สำรวจวัดร้าง อดีตค่ายพม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา – วัดเต่า วัดตามุก วัดสุเรนทร์

By | June 22, 2018


https://youtu.be/ZB-X8wg3uj8

สำรวจวัดร้าง อดีตค่ายพม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา – วัดเต่า วัดตามุก วัดสุเรนทร์… สวัสดีครับ ครั้งนี้ผมจะพาทุกท่านเดินเข้าป่า เดินทางท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์เมื่อครั้งการเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2310 ซึ่งครั้งนั้นเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญเพราะเป็นการปิดฉากความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา เมื่อพระเจ้าตากกลับมากู้เอกราช จึงได้ย้ายเมืองไปที่กรุงธนบุรีในเวลาต่อมา

การเดินทางครั้งนี้ ผมไม่สามารถเดินทางไปทุกวัดที่มีบันทึกว่าเป็นค่ายพม่าได้ เพราะมีหลายวัดและจะใช้เวลานาน จึงขอพาไปชมสภาพพื้นที่บางวัด และผมได้วางแผนจะพาไปชม 3 วัดได้แก่ วัดเต่า วัดตามุก(วัดพลับพลาชัย) วัดสุเรนทร์ ซึ่งเป็นค่ายพม่าฝั่งตะวันตกของเกาะเมืองอยุธยา… ปัจจุบันทั้ง 3 วัดนี้ มีสภาพเป็นโคกวัดร้าง ให้เห็นเพียงเศษซากก้อนอิฐ ซากพระพุทธรูป ให้ได้รู้ว่าสถานที่แห่งนี้เคยมีความรุ่งเรืองมาก่อน

แผนผังที่มั่นตั้งค่ายของพม่ารอบเกาะอยุธยา จากพงศาวดารไทย

หมายเลข ๑๐ : วัดเต่า, หมายเลข ๑๑ : วัดสุเรนทร์

สำหรับหนังสืออ้างอิงในการเดินทาง ผมจะใช้หนังสือ 2 เล่มคือ “Shutdown กรุงศรี” และ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” เพราะมีเนื้อหาสรุปความจากแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือพอสมควร

และขอย้ำอีกครั้งว่า เรื่องราวการบันทึกการเดินทางทุกครั้ง ไม่ใช่เนื้อหาทางวิชาการ ขอให้ท่านผู้ติดตามอ่านแล้วนำไปค้นคว้าเพิ่มเติม ถ้าผิดพลาดประการใด ขอน้อมรับเพื่อนำไปปรับปรุงครับ…

บันทึกการเดินทางครั้งนี้ เดือนมิถุนายน พ.ศ.2561

หนังสือใช้อ้างอิงในการเดินทาง “shutdown กรุงศรี”

สั่งซื้อออนไลน์ >> หนังสือ “Shutdown กรุงศรี”

คู่มือเดินทาง “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา”

จากบันทึกในพงศาวดารไทย ได้กล่าวถึงที่ตั้งมั่นค่ายพม่าไว้มากมาย เช่น วัดกระซ้าย วัดภูเขาทอง วัดการ้อง วัดมณฑป วัดสุเรนทร์ วัดเต่า วัดพลับพลาชัย (วัดตามุก) วัดนางชี วัดนางปลื้ม เป็นต้น

ตำแหน่งทั้ง 3 วัดที่จะเดินทางไปสำรวจ

เราจะเดินทางไปยังวัดเต่าและวัดตามุกกันเป็นอันดับแรก โดยผมเดินทางมาจากวัดกระซ้าย ขึ้นมาจะเห็นคลองวัดไชยวัฒนาราม ซึ่งวัดทั้งสองจะอยู่คนละฝั่งคลองตามแผนที่ด้านบน จุดสังเกตุหลักคือให้สังเกตุคลอง และมองดูจะเห็นเป็นโคกป่าละเมาะสองข้าง

สภาพคลองวัดไชยวัฒนาราม (ปี พ.ศ.2561)

มามาถึงตำแหน่งคลองวัดไชยวัฒนารามแล้ว จุดแรกที่เราจะเข้าไปสำรวจคือ วัดตามุก (วัดพลับพลาชัย) ซึ่งเป็นโคกอยู่ใกล้ริมถนนมากที่สุด

พบอิฐโบราณโดยรอบ ณ วัดตามุก

โคกวัดตามุก (ร้าง) ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา และพบเศษอิฐโบราณหักๆ โดยทั่วไป เมื่อเดินเข้าไปบนโคกป่าละเมาะ ก็เห็นเพียงซากอิฐแตกหักเช่นกัน … ผมเดินเข้าไปสักเล็กน้อย เห็นเป็นเพียงป่าปกคลุม และได้เห็นถึงหลักฐานแล้วจึงเดินออกมาเพื่อเดินทางไปยังวัดเต่าต่อไป

เศษซากอิฐโบราณ

ภาพโคกวัดตามุก(ร้าง)

