Faiththaistory.com

ผู้ใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงรักษาภิกษุป่วยไข้เถิด

ภิกษุอาพาธ

ผู้ใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงรักษาภิกษุป่วยไข้เถิด

ถ้าจะกล่าวถึงพระพุทธศาสนา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายส่วนมากจะนึกถึงพระพุทธองค์ ที่เป็นพระศาสดาเผยแพร่หลักธรรมให้แก่สัตว์โลกทั้งหลาย หลักธรรมคำสั่งสอนนั้นพระองค์นั้นล้วนเป็นความจริง แม้ไม่มีพระพุทธองค์ หลักธรรมก็ยังเป็นจริงอยู่เสมอ

สำหรับผู้ที่มีความศรัทธาและเชื่อในหลักคำสอนของพระพุทธองค์ จึงมักดำเนินชีวิตและมีแนวทางที่สอดคล้องตามหลักคำสอน และค้นหาข้อมูล เพื่อให้ตนเองดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องที่สุด คำสอนของพระพุทธองค์จะสอนในเรื่องให้กระทำความดี ละเว้นความชั่วและทำจิตใจให้บริสุทธิ์ แต่การดำเนินชีวิตในปัจจุบันบางครั้ง พุทธศาสนิกชน หลายๆคนก็ยังอาจเผลอที่ทำผิดศีลไปบ้าง อีกทั้งเวลาในการทำงานที่ต้องใช้มากขึ้น เวลาเดินทางมากขึ้น จึงไม่ค่อยที่จะมีเวลาในการปฏิบัติธรรมมากนัก  พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จึงได้ใช้เวลาในวันหยุดหรือใช้ปัจจัยที่ตนเองมีอยู่ในการทำบุญ เพราะสะดวกและง่ายในการทำความดี

แต่การทำความดี ก็มีระดับของบุญกุศล จากหนังสือวิธีสร้างบุญบารมี ของสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาปริณายก ได้กล่าวว่าการสร้างความดีแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับต่ำคือการให้ทาน ระดับกลางคือการรักษาศีล ระดับสูงคือการบำเพ็ญสมาธิ

สำหรับปุถุชนอย่างเราๆ โดยทั่วไปจึงเน้นการทำบุญที่ง่าย คือการให้ทานเป็นหลัก หลายๆคนคงจะคิดว่าแล้วการให้ทานแบบใดจึงจะให้ผลที่ดี เป็นเนื้อนาบุญที่ดี และเป็นการทำบุญอย่างชาญฉลาด

ดังนั้นวันนี้ผมจึงได้ค้นหาข้อมูลของพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงรักษาภิกษุป่วยไข้เถิด”  เพื่อมาแชร์ให้ทราบว่าที่มาเป็นเช่นไร มีความสำคัญอย่างไร และคำสอนนี้จะนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร

พุทธพจน์นี้มาจากคำบาลีว่า  “โย ภิกขเว มํ อุปฏฐเหยย โส คิลานํ อุปฏฐเหยย”  เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่อพระภิกษุทั้งหลาย และให้เป็นระเบียบปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล

ที่มาของคำสอน

วันหนึ่งที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร  พระพุทธองค์ได้ทรงเสด็จ โดยทั่วไปในบริเวณวัดและผ่านพระภิกษุทั้งหลาย พร้อมทั้งให้ธรรมะแก่พระภิกษุเหล่านั้น จากนั้นพระพุทธองค์ได้เสด็จผ่านกุฏิหลังหนึ่ง แล้วหยุดอยู่ที่นั่น และทรงตรัสถามพระอานนท์ว่า “ด้านในกุฏินั้นมีใครอยู่”

พระอานนท์ได้กราบทูลว่า “ด้านในกุฏินั้น มีพระภิกษุติสสะ อยู่พระพุทธเจ้าข้า”

พระพุทธองค์จึงเสด็จเข้าไปภายในกุฏิ ภาพที่ปรากฏ ณ เบื้องพระพักตร์ทำให้พระองค์นำความสังเวชสุดประมาณให้แก่พระองค์ ภิกษุติสสะ นอนนิ่งอยู่บนเตียง ร่างกายของท่านปรุพรุนไปด้วยรอยแผล มีน้ำเหลืองไหลเยิ้มท่วมกาย เตียงและผ้าของภิกษุรูปนั้นแปดเปื้อนด้วยเลือดและน้ำเหลืองส่งกลิ่นคาวคลุ้ง ท่านนอนจมอยู่กองเลือดและหนอง ซึ่งแห้งกรังไปแล้วก็มี ที่กำลังไหลเยิ้มอยู่ก็มี ขณะนั้นภิกษุติสสะก็ได้ลืมตาขึ้น เห็นภาพพระพุทธองค์ซึ่งประทับยืนอยู่ ณ ริมเตียงนั้นทำให้ท่านมีอาการตะลึง จะยกมือขึ้นถวายความเคารพแต่ยกไม่ขึ้น เหลียวไปอีกด้านหนึ่งของเตียง ท่านได้เห็นพระอานนท์ยืนสงบนิ่ง อาการเศร้าฉายออกมาทางดวงหน้าและแววตาของพระอานนท์ผู้ประเสริฐ และแล้วเมื่อเหลียวมาสบพระเนตรซึ่งสาดแววแห่งพระมหากรุณาออกมาของพระพุทธองค์อีกครั้งหนึ่ง ยังความตื้นตันใจอย่างท่วมท้น น้ำตาของภิกษุติสสะเอ่อล้นออกมาทางดวงตาทั้งสอง แล้วค่อยๆ ไหลซึมลงอาบแก้มทั้งสอง

