วัดน้ำเต้า อยุธยา หลวงพ่อสังข์พระเกจิศิษย์หลวงพ่อปั้นผู้ทรงอภิญญา

By | July 20, 2018


https://youtu.be/FDpJzc9YaB0

วัดน้ำเต้า ท้องทุ่งบางบาล อยุธยา หลวงพ่อสังข์พระเกจิศิษย์หลวงพ่อปั้นผู้ทรงอภิญญา… สวัสดีครับ วันนี้ผมจะพาทุกท่านเดินทางไปตามรอยพระเกจิอาจารย์แห่งท้องทุ่งบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกรูปหนึ่ง นั่นก็คือ หลวงพ่อสังข์ ปุญญสิริ แห่งวัดน้ำเต้า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

เรื่องราวการเดินทางครั้งนี้ ไม่ได้เน้นเกี่ยวกับประวัติวัติ เพราะผมหาข้อมูลแทบไม่ได้เลยครับ…มีเพียงเรื่องราวของหลวงพ่อสังข์ ที่ท่านเคยจำพรรษาที่นี่… ชื่อเสียงของหลวงพ่อสังข์เป็นที่เลื่องลือ เพราะท่านเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร

อีกทั้งท่านเป็นพระอาจารย์ของหลวงปู่ทิม วัดพระขาว อยุธยาอีกด้วย… และมีเหตุการณ์สำคัญที่มีบันทึกในหนังสือประวัติหลวงพ่อปาน โสนันโท แห่งวัดบางนมโค ได้เขียนไว้ว่า เมื่อครั้งที่หลวงพ่อปานกำหนดจิตละสังขาร หลวงพ่อสังข์ได้กำหนดจิตตามดูจิตของหลวงพ่อปาน และได้บอกว่า มีพรหมและเทวดาห้อมล้อมไปส่งหลวงพ่อปานถึงสวรรค์ชั้นดุสิต

เป็นเรื่องราวพอสังเขปที่ผมพอจะรวบรวมแบบสรุป จึงมีความคิดว่า วัดแห่งนี้มีพระผู้ทรงคุณอภิญญาเคยจำพรรษา จึงต้องตามมาเก็บเกี่ยวบรรยากาศและเรื่องราวในสถานที่จริง

รูปปั้นพระแม่ธรณีและพระแม่โพสพ

พื้นที่วัดน้ำเต้า

เมื่อมาถึงวัดน้ำเต้า จะเห็นถึงบรรยากาศอันสงบของชนบท เพราะห่างไกลเมือง… และไม่ค่อยมีผู้คนรู้จักกันมากนัก ด้วยเพราะเส้นทางมาวัดจะไม่ติดถนนหลัก…ผู้ที่เดินทางมา ส่วนมากจะทราบถึงเรื่องราวของหลวงพ่อสังข์นั่นเอง

ศาลาพักวัดน้ำเต้า

พระสังกัจจายน์ วัดน้ำเต้า

มองดูโดยรอบวัด เหมือนวัดปกติทั่วๆไป แต่สิ่งที่แปลกตาคืออุโบสถ ที่เป็นทรงที่ไม่คุ้นตาเท่าไหร่นัก

อุโบสถ วัดน้ำเต้า

ด้านข้างอุโบสถ

เมื่อเดินเข้ามายังเขตอุโบสถ จะพบใบเสมาโบราณสมบูรณ์ที่สร้างขึ้นจากหินทรายแดงด้วย 1 ชิ้น … ผมไม่แน่ใจว่านำมาจากวัดใด เพราะดูรูปแบบแล้วเป็นสมัยอยุธยาเลยทีเดียว

ใบเสมาโบราณใต้อุโบสถ

ถัดจากอุโบสถจะเป็นหมู่กุฏิสงฆ์

หมู่กุฏิสงฆ์

สภาพโดยรวมดูเป็นสภาพเดิมๆ เหมือนวัดในท้องถิ่นทั่วไป… จากนั้นผมไปยังวิหารหลวงพ่อสังข์ เพื่อกราบรูปหล่อของท่าน

