สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปตามรอยพระเกจิชื่อดังในอดีตแห่งวัดนางหนู ลพบุรี นั่นก็คือหลวงปู่จันทร์ จันทโชติ ท่านเป็นพระที่มีชื่อเสียงในช่วงของสงครามอินโดจีน เล่ากันว่าช่วงนั้นมีเหล่าทหารมาขอวัตถุมงคลของท่านเพื่อเป็นสิริมงคลจำนวนมาก
สภาพปัจจุบัน วัดนางหนูอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์แต่ก็มีบรรยากาศที่เงียบเหงา เนื่องจากไม่ใช่วัดท่องเที่ยว ชาวบ้านจึงจะจัดงานบุญในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา
วัดนางหนูไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างทีแน่ชัด แต่ความมีชื่อเสียงของวัดเกิดขึ้นจากบารมีของหลวงปู่จันทร์ ที่โด่งดังมากในช่วงของสงครามอินโดจีน ร่วมสมัยกับพระเกจิอาจารย์รูปอื่นๆ ได้แก่ หลวงพ่อจาด, หลวงพ่อจง, หลวงพ่อคง, และหลวงพ่ออี๋
เมื่อเดินทางไปถึง ก็จะมองเห็นพระอุโบสถโดดเด่น และมีวิหารรูปหล่อหลวงปู่จันทร์ให้ได้กราบไหว้บูชาและปิดทอง
ผมเดินทางแล้วนำรถไปจอดข้างๆพระอุโบสถแล้วเดินกันเข้ามาด้านใน โดยมุ่งไปที่หลังวัดเป็นอันดับแรก
ฝั่งตรงข้ามวัดนางหนูคือวัดบัว ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่จันทร์ได้ทำการอุปสมบท จากนั้นท่านก็ขอมาจำพรรษาที่วัดนางหนู เพราะสมัยนั้นวัดนางหนูมีสภาพทรุดโทรม ใกล้จะเป็นวัดร้าง
จากนั้นผมก็เดินมายังศาลา ประดิษฐานรูปหล่อหลวงปู่จันทร์
ผมก็เข้ามากราบรูปหล่อหลวงปู่จันทร์ในศาลา จากนั้นหลวงพ่อเปรื่อง อัตตมโน เจ้าวาสวัดนางหนูรูปปัจจุบัน ท่านได้ออกมาจากกุฏิ ผมจึงเข้าไปกราบนมัสการและบอกจุดประสงค์การเดินทางครั้งนี้
หลวงพ่อเปรื่อง ท่านจึงเมตตานำกุญแจเพื่อเข้าไปกราบรูปหล่อหลวงปู่จันทร์ ในมณฑปซึ่งล็อคไว้
เมื่อเปิดพระมณฑปเข้าไป ก็จะพบกับรูปหล่อหลวงปู่จันทร์ประดิษฐานอยู่ กลุ่มเราก็เข้าไปกราบขอพรตามปกติ
หลังจากนั้นกลุ่มของผมก็เข้าสนทนากับหลวงพ่อเปรื่อง เจ้าอาวาสวัดนางหนู ซึ่งท่านก็เมตตามานั่งสนทนาด้วย เล่าเรื่องราวต่างๆให้กลุ่มผมฟัง และนำหนังสือเรื่องราวของวัดมาให้อ่านอีกด้วย
การสนทนาใช้เวลาไม่นานนัก ได้ความรู้และเรื่องราวมาบอกเล่าให้กับท่านผู้อ่านมากมาย จากนั้นกลุ่มของผมจึงกราบลาหลวงพ่อเพื่อเดินทางกลับ
ประวัติหลวงปู่จันทร์ จันทโชติ พอสังเขป
หลวงปู่จันทร์ จันทโชติ หรือหลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู จ.ลพบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในสมัยสงครามอินโดจีน เป็นที่กล่าวขานจนถึงทุกวันนี้
หลวงปู่จันทร์ นามเดิมว่า จัน หรือจันทร์ สุดสาย เป็นชาวจังหวัดลพบุรี โดยกำเนิด ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2395 ที่บ้านบางพุทโธ ต.ตลุง อ.เมือง จ.ลพบุรี
ในวัยหนุ่มท่านเป็นคนพูดจริงทำจริง อีกทั้งยังเป็นคนเจ้าชู้พอตัว จนได้สาวแห่งบางพุทโธ 2 พี่น้องมาเป็นภรรยา ชื่อนางสินและนางทรัพย์ มีบุตรด้วยกันรวม 4 คน
กล่าวกันว่าท่านเรียนวิทยาคมต่างๆมาจากปู่ของท่าน ทั้งยังชอบกินว่านและอาบว่าน เพื่อให้ผิวกายคงทนต่อศาสตราวุธต่างๆ และด้วยความใจนักเลงของท่านในตอนนั้น เป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวกับคู่อริจนถึงขั้นทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิต ต้องหลบหนีอาญาบ้านเมืองไป
