หลวงพ่อพระร่วงทองคำ พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัย วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ

By | November 15, 2018

หลวงพ่อพระร่วงทองคำ พระพุทธรูปเก่าแก่สมัยสุโขทัย วัดมหรรณพาราม กรุงเทพฯ… หลวงพ่อพระร่วงเป็นพระพุทธรูปทองคำอีกองค์หนึ่งที่ประดิษฐานในกรุงเทพมหานคร ที่หลายท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อน… ผมก็เช่นเดียวกันที่ไม่รู้มาก่อนว่ามีพระพุทธรูปทองคำในกรุงเทพฯนอกจากที่วัดไตรมิตร

การเดินทางมาถึงัดมหรรณพารามครั้งนี้ ต้องถือว่าเป็นความบังเอิญ เพราะเดิมจะเดินทางมากินหมูปลาร้าแถวสี่แยกคอกวัว แต่หาที่จอดรถไม่ได้จึงวนมาจอดในวัดมหรรณพาราม จึงได้รู้ว่าที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปอันทรงคุณค่าประดิษฐานอยู่

ผมได้เดินทางมาถึงวัดมหรรณพาราม ราวๆ 2 ทุ่ม ซึ่งขณะนั้นภายในวิหารหลวงพ่อพระร่วงทองคำได้มีการสวดมนต์ทำวัตรเป็นที่แล้วเสร็จพอดี และกำลังจะปิดวิหาร ผมจึงรีบไปขออนุญาตเข้าไปกราบหลวงพ่อพระร่วงทองคำและขอถ่ายรูป

หลวงพ่อพระร่วงทองคำ

เมื่อเข้าไปภายในวิหาร เห็นองค์หลวงพ่อพระร่วงทองคำ ประดิษฐานสูงเด่นบนฐานชุกชี มีความสวยงามยิ่งนัก…จากนั้นจึงได้กราบขอพรซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธ จากนั้นจึงได้ถวายปัจจัยแล้วออกจากวิหาร

เมื่อได้กราบขอพรหลวงพ่อแล้ว รู้สึกถึงความโชคดีอย่างบอกไม่ถูก เพราะไม่ได้ตั้งใจมาที่วัดแต่แรก…จากนั้นจึงมาอ่านเรื่องราวของหลวงพ่อพระร่วงทองคำ ที่ทางวัดได้ทำการรวบรวมติดไว้ให้อ่านด้านนอกพระวิหาร…

หลวงพ่อพระร่วงทองคำ

พระร่วงทองคำ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดโคกสิงคาราม อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งปัจจุบันเป็นโบราณสถานในจังหวัดสุโขทัย

หลวงพ่อพระร่วงทองคำ สร้างในรัชสมัยใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัย ขนาดหน้าตักกว้าง 1 วา 1 ศอก 1 คืบ 5 นิ้ว สูว 1 วา 3 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว องค์พระเป็นโลหะทองคำ 60% มีรอยต่อ 9 แห่ง โดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมที่รอยต่อ ชุกชีที่ประดิษฐานองค์พระมีขนาดยาว 2 วา 1 ศอก 7 นิ้ว กว้าง 2 วา 2 ศอก

แบบจำลองหลวงพ่อพระร่วงทองคำ ประดิษฐานที่วัดโคกสิงคาราม สุโขทัย

ประวัติวัดมหรรณพาราม

หนังสือประวัติวัดเขียนไว้ว่า ขณะที่กรมหมื่นอุดมรัตนราษี (พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอรรณพ) พระราชโอรสทรงสร้างวัดอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานเงินสมทบ 1,000 ชั่ง เพื่อสร้างพระอุโบสถ แล้วทรงรับสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางเมืองเหนือเสาะหาพระพุทธรูปใหญ่เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธาน ให้ทันกับการฉลองพระอุโบสถ

