เที่ยวปราสาทนครหลวง วัดนครหลวง เส้นทางนมัสการพระพุทธบาทสมัยพระเจ้าปราสาททอง แห่งอยุธยา
ครั้งนี้เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ผมจะได้เดินทางไปชมความสวยงามของโบราณสถานที่สวยงามแห่งหนึ่ง แต่ก็ต้องบอกว่าผมไม่เคยรู้จักมาก่อน แต่มีพี่ที่รู้จักได้แนะนำว่าเป็นโบราณสถานที่น่าสนใจและสวยงามมาก และยิ่งไปกว่านั้น สถานที่ก็ไม่ได้ไกลมาก จึงตัดสินใจเดินทางมาเลยทันทีในวันรุ่งขึ้น และที่นั่นก็คือ “ปราสาทนครหลวง” ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดนครหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
การเดินทางก็ไม่ยากเลยครับ แม้ว่าผมจะไม่เคยเดินทางไปที่อำเภอนครหลวง แต่สามารถเดินทางไปถึงได้โดยง่าย ให้หาเส้นทางไปอำเภอนครหลวงแล้วจะเห็นป้ายบอกทางไปปราสาทนครหลวง ภายในตัวอำเภอ ค่อนข้างเงียบสงบแม้จะห่างจากตัวจังหวัดเพียง 20 กว่ากิโลเมตร
วัดนครหลวงจะตั้งอยู่ทั้งสองฝั่งถนน โดยถนนจะแบ่งสถานที่ออกเป็น 2 ส่วน ฝั่งตะวันออกของถนนจะเป็นสถานที่ตั้งของปราสาทนครหลวง ส่วนฝั่งตะวันตกจะเป็นสถานที่ตั้งของวิหาร อาคารต่างๆของวัด และเป็นท่าน้ำของแม่น้ำป่าสัก
บรรยากาศสงบเงียบมากแม้จะเป็นวันเสาร์ ผมเห็นมีคนเดินทางมาบ้าง แต่น้อยมาก สภาพพื้นที่วัดขาดการดูแลพอสมควร
แม้ว่าผู้คนจะเดินทางมาน้อยมาก แต่สิ่งมีชีวิตที่มีมากภายในวัดก็คือ “ไก่” มีเยอะมากพอสมควรเลยครับ
ท่าน้ำวัด มีสภาพพื้นที่กว้างใหญ่พอสมควร เป็นการบ่งบอกว่าต้องใช้งบประมาณที่มากพอสมควร แต่เสียดายมากที่เงียบเหงาและขาดการดูแล ผมเดินเข้ามาในวัดก็ยังไม่เห็นพระสงฆ์เลย
แม่น้ำป่าสักที่ทอดผ่านก็ดูสงบเงียบมากครับ
หลังจากที่ผมเดินดูบรรยากาศฝั่งตะวันตกแล้ว ก็ได้เดินทางไปยังฝั่งที่เป็นที่ตั้งของตัวปราสาทนครหลวงต่อไป
จุดแรกที่ผมจะเดินทางไปคือ “วิหารศิลาจันทร์ลอยศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งจะตั้งอยู่ต้นทางเลยครับ
เมื่อผมเดินเข้ามาภายในวิหาร จะเห็นแท่นศิลาขนาดใหญ่ทรงกลม ถ้ากะด้วยสายตาน่าจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2 เมตรโดยประมาณ
ประวัติเรื่องราวของแท่นศิลาจันทร์ลอยนี้ค่อนข้างอัศจรรย์ เป็นเรื่องเล่าที่สืบต่อกันมาว่า เกิดเหตุการณ์อันน่าเชื่อว่าศิลาจันทร์ลอยนี้ได้ลอยตามแม่น้ำจนมาติดที่ฝั่งของวัด ชาวบ้านพยายามจะฉุดกันขึ้นมาแต่ก็ฉุดกันขึ้นมาไม่ได้ จึงได้นำเรื่องราวไปบอกกับเจ้าอาวาส ซึ่งเจ้าอาวาสมีความรู้ด้านวิชาอาคมจึงได้ใช้สายสิญจ์ 3 สาย บริกรรมคาถาจนสามารถนำขึ้นมาบนฝั่งได้ในที่สุด
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงรับทราบเรื่องราวดังกล่าว จึงได้มีรับสั่งให้อัญเชิญศิลาจันทร์ลอยนี้มาประดิษฐานที่กรุงเทพฯ เพื่อว่าจะเป็นจุดรวมให้ประชาชนได้สักการะบูชา แต่ศิลาจันทร์ลอยนี้ก็ประดิษฐานที่กรุงเทพฯ ได้ไม่นานก็ต้องอัญเชิญกลับมาที่เดิม เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินว่าให้นำกลับมาไว้ ณ ที่เดิม จึงได้สร้างมณฑปเพื่อประดิษฐานศิลาจันทร์ลอยนี้อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ถึงแม้จะเงียบเหงา แต่ก็ยังเห็นผู้คนบางส่วนได้เดินทางมาที่นี่บ้าง
