ท่องเที่ยวทำบุญ ไหว้พระ วัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา

By | August 16, 2014

ท่องเที่ยว ทำบุญวัดหน้าพระเมรุ พระนครศรีอยุธยา

ถ้าจะกล่าวถึงวัดหน้าพระเมรุนักท่องเที่ยวหลายๆคนมักจะคุ้นเคยหรือรู้จักกันดี โดยเฉพาะพระพุทธรูปทรงเครื่องพระนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์ไตรโลกนาถ” ซึ่งประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ และมีความสวยงามสง่าเป็นอย่างมาก วัดหน้าพระเมรุตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรีนอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง ตามตำนานกล่าวไว้ว่า พระองค์อินทร์ ในรัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2047 มีนามว่า “วัดเมรุราชิการาม” ภายหลังเรียกกันว่า “วัดหน้าพระเมรุ”

หลายๆคนอาจจะแปลกใจ และตัวผมเองก็แปลกใจเช่นกัน ว่าทำไมวัดแห่งนี้จึงมีชื่อว่าวัดหน้าพระเมรุ ทั้งๆที่อยู่ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์จึงสันนิษฐานกันว่า บริเวณด้านหลังวัดหน้าพระเมรุ จะมี วัดโคกพระยา ซึ่งเป็นสถานที่ใช้สำเร็จโทษพระบรมวงศานุวงศ์และเจ้านายชั้นสูง และอาจจะมีการสร้างเมรุ ณ บริเวณนี้ก็เป็นได้

จุดเด่นสำคัญของวัดหน้าพระเมรุที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ

1. วัดหน้าพระเมรุมีความเก่าแก่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ประมาณปี พ.ศ. 2047 ซึ่งยังมีสภาพสมบูรณ์เพราะไม่เคยถูกทำลายมาก่อน

2. พระพุทธรูปทรงเครื่อง “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์ไตรโลกนาถ”  ประดิษฐานในพระอุโบสถ ซึ่งมีความสวยงามเด่นเป็นสง่าอย่างมาก

3. พระคันธารราฐ ประดิษฐานในพระวิหารน้อย ประทับห้อยพระบาท เป็นพระพุทธรูปศิลาโบราณ สร้างในพ.ศ. 1000 – 1200 นักโบราณคดีมีความเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปในสมัยทวารวดี

4. หลวงพ่อขาวเป็นพระพุทธศักดิ์สิทธิ์สมัยอยุธยาตอนต้น หุ้มด้วยเงินสีขาวบริสุทธิ์ มีอายุกว่า 500 ปี ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านหลังพระอุโบสถ

5. พระพุทธลีลา อายุกว่า 800 ปี ประดิษฐานที่วิหารหลวงด้านหลังพระอุโบสถ

6. มีโบราณสถานภายในวัด อาทิเช่น พระเจดีย์ราย และพระปรางค์

7. สถานที่พักผ่อนและจัดสรรไว้ได้อย่างลงตัว

สำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวและทำบุญที่วัดหน้าพระเมรุ ก็ถือว่ามาได้สะดวก ให้ทำการดาวน์โหลดแผนที่พระนครศรีอยุธยามาดูกันได้ที่เพจนี้ครับ ===> www.faiththaistory.com/map_ayutthaya

ต่อไปผมจะพาเดินทางไปชมความสวยงามของวัดกันต่อเลย

บริเวณด้านหน้าวัด

บริเวณด้านหน้าวัด

ในบริเวณพื้นที่ของวัด จะมีพื้นที่สำหรับจอดรถค่อนข้างกว้าง มีทั้งด้านในและด้านนอก ที่ทางวัดได่จัดสถานที่ไว้ให้ครับ

ใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถ

ใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถ

เมื่อเดินเข้ามาถึงพระอุโบสถ จะสังเกตุเห็นใบเสมาคู่รอบพระอุโบสถทั้ง 8 ทิศ ซึ่งใบเสมานี้ จะเป็นสัญลักษณ์ถึงอาณาเขตของพระอุโบสถ และถ้าวัดใดมีใบเสมาคู่จะบ่งบอกถึงว่าวัดแห่งนั้นเป็นพระอารามหลวง

พระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ

จากเนื้อหาข้อมูลที่ผู้คนส่วนใหญ่ได้ทราบเกี่ยวกับวัดหน้าพระเมรุคือ เป็นวัดที่รอดพ้นจากการเผาทำลายเมื่อครั้งเสียกรุง แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านออกมากล่าวแย้งว่าเป็นเรื่องที่เล่าลือกันไปเองมากกว่า เนื่องจากสมัยสงคราม การที่จะทำลายบ้านเมืองจะทำลายในส่วนที่เป็นหัวใจหลักๆ แต่ไม่ได้เผาทำลายทั้งเมือง ดังนั้นวัดที่เหลือแต่ซากในทุกวันนี้ จึงมีทั้งวัดที่ถูกขโมยอิฐไปขายหรือถูกปล่อยให้ทิ้งร้างไป

วัดหน้าพระเมรุ ก็เช่นกัน ที่ได้ถูกทิ้งร้างจนมาถึงรัชสมัยรัชการลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระยาไชยวิชิต (เผือก) ได้มาทำการบูรณะวัดให้ทั้งหมดในโครงสร้างเดิม จนกลายเป็นพระอารามที่สมบูรณ์อย่างปัจจุบันนี้ จึงกล่าวได้ว่า ศิลปะของพระอุโบสถเป็นการผสมผสานระหว่างสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์

การเดินชมพื้นที่ในบริเวณวัด ผมจะเดินไปด้านหลังของพระอุโบสถก่อน โดยจะไปกราบนมัสการหลวงพ่อขาว และพระพุทธลีลา ที่ประดิษฐานในพระวิหารหลังพระอุโบสถ

