วัดมณีชลขัณฑ์ ลพบุรี กราบหลวงปู่แสงพระอาจารย์ของสมเด็จพุฒาจารย์โต… สวัสดีครับท่านผู้รักการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยทุกท่าน ผมจะพาทุกท่านไปยังวัดมณีชลขัณฑ์ ลพบุรี ซึ่งมีจุดเด่นที่องค์เจดีย์ตั้งตระหง่านสีขาวสูงเป็นสัญลักษณ์ของวัดแห่งนี้ และเจดีย์แห่งนี้ขนานนามกันว่า “เจดีย์หลวงพ่อแสง” ซึ่งมีเรื่องราวกล่าวขานถึงการสร้างที่แปลกอัศจรรย์
และวัดแห่งนี้เคยเป็นที่จำพรรษาของหลวงพ่อแสง ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) อีกด้วย
เรื่องราววัดมณีชลขัณฑ์
วัดมณีชลขัณฑ์แต่เดิมชาวลพบุรีเรียกว่า “วัดเกาะแก้ว” เพราะยึดตามลักษณะภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นเกาะกลางทุ่งพรหมาสตร์ อ.เมือง จ.ลพบุรี และไม่มีบันทึกการสร้างวัดแห่งนี้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใด ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดมณีชลขัณฑ์ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง
ต่อมาวัดมณีชลขัณฑ์และเจดีย์หลวงพ่อแสง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2479 เจดีย์นี้มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง คล้ายคลึงกับพระเจดีย์สมัยเชียงแสน ส่วนของฐานมีขนาด 15.40 เมตร มีความสูง 50 เมตร ลักษณะของสถาปัตยกรรมเดิมที่เดียวก่อเรือนธาตุสูงลดหลั่นซ้อนกันเป็นชั้นๆ 3 ชั้น เรือนธาตุแต่ละทิศมีซุ้มโค้งสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป ชั้นที่ 4 ตอนบนเป็นองค์ระฆัง ส่วนยอดทำเป็นแท่นบัลลังก์และปล้องไฉนขึ้นไป
จากการค้นคว้าของ ผ.ศ.ทัศนีย์ กระต่ายอินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี กล่าวว่า วัดมณีชลขัณฑ์เป็นวัดเก่าแก่หลายชั่วอายุคน ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้างว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างขึ้นเมื่อใด ทราบแต่เพียงว่าแต่เดิมชื่อวัดเกาะแก้ว
และจากหลักฐานปัจจุบัน สันนิษฐานว่าสร้างเมื่อครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ.2199 – 2231) เพราะพบโบราณวัตถุคือ บุษบกธรรมาสน์ฝีมือช่างหลวงมีจารึกอักษรไทย ระบุว่าสร้างเมื่อ พ.ศ.2225 จึงเชื่อได้ว่า วัดมณีชลขัณฑ์สร้างมาก่อนปี พ.ศ.2225
เมื่อครั้งฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดลพบุรีได้ช่วยกันบูรณะบริเวณรอบพระเจดีย์ให้เป็นสวนสาธารณะ ดูร่มรื่น ต่อมาสร้างวิหารเพื่อประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อแสงและสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี เมื่อปี พ.ศ.2529
วัดมณีชลขัณฑ์เคยได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งมีปรากฏในจดหมายเหตุ พ.ศ.2397 ว่า
“หนังสือเจ้าพระยาจักรีมาถึงลพบุรีด้วยมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าวัดเกาะแก้วแต่ก่อนเคยเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปนมัสการพระและประทับแรมอยู่บ้าง แต่พระอุโบสถ กุฏิ ศาลาการเปรียญและศาลาท้องพรหมาสตร์ชำรุดยับเยินมาช้านาน โปรดเกล้าให้สถาปนาขึ้นใหม่ให้รุ่งเรืองสุกใสจะได้เป็นที่กราบไว้บูชา”
ครั้งนั้น เจ้าพระยายมราช (เฉย ยมาภัย) ได้มาดูแลการบูรณะวัดเกาะแก้ว เมื่อบูรณะแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งให้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีสังกัดคณะธรรมยุต ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงพระราชทานนามว่า “วัดมณีชลขัณธ์”