วิหารหลวงพ่อสังข์

รูปหล่อหลวงพ่อสังข์

หลวงพ่อสังข์ ปุญญสิริ

ในวันที่ผมเดินทาง เป็นวันที่มีงานบุญถวายรูปปั้นพระสีวลี จึงได้มีโอกาสอนุโมทนาไปกับเขาด้วยครับ

พิธีถวายพระสีวลีบนศาลาการเปรียญ

เรื่องราวของหลวงพ่อสังข์

หลวงพ่อสังข์ เป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อปั้น วัดพิกุล อยุธยา ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร หลวงพ่อปั้นเคยเอ่ยไว้ว่า เจ้าเณรสังข์ รูปนี้ ต่อไปจะเป็นเสมือนช้างเผือก ประจำกรุงศรีอยุธยา…” 

ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 มกราคม 2457 ณ พันธสีมาวัดขวิด 

โดยมีหลวงพ่อลับ  วัดบันไดช้าง อำเภอเสนา เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เป็นพระกรรมวาจาจารย์, พระครูปุ้ย วัดขวิด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ปุญญสิริ

ในตอนที่หลวงพ่อสังข์ ท่านอุปสมบท หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ท่านมาเป็นเป็นพระกรรมวาจาจารย์ให้ มีอยู่ตอนหนึ่งหลวงพ่อจง ท่านแกล้งสวดญัตติพลาดไปวรรคหนึ่ง

ซึ่งเรื่องของการสวดญัตตินั้นตามหลักการถือว่าต้องสวดให้ถูกต้องจะผิดแม้วรรคหนึ่งวรรคใดก็ไม่ได้ เพราะการสวดผิดจะทำให้สังฆกรรมนั้นใช้ไม่ได้

ดังนั้น พระสังข์จึงขอให้หลวงพ่อจงสวดญัตติให้ใหม่อีกครั้ง

หลวงพ่อจงท่านยิ้ม เพราะท่านได้รับทราบกิตติศัพท์ความเคร่งครัดปฏิบัติของหลวงพ่อสังข์ มาเป็นอย่างดีอยู่แล้ว (ซึ่งหลวงพ่อจง ถือเป็นศิษย์พี่ของหลวงพ่อสังข์ เพราะเคยมาเรียนวิชากับหลวงพ่อปั้น ซึ่งสมัยนั้นหลวงพ่อสังข์ ยังเป็นสามเณร)

และเมื่อท่านได้มองเห็นชุดผ้าไตรจีวรที่หลวงพ่อสังข์ได้ตัดเย็บและย้อมเองตามหลักของพระวินัย ทำให้ท่านเกิดความประทับใจในตัวของหลวงพ่อสังข์

ท่านจึงได้เปลื้องผ้าสังฆาฏิของท่านถวายแก่หลวงพ่อสังข์และได้บอกกับทุกคนที่อยู่ในที่นั้นว่า….

“ต่อไปคุณสังข์จะเป็นพระที่มั่นคงอยู่ในพระพุทธศาสนาอีกรูปหนึ่ง”

หลังจากอุปสมบทเป็นพระ ก็ได้ไปขอศึกษาวิชากับ หลวงพ่อลับ วัดบันไดช้าง พระอุปัชฌาย์ พระเกจิอาจารย์ชั้นครู มากวิทยาคมอีกรูป

ปิดท้ายก่อนลา

วัดน้ำเต้าเป็นวัดในท้องทุ่งบางบาล ที่มีเรื่องราวของพระเกจิอาจารย์ในอดีตเกี่ยวข้องกันมากมายหลายรูป  ถ้าท่านผู้ติดตามสนใจในเรื่องราวของพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษ จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ไม่ควรพลาดครับ….

ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ใยบทความต่อไป สวัสดีครับ…

ช่องทางการติดตามเรื่องราว

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com