อได้อาศัยให้รอดจากความตาย แต่เกาะนี้เป็นเกาะร้างปราศจากผู้คนอยู่อาศัย

เต่าตนุที่พระพุทธเจ้าสร้างบารีนี้เห็นว่าพ่อค้าสำเภาที่อาศัยอยู่ที่เกาะจะไม่รอดจากความตายเสียแล้ว เพราะไม่มีข้าวปลาอาหารจะกินจึงคลานขึ้นมายังเกาะเข้าไปหา แล้วกล่าวขึ้นว่า ท่านพ่อค้าสำเภาถ้าท่านขืนอยู่ที่เกาะนี้ท่านเห็นจะไม่พ้นจากความตาย อาหารก็ไม่มีจะกิน ท่านจงฆ่าเราเสีย เอาเนื้อของเรามาแบ่งกันกิน แล้วเอากระดองหลังของเรานี้หงายลอยในน้ำต่างเรือ เอากระดอง อกเป็นหลังคากันแดดกันฝน พวกท่านลงไปในนั้น จะได้พาท่านไปเข้าฝั่งรอดพ้นจากความตายได้ ฯลฯ หลวงปู่ระลึกดังนี้จึงคิดสร้างอุโบสถบนหลังเต่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ทั้งยังสมกับชื่อบ้าน ชื่อวัดตลาดหนองเต่าด้วย

หลวงพ่อเลี้ยง ระหว่างการก่อสร้างพระอุโบสถ ถ่ายเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2508

พระบารมีคุ้มเกล้า ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เสด็จทรงประกอบพิธียกช่อฟ้า

เมื่อการสร้างพระอุโบสถเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเทพรัตนราชสุดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ เพื่อประกอบพิธียกช่อฟ้าอุโบสถ เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๗

บารมีคุ้มเกล้า ในพระราชพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ

บารมีคุ้มเกล้า ในพระราชพิธียกช่อฟ้าพระอุโบสถ

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงปลูกต้นพระศรีมหาโพธิ์

การเสด็จของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ในครั้งนั้น ยังความปลาบปลื้มแก่พสกนิกรชาวบ้านหนองเต่า อย่างหาที่สุดไม่ได้ เป็นที่จดจำในพระมหากรุณาธิคุณเป็นนิรันดร์

ประวัติหลวงพ่อเลี้ยง สุชาโต (พอสังเขป)

“หลวงพ่อเลี้ยง สุชาโต”  นามเดิมชื่อเลี้ยง ชมชา เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๗ วันเสาร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีมะโรง ที่บ้านหนองโน อ.เมือง จ.สระบุรี มีพี่น้องทั้งหมด ๔ คน หลวงปู่เลี้ยงบวชเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี ที่วัดป่าธรรมโสภณ อ.เมือง จ.ลพบุรี

บวชเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ มีฉายาว่า “สุชาโต” หลังจากบวชได้ ๓ พรรษา ได้รับนิมนต์มาจำพรรษาที่วัดเจริญธรรมพานิชหรือวัดพานิชธรรมิการาม ท่านได้สร้างกุฏิพระ เมรุ วิหารต่างๆ และศาลา ท่านได้สร้างโบสถ์บนหลังเต่า ภายในตัวเต่าจะเป็นห้องโถงกว้าง สร้างเสร็จใหม่ๆ ใช้เป็นที่สอนหนังสือเด็กนักเรียน แต่ปัจจุบันใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

หลวงพ่อเลี้ยงมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร และสามารถรักษาโรคได้ ท่านใช้ตัวยาสมุนไพรเป็นหลักที่หาได้จากท้องถิ่น เช่น เปลือกส้ม ดอกดาวเรือง ผลหมาก ตะไคร้ และเปลือกมะนาว ใช้รักษาโรคไข้หวัด โรคผิวหนังและโรคทางเดินอาหาร นอกจากนั้นท่านยังมีคาถาที่ทำให้อยู่ยงคงกระพัน เช่น ยิงไม่ถูก ฟันไม่เข้า และคาถาเมตตามหานิยมใครเห็นเป็นต้องรักต้องหลง ทำให้มีผู้มาสมัครเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก นอกจากนั้นท่านยังมีความรอบรู้พูดภาษาไทย จีน มอญ ลาว ได้เป็นอย่างดี

เมื่อพ.ศ. ๒๔๗๑ หลวงพ่อเลี้ยงได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดพานิชธรรมิการาม

พ.ศ. ๒๔๘๗ ได้รับหน้าตำแหน่งคณะกรรมการสงฆ์อำเภอในหน้าที่องค์การเผยแผ่อำเภอบ้านหมี่

พ.ศ. ๒๗๙๐ เป็นพระครูใบฏีกา

พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้รับพระราชทานพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูธรรมาภิมณฑ์

พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปชฌาย์, พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็นพระธรรมทูตสาย ๒ จังหวัดลพบุรี

หลวงพ่อเลี้ยงเป็นที่เคารพของชาวบ้านและคนทั่วไปจนกระทั่งมรณภาพ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ ชาวบ้านเก็บศพหลวงพ่อเลี้ยงไว้กราบไหว้บูชานานถึง ๑๖ ปี จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ จึงได้มีการฌาปนกิจศพและนำอัฐิบรรจุไว้ใต้ฐานรูปหล่อ เพื่อให้ชาวบ้านได้กราบไหว้บูชา เพื่อระลึกถึงพระคุณเมตตาบารมีของหลวงพ่อให้ช่วยปกป้องคุ้มครองให้อยู่เย็นเป็นสุข