 

พระพุทธองค์ได้กล่าวกับภิกษุติสสะว่า

“ดูก่อนติสสะ” พระศาสดาตรัส “เธอได้รับทุกขเวทนามากหรือ?”

           “มากเหลือเกินพระเจ้าข้า เหมือนนอนอยู่ท่ามกลางหนาม” เสียงซึ่งแหบเครือผ่านลำคอของพระติสสะออกมาโดยยาก

           “เธอไม่มีเพื่อนพรหมจารี หรือสหธัมมิก หรือสัทธิวิหาริกอันเตวาสิก คอยปฏิบัติช่วยเหลืออยู่บ้างเลยหรือ?”

           “เคยมีพระเจ้าข้า แต่เวลานี้เขาทอดทิ้งข้าพระองค์ไปหมดแล้ว”

           “ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?”

           “เขาเบื่อพระเจ้าข้า เพราะข้าพระองค์ป่วยมานานและรักษาไม่หาย เขาเลยพากันทอดทิ้งข้าพระองค์ไป”

           “อาการเริ่มแรกเป็นอย่างไรนะ ติสสะ?”

           “แรกทีเดียวเป็นต่อมเล็กๆ ประมาณเท่าเมล็ดผักกาด ผุดขึ้นทั่วกายพระเจ้าข้า แล้วค่อยๆ โตขึ้นตามลำดับๆ เท่าเมล็ดถั่วเขียว เท่ามะตูมและแล้วก็แตก น้ำเหลืองไหล สรีระทั้งสิ้นก็เป็นรูน้อยรูใหญ่ สบงและจีวรเปรอะไปด้วยเลือดและหนอง อย่างนี้แหละพระเจ้าข้า”

ภิกษุติสสะทูลได้เท่านี้ ก็มีอาการหอบเล็กน้อย อ่อนเพลียไม่สามารถทูลต่อไปได้อีก

จากนั้นพระพุทธองค์และพระอานนท์เสด็จออกจากกุฏินั้นไปสู่โรงไฟ พระพุทธองค์ทรงล้างหม้อน้ำด้วยพระองค์เอง พระอานนท์ทำการก่อไฟ เสร็จแล้ววางหม้อน้ำไว้บนเตา ทรงรอคอยจนน้ำเดือด แล้วเสด็จไปหามเตียงของภิกษุติสสะ พระองค์จับด้านหนึ่งและพระอานนท์จับอีกด้านหนึ่ง หามมาสู่เรือนไฟ ภิกษุหลายรูปเดินมาเห็นพระพุทธองค์ทรงกระทำเช่นนั้นก็ช่วยเหลือคนละไม้คนละมือ ทรงให้เปลื้องผ้าของภิกษุติสสะออกแล้วซักให้สะอาด อาบน้ำให้ภิกษุติสสะด้วยน้ำอุ่น ทรงชำระเรือนกายอันปรุพรุนด้วยพระองค์เอง พระอานนท์คอยช่วยเหลืออยู่อย่างใกล้ชิด เมื่อร่างกายนั้นสะอาดพอสมควรแล้ว และผ้าที่ซักไว้ก็พอนุ่งห่มได้เรียบร้อย ครั้นพระพุทธองค์ทรงเห็นสังขารของภิกษุติสสะดีขึ้นพอสมควรแล้ว จึงประทานพระโอวาทคำสอนว่า

           “ติสสะ ร่างกายนี้ไม่นานนัก คงจักต้องนอนทับถมแผ่นดิน ร่างกายนี้เมื่อปราศจากวิญญาณครองแล้ว ก็ถูกทอดทิ้งเหมือนท่อนไม้ที่ไร้ค่าอันเขาทิ้งเสียแล้วอย่างไม่ใยดี

           จงดูกายอันเปื่อนเน่านี้เถิด มันอาดูรไม่สะอาดมีสิ่งสกปรกไหลเข้าไหลออกอยู่เสมอ ถึงกระนั้นก็ตามมันยังเป็นที่พอใจปรารถนายิ่งนัก ของคนผู้ไม่รู้ความจริงข้อนี้”