ผมเดินเข้ามาเพื่อจะไปยังตัวปราสาท ก็เห็นสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ชำรุดทรุดโทรมไปมากมาย ผมคิดว่าคงไม่มีใครดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร สังเกตุดูแล้วยังเห็นรอยของน้ำท่วมใหญ่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อปี พ.ศ. 2547 ด้วยครับ
แม้จะมีสภาพที่ขาดการดูแล ผมก็ยังเห็นถึงความยิ่งใหญ่น่าท่องเที่ยวเหมือนเดิมนะครับ เพราะจุดเด่นแห่งนี้คือตัวปราสาทนครหลวง ซึ่งผมมองดูไกลๆก็ยังมีสภาพที่น่าดูชมมากเลยทีเดียว
และผมก็มาถึงหน้าตัวปราสาทนครหลวง ต้องบอกว่ายิ่งใหญ่อลังการงานส้รางมากครับ แต่ผู้คนมาท่องเที่ยวน้อยเหลือเกิน อาจจะเป็นเพราะไม่ใช่จุดศูนย์รวมแหล่งท่องเที่ยว เหมือนอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา คนที่จะมาคงจะรู้ข้อมูลพอสมควรและชอบท่องเที่ยวสถานที่โบราณ
ประวัติศาสตร์ของปราสาทนครหลวง จะเกี่ยวข้องกับทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่พระเจ้าปราสาททองไปเสด็จไปสักการะรอยพระพุทธบาท ปัจจุบันนี้คือวัดพระพุทธบาทสระบุรี ปราสาทนครหลวงถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2147 ในรัชสมัยสมเด็กพระเจ้าปราสาททอง ได้ก่อสร้างก่ออิฐถือปูนขึ้นมา โดยออกแบบตามศิลปะกัมพูชาเพราะตอนนั้นได้กรุงกัมพูชามาเป็นประเทศราช
ต่อมาในปี พ.ศ. 2352 ตาปะขาวปิ่นได้มาสร้างวัดนครหลวงขึ้นพร้อมๆกับสร้างพระพุทธบาทสี่รอยไว้บน ลานชั้นบนของปราสาท นับแต่นั้นมาปราสาทนครหลวงก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัด
ในเรื่องการเดินทางไปสักการะรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีนั้น มีเรื่องราวว่า พระสงฆ์จากประเทศไทยได้เดินทางไปสักการะบูชารอยพระพุทธบาทถึงกรุงลังกา ซึ่งมีระยะทางที่ไกลมาก จึงเป็นเหตุให้พระสงฆ์ในลังกาสงสัยสอบถาม และบอกว่า แท้จริงแล้วที่เทือกเขาสุวรรณบรรพต ในสุวรรณภูมิมีรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ เป็นเหตุให้พระสงฆ์บอกกล่าวต่อพระเจ้าทรงธรรมให้รับทราบเรื่องนี้ พระองค์จึงประกาศให้ค้นหารอยพระพุทธบาท จนมีเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์เกิดขึ้นโดยค้นพบเจอรอยพระพุทธบาทที่สระบุรีโดยบังเอิญ และพระองค์จึงได้เสด็จไปสักการะรอยพระพุทธบาทนั้น
สามารถอ่านเรื่องราวการค้นพบรอยพระพุทธบาทที่นี่ ===> วัดพระพุทธบาท สระบุรี
ภายในตัวปราสาทดูยิ่งใหญ่สวยงามมากครับ แม้จะเป็นการบูรณะไปมากพอสมควร แต่ก็สวยงามจริงๆ ในรูปด้านซ้ายจะเป็นส่วนของวิหารคดซึ่งปัจจุบันไม่หลงเหลือพระพุทธรูปอยู่แล้ว ถ้าจะสมบูรณ์หน่อยก็จะเป็นวัดใหญ่ชัยมงคล และ วัดพุทไธศวรรย์ ถ้าอยากจะเห็นวิหารคดที่ยังมีพระพุทธรูปสมบูรณ์อยู่บ้างให้ไปสองแห่งนี้นะครับ
ภายในตัวปราสาท จะมีนกพิราบเยอะมากครับ อยู่กันเป็นฝูง
บนตัวปราสาทจะมีอยู่สามชั้น โดยชั้นแรกจะเป็นส่วนของซุ้มปราค์ ชั้นบนสุดจะเป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสี่รอยจำลอง