หลวงพ่อเลี้ยงรับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์จากสมเด็จพระวันรัต ณ พระอุโบสถ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

กำหนดการถวายเพลิงหลวงพ่อเลี้ยง เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ.2544

ภาพวันถวายเพลิงหลวงพ่อเลี้ยง

ภาพวันถวายเพลิงหลวงพ่อเลี้ยง

ภาพวันถวายเพลิงหลวงพ่อเลี้ยง

เรื่องเล่าประวัติหลวงพ่อเลี้ยงจากชาวบ้านในท้องถิ่น

ผู้ใช้เฟสบุ๊คชื่อ ปิ่น สุวรรณ์ ได้โพสเรื่องราวเกี่ยวกับหลวงพ่อเลี้ยงไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ขออนุญาตเล่าประวัติหลวงปูเลี้ยงบางส่วนจากคำบอกเล่าคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ระแวกวัดและจากหลักบางสว่นเพื่อความถูกต้องและชัดเจนนะครับ

หลวงปู่เลี้ยงท่านบวชตั้งแต่เป็นสามเณรและได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2467 ณ วัดปาธรรมโสภณ ลพบุรี โดยมีหลวงปู่ฉายเป็นพระอุปัชฌาย์และได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมและพระธรรมวินัยจากหลวงปู่ฉายมามากมาย หลังจากนั้นหลวงปู่เลี้ยงได้รับนิมนต์มาจำพรรษาที่วัดหนองเต่าและได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อปี พ.ศ. 2474

ได้พัฒนาวัดหนองเต่าที่มีเพียงกฎิและศาลาเล็กๆจนเป็นวัดที่มีความเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ ท้ายสุดท่านได้ดำเนินการสร้างโบสถ์ที่ตั้งอยู่บนหลังเต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งไม่มีวัดใดมีเอกลักษณ์เหมือน

และได้ทำพิธียกช่อฟ้าเมื่อปี พ.ศ. 2517โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ และพระสมเด็จพระราชินีพร้อมพระบรมวงศานุวงค์เสด็จมาเป็นประธานในพิธียกช่อฟ้า น้อยวัดนักที่จะได้รับโอกาสเช่นนี้ครับ

โดยอุปนิสัยหลวงปู่แล้วท่านชอบศึกษาค้นคว้าศาสตร์ในด้านต่างๆโดยเฉพาะด้านวิชาคมอาทิเช่นเสริมดวงบารมี อยู่ยงคงกระพันแคล้วคลาด เมตตามหานิยมครบสูตรครับและท่านยังมีความเชี่ยวชาญ ด้านตำรายาโบราณอีกด้วย

หลวงพ่อเลี้ยงท่านได้ศึกษาวิชาอาคมและตำรายาจากหลวงพ่อปานวัดบางนมโคและฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อปานเดินธุดงค์มาพำนักที่วัดหนองเต่าระยะหนึ่งแล้วพ่อปานก็ธุดงค์ต่อไปยังวัดเขาสะพานนาค

สหายธรรมหลวงปู่เลี้ยงที่ศึกษาแลกวิชาแขนงต่างๆก็มีอาทิเช่น
หลวงพ่อลี วัดอโศการาม
หลวงพ่อโอด วัดจันเสน
หลวงพ่อเภา วัดถํัาตะโก
หลวงพ่อปัญญานันทภิขุ
หลวงพ่อสุต วัดปฐมพานิช เป็นต้น

วัตถุมงคลหลวงปู่เลี้ยงทุกรุ่นล้วนมีประสบการณ์ พุทธคุณสุดๆ บางรุ่นค่อนข้างหายาก เพราะคนละแวกวัดและพื้นที่หวงและศรัทธาไม่ค่อยนำออกมาให้เช่าบูชาหลอกครับ
ขอบคุณครับสวัสดี

จุดสนใจอื่นๆ ในวัดพานิชธรรมิการาม

ในวัดมีต้นนิโครธอายุกว่า 100 ปี วัดเส้นรอบวงได้ 1.6 เมตร และสูง 5 เมตร รูปลักษณ์ลำต้นเป็นไปตามธรรมชาติดูสวยงาม มีรากอากาศรายล้อมเป็นวง

โดยเป็นต้นนิโคระที่หลวงพ่อเลี้ยง ได้นำมาปลูกจากเรื่องราวในพุทธประวัติว่าพุทธเจ้าเคยประทับใต้ต้นนิโครธนั่นเอง

ต้นนิโครธ

ต้นนิโครธ

พระแม่โพสพหน้าวิหารหลวงพ่อเลี้ยง

ความร่มรื่นในวัด

สรุปปิดท้าย

ถือเป็นอีกวัดหนึ่งที่มีความสำคัญ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของท้องถิ่น มีเรื่องราวประวัติที่ควรบันทึกเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ทราบถึงเรื่องราวว่ามีครูบาอาจารย์เคยทำนุบำรุงรักษาและพระมหากษัตริย์ ที่ชาวไทยเคารพรักได้เคยเสด็จ

บรรยากาศโดยรวมมีความสงบ ร่มรื่น และเมื่อได้รู้เรื่องราวต่างๆจะยิ่งทำให้ท่านผู้เดินทางมีความอิ่มเอมใจยิ่งนักครับ…

ขอขอบพระคุณการติดตามเรื่องราวในครั้งนี้ แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com

Exit mobile version