           เมื่อพระศาสดาแสดงธรรมจบลง พระติสสะได้สำเร็จพระอรหันผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา และเนื่องจากอาการป่วยหนักมาก จึงได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพาน พระพุทธองค์ทรงให้กระทำฌาปนกิจ แล้วให้ก่อเจดีย์ขึ้นเพื่อบรรจุพระธาตุแห่งภิกษุติสสะนั้น

และอีกครั้งหนึ่งพระพุทธองค์มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ เสด็จไปตามเสนาสนะต่างๆ ทอดพระเนตรเห็นภิกษุอาพาธหนักรูปหนึ่ง นอนจมกองอุจจาระและปัสสาวะของตนอยู่ ภิกษุรูปนั้นป่วยเป็นโรคท้องร่วง ไม่มีใครพยาบาลเลย ทั้งนี้เพราะเมื่อคราวท่านปกติดีอยู่ ท่านไม่เคยอุปการะใคร พระพุทธองค์ได้ให้พระอานนท์ไปนำน้ำมา พระองค์ราดรดลง พระอานนท์ขัดสี พระองค์ทรงยกศีรษะ พระอานนท์ยกเท้า แล้ววางไว้บนเตียงนอน ให้ฉันคิลานเภสัชเท่าที่พอจะหาได้

เย็นวันนั้นเองก็ทรงให้ประชุมสงฆ์ ปรารภข้อที่ภิกษุอาพาธไม่มีผู้พยาบาล ได้รับความลำบาก แล้วตรัสพระพุทธพจน์อันจับใจว่า

 “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอบัดนี้ไม่มีมารดาไม่มีบิดาแล้ว ถ้าพวกเธอไม่รักษาพยาบาลกันเองใครเล่าจะพยาบาล…  ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความประสงค์จะปฏิบัติบำรุงเรา ขอให้ผู้นั้นปฏิบัติบำรุงภิกษุอาพาธเถิด เท่ากับได้ปฏิบัติบำรุงเรา”

           “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุอาพาธลง ภิกษุผู้เป็นศิษย์ พึ่งรักษาพยาบาลจนกว่าเธอจะหาย ถ้าศิษย์อาพาธลง อุปัชฌายะอาจารย์พึงทำเช่นเดียวกัน ภิกษุใดไม่ทำ ภิกษุนั้นย่อมเป็นอาบัติคือฝ่าฝืนระเบียบของเรา ถ้าอุปัชฌายะอาจารย์ไม่มี ให้ภิกษุร่วมผู้อุปัชฌายะอาจารย์เดียวกันปฏิบัติ ถ้าไม่ทำย่อมเป็นอาบัติ อนึ่งถ้าภิกษุร่วมอุปัชฌายะอาจารย์เดียวกันไม่มี ให้เป็นหน้าที่ของสงฆ์ที่จะพึงรักษาพยาบาลเธอจนกว่าจะหายอย่าได้ทอดทิ้งเธอไว้เดียวดาย”

ด้วยคำสอนนี้ จึงทำให้เป็นระเบียบปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายมาตั้งแต่พุทธกาล ทำให้เหล่าภิกษุมีความเอาใจใส่กัน รักใคร่ ดูแลกันตลอดมา

เรียบเรียงจาก หนังสือ “พระอานนท์ พุทธอนุชา” อ.วศิน  อินทสระ

ได้อะไรจากหัวข้อธรรมนี้

จากหัวข้อธรรมดังกล่าวนี้ เป็นการทำให้สังคมอยู่อย่างเป็นสุข มีความรักใคร่กลมเกลียวกันแม้ไม่ใช่พี่น้องเครือญาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “เมตตาธรรม ค้ำจุนโลก” เมื่อทุกคนในสังคมดูแลเอาใจใส่ ช่วยเหลือกันก็ย่อมเกิดความสุข

อีกทั้งกรณีคำสอนนี้ พระองค์ได้ตรัสสอนอย่างชัดเจนไปแล้วว่า “ผู้ใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเราตถาคต ผู้นั้นพึงรักษาภิกษุป่วยไข้เถิด” ซึ่งปัจจุบันเราเองนั้นก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การจะได้ทำบุญกับพระพุทธองค์โดยตรงนั้นเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราใช้หัวข้อหลักธรรมที่พระองค์ได้กล่าวสอนไว้ดีแล้วนี้ ก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้ทำบุญที่ได้รับผลอานิสงส์สูงกันเลยทีเดียว

โดยอาจจะหาโอกาสร่วมทำบุญในการดูแลพระภิกษุสงฆ์ที่อาพาธ เช่น โรงพยาบาลสงฆ์ เป็นต้น และความคิดผมนั้นก็เป็นการทำบุญที่น่าจะเป็นการทำบุญอย่างชาญฉลาดเลยครับ

ท่านที่สนใจทำบุญกับโรงพยาบาลสงฆ์ ลองเข้าไปดูที่เว็บหลักนี้นะครับ ===> www.priest-hospital.go.th

Exit mobile version