แต่การเดินทางในสมัยนั้นมีความยากลำบาก โดยการบรรทุกหลวงพ่อพระร่วงด้วยแพ การเดินทางล่าช้ามาไม่ทันกำหนดเวลาที่พระอุโบสถสร้างแล้วเสร็จ

รัชกาลที่ 3 ทรงรับสั่งให้สร้างพระประธานด้วยหินปูนก่ออิฐให้ทันกับเวลาฉลองพระอุโบสถเพื่อเป็นพระประธานในพระอุโบสถแทน

ต่อมา เมื่อหลวงพ่อพระร่วงถูกอัญเชิญมาถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 3 ทรงรับสั่งให้สร้างพระวิหารขึ้นทางด้านทิศใต้ของพระอุโบสถเพื่อประดิษฐานหลวงพ่อพระร่วงจนถึงทุกวันนี้

การก่อสร้างวัดแห่งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ในรัชกาลที่ 4 เมื่อกรมหมื่นอุดมรัตนราษี สิ้นพระชนม์ รัชกาลที่ 4 จึงโปรดเกล้าพระราชทานนามว่า “วัดมหรรณพาราม”

พระอุโบสถ วัดมหรรณพาราม

วิหารหลวงพ่อพระร่วงทองคำ

วิหารหลวงพ่อพระร่วงสร้างแบบสมัยนิยมในรัชกาลที่ 3 ก่ออิฐถือปูน หลังคามุขลด 2 ชั้นมุงด้วยกระเบื้องไทย ปั้นลมและหน้ามุขทำด้วยปูนประดับด้วยเครื่องกระเบื้องสีจานเบญจรงค์

ตรงกลางหน้ามุขทำเป็นรูปมังกร เพดานเขียนลายดอกไม้ตาข่าย มี 4 ประตู, หน้าต่าง 10 บาน ซุ้มประตูและหน้าต่างสลักลายคลื่นฟองน้ำ แกะสลักมังกรเล่นคลื่นตรงกลางบานประตู ด้านบนและด้านล่างบานประตูแกะสลัก กุ้ง หอย ปู ปลา ส่วนที่หน้าต่างก็สลักลายเช่นเดียวกัน เพื่อสื่อถึงห้วงมหรรณพ (ตามชื่อวัด) นั่นเอง

ทับหลังหน้าต่างแต่ละช่อง ศิลปินเขียนลายมังกรดั้นเมฆและหงส์ฟ้า มีมังกรจดจ้องทั้งสองด้าน

พระวิหารมีขนาดความยาว 13 วา 10 นิ้ว กว้าง 8 วา 5 นิ้ว สูง 10 วาเศษ มีตุ๊กตาหินจีนที่เป็นอับเฉาตั้ประดับที่ประตู ข้างเสามุขข้างละ 2 ตัว

วิหารหลวงพ่อพระร่วงทองคำ

เนื่องจาก การเดินทางมาครั้งนี้ ไม่ได้วางแผนไว้ จึงไม่ได้เข้าชมรายละเอียดต่างๆของวัดมากนัก แต่ก็ถือว่าวัดแห่งนี้มีความสำคัญและน่ามากราบไหว้สักการะอย่างยิ่งอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาตแวะไปกินหมูปลาร้าที่แยกคอกวัวก่อนนะครับ เขาบอกว่าเด็ด!!

หมูปลาร้าหลังเที่ยววัด

ความอินดี้ คือการนั่งกินกับพื้นนี่แหละครับ

ขอขอบพระคุณการติดตาม แล้วพบกันใหม่ในโอกาสต่อไป สวัสดีครับ

ช่องทางการติดตามเรื่องราว

ติดตามเรื่องราวผ่าน Facebook เพจภารกิจเที่ยววัด ได้ที่ www.facebook.com/faith108

หรือติดตามช่อง YouTube Channel FaithThaiStory ได้ที่ www.youtube.com/FaithThaiStory

แบ่งปันเรื่องราวการท่องเที่ยววัดที่กลุ่ม รวมพลคนชอบเที่ยววัด

เว็บไซต์หลัก ที่ www.faiththaistory.com