ทางเดินไปหลังพระอุโบสถ

ทางเดินไปหลังพระอุโบสถ

ทางเดินไปด้านหลังพระอุโบสถ จะมีการจัดสถานที่สำหรับการนั่งพักผ่อน ถือได้ว่าจัดไว้ได้ดีมากครับ

วัดหน้าพระเมรุ 4

เจดีย์รายข้างวิหารหลวงพ่อขาว

เจดีย์รายข้างวิหารหลวงพ่อขาว

เจดีย์ราย

เจดีย์ราย

วิหารหลวงพ่อขาว

วิหารหลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาว

หลวงพ่อขาวเป็นพระพุทธศักดิ์สิทธิ์สมัยอยุธยาตอนต้น หุ้มด้วยเงินสีขาวบริสุทธิ์ มีอายุกว่า 500 ปี ประดิษฐานอยู่ในวิหารด้านหลังพระอุโบสถ

 

วิหารพระพุทธลีลา สมัยลพบุรี

วิหารพระพุทธลีลา สมัยลพบุรี

ถัดมาใกล้ๆกับวิหารหลวงพ่อขาว ก็จะเป็นพระวิหารหลวง ประดิษฐานพระพุทธลีลา อายุกว่า 800 ปี สมัยลพบุรี

พระพุทธลีลา

พระพุทธลีลา

พระปรางค์โบราณ ด้านหน้าพระวิหารหลวง

พระปรางค์โบราณ ด้านหน้าพระวิหารหลวง

ต่อไปเราจะเดินไปที่พระวิหารน้อย กันต่อครับ

พระคันธารราฐ ในพระวิหารน้อย

พระคันธารราฐ ในพระวิหารน้อย

พระวิหารสรรเพชญ์

วิหารนี้มีชื่อเรียกกันหลายชื่อ เช่น “วิหารพระคันธารราฐ” “วิหารน้อย” “วิหารเขียน”  พระวิหารนี้สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ภายในพระวิหารมีจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งมีรอยลบเลือนไปบ้างแล้ว และประดิษฐานพระพุทธรูปแกะสลักด้วยศิลาเขียว พระนามว่า “พระคันธารราฐ” มีขนาดหน้าตักกว้าง 1.70 เมตร สูง 5.20 เมตร ประทับห้อยพระบาท ปางปฐมเทศนา สันนิษฐานว่า สร้างในปี พ.ศ. 1000 – 1200 และมีจารึกไว้ว่าพระพุทธรูปองค์นี้ได้อัญเชิญมาจากประเทศลังกา ก่อนหน้านี้นั้น พระพุทธรูปองค์นี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารน้อย

ภาพจิตรกรรมฝาผนังในวิหารน้อย

ต่อไปเราจะเดินเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธประธานในพระอุโบสถกันครับ

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ

พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ เป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์ สร้างในสมัยพระเจ้าปราสาททอง หล่อด้วยทองสำริด ภายนอกฉาบด้วยปูน ลงรักปิดทองปางมารวิชัยทรงเครื่องพระมหากษัตราธิราช หน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร สูงประมาณ 6.00 เมตร

ตามความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปนี้ อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับ “พระอนาคตพุทธเจ้า” ซึ่งมีหลักฐานคำฉันท์สรรเสริญพระเกียรติสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงปราสาททอง ที่เล่าไว้ว่าในอดีตชาตินั้นพระองค์เสวยพระชาติเป็นช้างป่าเลไลย์ และในพระชาติต่อมาพระองค์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระโพธิสัตว์ดูแลทุกข์สุขของประชาชน และในอนาคตจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า  จึงอาจจะเป็นแนวคิดในการสร้างพระพุทธรูปนี้ โดยรวมพระพุทธเจ้ากับพระมหากษัตริย์ไว้ด้วยกัน เพื่อเป็นการสร้างพระบารมีของพระองค์เอง

ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวัดหน้าพระเมรุ

1. วัดหน้าพระเมรุ เป็นสถานที่เจรจาสงบศึกระหว่างพระมหาจักรพรรดิ์และพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง โดยทางฝ่ายพม่าได้ขอช้างเผือกไป 4 เชือก และขอพระราเมศวร พระยาจักรี พระยาสุนทรสงครามไปเมืองหงสาวดีด้วย ตามพงศาวดารพม่าได้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าหงสาวดีให้ฝ่ายไทยส่งส่วยปีละ 30 ช้าง และเงินปีละ 300 ชั่ง และยอมให้เงินภาษีที่เก็บจากเมืองมะริดเป็นของฝ่ายพม่าด้วย

2. เมื่อครั้งที่พระเจ้าอลองพญาได้เข้าตีกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2303 ฝ่ายพม่าได้นำปืนใหญ่มาตั้งที่วัดหน้าพระเมรุ แต่ปืนใหญ่ได้แตกทำให้พระเจ้าอลองพญาบาดเจ็บสาหัส จนต้องเลิกทัพแต่ก็ได้สิ้นพระชนม์ในระหว่างทาง

วัดหน้าพระเมรุ 21

ที่วัดหน้าพระเมรุ จะเป็นวัดที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวค่อนข้างมาก และในบริเวณวัดก็ได้จัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ค่อนข้างดี ถ้าได้เดินทางมาที่วัดนี้ ผมคิดว่าไม่มีผิดหวังแน่นอนครับ

– จบบันทึก ท่องเที่ยวตามรอยกรุงเก่าอีก 1 บท –

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

ร่วมแชร์ประสบการณ์การท่องเที่ยววัดด้วยกัน ได้ที่ กลุ่มรวมพลคนชอบเที่ยววัด