จุดต่อไปเราจะเดินทางไปที่วัดเต้า ซึ่งอยู่อีกฟากคลองวัดไชยวัฒนาราม จะต้องเดินไปตามคันนาอีกหลายร้อยเมตร

โคกวัดเต่า (ร้าง)

โคกวัดเต่า แม้ว่ามองจากภายนอกจะเป็นป่าทึบ แต่สามารถเดินเข้าไปได้สะดวกกว่าวัดตามุก และเห็นร่องรอยโบราณมากกว่า … พบซากสิ่งปลูกสร้างที่ถูกรากต้นไม้โอบรัดชัดเจน และมีซากพระพุทธรูปหินทรายบางส่วน

ซากโบราณสถานที่ถูกรากต้นไม้ขึ้นคลุมที่วัดเต่า

ซากพระพุทธรูปหินทรายที่วัดเต่า

ผมใช้เวลาถ่ายรูปเก็บบรรยากาศสักพักจึงเดินทางออกมาเพื่อจะไปยังวัดสุเรนทร์ต่อไป

การบันทึกในหนังสือ “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา” ของอาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เดินทางมาสำรวจวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 ได้เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับวัดเต่าไว้ว่า

ระหว่างทางผ่านเกาะย่อมๆ เป็นเนินดินหลายแห่ง เกาะแรกมีวัดอยู่บนนั้นเรียกว่า “วัดเต่า” วัดในที่นี้หมายความว่าเหลือแต่ชื่อกับเศษอิฐป่นๆ กระจุยทั่วไปทั้งเกาะ ที่จะเห็นอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนั้นไม่มี ด้วยถูกคนร้ายและชาวบ้านขนเอาอิฐไปขายเสียเกลี้ยงไปทั้งวัดแล้ว

วิธีที่ดีที่สุดซึ่งดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลยคือ วัดขนาดก้อนอิฐที่จมดินอยู่ เลือกเอาก้อนสมบูรณ์ที่สุด พบอิฐขนาดใหญ่ 37x18x13 เซนติเมตร พอจะรู้ประวัติวัดอย่างเลือนรางว่าเป็นวัดที่มีมาแต่สมัยอยุธยาตอนต้น แต่รู้อย่างนี้เห็นจะไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อไม่มีวัดเหลือให้ดูก็เท่ากับเราไม่รู้อะไรอยู่นั่นเอง

ผู้เขียนเดินตามคันนา สำรวจวัดร้าง

จุดต่อไป เราจะเดินทางไปยังวัดสุเรนทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดเต่าและวัดตามุกราวๆ 2 กิโลเมตร โดยขับรถไปตามถนนต่อไปยังแยกวรเชษฐ์ แล้วเลี้ยวซ้าย จะเห็นโคกวัดร้างกลางทุ่งนา นั่นคือพื้นที่ของวัดสุเรนทร์นั่นเอง

ริมถนน หน้าโคกวัดสุเรนทร์

เบื้องหน้าคือโคกวัดร้าง ที่ชื่อว่า วัดสุเรนทร์

การเดินทางเข้าสู่โคกวัดสุเรนทร์ ถือว่าง่ายกว่า 2 วัดแรก เพราะสภาพเป็นป่ากระถิน ทำให้มีสภาพที่ไม่รกทึบและดูโล่งกว่า

สภาพป่ากระถิน วัดสุเรนทร์

เมื่อสภาพป่าเป็นสภาพที่โล่งกว่า จึงพบเห็นซากโบราณที่มากขึ้นได้แก่ ซากพระพุทธรูปหินทราย ซากกระเบื้องกาบกล้วย ซากอิฐ ซึ่งถือว่ามีกระจายหนาแน่น และน่าจะมีปริมาณที่มากถ้าขุดค้นสำรวจเพิ่มเติม

ซากกระเบื้องกาบกล้วย วัดสุเรนทร์

ซากพระพุทธรูปหินทราย วัดสุเรนทร์

ซากอิฐวัดสุเรนทร์

อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ ได้มาสำรวจยังวัดสุเรนทร์ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2510 ได้บันทึกเพียงว่าไม่มีซากเหลือให้เห็น ซึ่งผมสันนิษฐานว่าในช่วงที่อาจารย์ น. ณ ปากน้ำ เข้าสำรวจอาจจะมีป่าทึบ และเห็นเพียงซากอิฐ ลักษณะเดียวกับวัดเต่า นั่นเอง

สุดท้ายนี้ ทั้งหมดเป็นเรื่องราวและภาพการบันทึกที่ทีมนักเดินทางได้นำมาแบ่งปันให้ได้รับชมกัน หวังว่าท่านผู้อ่านจะได้รับข้อมูลและนำไปต่อยอดองค์ความรู้ต่อไป สุดท้ายนี้ฝากติดตามเพจ Facebook และ YouTube Channel เป็นอีกช่องทางในการติดตามไว้ด้วยนะครับ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ


https://youtu.be/RqU92UmF0EA

ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com