ผมเดินวนเวียนภายในตัวปราสาทนานพอสมควร เพราะผมเองชอบบรรยากาศสงบๆแบบนี้จริงๆ ต้องบอกเลยว่ารู้สึกฟินอย่างมาก และด้วยความชอบเที่ยวตามวัดวาอารามต่างๆ ยิ่ทำให้ผมรู้สึกมีความสึกมากเลยครับ
บริเวณด้านหน้าของมณฑปพระพุทธบาทสี่รอย จะมีรูปปั้นพระพิฆเนศประดิษฐานอยู่ ซึ่งเป็นรูปปั้นที่แปลกตาสำหรับผม เพราะที่ฐานจะเป็นรูปหัวกระโหลก ซึ่งผมได้ทราบมาว่า พระพิฆเนศนอกจากจะเป็นเทพเจ้าแห่งความสำเร็จแล้ว ยังเป็นเทพเจ้าแห่งผีและวิญญาณอีกด้วย จึงมีรูปหัวกระโหลกที่ฐานนี้
ในที่สุดผมก็ได้เห็นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่มาที่ปราสาทนครหลวงนี้ ก็รู้สึกดีใจครับ ที่ยังมีไกด์พามาเที่ยวกันถึงที่นี่ ส่วนเด็กคนนี้น่ารักดีครับ วิ่งไปทั่วเลย พ่อแม่ต้องคอยตามจับตลอดเวลา แถมมีเสียงหวีดร้องซะดังเลยครับ แต่ไม่เป็นไรครับ ผมไม่หงุดหงิด ฮ่าๆ
สำหรับเรื่องรอยพระพุทธบาทสี่รอยนี้ ผมคิดว่าสร้างจำลองขึ้นมาจาก วัดพระพุทธบาทสี่รอย อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะมองเห็นรอยพระพุทธบาทขนาดใหญ่สี่รอย ลดหลั่นกันลงมา ซึ่งเป็นไปตามคติความเชื่อที่ว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในอดีตได้แก่
1. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอย ใหญ่ยาว 12 ศอก
2. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก
3. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก
4. รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตะมะ ( พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน ) เป็นรอยที่ 4 รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก
และในอนาคต จะมีการประทับรอยพระพุทธบาทของพระศรีอริยเมตไตรย ซึ่งจะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตกาล ซึ่งเมื่อประทับแล้วรอยพระพุทธบาททั้งสี่ จะประสานกันเป็นรอยเดียว
เมื่อมาถึงจุดนี้ผมก็นั่งพักและซึมซับเอาบรรยากาศให้มากที่สุด เหมือนได้อยู่ใกล้กับพระพุทธองค์ แม้จะไม่ใช่รอยพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริงก็ตาม
หลังจากนั้นผมก็เดินลงจากปราสาท เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่อื่นๆต่อไป สรุปการใช้เวลาของผมที่นี่ราวๆ 2 ชั่วโมงกว่าๆครับ
เมื่อผมเดินลงมาจากตัวปราสาท ก็ได้มองเห็นพระอุโบสถอีกทางหนึ่ง จึงได้เดินไปดูสถานที่ แต่ปรากฏว่า อุโบสถปิดครับ เข้าไปไม่ได้ จึงได้แต่วนเวียนอยู่ด้านนอก สงสัยคนจะน้อยมากเลยเงียบขนาดนี้
ก่อนจบบทความท่องเที่ยวนี้ ผมก็ขอส่งท้ายว่า แม้จะมีผู้คนเดินทางมาน้อย แต่ก็ยังมีมนต์ขลัง และความสวยงามมากครับ แนะนำให้มากันเลยถ้ามีโอกาส ผมว่าดูยิ่งใหญ่อลังการจริงๆครับ บรรยากาศสงบอาจจะเป็นจุดเด่นของสถานที่แห่งนี้ไปก็ได้
ส่วนท่านที่ชอบถ่ายรูป ผมขอแนะนำให้มาช่วง 13.00 น. เป็นต้นไปนะครับ เพราะแสงแดดจะไปทางตะวันตก ถ้าถ่ายรูปตัวปราสาทจะได้ท้องฟ้าสีครามที่สวยงาม แต่ผมมาตอนเช้าครับ เลยมีสภาพท้องฟ้าสีขาว เพราะถ่ายรูปย้อนแสง
สุดท้ายขอฟันธงว่า “น่าเที่ยวมากครับ”
คลิปบรรยากาศ “ปราสาทนครหลวง”
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com