ประวัติอัศจรรย์การสร้างเจดีย์หลวงพ่อแสง
ประวัติการสร้างเจดีย์หลวงพ่อแสงเป็นเรื่องที่อัศจรรย์ เป็นที่เลื่องลือว่า หลวงปู่แสงได้สร้างเจดีย์องค์นี้เพียงลำพังคนเดียว เมื่อก่อสร้างเสร็จลุล่วง ท่านก็ได้หลีกหนีปลีกวิเวกหายไปจากเมืองลพบุรี ไม่ปรากฏว่าท่านไปจำพรรษาที่ใดและมรณภาพเมื่อไหร่ จึงเป็นปริศนามาจนถึงปัจจุบัน
ต่อมาเมื่อมีผู้คนระลึกถึงหลวงปู่แสง จึงได้พากันจัดสร้างวัตถุมงคลหลวงปู่แสงและพยายามค้นหาบันทึกประวัติศาสตร์เกียวกับหลวงปู่แสงขึ้นมา
หลักฐานสำคัญก็คือ จดหมายเหตุในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงกล่าวถึง “ขรัวแสง” ในพระราชนิพนธ์เรื่อง “ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๑”
ทรงนิพนธ์ไว้ตอนหนึ่งว่า
“ในพระวิหารมีพระกะหลั่ยทองตั้งบนบษบกองค์หนึ่ง เป็นพระของท่านยมราชสร้างดูภูมิวัดแลการที่ทำงามพอสมควรเป็นอย่างดีอยู่แล้วกับพระเจดีย์สูงอีกองค์หนึ่งอยู่ข้างเกาะสร้างมาช้านานนักหนาแล้ว ตามเสด็จขึ้นมาแต่ก่อนทีไรก็เห็นก่อค้างอยู่อย่างนั้น ครั้นมาเมื่อปีวอกดูเหมือนแล้วไป พระเจดีย์องค์นี้เขาว่าเป็นของขรัวแสง คนทั้งปวงนับถือว่าเป็นผู้มีวิชา เดินตั้งแต่เมืองลพบุรีเช้าลงไปฉันเพลที่กรุงเทพฯได้ เป็นคนกว้างขวางเจ้านายรู้จักมาก หน้าเข้าพรรษาไปจำพรรษาอยู่วัดอื่น ถ้าถึงออกพรรษาแล้วมาปลูกโรงริมพระเจดีย์องค์นี้ ก่อเองคนเดียว ไม่ยอมให้ใครช่วย”
จากบันทึกประวัติวัดมณีชลขัณฑ์ เมื่อปีพ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งวัดเกาะแก้วเป็นพระอารามชั้นตรีคณะธรรมยุต ทรงโปรดให้พระครูมหิทธิเมธาจารย์ (หลวงปู่แสง) จากวัดโสมนัสราชวรวิการมาเป็นเจ้าอาวาสวัดเกาะแก้ว จึงสันนิษฐานว่า เจดีย์องค์นี้สร้างเมื่อครั้งรัชสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 นั่นเอง
พาชมวัดมณีชลขัณฑ์
วัดมณีชลขัณฑ์ มีสัญลักษณ์จุดเด่นที่พระเจดีย์สูงตระหง่าน พื้นที่วัดจะตั้งทั้งสองฟากถนน ฝั่งเจดีย์จะร่มรื่นเพราะมีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาและติดริมน้ำลพบุรี
ต้นโพธิ์ต้นนี้ได้รับพระราชเมล็ดจากรัชกาลที่ 4 ซึ่งได้รับมาจากพุทธคยา , รัชกาลที่ 4 พระราชให้ปลูกเมื่อครั้งบูรณะวัดครั้งใหญ่
พิธีวางศิลาฤกษ์วิหารหลวงปู่แสง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2529
สรุปปิดท้าย
วัดมณีชลขัณฑ์ ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์อห่งเมืองลพบุรี ท่านที่เดินทางมาท่องเที่ยวจะได้สัมผัสบรรยากาศที่ร่มรื่นของฝั่งแม่น้ำลพบุรี ได้ตามรอยเรื่องราวครูบาอาจารย์คือหลวงปู่แสง ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เพราะวัดแห่งนี้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
จึงเป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ห้ามพลาดเมื่อท่านได้มาถึงลพบุรีครับ… ขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป สวัสดีครับ… แอดมินตั้ม ภารกิจเที่ยววัด
ช่องทางการติดตามเรื่องราว ภารกิจเที่ยววัด
ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจได้ที่ www.facebook.com/faith108
หรือติดตามช่อง YouTube Channel ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory
แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด
เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com