ในระหว่างนั้นเอง ท่านมีโอกาสร่ำเรียนวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์และฆราวาสมากมาย จนกระทั่งพ้นอายุความทางกฏหมายได้วัยกลางคน ท่านจึงเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนา ณ บางพุทโธ และตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบทที่วัดบัว โดยมีหลวงพ่อเนียม วัดเสาธงทอง พระเกจิดังในยุคนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า จันทโชติ
ขณะที่ท่านจำพรรษาที่วัดบัว ท่านได้สังเกตว่า วัดนางหนูซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกันนั้นมีสภาพทรุดโทรมมาก จนเกือบจะเป็นวัดร้างและไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ท่านจึงขอย้ายมาจำพรรษาที่วัดนางหนู และทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่
ชาวบ้านต่างเห็นความมุ่งมั่นของท่าน จึงเกิดความศรัทธามาร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัด จนวัดนางหนูคืนกลับมา ต่อมาได้มีการสังคายนาชื่อวัดให้ถูกต้องตามธรรมเนียมสงฆ์ ได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดมุสิกาวาส”
เพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจแก่ชาวบ้านที่สละแรงกายแรงทรัพย์ในการบูรณะวัดครั้งนั้น ท่านจึงสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง เช่นตะกรุดไม้ไผ่ ตะกรุดไม้ลวก เสื้อยันต์ สีผึ้ง ผ้ายันต์ สายคาดเอว มอบให้ชาวบ้าน
เล่ากันว่า เมื่อครั้งสงครามอินโดจีน ประมาณปี พ.ศ.2484 ทหารจากหน่วยต่างๆมุ่งมาที่วัดนางหนู เพื่อขอวัตถุมงคลจากหลวงปู่จันทร์เป็นจำนวนมาก และต่างมอบปัจจัยจนสร้างพระอุโบสถได้หลังหนึ่ง
หลังจากนั้นไม่นาน ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดนางหนู ชื่อเสียงของท่านโด่งดังไปทั่วภาคกลาง ในฐานะเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม
ท่านเป็นหนึ่งในพระเกจิที่มีชื่อเสียงในช่วงสงครามอินโดจีนและสงครามมหาเอเชียบูรพา ได้รับนิมนต์ให้เข้านั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกสำคัญ เช่น พิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดราชบพิธ เมื่อ ปี พ.ศ.2481 และพิธีปลุกเสกพระพุทธชินราชอินโดจีน ณ วัดสุทัศน์ เมื่อปี พ.ศ.2485
ในบั้นปลายชีวิต ท่านได้สร้างวัดบางพุทโธหรือวัดชนะสงคราม จนสำเร็จลุล่วง หลวงปู่จันทร์ มรณภาพด้วยอาการสงบ ในปี พ.ศ.2490
สำหรับนักสะสมวัตถุมงคล วัตถุมงคลของหลวงปู่จันทร์ที่เป็นที่ปรารถนาของนักสะสมคือ เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ ปี พ.ศ.2478 แจกเป็นที่ระลึกในการสร้างศาลาวัดนางหนู นับเป็นเหรียญยอดนิยมที่ได้รับการยกย่องและมีความต้องการสูง เนื่องด้วยเป็นเหรียญรุ่นแรกและเป็นเพียงรุ่นเดียวของท่าน
เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ ปี พ.ศ.2478 เป็นเหรียญทองแดง ลักษณะรูปไข่ ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบเป็นลวดแบน ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์หน้าตรง มีอักษรไทยโดยรอบว่า “หลวงพ่อจัน อายุครบ ๘๓ ปี พระจันทะโชติ์
ด้านหลังเหรียญ เป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็นอักขระขอม “นะเฉลียวเพชร” ขึ้นยอดเป็นอุณาโลม แล้วล้อมด้วยอักขระขอม 3 ตัว ว่า “อิสวาสุ” โดยรอบเหรียญจารึกอักษรไทยว่า ให้เป็นที่รฤกในงานฉลองศาลา พ.ศ.๒๔๗๘
ปัจจุบันเป็นเหรียญที่หาได้ยาก สนนราคาเช่าบูชากันหลักแสนบาท รุ่นนี้มีบล็อกหน้าพิมพ์เดียว ส่วนบล็อกหลังมีถึง 3 พิมพ์
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory